‘เหงื่อออก’ คือเรื่องปกติ แต่จะกลายเป็นเรื่องต้องสงสัยทำนองว่า ‘เหตุใดคนเราถึงเหงื่อออกไม่เท่ากัน?’ ทันที หากอยู่เฉยๆ แล้วฝ่ามือกลับชุ่มไปด้วยเหงื่อ หรือเหงื่อออกง่ายเกินไปทั้งๆ ที่ยังไม่ทันได้ออกแรงทำอะไรด้วยซ้ำ
ต้องเข้าใจก่อนว่า ‘เหงื่อ’ เป็นของเสียรูปแบบหนึ่ง (เช่นเดียวกับปัสสาวะและอุจจาระ) ซึ่งขับถ่ายออกมาผ่านรูขุมขนจากการทำงานของต่อมเหงื่อซึ่งกระจายตัวอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกายร่วม 4 ล้านต่อม แต่กระจุกตัวมากที่สุดบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า
ประโยชน์ข้อสำคัญของเหงื่อ คือ ช่วยระบายความร้อนในร่างกายให้เย็นลง เพราะร่างกายของเรา (รวมถึงสัตว์เลือดอุ่นจำพวกสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม) จำเป็นต้องรักษาระดับอุณหภูมิไว้ที่ 37 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ต่างจากร่างกายของสัตว์เลือดเย็นซึ่งเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไปตามสภาพแวดล้อมที่มันอยู่
สำหรับมนุษย์ เหงื่อจึงเป็นกลไกธรรมชาติที่ร่างกายใช้ตอบสนองสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา หมายความว่า ร้อนเมื่อไหร่ เหงื่อก็ไหลเมื่อนั้น เพื่อรักษาสมดุลอุณหภูมิของตัวเราให้อยู่ในระดับปลอดภัยและไม่เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
ตามปกติแล้ว เงื่อนไขที่จะทำให้เหงื่อขับออกได้นั้น ขึ้นอยู่กับเส้นประสาทใต้ผิวหนังซึ่งทำหน้าที่รับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ก่อนส่งต่อไปยัง สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เพื่อแปลความหมายว่าร้อนหรือหนาว ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นเสมือนศูนย์ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงสั่งการให้ระบบอวัยวะทำงานสอดคล้องกับกิจกรรมในชีวิต เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันเลือด ความหิวกระหาย ความอิ่ม การนอนหลับ
หากเราอยู่ในพื้นที่อบอ้าว หรือสภาพแวดล้อมรอบตัวมีอุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะแปลความหมายเป็นความร้อน จากนั้นจะกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อทำงาน เหงื่อจึงถูกขับออกมาตามรูขุมขน ขณะเดียวกันก็ลดกระบวนการเผาผลาญและเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด
ในทางตรงกันข้าม หากเราอยู่ท่ามกลางลมหนาวและอากาศเย็น หลอดเลือดจะหดตัวลงพร้อมกับกล้ามเนื้อยึดเส้นขนบริเวณผิวหนัง ทำให้ขนลุกตั้งชัน การตอบสนองเช่นนี้ช่วยป้องกันความเย็นไม่ให้เข้ามาปะทะหรือสัมผัสผิวโดยตรง เท่ากับว่าช่วยไม่ให้ความร้อนจากภายในร่างกายถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ร่างกายของเราจึงอบอุ่นเหมือนเดิม เพราะรักษาระดับอุณหภูมิให้คงที่ไว้ได้
นอกเหนือจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เหงื่อออกได้ง่ายขึ้นกว่าปกติ
อย่างเวลาโกรธหรือกำลังเดือดดาล สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะหลั่งฮอร์โมนความเครียดมากระตุ้นหัวใจให้เต้นแรง เมื่อความดันเลือดสูง หลอดเลือดขยายตัวตาม อุณหภูมิร่างกายจึงเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้เลือดขึ้นหน้าและเหงื่อออก
ความตื่นเต้น ความรัก ซึ่งเป็นความรู้สึกทางบวกหรือความรู้สึกดี และความไม่สบายใจ วิตกกังวล ประหม่า อับอาย เพราะอยู่ภายใต้ความกดดันบางอย่าง ซึ่งเป็นความรู้สึกทางลบหรือความรู้สึกไม่ดี อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดนี้ทำให้เหงื่อออกได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า สังเกตง่ายๆ หากเราจับมือใครก็ตามที่กำลังตกอยู่ในความรู้สึกเหล่านี้ มือของเขาจะเย็นและเปียกชุ่ม
