life

ฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยจากเราไปไหน…

ความจริงนี้ได้รับการตอกย้ำอีกครั้งในวันที่เชียงใหม่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นจนแตะอันดับหนึ่งของโลก (ข้อมูลตามดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI เมื่อเวลา 11:00 น. ของวันที่ 13 มี.ค.2019)

PM2.5 architecture
บรรยากาศเมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 ในช่วงนี้ (photo: Nicolas/AFP)

ดร.จิฐิพร วงศ์วัชรไพบูลย์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องคุณภาพอากาศ ทั้งภายนอกและภายในอาคาร มองว่าปริมาณฝุ่นที่เยอะเกินไป เป็นภัยกับร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการ ‘ควบคุม’ ฝุ่น จึงควรเกิดขึ้นในทุกระดับ

ประเทศ เมือง ชุมชน หมู่บ้าน หรือแม้กระทั่งในบ้านเรือนของเราเอง ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันลดกิจกรรมที่เป็นต้นตอของฝุ่น

ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับมือให้พร้อมอยู่เสมอ

เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ (หรือยาวนานกว่านั้น) PM2.5 จะยังคงอยู่กับเรา

PM2.5 architecture

PM2.5 ฝุ่นที่ไม่มีวันจากไปไหน

ช่วงนี้ฝุ่น PM2.5 กลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง และดูเหมือนขยายวงกว้างมากขึ้นในต่างจังหวัด หลายคนอาจตั้งคำถามว่า

“ทำไมวิกฤตครั้งนี้ยังไม่ไปไหน”

จากการศึกษาและวิจัยของดร.จิฐิพร พบว่า ฝุ่น PM2.5 เหมือน ‘ผี’ ที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง เพราะแทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น บอดี้สเปรย์ น้ำหอม หรือควันที่เกิดจากการผัดกับข้าวในบ้านหรือตามร้านอาหาร 

PM2.5 architecture

ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากกิจกรรมเหล่านี้ มีระดับความอันตรายต่อมนุษย์ไม่สูงมาก แต่เมื่อไปรวมกับมลพิษหรือแก๊สพิษอย่างอื่นในอากาศ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดอ็อกไซด์จากท่อไอเสียรถ ฝุ่นควันจากการเผาไหม้หรือควันบุหรี่ ฝุ่น PM2.5 จะเพิ่มพลังทำลายล้างจนกลายเป็นมลพิษ และหากเข้าสู่ร่างกายจนสะสมในระดับหนึ่ง จะทำให้เกิดการผลเสียต่อสุขภาพได้

PM2.5 มลพิษที่ไปไกลกว่าเมืองกรุง

ฝุ่น PM2.5 เกิดได้ทุกที่บนโลกทั้งในตัวเมืองหรือย่านธุรกิจที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน อย่างกรุงเทพฯ ในเขตสาทรหรือสีลมและในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี โดยเฉพาะในเขตที่ มีการเผาผลผลิตทางการเกษตร ที่เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเผาตอนเย็น ซึ่งไม่ค่อยมีลมพัด และมักเผาแบบเปิดโล่ง จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยตัวเกษตรกรอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์

PM2.5 architecture
(photo: TONY KARUMBA / AFP)

ขณะเดียวกัน ภัยธรรมชาติก็ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ในระดับที่เป็นอันตรายได้เช่นกัน

PM2.5 architecture
(photo: TED ALJIBE/AFP)
PM2.5 architecture
การระเบิดของภูเขาไฟมายอนในประเทศฟิลิปปินส์ที่ทำให้เกิดควันและฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อคนในเมือง
(photo :LINUS ESCANDOR II/AFP)

ปลูกต้นไม้-เปิดหน้าต่าง วิธีรับมือและอยู่ร่วมกับฝุ่น PM2.5 อย่างปลอดภัย

วิกฤตฝุ่น PM2.5 ไม่อาจจัดการได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะมีต้นกำเนิดจากหลายแหล่ง การแก้ไขทางใดทางหนึ่ง เช่น การปลูกต้นไม้หรือพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติม อาจไม่มีประโยชน์ หากไม่มีการควบคุมมาตรฐานการปล่อยมลพิษทุกด้านอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดคิด

ดังนั้น การปรับตัวและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากฝุ่น โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากใคร ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ต้องทำไปพร้อมกัน ดังนี้

  • เปิดหน้าต่างหรือเปิดประตูกว้างๆ เพื่อให้ลมช่วยพัดอากาศ ถือเป็นการปรับอากาศแบบธรรมชาติ ทำให้ระบายฝุ่นออกได้ง่าย
PM2.5 architecture
(photo: https://pixabay.com)
  • จัดพื้นที่สีเขียวรอบบ้านหรือคอนโดมิเนียม (คนที่อยู่ในคอนโดอาจปรับเป็นสวนแนวตั้ง) ต้นไม้จะทำหน้าที่ คล้ายเป็นเครื่องกรองอากาศแบบธรรมชาติ สามารถช่วยลดมลพิษในอากาศได้ในระดับหนึ่ง
PM2.5 architecture
(photo: https://pixabay.com)
  • ต้นไม้ที่ปลูกไม่จำเป็นต้องสูงมาก แต่ต้องมีความสูงพอช่วยบังลมธรรมชาติที่พัดผ่านประตูหรือหน้าต่างบ้าน เพื่อช่วยให้จับฝุ่นในระดับหนึ่ง และควรเลือกต้นไม้ที่มีผิวใบสากสักหน่อย หรือมีขนที่ผิวใบ เช่น ต้นจามจุรี แคแสด ตะขบฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกรองฝุ่นได้ดีกว่าต้นไม้ที่มีผิวใบมัน

3 วิธีสร้างบ้านให้กรองฝุ่น PM2.5

ในฐานะอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม ดร.จิฐิพร แนะนำบ้านในอนาคตที่ควรสร้างในเมืองที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 ว่าควรมีองค์ประกอบ 3 ข้อ

PM2.5 architecture

  1. สร้างพื้นที่สีเขียวกรองฝุ่นก่อนหนึ่งชั้น โดยการปลูกต้นไม้
  2. เปลือกอาคารด้านนอกควรเลือกใช้วัสดุที่กรองฝุ่นได้ หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น มุ้งลวดพิเศษที่กรองฝุ่นแบบจริงจัง ถ้ามีตัวป้องกันในลักษณะแบบนี้ จะช่วยสกรีนฝุ่นออกจากพื้นที่ในอาคารได้ในระดับหนึ่ง
  3. ออกแบบพื้นที่สร้างฝุ่นออกจากตัวอาคาร เช่น ห้องครัว ลานจอดรถ ควรแยกออกจากพื้นที่ใช้สอย และมีประตูหรือผนังกั้นชัดเจน.

อ้างอิง:

ธันยพร บัวทอง.ฝุ่น : เชียงใหม่ วิกฤตหมอกควันภาคเหนือ วาระแห่งชาติที่ยังแก้ไม่ได้มา 12 ปี.https://www.bbc.com/thai/thailand-47550696