life

ยังจำได้ไหมว่าเพลงโปรดในวัยหวานคือเพลงอะไร ?

(…ก่อนจะเลื่อนอ่านบทความข้างล่าง เราขอชวนย้อนวันวาน เปิดเพลย์ลิสต์ที่ชอบตอนอายุ 14 ฟังอีกครั้ง แล้วดูว่ารู้สึกอย่างไร…)

หลังจากฟังเพลงแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ?

ขอเดาว่าหลังจากฟังเพลงโปรดในวัยเยาว์ หลายๆ คนอาจพบว่าภาพของคืนวันเก่าๆ ก็ค่อยๆ ฉายขึ้นมา ทั้งความรู้สึก สถานที่ บรรยากาศ ใครบางคน หรือแม้อากาศเย็นๆ ของวันนั้น

‘เพลง’ ที่คุณเพิ่งฟังจบคือประตูที่พาความทรงจำในวันเก่าๆ หวนคืนมา

Photo : Philip FONG / AFP

ใครสักคนเคยบอกว่า เพลงที่เราชอบฟังตอนอายุ 20 จะกลายเป็นเพลงที่เราชอบไปตลอดกาล

ใครคนหนึ่งที่ว่า อาจจะเป็น เคลลี จาคูโบว์สกี้ (Kelly Jakubowski) นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับดนตรีจากมหาวิทยาลัยเดอรัม ที่พยายามหาคำตอบว่าทำไมเราถึงยังชอบเพลงที่เคยฟังตอนเป็นวัยรุ่นไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

จากการศึกษาหัวข้อนี้เคลลีพบพบว่ามีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราหวนคิดถึงวันวานทุกครั้งที่ได้เปิดฟังเพลงเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวกับประสบการณ์แปลกใหม่ การสร้างอัตลักษณ์ และการหลั่งฮอร์โมนอย่างเข้มข้นที่ทำให้สมองจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และความทรงจำเหล่านั้นหวนคืนกลับมาได้อย่างง่ายดายเมื่อมีสิ่งกระตุ้น

ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นในตอนที่เรายังเป็น ‘วัยรุ่น’ 

Photo : AFP

แคทเธอรีน รัดลิน (Kathryn Rudlin) นักสังคมสงเคราะห์คลินิกที่ทำงานกับวัยรุ่นเป็นหลัก เผยผลสำรวจที่พบว่าคนยุคมิลเลนเนียนฟังเพลงเกือบ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์  

เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยว้าวุ่นที่ยังไม่รู้จักโลก ยังคงตั้งคำถามกับเรื่องราวต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยบอกเล่าความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกของพวกเขาออกมา ไม่ว่าจะเป็นความรัก โกรธเกรี้ยว เบื่อหน่าย เหน็ดเหนื่อย เพลงก็จะช่วยปลอบประโลมได้เสมอ 

เมื่อเพลงเป็นสื่อกลางที่เล่าเรื่องในใจได้โดยไม่ต้องเอ่ยปาก เพลงจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนวัยนี้ ‘รู้สึกดี’ ได้เสมอ

ระหว่างที่เรากำลังฟังเพลงสมองจะหลั่งสารโดปามีน เซโรโทนิน หรือออกซิโทซินออกมา ซึ่งทำให้เรามีความสุขและรู้สึกดี ยิ่งฮอร์โมนเหล่านี้เข้มข้นขึ้น สมองเหล่าก็ยิ่งจำเหตุการณ์เหล่านั้นได้เก่งขึ้น

ต่อให้เป็นเพลงเมทัล จังหวะกระแทกใจ เป็นเพลงที่เนื้อหารุนแรง แต่ถ้าเป็นเพลงที่ชอบแล้วไม่ว่าอย่างไรก็จะทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวกกับคนฟังเสมอ จริงอยู่ที่ว่าฟังเพลงที่ชอบเมื่อไหร่ก็จะมีความสุข แต่ถึงอย่างนั้น เพลงที่ได้ฟังในช่วงวัยอื่นๆ อาจไม่ตราตรึงเท่าเพลงที่ได้ฟังตอนเป็นวัยรุ่น เพราะชีวิตวัยรุ่นนั้นมีพัฒนาการที่พิเศษกว่าช่วงวัยไหนๆ

Photo : C.PRESS / AFP

ศาสตราจารย์แคทเธอรีน เลิฟเดย์ (Catherine Loveday) เป็นนักประสาทวิทยาด้านการรู้คิด จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ได้ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุมากมาย ซึ่งทั้งหมดในจำนวนนั้นสามารถจดจำดนตรีตอนพวกเขาเป็นวัยรุ่นได้ และเพลงทำให้วัยหวานของพวกเขากลับมาชัดเจนแจ่มแจ้ง 

เราอาจเห็นตัวอย่างจากคุณตา คุณยายที่แม้จะจดจำเรื่องราวประจำวันแทบไม่ได้แล้ว แต่กลับเล่าเรื่องตอนเป็นหนุ่มสาวได้อย่างละเอียด และมักจะเล่าเรื่องช่วงวัยเดิมๆ ซ้ำๆ ให้เราฟังอย่างไม่รู้จบ เพราะเล่าแล้ว เล่าอีกก็มีความสุข และเป็นเรื่องเดียวที่พวกเขาจำได้แม่นที่สุด

