life

เรื่องราวของการนำขยะดอกไม้มา Upcycle ให้กลายเป็นธูปหอม ปุ๋ยหมักอินทรีย์ และหนังวีแกน ที่ไม่ได้แค่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเซฟชีวิตผู้หญิงอินเดียได้อีกหลายร้อยคน

เมื่อนึกถึงแม่น้ำคงคา ภาพจำสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างก็มุ่งเป้าไปที่เมืองโบราณอย่างพาราณสี ประเทศอินเดีย ที่วิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นผูกติดกับแม่น้ำสายนี้มายาวนานหลายพันปี

ทั้งกิน ดื่ม อาบน้ำ สวดภาวนา บูชา ไปจนถึงเผาศพ เรียกได้ว่าทุกกิจกรรมตั้งแต่เกิดจนตายของชาวพาราณสี ล้วนเกี่ยวพันกับสายน้ำอย่างแยกไม่ออก

Phool Flower Incense

แต่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ถึงขั้นล้างบาปให้มนุษย์ได้อย่างหมดจด กลับสกปรกและเต็มไปด้วยขยะนานาชนิด โดยเฉพาะขยะจากดอกไม้แห่งศรัทธาที่ฮินดูชนทั้งหลายทิ้งลงแม่น้ำปีละมากกว่า 8 ล้านตัน

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกติ ผู้คนเคยชินกับขยะดอกไม้ลอยละล่อง กลับมีผู้ชายคนหนึ่งคิดต่าง และรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่สามารถยอมรับได้

และถ้าไม่มีใครคิดจะแก้ไขปัญหานี้ เขาจะเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเอง

Phool Flower Incense
อันกิต อการ์วัล
ผู้ก่อตั้ง และ CEO แห่ง Kanpur Flower Cycling Private Limited (KFPL)
Photo by UN Environment / Georgina Smith

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ที่ Ankit Agarwal (อันกิต อการ์วัล) อดีตวิศวกรฝีมือดี ลงมือลงแรงโกยขยะดอกไม้มาสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรูปแบบของธูปหอมอินทรีย์ 

เขาคือบัณฑิตด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จาก PICT (Pune Institute of Computer Technology) เมืองปูเน ประเทศอินเดีย และสำเร็จปริญญาโทด้านการจัดการนวัตกรรม ผู้สนใจงานด้านความยั่งยืนมาแต่ไหนแต่ไร

อการ์วัลมุ่งมั่นหาคำตอบให้ 3 คำถามที่เขาสงสัยมาตั้งแต่เห็นขยะดอกไม้ลอยเกลื่อนแม่น้ำคงคาในวันนั้น

ทำไมดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ถึงกลายเป็นมลพิษต่อแม่น้ำ

ทำไมผู้หญิงถึงต้องถูกปฏิเสธโอกาสในการทำงาน

และทำไมจึงไม่มีใครตีแผ่ผลเสียจากพิษของสารเคมีที่ตกค้างในดอกไม้ให้ประชาชนรู้ความจริง

และต่อไปนี้คือเรื่องราวการตามหาคำตอบของเขา ที่ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นร่างอวตารของดอกไม้แห่งศรัทธาซึ่งถูกทิ้งขว้าง ที่กลายร่างไปเป็นธูปหอม ผงสี ปุ๋ยหมักอินทรีย์ โฟม และหนังวีแกน

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

ศรัทธาที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำ

ชาวฮินดูรวมถึงพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า แม่น้ำคงคาคือสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก

ศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดที่ว่า แค่ได้จุ่มตัวลงในแม่น้ำคงคาสักครั้งก็สามารถล้างบาปทั้งหมดในชีวิตให้มลายสิ้นไปได้ในทันที

Phool Flower Incense

แต่เมื่ออการ์วัลได้ไปเห็นแม่น้ำคงคาด้วยสองตาของตน เขากลับรู้สึกเศร้าใจ และตระหนักขึ้นมาทันทีว่า สภาพที่เห็นอยู่นี้จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง

