life

‘ฮุกกะ’ (Hygge) เป็นภาษาเดนมาร์กที่พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดเลือกให้เป็นคำศัพท์ประจำปี 2016 สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความสนใจ ‘ความเป็นฮุกกะ’ จากทั่วโลก

ว่ากันว่า ฮุกกะ ไม่สามารถแปลให้เป็นคำในภาษาอื่นได้อย่างเที่ยงตรง ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า ‘cozy’ ที่หมายถึง ความสุขสบาย

แต่การใช้แค่คำว่า ความสุข เพื่อสื่อถึงฮุกกะ ก็อาจไม่ถูกถ้วนซะทีเดียว

ฮุกกะ การตระหนักถึงความสุขเล็กๆ น้อยๆ

ชาวเดนมาร์กใช้คำว่า ‘ฮุกกะ’ กันอย่างแพร่หลาย และออกจะเรียกได้ว่าพร่ำเพรื่อเสียด้วยซ้ำ เพราะคำว่าฮุกกะสามารถใช้เป็นคำประเภทใดก็ได้ ไม่ว่าคำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ หรือผูกเป็นคำประสม

เช่น “คืนนี้เรามาหาอะไรฮุกกะๆ ทำกันไหม” หรือ “ไม่ล่ะ วันนี้ฉันอยากจะฮุกกะอยู่คนเดียวเงียบๆ”

หรือถ้ากำลังเป็นหวัด คุณหมอชาวเดนมาร์กก็อาจจะแนะนำ “ชาและฮุกกะ” เป็นตัวช่วยในการรักษาอาการหวัด

หรือแม้แต่กระทั่งได้ใช้เวลาเพียงลำพังเพื่อนอนอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มหน้าเตาผิง ชาวเดนมาร์กก็เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ฮุกกะ ได้แล้ว

ฮุกกะ อยู่ที่ใจ

แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า สิ่งที่ทำให้ปรัชญาความสุขแบบฮุกกะงอกงามและ ‘ใช้ได้ผล’ ในเดนมาร์ก เป็นเพราะรัฐสวัสดิการที่เป็นเลิศและวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ได้มีการแข่งสูงเท่าประเทศอื่น

แต่เมื่อตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยซึ่งไม่ได้มีความพร้อมเช่นเดนมาร์ก การแสวงหาความสุขแบบ ‘ฮุกกะ’ ยังคงเป็นคำถาม ว่าทำได้จริงหรือ?

อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล Uffe Wolffhechel
อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล (photo: thailand.um.dk)

อุฟเฟ่อ โวล์ฟเฮชเชล (Uffe Wolffhechel) เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย ให้ความเห็นที่น่าสนใจกับนิตยสาร The Standard ฉบับที่ 4 ว่าสวัสดิการของรัฐอาจช่วยให้ประชาชนมีความสุขกับชีวิตได้ก็จริง แต่ความจริงคือรัฐไม่ได้สร้าง ‘ความสุข’ เพียงแต่ ‘สร้างปัจจัย’ หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ความสุขเจริญเติบโตได้มากกว่า

ส่วน ‘ความสุข’ ที่แท้จริงนั้น คือภาวะภายในจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ความสุขของคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ความสุขของอีกคนก็ได้

ท่านทูตยกตัวอย่างถึงเมื่อครั้งที่เคยประจำการอยู่กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ช่วงนั้นไฟสงครามกำลังระอุ แต่ท่านทูตกลับพบฮุกกะ เมื่อเห็นคนบางกลุ่มยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาวะของความสุขที่แท้จริง

ลุกกะ ความสุขที่อยู่รอบตัว

ไมก์ วิกิง (Meik Wiking) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขแห่งเดนมาร์ก ได้สร้างกระแสการพูดถึงปรัชญาความสุขแบบ ‘ฮุกกะ’ ผ่านผลงาน The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well

Meik Wiking ไมก์ วิกิง
ไมก์ วิกิง
(photo: amazon.co.uk)

และหลังจากนั้นไม่นาน งานเขียนอีกหนึ่งเรื่องของเขา The Little Book of Lykke: The Danish Search for the World’s Happiest People ก็ได้รับการตีพิมพ์ตามมาติดๆ

HYGGE LYKKE ฮุกกะ ลุกกะ
(photo: amazon.co.uk)

งานเขียนชิ้นนี้เกี่ยวกับ ‘ลุกกะ’ (Lykke) ที่แปลว่า ‘ความสุข’ ในภาษาเดนมาร์ก โดยพูดถึงวิถีแห่งความสุขแบบต่างๆ จากทั่วโลก

เช่น วิธีกินอาหารเพื่อเพิ่มพูนความสุขอย่างชาวฝรั่งเศส แนวคิดเรื่องการ ‘ปัดฝุ่นสมอง’ (เจริญสติเป็นระยะเวลาสั้นๆ) ในภูฏาน หรือ ‘การอาบป่า’ (Shinrin-Yoku) เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายใจแบบชาวญี่ปุ่น

Shirin Yoku ชิริน โยกุ การอาบป่า
การอาบป่า (Shinrin-Yoku) คือการออกไปสัมผัสธรรมชาติท่ามกลางป่าเขา ช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข
(photo: pexels.com)

แม้แต่ละประเทศจะมีวิธีการเข้าถึงความสุขต่างกัน แต่หลักการนั้นไม่ต่าง นั่นคือการพยายามมองหา ‘แง่งาม’ ในชีวิต เพื่อลิ้มรสความสุขอันเรียบง่าย

ไม่ว่าความสุขนั้นจะถูกเรียกด้วยชื่อ ฮุกกะ ลุกกะ หรืออะไรก็ตาม

 

FACTBOX

  • รากศัพท์หนึ่งของ Hygge คือคำว่า Hugge ซึ่งกลายมาเป็นคำว่า Hug (แปลว่า “กอด”) และเป็นที่น่าสนใจว่า การกอดสามารถช่วยเพิ่มระดับสารออกซิโตซิน ฮอร์โมนแห่งความรู้สึกผูกพัน และยังช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ทำให้รู้สึกตึงเครียดได้อีกด้วย
  • การอาบป่า (Shinrin-Yoku) คือการออกไปสัมผัสธรรมชาติท่ามกลางป่าเขา ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิบะแห่งญี่ปุ่นพบว่า การเดินป่าจะช่วยให้ร่างกายได้รับจุลชีพดีๆ เกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และได้รับประจุไฟฟ้าลบอย่างอ่อนๆ ที่มีอยู่มากในพื้นที่ป่า ส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารเซเรโทนิน ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกมีความสุข นอกจากนี้ การเดินป่าเพียง 40 นาที ยังสามารถลดระดับคอร์ติซอลฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกเครียดได้ถึง 40%

 

REFERENCE