ปรากฏการณ์เหล่านี้คือ ‘Reminiscence bump’ หรือ ‘การปะทุของความจำเหตุการณ์ในอดีต’ ที่อธิบายว่าทำไมความทรงจำในวัยรุ่นถึงเป็นสิ่งเข้มข้นและสามารถกลับมาปะทุได้อีกครั้งตอนที่เราเป็นผู้ใหญ่ และทำไมเพลงที่เราฟังตอนเป็นวัยรุ่นถึงพาให้ความทรงจำเหล่านั้นกลับมาได้อีกครั้ง

วัยรุ่นกำลังทำความรู้จักโลก

Photo : FRED DUFOUR / AFP

คนเราจะจดจำช่วงเวลาของช่วงวัยรุ่นตอนต้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุ 12-30 ปี) ได้อย่างดีที่สุด  และความทรงจำจะยิ่งเข้มข้นที่สุดตอนที่เราอายุ 14 ปี นั่นเป็นเพรานี่เป็นวัยที่เรายังคงอ่อนต่อโลก สมองของเราก็พร้อมเปิดรับทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาทั้งหมดอย่างเต็มที่ และจะเก็บเอาไว้อย่างปลอดภัยใน สมองส่วนหน้า (Medial prefrontal cortex) ซึ่งเป็นส่วนของการสร้างอัตลักษณ์ที่กาลเวลาไม่อาจพรากเอาความทรงจำเหล่านั้นไปได้

เพลงส่วนใหญ่ที่ได้ฟังในช่วงวัยเหล่านี้จะกอดเก็บเอาประสบการณ์ของวัยนั้นเอาไว้ด้วยและทำให้เราจดจำวัยเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ แคทเธอรีนเผยเพิ่มเติมว่าเพลงส่วนใหญ่ที่เรียกคืนความทรงจำช่วงวัยรุ่นมักจะเป็นเพลงป๊อบที่ฮิตในสมัยนั้น เพราะมีความรักก็ฟัง อกหักก็ฟัง ใครๆ ก็ฟัง แต่ก็ไม่เสมอไปเพราะเพลงคลาสสิกที่มีดนตรีซับซ้อนก็เรียกคืนความทรงจำได้เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนฟังและความชอบล้วนๆ

พลังแห่ง ‘ครั้งแรก’

Photo : Noel Celis / AFP

พลังแห่งครั้งแรกเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความทรงจำเข้มข้น ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่มี ‘ครั้งแรก’ เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นอกหักครั้งแรก จูบแรก มีแฟนครั้งแรก อกหักครั้งแรก ไปเที่ยวคนเดียวครั้งแรก รวมไปถึงมักจะเกิดเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างในปีนี้เช่น แต่งงาน มีลูก ซื้อบ้านหลังแรก 

ไม่ใช่แค่ในวัยรุ่นเท่านั้น แต่คนเราจะจำเหตุการณ์ครั้งแรกที่ตราตรึงใจได้อย่างแม่นยำเสมอ และถูกเก็บไว้ในสมองของเรา เมื่อเจอเพลงที่ฟังในช่วงนั้นมากระตุ้น ความทรงจำจึงฉายใหม่ได้อีกครั้งอย่างแจ่มชัด 

แต่ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าแก่ตัวลงแล้วจะจำสิ่งต่างๆ ได้แย่ลง เพียงแต่เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามามักไม่ค่อยน่าจดจำ แน่นอนว่าจูบครั้งหลังๆ อาจไม่น่าจดจำเท่าจูบครั้งแรก เรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในแต่ละวันจนชินชาไม่ได้น่าจดจำเท่าเหตุการณ์ครั้งพิเศษในวัยแรกแย้ม

วัยแห่งการสร้างตัวตน

Photo : ANGELA WEISS / AFP

ทฤษฎีการพัฒนาอัตลักษณ์ (Identity theory) เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งเข้ามาอธิบายความทรงจำช่วงวัยรุ่นของเราด้วย เหตุผลที่ชีวิตวัยรุ่นนั้นจะมีผลต่อวัยผู้ใหญ่ต่อไปนั้นเป็นเพราะวัยนี้เป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาตัวตน ได้ลองทำสิ่งต่างๆ เรียนรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร สำรวจว่าตัวเองมองโลกอย่างไร มีทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร ดังนั้นคำอธิบายที่ว่า ‘ฉันคือใคร’ นั้นมีรากฐานมาจากช่วงเวลาวัยรุ่น

ความทรงจำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสร้างตัวตนนั้นจะกลายเป็นความทรงจำที่สำคัญและไฮไลท์ตัวหนาๆ ไว้ในสมอง เพราะนั่นคือรากฐานที่ย้ำเตือนว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนอย่างไร 

ยิ่งประสบการณ์การสร้างตัวตนในอดีตของเราชัดเจนแค่ไหน ความทรงจำในช่วงนั้นก็ยิ่งน่าจดจำมากขึ้นเท่านั้น

กล่าวได้ว่า ‘เพลง’ เป็นประตูที่พาความทรงจำในวันคืนอันหอมหวานกลับมา เมื่อชีวิตวัยรุ่นมีเพลงเป็นพื้นหลัง เพลงจึงเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่ดีที่สุดที่จะทำให้เรานึกถึงวันเก่าๆ อีกครั้งเมื่อได้เปิดฟัง

หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้วตอนนี้ ‘คุณมีเพลงในใจที่อยากเปิดฟังอีกครั้ง’ หรือยัง ?

 

อ้างอิง