life

ซัคคิวบัส (Succubus)

ถ้าพูดถึงฝันร้าย คอเกม การ์ตูน หรือวรรณกรรมแนวแฟนตาซีคงจะคุ้นเคยกันดีกับชื่อของเจ้าปีศาจที่สิงสู่อยู่ในความฝันของผู้คน แล้วกระทำบางสิ่งเพื่อนำมาเป็นพลังชีวิตของตน ซัคคิวบัสเป็นหนึ่งในความเชื่ออันยาวนานนับตั้งแต่ยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เวทย์มนตร์และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับแม่มดยังคงเป็นเรื่องลี้ลับน่าหวาดกลัว 

โดยทั่วไปแล้วซัคคิวบัสจะปรากฏตัวในฝันร้ายของชายหนุ่ม และร่วมกิจกรรมทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้สมยอม ขณะเดียวกันก็มีปีศาจอีกตนหนึ่งนามว่า อินคิวบัส (Incubus) ซึ่งอยู่ในฝันร้ายของหญิงสาว

ในทางจิตเวชแล้ว ปรากฏการณ์ซัคคิวบัส (Succubus Phenomenon) ยังคงคลุมเครือและหาคำอธิบายได้ยาก โดยส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักระบุว่า การฝันประหลาดนั้นเกิดจากความเชื่อของคนคนนั้นที่ส่งผลต่อจิตใจและร่างกายเสียมากกว่า หรือในขณะเดียวกัน ผู้ที่บอกว่าตนฝันถึงปรากฏการณ์ซัคคิวบัสอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการ

อย่างไรก็ตาม หอสมุดแพทย์แห่งชาติอเมริกัน (National Library of Medicine) ได้มีการบันทึกกรณีศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ซัคคิวบัส จึงนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า นอกจากความวิตกกังวล เครียด หรือการเก็บบางสิ่งบางอย่างที่กำลังครุ่นคิดอยู่ก่อนจะนอนหลับไปฝันแล้ว อิทธิพลจากความเชื่อทางวัฒนธรรมมีผลต่อการเกิดขึ้นของประสบการณ์ชวนผวาขณะนอนหลับมากน้อยแค่ไหน

ซัคคิวบัส (หญิง) กับ ซัคคิวบา (ชาย) จากเกมกระดาน Dungeons & Dragons / Photo: Encyclopedia Exandria

 

ต้นกำเนิดของปีศาจร้ายในยามค่ำคืน

คำว่า ‘ซัคคิวบัส’ มาจากคำว่า ‘ซัคคิวบา’ (Succuba) ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า ‘หมอบราบอยู่เบื้องล่าง’ (to lie beneath) ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 เพื่อบรรยายถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติตนหนึ่ง ตามความเชื่อแล้ว ซัคคิวบัสสืบเชื้อสายมาจาก ลิลิธ (Lilith) โดยตามความเชื่อโบราณของชาวยิว เธอเป็นภรรยาคนแรกของอาดัม ผู้ที่ได้ทิ้งอาดัมไป พร้อมกับปฏิเสธที่จะหวนกลับไปยังสวนเอเดน

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ตามความเชื่อของอาณาจักรเมโสโปเตเมีย ไปจนถึงอาณาจักรฮิบบรู ลิลิธมักจะเกี่ยวข้องกับปีศาจ อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการนำโรคภัยไข้เจ็บมาสู่ผู้ชาย

ซัคคิวบัส มักจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นหญิงสาวแสนสวย ทว่ามีอวัยวะผิดมนุษย์มนา เช่น กรงเล็บยาวงุ้มเหมือนนก หรือหางที่คดเคี้ยวเหมือนปีศาจ ครั้งหนึ่งในพระคัมภีร์: อิสยาห์ 34:14 ได้มีการอ้างอิงถึงลิลิธ และเรียกเธอว่า ‘นกฮูกกรีด’ (Screech owl) ซึ่งเป็นสัตว์ในยามค่ำคืน หรือถ้าเจาะจงกว่านั้นคือ ‘ปีศาจยามราตรี’ (The Night Monster)

รูปปั้นของลิลิธ (Lilith) / Photo: https://en.wikiversity.org/wiki/Mesopotamian_civilization

 

หรือแม่มดจะเป็นตัวการของฝันร้าย

ชายคนหนึ่งอายุ 18 ปี รายงานทางการแพทย์ระบุว่าเขาและคนในครอบครัวไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคจิตเภทมาก่อน 

เขาไม่เคยมีประวัติที่บ่งชี้ถึงอาการลมหลับ (Narcolepsy) หรือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีท่าทีของสภาวะที่เรียกกันว่า ผีอำ (Sleep Paralysis) ภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่นจากการนอนหลับ และไม่แม้แต่จะมีอาการตื่นตระหนก (Panic) กับความเครียดหลังถูกทารุณกรรม 

แพทย์ได้มีการพิจารณาการวินิจฉัยโรคจิตเภท ผ่านการตรวจร่างกายของเขาในรูปของฮีโมแกรม (Hemogram) ซึ่งเป็นการเจาะเลือดมาตรวจเพื่อนับจำนวนความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ทดสอบการทำงานของไต ทดสอบการทำงานของตับ ตรวจเกลือแร่ในเลือด ทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ผลจากการตรวจสอบทั้งหมดไม่พบความผิดปกติใดๆ 

