ร้อยกว่าปีก่อน พลาสติกคือวัสดุชนิดใหม่ ที่ถูกค้นพบเพื่อนำมาใช้แทนวัสดุจากธรรมชาติ
ตอนนั้นโลกต่างขานรับวัสดุชนิดนี้ เพราะทุนนิยม การผลิตแบบอุตสาหกรรม และอัตราเร่งการบริโภคที่เติบโตแบบก้าวกระโดด กำลังกลืนกินธรรมชาติไปอย่างรวดเร็ว
แต่ปัจจุบันพลาสติกที่เคยเป็นความหวัง กลับกำลังเป็นฝันร้าย เพราะด้านตรงข้ามของความทนทานที่เป็นคุณสมบัติพิเศษ คือการใช้เวลาหลายร้อยปีเพื่อย่อยสลาย
‘ปัจจุบัน เราผลิตพลาสติกราว 300 ล้านตันในทุกๆ ปี และมีจำนวนถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้’
ทาบิธา ไวต์ติ้ง (Tabitha Whiting) นักรณรงค์ลดการใช้พลาสติกชาวอังกฤษ เขียนถึงฝันร้ายที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้ในบทความ ทำไมพลาสติกถึงเป็นความล้มเหลวในการออกแบบ (Why Plastic Is a Design Failure)
คำถามคือแล้วเราจะออกจากฝันร้ายนี้อย่างไร?
ฝันร้ายจาก ‘ถุงพลาสติก’ ถึง ‘ถุงผ้า’
รู้หรือไม่ ถุงพลาสติกที่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมในวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากวิศวกรชาวสวีเดนชื่อ สเตียน กุสตาฟ ทูลิน (Sten Gustaf Thulin) ที่คิดค้นถุงที่มีคุณสมบัติทนทานและน้ำหนักเบา โดยเขาหวังให้ผู้คนใช้มันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อลดการใช้ถุงกระดาษที่ต้องตัดต้นไม้ในการผลิต
ทว่าเวลาผ่านไป เขาคงไม่คาดคิดว่า ถุงที่ตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา จะก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก เพราะคนส่วนใหญ่ใช้มันครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ด้วยเหตุนี้ ในเวลาต่อมา จึงมีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า บ้างก็ถุงกระดาษ เพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก จนกลายเป็นกระแสและแฟชั่น ที่นำไปสู่การแจก ขาย ผลิตถุงผ้าและถุงกระดาษที่ (ดูจะ) ล้นเกิน และเป็นการสร้างฝันร้ายใหม่
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นล่ะ?
ต้นทุนการผลิตที่คนมองไม่เห็น
ความจริงถุงผ้าหรือถุงกระดาษ หากพูดถึงการย่อยสลายย่อมดีกว่าถุงพลาสติก
แต่ปัญหาคือน้อยคนจะรู้ว่าการผลิตถุงกระดาษใช้พลังงานและน้ำมากกว่าการผลิตถุงพลาสติก
ขณะที่ถุงผ้า โดยเฉพาะที่ทำมาจากฝ้ายนั้นอาจแย่ยิ่งกว่า เพราะฝ้ายเป็นพืชที่ใช้น้ำและทรัพยากรในการผลิตมาก
การแจก ใช้ และสะสมถุงผ้าที่มากเกินพอดี จึงกลายเป็นปัญหาที่ซ้อนทับการลดการใช้ถุงพลาสติกอีกชั้น
ถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไร?
คำตอบนั้นง่ายและธรรมดามาก นักรณรงค์หลายคนตอบตรงกันว่า ทางที่ดีที่สุดคือ ‘จงลดการบริโภคให้น้อยลง’ และใช้ถุงผ้าที่มีอยู่แล้วให้นานที่สุด
เท่าที่จะนานได้
ฝันร้ายที่กำลังคืบคลาน
รายงานจากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ระบุว่า มีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงทะเลกว่า 8 ล้านตันทุกปี
นอกจากตัวเลขเชิงปริมาณที่น่ากังวลแล้ว คือการพบเจอสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เสียชีวิต เพราะกินพลาสติกเป็นอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล จ.ตรัง ประกาศว่า พบปลาทูที่กินพลาสติกขนาดเล็กหรือ ‘ไมโครพลาสติก’ ที่ปนเปื้อนอยู่ในทะเลเป็นอาหาร ซึ่งสุดท้ายปลาเหล่านั้น (รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ) อาจถูกจับมาเป็นอาหารให้เรากินอีกที
ท้ายที่สุด ปัญหาพลาสติกที่เราก่อ ก็เวียนกลับมาหาผู้ก่อมันอีกครั้ง
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นสัญญาณบอกว่า ฝันร้ายในโลกค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาเรามากขึ้นเรื่อยๆ
คงถึงเวลาแล้ว ที่เราทุกคนต้องช่วยกันลดพลาสติก
ชวนคนไทย ‘ลดเปลี่ยนโลก’ สนับสนุนทุนวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม
การ ‘ลด’ ไม่ว่าในมิติงดใช้พลาสติก และหันไปใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ถุงผ้า บรรจุภัณฑ์แบบรีฟิล อย่างรู้คุณค่า รวมถึงลดการบริโภคที่ฟุ้งเฟ้อ คือทางที่ดีที่สุดที่คนๆ หนึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจากขยะพลาสติกได้
แต่รู้ไหมว่า ตอนนี้ทุกการลดใช้พลาสติก 1 ครั้ง ยังสามารถเปลี่ยนเป็นเงิน 1 บาท เพื่อสนับสนุนงานวิจัยต่อยอดนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้อีกด้วย
เพียงแค่…
- เข้าร่วมกิจกรรมและสมัครผ่านทาง www.ลดเปลี่ยนโลก.com
- ถ่ายภาพการลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน เช่น หลอด แก้วน้ำ ภาชนะพลาสติก แล้วแชร์ เพื่อสะสมคะแนน
- คะแนนที่สะสม สามารถนำมาแลกรับของรางวัลพิเศษได้มากมาย
โดยเราสามารถร่วม ‘ลดเปลี่ยนโลก’ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 22 ธันวาคม 2562
ดังนั้น จงอย่ารีรอที่จะลดการใช้พลาสติก เพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น
เพราะถ้าไม่เริ่มต้นวันนี้ บางทีอาจสายเกินไป เพียงแค่คลิก www.ลดเปลี่ยนโลก.com
อ้างอิง:
- Tabitha Whiting. Why Plastic Is a Design Failure. https://modus.medium.com/why-plastic-is-a-design-failure-b8f04faa662e
- Laura Parker. Eight Million Tons of Plastic Dumped in Ocean Every Year. https://www.nationalgeographic.com/news/2015/2/150212-ocean-debris-plastic-garbage-patches-science/
- Catharine Smith. Plastic Trash Has Overwhelmed Feeding Grounds For Baby Fish. https://www.huffpost.com/entry/baby-fish-eating-plastic_n_5dc5f0f1e4b02bf5793fe92d
- บีบีซีไทย. สิ่งแวดล้อม : ชายผู้คิดค้นถุงพลาสติกกับความตั้งใจรักษาโลก. https://www.bbc.com/thai/features-50263671
- Workpoint News. วิกฤตขยะทางทะเล! ผลวิจัยพบพลาสติกในปลาทู เฉลี่ยตัวละ 78 ชิ้น. https://workpointnews.com/2019/09/11/fish1/