บางครั้งเราจำความฝันได้แม่น เล่าออกมาได้เป็นฉากๆ สัมผัสได้แม้แต่อารมณ์ในฝันที่ยังหลงเหลืออยู่ห้วงความคิด บางครั้งความฝันก็เป็นแค่ภาพเลือนลางที่มีเรื่องราวไม่ปะติดปะต่อ บางครั้งเราก็จำความฝันไม่ได้
แต่จำไม่ได้ ไม่ใช่เรา ‘ไม่ฝัน’
ใน 1 คืน วงจรการนอนหลับของเราจะทำงาน 4-5 รอบ เราฝันตลอดเวลาที่นอนหลับ แต่ความฝันที่ชัดเจนที่สุดมักเกิดขึ้นในช่วง REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกตาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว ช่วงนั้นแม้ร่างกายจะเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ แต่สมองกลับตื่นตัวที่สุด ข้อมูลต่างๆ จะถูกหยิบมาผสมกับอารมณ์และแสดงออกมาเป็นความฝัน
บางคนจำความฝันได้แม่น บางคนก็จำอะไรไม่ได้เลย นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามศึกษาเบื้องหลังของความทรงจำที่ทำงานกับความฝันและหาคำตอบว่าสมองทำงานอย่างไรตอนที่เรากำลังหลับ
สมองไม่ชอบจดจำเรื่องในฝัน
เมื่อล้มตัวลงนอน ร่างกายบางส่วนของเราก็พักผ่อนไปด้วย แต่หนึ่งสิ่งที่ยังคงทำงานหามรุ่งหามค่ำคือ สมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นสมองในระบบประสาทลิมบิก (Limbic system) ที่ทำงานด้านความทรงจำระยะยาว ฮิปโปแคมปัสจะอาศัยช่วงที่เราหลับ มานั่งจัดข้อมูลยุ่งเหยิงที่ได้รับมาในวันนั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาวอันเป็นระเบียบเรียบร้อย
ฮิปโปแคมปัสง่วนอยู่กับการจัดข้อมูลเก่าๆ จึงไม่ว่างจดจำข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นขณะฝัน มีการศึกษาพบว่าในตอนที่เรานอนหลับฮิปโปแคมปัสส่งข้อมูลเก่าๆ ไปยังเยื้อหุ้มสมองตลอดเวลา แต่ไม่ยอมรับข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้นเลย การสื่อสารไปทิศทางเดียวแบบนี้ทำให้สมองไม่จดจำเรื่องในฝันของเรา บางครั้งความฝันจึงเป็นเพียงภาพลางๆ หรือบางครั้งก็เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเลย
“หากฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนสุดท้ายที่เข้านอน มันอาจเป็นส่วนสุดท้ายที่จะตื่นขึ้นด้วยเช่นกัน” โทมัส แอนดริลอน (Thomas Andrillon) นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย กล่าว เขาเสริมอีกว่าเมื่อเราตื่นขึ้นพร้อมความฝันที่เก็บไว้ในความทรงจำระยะสั้น แต่ฮิปโปแคมปัสยังทำงานได้ไม่เต็มที่ นั่นก็เป็นอีกเหตุผลที่เราจะจำความฝันไม่ได้
ฮอร์โมนความจำไม่ยอมทำงาน
อีกหนึ่งสิ่งที่มีผลเกี่ยวกับความทรงจำในความฝัน คือ ฮอร์โมนด้านความจำที่ชื่อว่า แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) และ นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine : NE) หรืออีกชื่อเรียกคือ นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline : NA)
ผลการศึกษาในปี 2017 จาก Behavioral and Brain Sciences พบว่า ตอนนอนหลับ ฮอร์โมนทั้งสองชนิดลดระดับลง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง REM ที่ความฝันชัดเจนมาก แอซิติลโคลีนจะกลับมาทำงานปกติเหมือนตอนตื่น ในขณะที่นอร์เอพิเนฟรีนจะยังคงลดต่ำอยู่เหมือนเดิม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการทำงานของสารสื่อประสาทในลักษณะนี้เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนเราจำความฝันไม่ได้
ฝันที่เราจำได้ เป็นฝันแบบไหน?
ฝันที่เราจำได้มักเป็นฝันที่มีเรื่องราวน่าตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากหรือน่ากลัวมากก็ตาม ความฝันแบบนี้จะไปเปิดการใช้งานของสมองส่วน Dorsolateral prefrontal cortex (DLPFC) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยเรื่องการจดจำ บางครั้งเราอาจกำลังฝันถึงการเดินเล่นไปเรื่อยๆ แต่นั่นอาจไม่น่าตื่นเต้นพอที่จะทำให้สมองส่วนนี้หยิบไปบันทึก
หลังจากตื่นนอน สมองอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาทีเพื่อเริ่มบันทึกความทรงจำของวันใหม่ โรเบิร์ต สติกโกลด์ (Robert Stickgold) นักวิจัยด้านการนอนหลับจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเผยว่า ความฝันเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก หากเราเป็นคนประเภทที่ตื่นแล้วเด้งออกจากเตียงไปทำอย่างอื่นทันที เป็นไปได้ว่าความทรงจำใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่จนทำให้เราลืมความฝันเมื่อคืนไปก็เป็นได้
อ้างอิง
- Bahar Gholipour. Why Can’t We Remember Our Dreams?. https://bit.ly/3fAkL27
- Ernest Hartmann. Why Do Memories of Vivid Dreams Disappear Soon After Waking Up?. https://bit.ly/3hIjjxl
- Stephen Dowling. Why can’t some people remember their dreams?. https://bbc.in/3f6c4h3