“ตอนที่เพื่อนจากสาธารณรัฐเช็คมาเยี่ยมผมที่บ้านเกิดเมื่อปี 2015 ผมพาเขาไปที่ฆาฏ (ท่าน้ำ) ริมแม่น้ำคงคา ในกรุงพาราณสี เพื่อชมวิถีชีวิตชาวอินเดีย ที่ผู้คนนิยมจุ่มร่างกายและอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายนี้ ทั้งๆ ที่น้ำแสนจะสกปรกและเต็มไปด้วยขยะ”

Phool Flower Incense

ระหว่างชมวิถีชีวิตริมน้ำ เขากับเพื่อนจึงหารือกันไปพลางถึงการหาวิธีกำจัดขยะให้หมดไปจากแม่น้ำคงคา และก็ให้บังเอิญที่มีคนจากวัดในละแวกนั้นขนดอกไม้หอบใหญ่มาโยนทิ้งลงแม่น้ำให้เห็นต่อหน้าต่อตา

ดอกไม้เหล่านี้เป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านการบูชาทวยเทพมาแล้ว จึงไม่สามารถทิ้งลงถังขยะได้

ที่อยู่สุดท้ายของดอกไม้แห่งศรัทธาแรงกล้าของชาวฮินดูกว่า 500 ล้านคนที่ไปวัดทุกวัน ก็คือ ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายนี้เท่านั้น

Phool Flower Incense

“จู่ๆ ภาพของการทิ้งขยะดอกไม้ลงแม่น้ำก็สะดุดใจผม และทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า นี่เป็นภาพที่ผมเห็นมาทั้งชีวิต แต่กลับไม่เคยคิดมาก่อนว่า ดอกไม้ก็คือมลภาวะอย่างหนึ่ง” 

หลังจากที่บัณฑิตวิศวกรรมอย่างเขาเริ่มฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ขยะดอกไม้ในแม่น้ำมีปริมาณมากจนอาจก่อปัญหา อการ์วัลก็เริ่มต้นทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม จนได้รู้จักวงจรชีวิตของซากดอกไม้ ที่ยิ่งทำให้เขาตะลึงในคำตอบยิ่งขึ้นไปอีก

Phool Flower Incense

“เราอาจลืมนึกไปว่าในดอกไม้เต็มไปด้วยยาฆ่าแมลงและสารเคมีปนเปื้อนแทรกซึมอยู่ ดังนั้น เมื่อดอกไม้ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองก็จะก่อให้เกิดแผ่นฟิล์มเคมีบนผิวน้ำ ที่สะสมจนเกิดเป็นมลพิษในระยะยาว” อการ์วัลเล่าถึงผลกระทบที่ไม่มีใครเคยนึกถึง

จากดอกไม้เหลือใช้กลายเป็นธูปสำหรับบูชา

ภารกิจแรกที่อการ์วัลเริ่มลงมือทำก็คือ ชวนเพื่อนๆ เดินไปขอขยะดอกไม้เหลือทิ้งจากวัดต่างๆ ในละแวกบ้านในเมืองกานปุระ รัฐอุตตรประเทศ 

แต่กลายเป็นว่าไม่มีใครไว้ใจแก๊งชายหนุ่มกลุ่มนี้ ที่อยู่ดีๆ ก็เดินมาขอดอกไม้ที่เพิ่งบูชาเทพมาหมาดๆ แถมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไปทำอะไรต่อ

Phool Flower Incense
Photo by UN Environment / Georgina Smith

“พวกเราลงมือทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากดอกไม้เหลือทิ้ง 18 กิโลกรัมในวันแรก ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนเป็น 80 กิโลกรัมภายใน 1 เดือน

“ทุกวันนี้ เราสามารถจัดการให้รถบรรทุกไปรับดอกไม้เหลือทิ้งยังวัดต่างๆ ได้โดยตรง และรวบรวมดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ได้มากถึงวันละ 8.7 ตัน” เขาเล่าถึงความสำเร็จของความพยายามในการรวบรวมวัตถุดิบชิ้นสำคัญ

ขั้นตอนต่อไป ก็คือ หาทางแปรรูปขยะดอกไม้ให้กลับมามีค่าอีกครั้ง หรือที่เรียกว่ากระบวนการ Upcycling โดยเขานึกถึง “ธูป” ที่ปกติแล้วทำมาจากถ่าน แต่อการ์วัลพบว่า เศษดอกไม้ก็สามารถนำมาป่นแล้วทำเป็นธูปได้ดีมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

