life

ตัดสินได้ไหม? ใครคือ ‘ฆาตกร’ ตัวจริง

อ่านเรื่องราวและคำให้การต่อไปนี้อย่างถี่ถ้วน เพราะทุกประโยคคือเบาะแสช่วยให้รู้ตัวผู้ร้าย

หลังจากเครื่องบินโดยสารเที่ยวบินหนึ่งประสบอุบัติเหตุ เพราะสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงทำให้กัปตันและนักบินผู้ช่วยไม่อาจควบคุมเครื่องบินให้ทรงตัวอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อไปได้ เครื่องบินจึงตกกระแทกกับพื้นผิวมหาสมุทร เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตและสูญหายเกือบยกลำ ยกเว้นผู้โดยสาร 3 คนซึ่งรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์

ทั้งหมดถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นบนหาดทรายของเกาะร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก เพราะยังมองเห็นซากเครื่องบินบางส่วนลอยอยู่บนมหาสมุทร เมื่อได้สติครบถ้วน แต่ละคนตรวจดูสภาพร่างกายของตัวเองอย่างละเอียด พบว่าทุกคนปลอดภัยดี ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บร้ายแรง มีเพียงแผลถลอกฟกช้ำเล็กน้อย

ทั้งสาม (เรียกแทนว่า A, B และ C) จึงแยกกันเดินสำรวจบริเวณโดยรอบเพื่อหาผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ แต่ไม่เจอใครเพิ่ม ยกเว้น C ที่เจอตู้เหล็กตกอยู่ระหว่างทาง เมื่อเปิดตู้ออกมาดู ภายในบรรจุน้ำสะอาด 1 ขวด กับสารเคมีไม่ทราบชนิด มีเพียงข้อความเขียนกำกับไว้ว่า ‘อันตราย ห้ามกินเด็ดขาด’ C จึงเก็บของในตู้มาทั้งหมดแล้วเล่าให้ A และ B ฟัง

ในสถานการณ์คับขันเช่นนั้น พวกเขาต่างรู้ดีว่าน้ำสะอาดมีค่ากว่าสิ่งใด เพราะบนเกาะร้างล้อมรอบไปด้วยน้ำเค็ม แต่ C ยืนกรานว่าน้ำขวดนี้ต้องเป็นของคนที่เจอ เขาจึงเก็บไว้กับตัวคนเดียว ไม่ยอมแม้แต่จะแบ่งให้ใคร แล้วเยาะเย้ย A และ B โดยโยนสารเคมีไร้ประโยชน์ให้แทน กลายเป็นความบาดหมางที่ทำให้แต่ละคนโกรธเคืองกัน ทั้งหมดแยกย้ายไปหาที่นอนหวังใช้ชีวิตตามลำพังเพื่อรอคอยการช่วยเหลือ

แต่ด้วยความแค้นในความเย่อหยิ่งและไร้น้ำใจของ C ทำให้ A และ B ต่างวางแผนเอาคืนให้สาสมด้วยการฆ่า C หรือไม่ก็ทำให้ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

กลางดึกคืนหนึ่ง A ย่องไปในที่พักของ C เมื่อเจอขวดน้ำ A จึงเอาสารเคมีที่เคยเก็บไว้ เท่ใส่ในขวดหวังให้ C ตายหลังดื่มน้ำ ส่วน B แอบมาที่พัก C หลังจาก A ไม่นาน แต่ทั้งตัวไม่มีอะไรนอกจากแท่งเหล็กปลายแหลมที่เก็บได้ คาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากเครื่องบิน ตั้งใจเอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือจับปลา จึงเจาะก้นขวดเป็นรูหวังให้น้ำรั่วออกจนหมดขวด C จะได้ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่ม

และแล้วความต้องการแก้แค้นของ A และ B ก็สัมฤทธิ์ผล C ตายไปอย่างโดดเดี่ยวเพราะขาดน้ำสะอาด ส่วนคนที่เหลือค้นพบแหล่งน้ำจืดบนเกาะพอให้ดื่มประทังชีวิต โดยจำเป็นต้องปกปิดไว้ เพราะความเห็นแก่ตัวที่ไม่ต้องการให้คนอื่นล่วงรู้

