life

วิกิพีเดียระบุว่า ญี่ปุ่นคือประเทศที่มี ‘บริษัทอายุร้อยปี’ มากที่สุดในโลก

คิดเป็น 3,146 บริษัทหรือ 56% จากรายชื่อบริษัทเก่าแก่อายุเกินร้อยปีทั่วโลกจำนวน 5,586 แห่ง

ตัวเลขนี้บอกอะไร?

ริเน็น
บริษัท Kongō Gumi ที่เชี่ยวชาญการสร้างวัด ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.578 มีอายุกว่า 1,400 ปี

หากย้อนไปดูโลกเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว วันนั้นรถยนต์เพิ่งถือกำเนิดได้ไม่กี่ปี เป็นของใหม่และแพงมาก เช่นเดียวกับการติดต่อสื่อสาร คนนิยมคุยกันผ่านจดหมายมากกว่าโทรศัพท์ (ยุคนั้นคนยังไม่รู้จักมือถือ) เพราะค่าโทรนั้นแพงระยับ

ด้วยเหตุนี้ บริษัทที่ยืนหยัดมาเกินร้อยปีจึง ‘ไม่ธรรมดา’

คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก อยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

เราพบคำตอบนี้ในหนังสือ “ริเน็น” สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น ที่เขียนโดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

ว่าสิ่งที่ทำให้องค์กรอยู่ได้อย่างยั่งยืนนั้น ‘ธรรมดา’ เหลือเกิน

ริเน็น เหตุผลจากสติ

เวลาทำธุรกิจ เราควรคิดถึงอะไร ยอดขาย โมเดลธุรกิจ หรือลูกค้า

สำหรับบริษัทระดับร้อยปีในญี่ปุ่น ไม่ได้เลือกตอบข้อใดข้อหนึ่ง แต่จะตอบในทุกมิติ ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า “ริเน็น”

ริเน็น
เรียวกัง Hōshi ในจังหวัดอิชิกาวะ ก่อตั้งปี ค.ศ.718

ริเน็น มาจากคำสองคำ คือ

ริ (理) ที่แปลว่า เหตุผล

เน็น (念) ที่ความหมายดั้งเดิม แปลว่า สติ

“ริเน็น” จึงหมายความว่า เหตุผลที่เกิดจากสติ หรือปัญญา ส่วนในเชิงบริหารหมายถึง แนวคิดหรือปรัชญาทางธุรกิจขององค์กรที่ผู้บริหารยึดมั่นและส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเป็นจิตวิญญาณที่หล่อหลอมคนในองค์กร

จุดเด่นของริเน็นต่างจากพันธกิจขององค์กรทั่วไปตรงที่ ‘วิธีคิด’ ที่มุ่งทำเพื่อผู้อื่นและสังคมมากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

ริเน็น

ริเน็น
ทสึบาเมะกริลล์ ร้านที่มองว่ากำไรสูงสุด คือการให้ลูกค้าได้ลิ้มรสชาติเนื้อที่ดีที่สุด ร้านนี้จึงบดเนื้อสดใหม่ทุกวัน (Photo: Wikimedia Commons)

“ให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นลำดับแรก ผู้บริหารเชื่อว่าหากพนักงานมีความสุข พวกเขาย่อมสามารถสร้างคุณค่าดีๆ ให้กับลูกค้าได้ ลำดับถัดมาคือคู่ค้าทางธุรกิจ ลูกค้า และสังคม ส่วนผู้ถือหุ้นคือลำดับสุดท้าย”

ดร.กฤตินี ผู้เขียนหนังสือเปรียบเทียบว่า บริษัทที่มีริเน็นเหมือน ‘ต้นสน’ ที่เติบโตอย่างช้าๆ ยึดมั่นในปรัชญา แต่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ขณะที่บริษัททั่วไปเป็น ‘ต้นไผ่’ ที่มักยึดตัวเลขและผลตอบแทนเป็นเป้าหมายหลัก ธุรกิจอาจเติบโตในเร็ววัน แต่ก็อาจล้มพังในเวลาไม่นาน

ริเน็น
(Photo: Wikimedia Commons)

เหตุผลก็เพราะว่า บริษัทที่มีริเน็นและเติบโตอย่างยั่งยืน จะไม่มองที่ผลลัพธ์ เช่น ยอดขายหรือกำไร จนไม่สนใจระหว่างทาง

