life

ใจที่เก็บงำหรือแบกความรู้สึกบางอย่างซึ่งหนักหนาเกินรับไหว จะว่าไปก็คล้ายคลึงกับเมฆมืดครึ้มในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนฝนกระหน่ำตก

เมื่อละอองน้ำระเหยกลายเป็นไอที่ลอยขึ้นสูงสู่ท้องฟ้าไปอยู่รวมกันเป็นมวลเมฆ จนอากาศไม่อาจพยุงต่อไปได้ จึงต้องกลั่นตัวกลายเป็นเม็ดฝนที่ร่วงหลนคืนสู่ผืนดินอีกครั้ง เช่นเดียวกับความรู้สึกหนักอึ้งที่เกิดขึ้นอยู่ในใจของใครหลายคน เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจำเป็นต้องปลอดปล่อยความรู้สึกท่วมท้นเหล่านั้น เพื่อทำให้ใจได้ผ่อนคลายลงบ้าง แต่ปัญหาสำคัญก็คือ หลายครั้งที่ตัวเราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรทำอย่างไร

แต่ก่อนจะไปรู้จักกับหลักคิดและวิธีเยียวยาใจด้วยตัวเอง เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความรู้สึกอัดอั้นที่เกิดขึ้นในบริบทนี้เสียก่อน ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า overwhelmed

โดยปกติ เราทุกคนต่างจะรู้สึกเครียดและกดดันจากการใช้ชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว แต่ถ้าหากความรู้สึกไม่สบายใจเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ โดยที่ตัวเราไม่สามารถจัดการหรือรับมือได้อย่างทันท่วงที ท้ายที่สุดจะสะสมเป็นความคิดหรืออารมณ์เชิงลบ และลุกลามเป็นปัญหาทางความรู้สึกที่คอยสั่นคลอนใจให้อ่อนล้าและอ่อนแอได้

ดังนั้น ในทางจิตวิทยา overwhelmed จึงเป็นคำที่ใช้สื่อสภาวะไม่มั่นคงของใจ เพราะถูกบางสิ่งบางอย่างถาโถมเข้ามาในปริมาณที่เยอะเกิดคาด ถึงขนาดทำให้ใจพัง ผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้น จึงลงเอยด้วยความโกรธ โมโหร้าย วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย หรืออาจเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ รู้สึกซึมเศร้า และสิ้นหวังต่อตัวเอง

เพื่อกอบกู้ใจไม่ให้แบกรับความรู้สึกหนักอึ้งมากเกินไปจนเกิดผลร้าย จึงเกิดการคิดหาหนทางแก้ไขสำหรับดูแลใจด้วยตัวเองไม่ให้ร่วงหล่นเหมือนฝน โดยอาศัยหลักคิดที่เรียกว่า R.A.I.N. ซึ่งพัฒนาขึ้นจากมุมมองและประสบการณ์ของ มิเชล แมคโดนัลด์ (Michelle McDonald) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกสมาธิเพื่อเกิดสติที่อยู่กับปัจจุบันขณะ (mindfulness meditation) 

หลักคิด R.A.I.N. จึงประกอบด้วยวิธีปฏิบัติ ขั้นตอนตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้

(1) R: Recognize 

เมื่อรู้สึกไม่ดี ให้เริ่มสังเกตอารมณ์ ความคิด การตัดสินใจ และการกระทำของตัวเองขณะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต เช่น น้ำเสียงที่เราใช้พูดกับคนอื่น สีหน้าและท่าทางที่แสดงออกมา เพื่อย้ำเตือนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนั้น

 

(2) A: Accepting หรือ Allowing 

ยอมรับความจริงแท้อย่างหนึ่งว่า ความไม่ได้ดั่งใจคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องกระวนกระวายใจกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ให้กอดตัวเอง เห็นอกเห็นใจต่อตัวเองแทน โดยเฉพาะเรื่องที่ยิ่งแก้ไขยิ่งทำให้ร้ายใจของเรา

 

(3) I: Investigate หรือ Inquire 

ใคร่ครวญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเรารู้สึกหรือคิดเห็นต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร อาจเป็นการตอกย้ำตัวเองให้รู้สึกไม่ดีไปบ้าง แต่อยากให้ลองมองในมุมต่างว่านี่คือโอกาสพัฒนาตัวเอง โดยมองหาบทเรียน ข้อดี และสิ่งที่เป็นประโยชน์จากปัญหาที่เข้ามารบกวนใจ

 

(4) N: Not-identify หรือ Not-self 

รู้สึกแต่ไม่ยึดคิดกับเหตุการณ์แย่ๆ หมายความว่า พยายามไม่ผูตัวเองให้จอยู่กับประสบการณ์ไม่ดี เพราะนั่นไม่ใช่ทั้งชีวิตของเรา แต่ละชั่วขณะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด ความรู้สึกหนักใจเกิดขึ้นและจะผ่านไป หากเราไม่เก็บเข้ามาถือไว้เอง

หากใครก็ตามกำลังแบกรับมวลความรู้สึกหนักอึ้งอยู่ในใจ ลองทำตามขั้นตอนของ R.A.I.N. เพื่อดูแลใจของเราให้กลับมามั่งคงอีกครั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเยียวยาอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

อ้างอิง