life

ในหนังรักโรแมนติก หากตัวละครอยู่ท่ามกลางอากาศเย็น เรามักจะได้เห็นฉากจำเจที่ไม่เกินความคาดหมายอย่างตัวละครชายสละเสื้อตัวนอกออก เพื่อคลุมไหล่ให้ตัวละครหญิงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยความหวังดีว่า คงช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้เธอได้

แต่ในโลกความเป็นจริง หากตัดเหตุผลเกี่ยวกับความต้องการสร้างความประทับใจที่ผู้ชายนิยมแสดงความเป็นสุภาพบุรุษให้คู่รักเห็นและสัมผัสได้ออกไป ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า หรือร่างกายของผู้หญิงทนทานต่อความหนาวได้ไม่เท่าผู้ชาย

ที่ผ่านมา แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างเคยตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นนี้ และพยายามศึกษาความเกี่ยวข้องกันระหว่างความรู้สึกต่ออุณหภูมิรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป กับเพศสรีระ (sex) ซึ่งแบ่งเป็นหญิงและชายตามอวัยวะสืบพันธุ์แต่กำเนิด เพื่อพิสูจน์ความจริงว่า ผู้หญิงขี้หนาวกว่าผู้ชายใช่หรือไม่? แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งคำตอบทั้งหมดเป็นเหตุผลเชิงวิวัฒนาการที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคน

ธรรมชาติสร้างร่างกายหรือสรีระของเพศหญิงและเพศชายให้มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ร่างกายของผู้หญิงมีสัดส่วนไขมันมากกว่า โดยเฉพาะช่วงกลางลำตัวจะโอบล้อมด้วยชั้นไขมันหนา ส่วนนี้เองทำหน้าที่คล้าย ‘เสื้อกันหนาวของร่างกาย’ เพราะไขมันคือฉนวนความร้อนชั้นดี ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

การศึกษาในปี 1998 ของ นายแพทย์ฮัน คิม (Han Kim) ซึ่งตีพิมพ์ลง The Lancet วารสารเฉพาะทางด้านการแพทย์ยืนยันว่า ผู้หญิงมีอุณหภูมิร่างกายส่วนกลางลำตัวเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย 0.22 องศาเซลเซียส หมายความว่า เลือดในร่างกายผู้หญิงจะไหลเวียนให้ความอบอุ่นกับอวัยวะสำคัญๆ ตั้งแต่ศีรษะ ช่องอก และช่องท้องมากกว่าไหลเวียนไปยังผิวหนังและอวัยวะส่วนปลายที่ไกลออกห่างจากลำตัว เมื่ออยู่ในที่อากาศหนาว ฝ่ามือและเท้าของผู้หญิงจึงเย็นเฉียบได้เร็วกว่าผู้ชาย

ขณะที่ร่างกายของผู้ชายมีสัดส่วนกล้ามเนื้อมากกว่า กล้ามเนื้อจะทำหน้าที่คล้าย ‘เตาไฟ’ คอยสร้างและควบคุมความร้อนทั่วร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ยิ่งมีความหนาแน่นของกล้ามเนื้อมาก ก็ยิ่งช่วยเพิ่มการเผาผลาญหรือผลิตความร้อนให้ร่างกายมากตามไปด้วย ผู้ชายโดยทั่วไปจึงมีอัตราการเผาผลาญสูงและดีกว่าผู้หญิง ทำให้รู้สึกร้อนง่าย

การค้นพบความแตกต่างของอุณหภูมิกลางลำตัวและส่วนปลายระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ทำให้รู้ว่าร่างกายของผู้หญิงทนทานต่อความหนาวได้ดีกว่า หากมีเหตุให้ต้องอยู่ในที่อากาศเย็นยะเยือก ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มรอดชีวิตมากกว่า เพราะอวัยวะสำคัญยังคงความอบอุ่นไว้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบทสรุปในหนังเรื่อง Titanic (1997) สุดท้ายแล้วโรสเป็นฝ่ายรอดชีวิต