หากริเน็นเปรียบเหมือนราก กิ่งก้านอย่างพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และสังคมคือสิ่งที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ

ดร.กฤตินี ได้ยกตัวอย่าง อินะ ฟู้ด อินดัสทรี บริษัทผลิตผงเจลาตินเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางหุบเขาในจังหวัดนะกะโนะ ว่าเป้าหมายของบริษัทนี้ไม่ใช่การเพิ่มยอดขาย แต่คือการเพิ่ม “ความสุข” ให้กับพนักงานเป็นลำดับแรก และเผื่อแผ่ไปถึงผู้เกี่ยวข้องไม่ว่า คู่ค้า ลูกค้า และสังคมเป็นลำดับ

ริเน็น
ฮิโรชิ สึกะโกชิ ประธานบริษัท อินะ ฟู้ด

‘หากพนักงานมีความสุขกับการทำงาน รักองค์กร และมุ่งมั่นทำเพื่อบริษัท กำไรก็จะตามมาเอง’

ความเชื่อมั่นของประธานบริษัท อินะ ฟู้ด ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นไปได้ เพราะ อินะ ฟู้ด คือบริษัทที่สร้างยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรม และมีส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่นถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ลำดับและเหตุผลของความสำเร็จ

เพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จของบริษัทที่มีริเน็นชัดขึ้น จะพบว่าบริษัทที่มีริเน็นจะค่อยๆ สร้างความสำเร็จไปตามลำดับ

สมมติว่ากำไรสูงสุดคือผลลัพธ์ บริษัททั่วไปจะทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น แต่บริษัทที่มีริเน็นจะค่อยๆ ไปสู่จุดนั้น ด้วยการสร้างความสำเร็จจาก ‘ภายใน’ สู่ ‘ภายนอก’ จากจุดเล็กๆ อย่างพนักงาน ขยายสู่คู่ค้า ลูกค้า และสังคมที่อยู่ร่วมกัน

“ถ้าต้องการให้สัญญาฉบับหนึ่งประสบผลสำเร็จ มันจะต้องเป็นสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน และแบ่งปันอย่างเหมาะสม” เป็นคำแนะนำที่พระรูปหนึ่งให้แก่ โคโนสุเกะ มัตสึชิดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทพานาโซนิค แม้บริบทจะพูดถึงเฉพาะคู่ค้า แต่ใจความสำคัญนั้นครอบคลุมถึงหลักการทำธุรกิจด้วยริเน็น

ริเน็น
โคโนสุเกะ มัตสึชิดะ ผู้ก่อตั้งบริษัทพานาโซนิค (Photo: instrumentation.co.uk)

เพราะธุรกิจที่ยั่งยืนที่ ดร.กฤตินี ผู้เขียนยกตัวอย่างในหนังสือ มีจุดร่วมที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ นึกถึงใจเขาใจเรา / ทำธุรกิจด้วยความจริงใจ / และ ยึดมั่นในริเน็นหรืออุดมการณ์ โดยไม่ยอมหลงใหลไปกับผลกำไรหรือยอดขายระยะสั้นที่จะมาทำให้องค์กรต้องทำสิ่งที่ผิดไปจากที่ตั้งใจ

เหตุผลของความสำเร็จ

ฟุกุจุเอ็น ร้านขายใบชาเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1790 ในเมืองเกียวโต คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทที่ยึดมั่นในริเน็น

ริเน็น
ร้านชา ฟุกุจุเอ็น (Photo: thetravellingsquid.com)

ร้านขายใบชาแห่งนี้มุ่งจำหน่ายใบชาคุณภาพดี ภายใต้หลักคิด “ผู้เรียกแขกที่ไร้เสียง” นั่นคือ ‘จงดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม หากมีคุณธรรมและมุ่งมั่นทำสินค้าที่ดีด้วยความซื่อสัตย์ คุณธรรมนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกลูกค้าเข้ามาเองโดยไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงขายสินค้า’

วันหนึ่งบริษัทซันโตรี่ผู้ผลิตเครื่องดื่มเจ้าใหญ่ในญี่ปุ่น ติดต่อขอซื้อใบชาจากฟุกุจุเอ็นไปผลิตชาบรรจุขวดสำเร็จรูป

ริเน็น
(Photo: suntory.co.jp)