เขาและทีมงานลองผิดลองถูกอยู่นานปีครึ่ง กว่าจะได้ธูปทำจากดอกไม้โดยปราศจากสารเคมี ที่ใช้งานได้จริง

อการ์วัลตั้งชื่อให้ธูปหอมของเขาว่า Phool โดยแปลว่า ดอกไม้ ในภาษาฮินดี

วิธีทำธูปจากดอกไม้ เริ่มจากการคัดแยกวัสดุอื่นอย่างเชือกฟางหรือเส้นด้ายออกจากพวงดอกไม้ รวมถึงแยกดอกไม้ออกตามประเภทต่างๆ เช่น กุหลาบ มะลิ ดาวเรือง ดอกบัว ฯลฯ จากนั้นจึงค่อยพรมสารสกัดออร์แกนิกลงบนดอกไม้เหล่านี้ เพื่อชะล้างสารเคมีออกจากดอกไม้ ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำมาตากแดดให้แห้ง

จากนั้นจึงนำดอกไม้ไปป่น แล้วนำมาปั้นเป็นธูปด้วยมือ มีทั้งแบบแท่งและแบบกรวย โดยใช้แรงงานจากภาคสตรีล้วนๆ

Phool Flower Incense
Photo: UN Environment / Georgina Smith

อการ์วัลไม่ได้แค่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเงียบงัน แต่เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่าง ปราทีก กุมาร์ ยังนำเสนอโครงการนี้ภายใต้ชื่อองค์กร Help Us Green เข้าร่วมในโครงการ UN Climate Action Award ประจำปี 2018 ที่จัดโดย UN Environment และได้เป็นหนึ่งในทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ทำให้ผู้คนรู้จักโปรเจคท์นี้ในวงกว้างมากขึ้น

Phool Flower Incense
เซตของขวัญธูปหอม Phool
Photo: Phool.co
Phool Flower Incense
กำยาน หรือธูปทรงกรวย
Photo: Phool.co

จากจุดเริ่มต้นของ Help Us Green ด้วยทุน 900 ดอลลาร์สหรัฐ จากเงินเก็บส่วนตัวของอการ์วัล ธูปหอมแบรนด์ Phool ค่อยๆ เติบโตขึ้น จนเปลี่ยนสถานะเป็น Kanpur Flower Cycling Private Limited (KFPL) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 พร้อมๆ กับการแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น

Phool Flower Incense
ผงสี Gulaal
Photo: Phool.co

ผงสี (Gulaal) เป็นหนึ่งในไอเท็มที่ชาวอินเดียขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลปาผงสีฉลองฤดูใบไม้ผลิอย่าง Holi Festival และมวลดอกไม้เหลือทิ้งก็มีมากพอที่จะผลิตผงสีหลากเฉดให้ชาวฮินดีนำไปใช้สาดความสุขใส่กันได้ไม่ซ้ำสี

Phool Flower Incense
ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน
Photo: Phool.co

หรือเมื่อนำเศษดอกไม้มาหมักกับมูลไส้เดือน ก็ยังเกิดเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์อย่างปุ๋ยหมักชั้นดี ที่ขายเกลี้ยงสต็อคตลอดเวลา

กับอีกหนึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่าง Florafoam โฟมทำจากดอกไม้ที่ใช้เป็นแพ็กเกจกันกระแทกได้เป็นอย่างดี มีน้ำหนักเบา และเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติเดียวกับโฟมจากอุตสาหกรรมเคมี ต่างกันตรงที่เมื่อใช้งาน Florafoam เสร็จแล้ว สามารถฝังกลบในดินได้โดยไม่ระคายสิ่งแวดล้อม

Phool Flower Incense
Florafoam
Photo: Phool.co

ล่าสุด แพ็คเกจจิ้งแบบ Biodegradable ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่าง Florafoam เพิ่งได้รับรางวัล Grand Prize of Asia Social Innovation Award 2020 การันตีคุณภาพและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา และหวังว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็ววันนี้ นั่นคือ Fleather หนังวีแกนทำจากเศษดอกไม้ ทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้หนังสัตว์ ที่จะช่วยลดมลภาวะจากอุตสาหกรรมฟอกหนังได้ดีที่สุด

