life

โปรแกรมหนังในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ถูกระงับทั้งหมด และประกาศปิดตัวเป็นการชั่วคราวหลังจากที่ไวรัส COVID-19 ระบาดอย่างหนัก 

นั่นเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรากำลังจะเปลี่ยนไป อย่างน้อยๆ ในสุดสัปดาห์นี้ พวกเราอาจไม่ได้ดูหนังเรื่องใหม่และเดินเตร็ดเตร่ในร้านหนังสือที่ชอบอย่างเคยอีกต่อไป 

เพราะการรวมตัวกันในที่สาธารณะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

Social Distancing 

Social Distancing หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม คือการหลีกเลี่ยงการชุมนุม หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม และรักษาระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ Centers for Disease Control and Prevention : CDC) เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 

16 มีนาคม Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมันจัดงานแถลงข่าว โดยนี้มีการจำกัดจำนวนนักข่าวที่เข้าร่วม และจัดที่นั่งให้มีระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 (Photo by Markus Schreiber / POOL / AFP)

แต่ดูเหมือนว่าชีวิตในเมืองจะไม่อนุญาตให้ผู้คนทำเช่นนั้นได้ง่ายนัก เพราะเราเริ่มต้นวันด้วยการเบียดเสียดกันในรถไฟฟ้าเพื่อมาทำงานในออฟฟิศใจกลางเมือง ใช้เวลายามเย็นกับการเดินห้างสรรพสินค้า ฉลองสุดสัปดาห์อันเหน็ดเหนื่อยในบาร์สักแห่ง หรือดูหนังสักเรื่องในโรงภาพยนตร์ แต่ละสถานที่ล้วนเต็มไปด้วยฝูงชน การรวมตัวในสถานที่แออัดเช่นนี้ ทำให้เชื้อไวรัสแพร่พันธุ์จากคนไปสู่คนได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างกับราดน้ำมันลงบนกองเพลิง ยิ่งผู้คนมารวมตัวกันมากแค่ไหน โอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะส่งต่อไวรัสไปยังคนอื่นๆ ก็มากขึ้นเท่านั้น

เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต 

ในปี 1918 เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ในอเมริกา ทำให้มีผู้ติดเชื้อราวๆ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด และคร่าชีวิตประชารไปกว่าหนึ่งแสนคน

ขณะนั้น Wilmer Krusen กรรมการสาธารณสุขของเมืองฟิลาเดเฟียกลับอนุมัติให้จัดงานเดินขบวนครั้งใหญ่ขึ้น ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมกว่าสองแสนคน ในสัปดาห์ต่อมาประชาชนก็ทยอยล้มป่วยและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นกว่า 12,000 คน

ตรงกันข้าม Max Starkloff กรรมการสาธารณสุขของเมืองเซนส์หลุยส์ตัดสินใจปิดโรงเรียน โรงภาพยนตร์ โดยไม่สนใจคำคัดค้านของเหล่านักธุรกิจ

การกระทำอันเด็ดขาดและกล้าหาญในครั้งนั้นทำให้เมืองเซนส์หลุยส์มีผู้เสียชีวิตเพียง 1,700 คน

ผู้โดยสารไม่กี่คนกำลังเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในเมืองมิลาน วันที่ 10 มีนาคม 2020 หลังจากที่อิตาลีมีประกาศข้อกำหนดระดับชาติที่ไม่เคยมีมาก่อนกับประชาชนกว่า 60 ล้านคนเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนา (Photo by Miguel MEDINA / AFP)

การตื่นตัวระดับโลก 

ตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศกำลังจริงจังกับ Social Distancing  

สิงคโปร์ สั่งยกเลิกกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ทั้งหมด และจัดทีมแพทย์ตามจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจหาไวรัส ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด 

ฝรั่งเศส ประกาศปิดพื้นสาธารณะหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถานบันเทิง ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ นอกจากนี้ยังลดเที่ยวบิน รถไฟ และรถบัส เพื่อให้คนเดินทางน้อยลง

ญี่ปุ่น ที่สถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก เมืองหลวงอย่างโตเกียวเพิ่งยกเลิกงานวิ่งมาราธอน ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 37,000 คน รวมถึงการประชุมใหญ่ต่างๆ ก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

หน้ากากอนามัยตกอยู่ด้านหน้าหอไอเฟลในวันที่ 17 มีนาคม ทุกอย่างในปารีสหยุดนิ่งเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 (Photo : Ludovic Marin / AFP)

รู้ได้อย่างไรว่าใครต้อง ‘ห่างกันสักพัก’

กลุ่มคนที่ต้องให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยงฝูงชนมากที่สุด คือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หรือแม้แต่โรคหอบหืด

หากยังเด็กและยังมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แม้จะป่วยได้ยาก แต่ป้องกันตัวเองให้ไกลจากความเสี่ยงก็ดีกว่าเป็นไหนๆ

ท้ายสุดแล้ว อยู่บ้านสบายๆ ไม่ไปเบียดเสียดกับคนอื่นๆ ก็เป็นหนทางที่ง่ายกว่าการป้องกันอย่างรัดกุมเมื่อต้องออกจากบ้าน

ชายคนหนึ่งสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน COVID-19 กำลังเดินผ่านเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายที่ท่าอากาศยานนานาชาติชางงี ประเทศสิงคโปร์ 27 กุมภาพันธ์ 2020 (Photo by Roslan RAHMAN / AFP)

กันไว้ดีกว่าแก้

อาจกล่าวได้ว่าการมาเยือนของวิกฤติ COVID-19 เป็นการทดสอบฝีมือและการแก้ปัญหาของรัฐบาลแต่ละประเทศ เพราะการเว้นระยะห่างจากสังคมนั้นมีผลพวงที่ตามมามากกว่าที่คิด

ไม่ว่าการสูญเสียรายได้ของภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะสิ่งของที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ รวมถึงผู้คนในสังคมที่กำลังตกอยู่ในภาวะกังวลและตื่นตระหนก 

ชาวโรมาเนียที่เพิ่งกลับเข้ามาในประเทศซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวกำลังพูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่านหน้าต่างห้องของโรงแรมกลางเมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย 15 มีนาคม (Photo by Andrei PUNGOVSCHI / AFP)

ระหว่างนี้รัฐจึงต้องบริหารจัดการทั้งวิกฤตไวรัส สังคม เศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปด้วย เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว ให้ลาหยุดงานโดยที่ยังได้เงินเดือน ไม่ขับไล่ผู้อพยพที่ต้องรับการรักษา ลงทุนในด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลแต่ละประเทศนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ วิสัยทัศน์ ความเข้าใจปัญหา ซึ่งอาจใช้เวลาช้าเร็วต่างกัน ประสิทธิภาพต่างกัน อาจดีหรือแย่กว่าไวรัสที่กำลังระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีใครรู้

 

ดังนั้น ‘ห่างสักพัก’ แล้วค่อยกลับมาพบกันในวันที่ COVID-19 จากไป 

น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับพวกเรา

 

อ้างอิง