แต่ในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้ เขาเริ่มมีอาการหลงผิดคิดว่ามีคนปองร้าย (Persecution Delusion) และหลงผิดคิดว่าตนมีความสามารถที่เกินความเป็นจริง (Delusion of Grandiosity) ไปจนถึงมีอาการหูแว่วได้ยินเสียงพูด (Auditory Hallucination) อีกทั้งยังเริ่มละเลยการดูแลตัวเอง กระทั่งมีปัญหาในการถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกของตนออกมา

นอกเหนือจากอาการที่ระบุไว้ เขายังได้บอกอีกว่า ในช่วงเวลาที่กำลังนอนหลับ เขาจะรู้สึกถึงการถูกสัมผัสจากหญิงสาวที่ไม่รู้จัก โดยที่เขาไม่ต้องการ ก่อนจะนำมาซึ่งความรู้สึกผิดในเวลาต่อมา

 

photo by: https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-the-public-interest/202007/what-is-forensic-psychopathology

แพทย์เจ้าของไข้พบว่า ชายคนนี้กำลังทรมานอย่างหนักกับอาการทางจิตที่เกิดจากความรู้สึกกลัว ความรู้สึกผิด และปมด้อยที่เก็บกดไว้ภายในใจ แต่กลับแสดงออกมาเป็นอาการการหลงลืมชั่วคราว การย้ำคิดย้ำทำ หรือการเพ้อฝันแทน จึงได้จ่ายยาระงับอาการทางจิต (Aripiprazole) ให้กับเขา

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ชายคนนี้ได้บอกกับแพทย์ อีกทั้งยังเชื่ออย่างมั่นใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาทั้งหมดแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของ ‘แม่มด’ อย่างแน่นอน

ในเวลาต่อมา อาการของเขาและปรากฏการณ์ซัคคิวบัสที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับก็ค่อยๆ ดีขึ้น เขาบอกกับแพทย์เจ้าของไข้ว่าไม่มีฝันดังกล่าวเข้ามากวนใจอีกแล้ว ถึงอย่างนั้น แพทย์ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ และยังคงไม่แน่ใจว่าประสบการณ์ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นส่วนหนึ่งของความเจ็บป่วยทางใจกันแน่

 

ผีอำ (Paralysis Sleep)

นักวิจัยมากมายได้พยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาของปรากฏการณ์ซัคคิวบัส ก่อนจะพบว่า มันเป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับสภาวะผีอำที่คนไทยน่าจะรู้จักกันดีจากความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมา ขณะเดียวกันก็อาจเกี่ยวข้องกับอาการประสาทหลอน ซึ่งเกิดจากการสะกดจิตตัวเอง จนทำให้คนบางคนเกิดความคิดและปักใจเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นปีศาจกำลังกดทับตัวของพวกเขาอยู่ ซึ่งผู้ป่วยจากกรณีตัวอย่างมีความเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่ามีแม่มดหรือปีศาจร้ายเป็นต้นตอ แน่นอนว่าทั้งหมดล้วนอยู่บนพื้นฐานของการมีความเชื่อแบบผิดๆ ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นโดยสภาพแวดล้อมในสังคมรอบข้างของตัวบุคคลนั้นๆ

แพทย์มองว่า จากกรณีนี้สะท้อนให้เห็นอย่างยิ่งว่า อิทธิพลของความเชื่อทางวัฒนธรรมนั้นมีผลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคจิตเภทคนนี้ ซึ่งในกรณีนี้คือ อาการเพ้อฝันนั่นเอง ขณะเดียวกัน การที่คนไทยเข้าใจว่า สภาวะผีอำ หรือ Paralysis Sleep นั้นมีสาเหตุมาจากผีจริงๆ ก็ถือเป็นกรณีเดียวกับผู้ป่วยข้างต้น ทั้งที่เราสามารถเรียกสภาวะนี้ได้ว่า โรคลมหลับ

ภาพวาด The Nightmare / Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/The_Nightmare

และถึงแม้ว่าปัญหาเกี่ยวกับการฝันร้ายอาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนคิดว่า พอตื่นแล้วเดี๋ยวก็ลืมไปเอง แต่สำหรับบางคนอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะหลายครั้งที่ฝันร้ายทำให้เกิดความวิตกกังวลและความเครียดเปรียบเสมือนอารมณ์ที่ตกค้างอยู่ภายในจิตใจ จนบางครั้งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตนอกความฝันไม่มากก็น้อย และจะยิ่งไปกันใหญ่ หากผูกความเชื่อเข้าไปว่า ตนกำลังรับมือกับสิ่งเหนือธรรมชาติอยู่

ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยไม่ต้องพึ่งวิชาอาคมของหมอผีแต่อย่างใด อาจเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ เช่น พักผ่อน 6-8 ชั่วโมง หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ฯลฯ

หากยังกังวลไม่หายกับความคิดที่ว่า ‘เมื่อคืนเราโดนผียายแก่เหยียบอกใช่ไหม?’ การปรึกษาแพทย์อาจเป็นทางเลือกแรกที่ดีกว่าเข้าทรงทำพิธีกรรม ซึ่งวิธีการข้างต้น รวมถึงการบำบัดด้วยยารักษาก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีความบอบช้ำทางจิตใจอยู่ในขณะนั้น

ท้ายที่สุดแล้ว วิธีง่ายๆ ที่แม้แต่แพทย์เองยังแนะนำ คือ ลองเล่าเรื่องราวให้คนที่เราสามารถเปิดเผยความรู้สึกได้อย่างสนิทใจฟัง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก ในมุมกลับกัน ขอแค่ผู้รับฟังสนับสนุนผู้ฝันร้าย และปลอบประโลมจิตใจของเขาด้วยความอ่อนโยนก็เพียงพอแล้ว

 

อ้างอิง