พฤติกรรมและความเคยชินในชีวิตประจำวันก็กระตุ้นให้เหงื่อออกได้ เช่น การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ใช้แรงกายหนักๆ กินอาหารเผ็ดร้อน สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะร่างกายจะดูดซึมนิโคตินในบุหรี่ รวมทั้งคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มเข้าสู่กระแสเลือดไปก่อกวนระบบประสาท ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เร้าต่อมเหงื่อทำงานมากกว่าปกติ เหงื่อจึงออกตามมา ยารักษาโรคบางตัว มีผลข้างเคียงทำให้เหงื่อออกมากเกินไปได้ ควรปรึกษาแพทย์หากต้องการเปลี่ยนชนิดยา
รูปร่างและสุขภาพก็ส่งผลให้ร่างกายขับเหงื่อต่างกัน คนที่ป่วยหรือเป็นไข้ อุณหภูมิร่างกายจะสูงเพิ่มขึ้นราว 2-4 องศาเซลเซียส เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในร่างกาย หลังจากหายไข้ อุณหภูมิจะค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง ช่วงนี้ร่างกายจะรู้สึกร้อนและเหงื่อออกท่วมตัว ส่วนผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เหงื่อจะออกง่ายกว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย
ความอ้วนความผอมข้องเกี่ยวกับปริมาณเหงื่อที่ร่างกายขับออกมาเหมือนกัน ยิ่งมีปริมาณไขมันมากเท่าไหร่ ร่างกายจะยิ่งเก็บพลังงานหรือสะสมความร้อนไว้สร้างความอบอุ่น หากอาการรอบตัวสูงขึ้น ร่างกายจะระบายความร้อนออกทันที คนอ้วนจึงรู้สึกร้อนง่ายและเหงื่อออกมากกว่าคนผอมโดยปริยาย
เหตุผลที่แต่ละคนเหงื่อออกไม่เท่ากัน จึงขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ ลักษณะพื้นฐานของร่างกาย กิจกรรมที่ทำ พฤติกรรมที่เคยชิน สภาพแวดล้อมที่อยู่ และสภาวะอารมณ์และความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น
ถึงอย่างนั้น ทำไมบางคนเหงื่อไหลง่ายจนผิดสังเกต อย่างกับรูขุมเป็นก๊อกที่เปิดทิ้งไว้ อากาศก็ไม่ได้ร้อน กิจกรรมอื่นก็ยังไม่ได้ทำ อยู่ในห้องแอร์เย็นๆ แต่เหงื่อออกปริมาณมากจนค้านสายตา ในกรณีนี้ อาจเกิดความผิดปกติบางอย่างกับร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่ทำให้เหงื่อออกบ่อย คือ ไทรอยด์เป็นพิษและโรคหัวใจ
แต่ถ้าหากตรวจสุขภาพอย่างละเอียดแล้วแข็งแรงปกติดี อาจเกิดภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกทางผิวหนังมากผิดปกติ หรือเรียกว่า Hyperhidrosis อาการนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย มีทั้งออกอาการตั้งแต่เด็ก และมาออกอากาศตอนโตเป็นผู้ใหญ่ วงการแพทย์ยังระบุสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ รู้แต่ว่าเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ
จุดที่เหงื่อมักจะออกมากเป็นพิเศษ คือ บริเวณใบหน้า ใต้วงแขนหรือรักแร้ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางคนเหงื่อเริ่มออกตั้งแต่ตื่นนอน หรือแค่ตั้งมือไว้เฉยๆ เหงื่อก็ไหลออกมาจนฝ่ามือแฉะ หลายคนจับกระดาษหรือโลหะไม่ได้เลย เพราะมือเปียกตลอดเวลา เหงื่อทำให้กระดาษชื้นจนเปียก ส่วนโลหะก็เสี่ยงขึ้นสนิมได้ง่าย กลายเป็นอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน สูญเสียความมั่นใจในบุคลิกภาพตัวเองด้วย เพราะเสื้อที่ใส่จะซับเหงื่อจนปรากฏรอยเปียกชัดเจน และหากไม่รักษาความสะอาด อาจเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดหรือหยุดอาการเหงื่อออกมากได้ถาวร วิธีที่แพทย์ส่วนใหญ่เลือกใช้คือบรรเทาให้เหงื่อออกน้อยลง โดยใช้ยาทา ยากิน และการฉีดยา ซึ่งตัวยาที่นำมาฉีดคือ Botulinum toxin หรือ โบทูลินั่ม ท็อกซิน เรียกสั้นๆ ว่า โบท็อก เป็นตัวเดียวกันที่ใช้ฉีดลดริ้วรอยบนใบหน้า ช่วยลดอาการเหงื่อออกได้เฉพาะที่ประมาณ 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าฉีดส่วนไหนของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม หากรู้ตัวว่าเหงื่อออกผิดปกติ ทางที่ดีที่สุดคือรีบไปพบแพทย์ เพราะหากป่วยเป็นโรคจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อ้างอิง
- Debra Jaliman. What Makes You Sweat. https://wb.md/3rEK9vt
- Shier, D., Butler, J., & Lewis, R. (2014). Hole’s Essentials of Human Anatomy and Physiology (12th ed.). Dubuque, IA: McGraw-Hill.