แม้ในระยะยาว ร่างกายผู้หญิงจะถูกออกแบบมาให้ทนความหนาวได้มากกว่าก็จริง แต่ในระยะสั้น กลับไวต่อความเย็นง่ายกว่า เพราะความรู้สึกหนาวหรือร้อนแปรผันตามอุณหภูมิที่ผิวหนังรับสัมผัสมา ผู้หญิงจึงกลายเป็นเพศขี้หนาวกว่าผู้ชายไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ รอบเดือนยังเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร่างกายของผู้หญิงให้ไม่คงที่ อุณหภูมิกลางลำตัวของผู้หญิงช่วง 14 วันแรกจะต่ำกว่า 14 วันหลัง เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนเพศ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เลือดไหลเวียนไปยังเส้นเลือดฝอยบริเวณใต้ชิ้นผิวหนังน้อย อุณหภูมิกลางลำตัวของผู้หญิงอายุน้อย ทั้งเด็กหญิงและสาวๆ จึงสูงกว่าผู้หญิงอายุมากและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ส่วนผู้หญิงในวัยที่กำลังมีรอบเดือนมักจะรู้สึกหนาวง่าย

อีกหนึ่งเหตุการณ์ใกล้ตัวมากขึ้นที่ใครหลายคนมีประสบการณ์ตรงหรือเห็นบ่อยๆ จนกลายเป็นภาพชินตา คือ เพื่อนร่วมงานผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะสวมเสื้อแขนยาวแทบจะตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าอากาศภายในห้องที่กำลังนั่งทำงานอยู่นั้นเย็นเกินไป แตกต่างจากเพื่อนร่วมงานผู้ชายที่เหลือ นอกจากจะไม่รู้สึกหนาวแล้ว ยังอยากลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในห้องด้วยซ้ำ

บอริส คิงมา (Boris Kingma) นักชีวฟิสิกส์ ประจำศูนย์การแพทย์ของ Maastricht University ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต้องการหาข้อสรุปเรื่องนี้ จึงทดลองให้นักเรียนหญิงอายุ 20 ปี จำนวน 16 คน นั่งในห้องที่เปิดเครื่องปรับอากาศทิ้งไว้ ภายในห้องจึงมีอุณหภูมิต่ำหรือค่อนข้างหนาว ปรากฏว่านักเรียนหญิงต่างต้องการเปลี่ยนไปอยู่ห้องอื่น เพราะห้องที่ใช้ทดลองหนาวเกินไปสำหรับพวกเธอ

คิงมาวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการวัดอุณหภูมิร่างกายตามจุดต่างๆ รวมถึงอัตราการเผาผลาญจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออก และปริมาณก๊าซออกซิเจนที่หายใจเข้า ทำให้พบว่าระดับอุณหภูมิรอบกายที่เป็นมิตรกับผู้หญิงต้องอยู่สูงกว่า (อบอุ่นกว่า) ผู้ชาย 2.5 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 24-25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่ผู้หญิงรู้สึกสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนต้องขี้หนาวมากกว่าผู้ชายเสมอไป หากผู้หญิงคนนั้นมีสุขภาพดีกว่า ออกกำลังกายเป็นประจำ จนเสริมสร้างมัดกล้ามเนื้อให้แข็งแรงอยู่ตลอด ย่อมปรับตัวได้และไม่ขี้หนาว ตรงกันข้าม หากผู้ชายละเลยไม่ดูแลตัวเอง ไม่มีมวลกล้ามเนื้อในร่างกายมากพอ เมื่อเจออากาศเย็นเข้าหน่อย ก็กลายเป็นคนขี้หนาวได้เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ คือคำตอบที่พิสูจน์ได้ว่า ทำไมสาวๆ จึง ‘ขี้หนาว’ ง่ายกว่าหนุ่มๆ

 

อ้างอิง