A และ B ตกเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมกัน แต่ทั้งคู่ปฏิเสธเสียงแข็ง ต่างโยนความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม เริ่มจาก A ให้เหตุผลว่า C ไม่ได้ดื่มน้ำผสมสารเคมีของตนตาย จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของ A ส่วน B ซึ่งมารู้ภายหลังว่าก่อนตนเจาะรูขวด A ได้ใส่สารเคมีลงไปในน้ำก่อน จึงอ้างเหตุผลว่าตนเจตนาดี เป็นคนเจาะรู้เพราะไม่ต้องการให้ C ดื่มน้ำที่ถูก A วางยาไว้หวังปองร้าย การตายของ C จึงไม่ใช่ความผิดของ B

แม้เหตุผลที่ทั้งสองยกขึ้นมากล่าวอ้างจะมีน้ำหนัก แต่คำถามที่ต้องสรุปให้ได้ก็คือ ระหว่าง A และ B ใครกันแน่คือฆาตกรตัวจริงที่ฆ่า C สำเร็จ?

ปริศนานี้ดัดแปลงมาจาก Smullyan’s Paradox ของ เรย์มอนด์ เอ็ม ซามูลเลียน (Raymond M. Smullyan) นักคณิตศาสตร์และนักตรรกวิทยาชาวอเมริกัน ในปี 1976

เรย์มอนด์ เอ็ม ซามูลเลียน

คำว่า Paradox หรือ ปฏิทรรศน์ หมายถึง เหตุการณ์หรือประโยคที่เป็นจริงชัดเจน แต่กลับนำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเอง หรือเป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือหลักคิดทั่วไป คล้ายกับเป็นปริศนาให้ขบคิดหรือหาคำตอบ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีคำอธิบายซ่อนอยู่เบื้องหลัง เช่นเดียวกับปฏิทรรศน์ของซามูลเลียนที่ให้หาว่าใครคือฆาตกร

วิธีการหาคำตอบต้องวิเคราะห์เบาะแสจากสาเหตุการตายของ C ไล่ลำดับเหตุการณ์ ร่วมกับคำให้การของผู้ต้องสงสัย คือ A และ B เพราะคนร้ายตัวจริงต้องเป็นหนึ่งในสองคนนี้

เดิมที ชีวิตของ C ตั้งอยู่บน 2 เงื่อนไข คือ
เงื่อนไข (1) ดื่มน้ำสะอาด เท่ากับ รอดชีวิต
เงื่อนไข (2) ไม่มีน้ำสะอาดให้ดื่ม เท่ากับ ขาดน้ำตาย (นี่คือสาเหตุการตายของ C)

จากนั้นวิเคราะห์การลงมือของผู้ต้องสงสัยแต่ละคนตามลำดับ

A ลงมือวางยาก่อน นับเป็นการขัดขวางเงื่อนไข (1) ทำให้ C ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม แต่การวางยาไม่มีผลต่อเงื่อนไข (2) เพราะ C ยังมีน้ำอยู่เต็มขวด ไม่ได้ขาดน้ำ แม้น้ำดื่มจะปนเปื้อนสารเคมีก็ตาม

ส่วน B ลงมือทีหลัง แต่การเจาะรูของ B เป็นการตัดเงื่อนไข (1) ทิ้งไป ทำให้ C ต้องยอมรับเงื่อนไข (2) คือ ขาดน้ำสะอาดดื่มจนตายในที่สุด ข้ออ้างว่าเจตนาดีของ B จึงฟังไม่ขึ้น

สรุปได้ว่า B คือตัวการที่ทำให้ C ตายเพราะขาดน้ำ ตรงกับสาเหตุการตายไม่ผิดเพี้ยน จึงถือว่า B เป็นฆาตกรตัวจริงโดยปริยาย

หากสลับลำดับการลงมือก็จะพบคำตอบทำนองเดียวกัน หมายความว่า ถ้า B เป็นคนลงมือก่อน เจาะรูขาดน้ำแต่แรก ทำให้ C เหลือเงื่อนไข (2) อย่างเดียว คือ ตายเพราะขาดน้ำ ทำให้วางยาภายหลังของ A ไม่มีผลใดๆ กับการตายของ C อย่างกรณีจะเห็นชัดเจนกว่าว่า B คือคนร้าย

ต่อให้ทั้ง A และ B มีเจตนาฆ่า C เหมือนกัน แต่ในเมื่อ C ตายเพราะขาดน้ำไม่ใช่สารพิษ ผู้ร้ายตัวจริงจึงเป็น B

 

อ้างอิง

  • Chang M. (2012). Paradoxes in Scientific Inference. Boca Raton, FL: CRC Press/Taylor Francis.
  • Chang M, et al. (2019). Innovative Strategies, Statistical Solutions and Simulations for Modern Clinical Trials. Boca Raton, FL: CRC Press/Taylor Francis.