life

คุณเคยมีความรู้สึกผิดถึงขั้นที่คิดว่า ‘ชาตินี้คงไม่มีวันให้อภัยตัวเองได้’ หรือเปล่า?

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องเคยเผชิญกับความผิดพลาดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การงาน หรือความรัก เพราะธรรมชาติของคนเรามักจะคาดหวังต่อตัวเองในบางสิ่งบางอย่างเสมอ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ต้องอยู่ท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน ทั้งยังต้องแบกรับความกดดันจากคนรอบข้าง เมื่อทำอะไรไม่ได้ดังใจคิด ความรู้สึกผิดก็เริ่มคืบคลานเข้ามา

ยิ่งไปกว่านั้นคุณอาจเคยเผลอทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือความรู้สึกของคนอื่นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เมื่อมองย้อนกลับไปจึงพบว่าสิ่งที่ตัวเองทำช่างเลวร้ายและไม่น่าให้อภัย รู้ตัวอีกทีความรู้สึกผิดก็ค่อยๆ ฉุดรั้งให้จมลงสู่หุบเหวแห่งความทุกข์ เอาแต่โทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่า ฉันคือต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด” หรือ หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด”

ทว่าในโลกนี้ไม่มีใครสามารถย้อนกลับไปแก้ไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตได้ มนุษย์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การให้อภัย

ทำไมการให้อภัยตัวเองจึงเป็นเรื่องยาก? 

ทุกคนล้วนเคยเป็นทั้งผู้ทำร้ายและผู้ถูกทำร้าย แต่ขณะที่เราถูกสอนให้รู้จักอภัยคนอื่นเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกโกรธเคืองหรือเสียใจ แต่เหตุใดบางครั้งเรากลับพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยตัวเอง

ดร.เฟร็ดเดอริค ลัสกิน (Frederic Luskin)นักเขียนและนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Forgive for Good ใจความว่า อุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดของการให้อภัยตัวเองคือ เมื่อรู้ตัวว่ากระทำผิดคนเรามักจะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกผิดนั้น เพราะรู้ตัวว่าผิด จึงไม่สามารถหาข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวให้กับสิ่งที่ตนทำ โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง สุดท้ายจึงเลือกเก็บงำความโกรธเคืองและความเสียใจทั้งหมดไว้ จนไม่มีใครช่วยปลอบโยนหรือเยียวยา

บางคนลงโทษตัวเองด้วยการจมอยู่กับความรู้สึกผิดไปชั่วชีวิต ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะเป็นการทำร้ายทั้งจิตใจและร่างกายของตัวเองแล้วยังส่งต่อพลังงานแง่ลบไปยังคนรอบข้างอีกด้วย

เฟร็ดเกอริคกล่าวต่ออีกว่า การให้อภัยเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เผชิญหน้ากับความผิดพลาดในอดีต และยังเป็นแรงผลักดันให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า การยอมรับ เข้าใจและปล่อยวางไม่ได้หมายความว่าคุณหลงลืมในสิ่งที่เคยทำ แต่เพราะความเสียใจและความทุกข์ก็มีฤดูกาลของมัน เราทุกคนต้องเผชิญกับความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลงลงโลกก็ยังดำเนินต่อไป และเราเองก็จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน

ดร.แอบิเกล เบรนเนอร์ (Abigail Brenner) นักเขียนและจิตแพทย์ชาวอเมริกัน กล่าวถึงเหตุผลที่เราควรให้อภัยตัวเองไว้ในบทความ 5 Reasons Why It’s Important to Forgive ดังนี้

การให้อภัยช่วยกระตุ้นความเห็นอกเห็นใจทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เมื่อสามารถให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเราได้แสดงว่าคุณกำลังเรียนรู้การให้อภัยตนเอง การยอมรับและปล่อยวางความผิดในอดีตไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งความเข้มแข็งและกล้าหาญ กล้าที่จะให้โอกาสตัวเองในฐานะมนุษย์ผู้เคยทำเรื่องผิดพลาดและสมควรได้รับการให้อภัย 

ทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ความผิดในบางเรื่องสมควรถูกตำหนิเพื่อให้จดจำและนำไปแก้ไข แต่หากปล่อยให้ความรู้สึกผิดกัดกินใจมากเกินไป ชีวิตจะไม่มีการพัฒนาเพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องที่ตัวเองทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อให้อภัยตัวเองหมายถึงคุณสามารถก้าวข้ามความรู้สึกผิดที่ผูกรั้งตัวเองไว้ และหลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของอารมณ์แง่ลบที่จะขัดขวางความสุขและพัฒนาการของชีวิต 

ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ 

ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความรู้สึกผิด ความทุกข์ ความโกรธแค้น ความผิดหวังที่เหนี่ยวรั้งชีวิตไว้กับการกระทำที่ผิดพลาด การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าต้องลืมเรื่องทั้งหมดที่ผ่านมา แต่คุณกำลังเรียนรู้จะอยู่ร่วมกับมันแบบไม่ทำร้ายใคร ให้อภัยไม่ใช่การลบล้างอดีต แต่เป็นโอกาสให้เริ่มต้นใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากความผิดพลาดที่ผ่านมา

ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ 

หากไม่รู้จักให้อภัยก็ต้องจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่จะทำให้สภาวะจิตใจและอารมณ์ย่ำแย่ ความโกรธ ความเศร้า ความเครียดหรือความวิตกกังวลที่เกินพอดีส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างไม่คาดคิด ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราให้อภัยตัวเอง ไม่เก็บความผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ก็จะทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้นตามไปด้วย 

เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เติบโตและก้าวต่อไปข้างหน้า 

การให้อภัยทำให้ตระหนักถึงความมนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีวันสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีโอกาสทำเรื่องผิดพลาดได้ทุกขณะ แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกระทำผิดซ้ำในอนาคต เมื่อปล่อยวางอดีตไว้ได้จะทำให้มีเวลาโฟกัสกับสิ่งสำคัญในชีวิตมากขึ้น เป็นการให้โอกาสตัวเองใช้ความผิดพลาดเป็นประสบการณ์ เรียนรู้ที่จะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าโดยไม่เสียใจและเจ็บปวดอีกต่อไป 

 

อ้างอิง