Fleather หนังวีแกนจากมวลดอกไม้

หลังจากผู้บริโภคให้การตอบรับต่อธูป ผงสี และปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนเป็นอย่างดี ในขณะที่  Florafoam เองก็กำลังไปได้สวย ท่ามกลางขยะดอกไม้หลากสีที่กองพะเนินรอการถูกนำไปแปรรูปในแต่ละวัน

วันหนึ่ง อการ์วัลก็สังเกตเห็นเส้นใยสีขาวก่อตัวขึ้นบริเวณกองดอกไม้ที่ยังไม่ถูกแปรรูป เมื่อเขาสังเกตจากสัณฐานโดยรวมแล้ว พบว่าเส้นใยเหล่านี้มีลักษณะค่อนข้างเหนียว และมีคุณสมบัติเป็นกาวโดยธรรมชาติ 

“วัตถุดิบนี้มีความคล้ายหนังในแง่ของความยืดหยุ่นและความแข็งแรงในการยืดขยายได้” อการ์วัลเล่าถึงคุณสมบัติพิเศษอันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมของเขาเริ่มการทดลองครั้งใหม่ในเดือนมกราคม ปี 2018 โดยได้รับความร่วมมือจาก IIT Kanpur’s Incubaton Centre ในการทดสอบครั้งนี้

สองปีต่อมา พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการผลิต Fleather ที่แน่นอนว่าเป็นการผสมของคำ ว่า Flower กับ Leather แทนความหมายถึง หนังที่ทำจากกลีบดอกไม้ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

Phool Flower Incense
การทดลองผลิต Fleather ในห้องแล็บ
Photo: Phool.co

“พวกเราสามารถผลิตแผ่นหนังขนาด 1 ตารางฟุตในแล็บได้สำเร็จภายใน 7 วัน และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการผลิตให้ได้วันละ 9,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” อการ์วัลเล่า “น่าสนใจตรงที่กรรมวิธีการทำคล้ายการทำนมข้นแข็ง (curd) ที่ทุกบ้านในอินเดียก็ทำเป็น” 

“ความพิเศษของวัสดุุชนิดนี้ก็คือ สามารถใช้เทคนิคทางวิศวกรรมกำหนดความแข็งแรงของแรงดึงได้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ลวดลายและสีสันได้หลากหลายยิ่งขึ้น” ที่สำคัญคือ Fleather เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต่างกับทุกผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อแบรนด์ Phool

และไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่บ้านเกิดของอการ์วัลคือ เมืองกานปุระ เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองอุตสาหกรรมฟอกหนังแห่งอินเดีย จึงไม่แปลกที่เขาอยากจะเริ่มต้นปฏิวัติสิ่งแวดล้อมในเมืองของตนก่อนเป็นอันดับแรก

Phool Flower Incense
Fleather หนังวีแกนจากกลีบดอกไม้
Photo: Phool.co

กลยุทธ์ทางการตลาดของ Fleather นั้นพุ่งเป้าไปที่ตลาดโลกเป็นอันดับแรก แล้วค่อยหันกลับมาทำการตลาดในประเทศ เพราะบรรดาแบรนด์ใหญ่ระดับโลกต่างก็มีฐานการผลิตในประเทศอินเดียทั้งนั้น โดย 12.5% ใช้ตลาดแรงงานในอินเดีย เพราะลดค่าใช้จ่ายให้กับพวกเขาได้หลายเท่า

จึงเป็นอีกครั้งที่อการ์วัลนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเขาผ่านงานประกวด และ Fleather ก็คว้ารางวัล Best Innovation in Fashion จาก People for the Ethical Treatment of Animals หรือ PETA India มาการันตีคุณภาพอีกหนึ่งรางวัล รวมถึงรางวัล Sustainability Award จาก UN อีกด้วย

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

เมื่อมีรางวัลการันตี Fleather จึงได้รับการติดต่อจากแบรนด์แฟชั่นหรูสัญชาติอิตาลีถึง 3 แบรนด์ด้วยกัน

“เรากำลังเตรียมผลิตแผ่นหนังจากดอกไม้ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเป๋าหนังวีแกนแก่แบรนด์เหล่านั้นต่อไป” อการ์วัลกล่าวถึงแผนงานในปัจจุบัน