มาซาโนริ ฟุกุอิ ทายาทรุ่นที่แปดของร้านต้องคิดหนักกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเขาอาจทำเงินได้มหาศาล และร้านจะโด่งดังมากขึ้น แต่การส่งวัตถุดิบไปผลิตน้ำชาจำนวนมาก อาจส่งผลต่อหลักคุณธรรมที่ยึดมั่นในการผลิตใบชาคุณภาพดี

ฟุกุอิจึงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

แต่ทางซันโตรี่ยังไม่ละความพยายามและยอมรับฟังข้อเสนอของร้านชามากขึ้น ทางด้านฟุกุอิได้กลับไปอ่านประวัติของตระกูล และพบว่าบรรพบุรุษของเขามักปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่น ในยุคที่ผู้คนต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น ร้านชาแห่งนี้เป็นร้านแรกที่ตัดสินใจทำชาบรรจุกระป๋องออกมาจำหน่าย

สุดท้าย ฟุกุอิตัดสินใจรับข้อเสนอ แต่มีเงื่อนไขว่า ซันโตรี่ต้องผลิตชาที่มีคุณภาพจริงๆ ห้ามใช้สารปรุงแต่ง และต้องใช้น้ำบริสุทธิ์จากภูเขาเกียวโตเท่านั้น ส่วนทางร้านจะส่งใบชาเกรดดีที่ประณีตในทุกกระบวนการผลิตไปให้

ชาแบรนด์ “อิเอมง” ที่ซันโตรี่และฟุกุจุเอ็นร่วมมือกันจึงถือกำเนิดขึ้น

ริเน็น
ชาเขียว “อิเอมง” (Iyemon)

และที่สำคัญ ทางร้านฟุกุจุเอ็นก็ยังคงรักษาริเน็นที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาเสมอไว้ได้

นั่นคือ “มุ่งมั่นทำสินค้าที่ดีด้วยความซื่อสัตย์”

ริเน็น
(Photo: suntory.co.jp)

ภาพลวงตาที่ชื่อ ‘ทางลัด’

ยิ่งประสบความสำเร็จเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ความเชื่อนี้ดูจะสวนทางกับริเน็น

แต่คนทั่วไปกลับสมาทานเป็นแนวคิดหลัก การมองแต่ผลลัพธ์ทำให้หลายคนแสวงหาทางลัด โดยไม่สนใจว่า ความสำเร็จนี้จะได้มาด้วยวิธีใด พนักงานจะมีความสุขหรือไม่ คู่ค้ากำลังเสียเปรียบเราอยู่หรือเปล่า ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุดหรือยัง สังคมจะได้รับผลกระทบอะไรไหม

‘เงิน’ กลายเป็นตัวแปรหลัก ทั้งๆ ที่สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจและทุกสิ่งคือ ‘หัวใจ’ กลับหดหายไปเรื่อยๆ

หลายธุรกิจในวันนี้ที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ยั่งยืนและไร้ความสุขก็มีให้เห็นไม่น้อย ธุรกิจเหล่านั้นพยายามทุกวิถีทางเพื่อไปยังเป้าหมาย

ริเน็น
(Photo: ALAIN JOCARD / AFP)

ขณะที่บทเรียนจากบริษัทที่ยั่งยืนร้อยปีหลายบริษัทบอกกับเราว่า การจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดาร เพียงแค่ทำสิ่ง ‘ธรรมดา’ ให้เกิดขึ้นเท่านั้น

‘คุณธรรม-ความซื่อสัตย์-หัวใจ’

สามคำนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่องค์กรธุรกิจและมนุษย์ควรยึดมั่นด้วยใจจริง แต่ในโลกแห่งความจริงกลับหาได้ยากขึ้นทุกวัน บ้างก็มองว่าคร่ำครึ เชย ไม่ทันสมัย

ริเน็น

โชคดีที่หนังสือชื่อ ริเน็น สร้างธุรกิจ 100 ปี ด้วยหลักคิดแบบญี่ปุ่น ของ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ได้พูดถึงองค์กรธุรกิจและมนุษย์บางกลุ่มที่ยังเชื่อในความธรรมดาเหล่านี้อย่างจริงใจ

เพื่อย้ำให้เห็นว่า คุณธรรม ความซื่อสัตย์ และหัวใจ เป็นสิ่งคงทนที่สร้างความยั่งยืนเสมอมา.

อ้างอิง:

Wikipedia. List of oldest companies. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_oldest_companies