ปัจจุบัน KFPL ทำเงินไปกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถประสานงานโดยตรงกับวัดต่างๆ ริมแม่น้ำคงคาในการนำดอกไม้มาสู่กระบวนการอัปไซเคิลไปแล้ว 2,753 เมตริกตัน และลดสารเคมีตกค้างได้ถึง 275 กิโลกรัม

นอกเหนือไปจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งเรื่องที่อการ์วัลให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น คือ การให้โอกาสแรงงานสตรีให้มีงานทำ และได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม

โอกาสที่ถูกหยิบยื่นแด่สตรีชายขอบ

Phool ไม่ได้แค่เปลี่ยนขยะดอกไม้ให้กลายเป็นธูปหอมเท่านั้น แต่ยังช่วยพลิกชีวิตของผู้หญิงอินเดียกลุ่มหนึ่งให้ลืมตาอ้าปากได้เป็นครั้งแรกในชีวิต

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

ลำพังแค่การเกิดมาเป็นเพศหญิงในแผ่นดินอินเดียก็นับว่าอยู่ยากแล้ว เพราะดินแดนภารตะ คือ สังคมชายเป็นใหญ่ ที่ผู้หญิงยังคงเป็นช้างเท้าหลังแบบ 100%

แต่นั่นก็ยังไม่แย่เท่ากับการเป็นผู้หญิงที่เกิดมาในวรรณะจัณฑาล (Untouchable) ที่แทบจะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการดำรงชีวิตในสังคม อาทิ ไม่มีสิทธิ์ได้นั่งบนรถโดยสาร ไม่มีโอกาสได้ดื่มน้ำสะอาด ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียน ไม่มีสิทธิ์ได้ทำงาน หรือถึงได้ทำ ก็เป็นงานรับจ้างทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลเท่านั้น

ทุกคนในอินเดียรู้จักกฎเกณฑ์การแบ่งชั้นวรรณะโดยอัตโนมัติแบบนี้เป็นอย่างดี แต่แทบไม่มีใครลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เว้นก็แต่อการ์วัลที่ยอมเป็นขบถในสายตาคนในสังคมอีกครั้ง

ถ้าเขาสามารถเอาขยะมาทำเป็นธูป ให้คนซื้อไปบูชาทวยเทพได้

เขาก็สามารถจ้างงานผู้หญิงที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ในสังคม ให้มานั่งปั้นธูปเหล่านั้นทีละแท่งๆ ได้เช่นกัน

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

อการ์วัลเคยถามแรงงานหญิงคนหนึ่งว่า ความสุขของการได้ทำงานที่นี่คืออะไร

เธอชี้ไปที่เก้าอี้พลาสติกตัวเตี้ย ราคาไม่ถึงร้อยบาท

อการ์วัลถามถึงเหตุผลว่า ทำไม เธอตอบว่า

“ตอนนี้ฉันอายุ 53 ปี ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครยอมให้ฉันได้นั่งเก้าอี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว”

แค่การได้นั่งในท่ายองๆ บนเก้าอี้พลาสติกตัวเตี้ยเรี่ยพื้น กลับทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งอิ่มอกอิ่มใจได้ขนาดนี้ เป็นใครก็คงทึ่งในคำตอบที่เกินคาดไม่ต่างกับอการ์วัล

นี่เป็นหนึ่งเรื่องเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในจิตใจของผู้หญิงเหล่านี้ ที่เริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ดังนั้น การได้คัดแยกดอกไม้และปั้นธูปให้กับ Phool จึงไม่ใช่แค่การสร้างฐานะทางการเงินของครอบครัวให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการได้เรียกคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองกลับมาอีกครั้ง

ปัจจุบัน มีแรงงานหญิงทำงานประจำที่นี่จำนวน 123 คน อการ์วัลมีเป้าหมายในการสร้างงานให้สตรีผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้มีงานทำ 5,000 คน ภายในปี 2022 นี้ให้จงได้

Phool Flower Incense
Photo: Phool.co

ทำความรู้จักผลิตภัณฑ์จากดอกไม้เหลือทิ้งได้ที่ phool.co

อ้างอิง