“อย่าเพิ่งละสายตาจากหน้าจอทีวี”
หลายคนที่เสพข่าวเช้าเป็นประจำอาจจะคุ้นเคยกับประโยคสะกดวิญญาณของ ต้น – ศุภโชค โอภาสะคุณ เป็นอย่างดี เพราะเขาใช้ประโยคนี้สะกิดให้ผู้ชมผูกติดอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ได้อยู่หมัด
ยังไม่นับลีลาการเล่าข่าวที่ลื่นไหลและเป็นตัวของตัวเองจนแทบจะไม่เรียกว่าการรายงานข่าว แต่เหมือนได้ฟังเพื่อนหัวโจกในห้องเรียนคอยอัพเดทเรื่องราวใหม่ๆ ให้ฟังทุกเช้า รู้ตัวอีกทีเพื่อนเกือบทั้งห้องก็ล้อมวงฟังเขาเล่าเรื่องโน้นออกเรื่องนี้จนหมดชั่วโมงไม่รู้ตัว
ดีกรีความเก๋าในการเล่าข่าวของเขาทำให้ปีนี้เป็นปีแห่งการโยกย้ายของศุภโชค จากการเป็นหนึ่งในทีมข่าวที่เรียกเรตติ้งให้ดิจิทัลทีวีช่องหนึ่งครองความเป็นแชมป์ข่าวเช้าชนิดไม่มีใครโค่นลง สู่บทบาทใหม่ในการกู้ทัพที่รั้งท้ายของดิจิทัลทีวีช่องคู่แข่ง ให้พลิกเกมกลับมาตีตื้นภายในเวลาเพียงไตรมาสเดียว
แน่นอนว่าแม่ทัพคนนี้ย่อมมีฝีมือที่ไม่ธรรมดา becommon จึงสนใจอยากสนทนากับผู้ประกาศข่าวผู้ไม่ยอมให้ใครละสายตาไปจากหน้าจอทีวีที่เขาประจำการ โดยเราเลือกที่จะคุยกับเขานอกห้องผลิตรายการโทรทัศน์ ไม่ต้องสวมสูท ไม่ต้องติดไมค์ และไม่ต้องมีสคริปต์
เรานัดพบศุภโชคที่ LandLab Drip Cafe คาเฟ่กลางทุ่งนาในอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ของเขาเอง ที่นี่จึงเป็นเหมือนแหล่งชาร์จพลังนอกเวลารายงานข่าวของเขา ผู้หลงใหลการดริปกาแฟไม่แพ้การทำข่าว ซึ่งเขาย้ำว่าศาสตร์ทั้งคู่สร้างความสุขให้เขาเท่าๆ กัน
“วันเสาร์ผมต้องอ่านข่าวก่อนตอนครึ่งวันเช้า แล้วค่อยเผ่นมาที่นี่ ผมเลยรับลูกค้าได้แค่ครึ่งหลังของวัน ส่วนวันอาทิตย์ผมจะตื่นตั้งแต่ตีห้า แล้วมาถึงที่นี่ตั้งแต่ประมาณ 6 โมงครึ่ง มันเป็นความสุขกับการได้มาชงกาแฟ ลูกค้าไม่ได้เยอะหรอก คนแถวนี้ไม่กินกาแฟดริป ทุกคนก็กินกาแฟง่ายๆ ลาเต้ เอสเปรสโซ ซึ่งเราก็มีบริการ แต่ผมจะรับหน้าที่ดริปกาแฟเท่านั้น”
ถามว่าทำไมถึงมีความสุขกับการค่อยรินน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟให้ผู้คนได้เสพความสุขกับคาเฟอีนหอมกรุ่น ศุภโชคตอบทันทีว่าเป็นความสุขชนิดเดียวกับการเล่าข่าวทุกเช้า
“ตอนได้เล่าข่าวกับตอนชงกาแฟเป็นความรู้สึกที่เหมือนกัน นั่นคือการทำให้คนมีความสุข ผมไม่ได้นั่งอ่านข่าวตามสคริปต์ แต่เล่าข่าวในสไตล์ของผม กาแฟที่ผมทำก็ใช้การดริปซึ่งมีศิลปะของมัน ดริปยังไงให้อร่อย ให้ได้ความรู้สึกเหมือนจิบไวน์ ก็อยู่ที่กรรมวิธีในการคัดเมล็ด การชง ไปจนถึงศิลปะในการเสิร์ฟกาแฟให้ลูกค้า เสิร์ฟในแก้วแบบไหนให้เขากินแล้วแฮปปี้ บันเทิงใจ
“ผมมีหน้าที่ในการคัดของที่ดีที่สุดให้คนชิม คัดข่าวที่ดีที่สุดให้ผู้ชม”
ทำไมคุณถึงชอบการทำข่าวทีวี
ไม่รู้เหมือนกัน จริงๆ แล้วผมเรียนเอกวารสารศาสตร์ ซึ่งเน้นหนักทางหนังสือพิมพ์ แต่ผมชอบแอบไปเรียนกับพวกทีวี พอเรียนแล้วค่อนข้างไปได้ดี อาจารย์ก็ชอบเรา เราก็มีความสุขกับทีวี แล้วตอนนั้นผมชอบพี่คำรณ หว่างหวังศรี ถือเป็นไอดอลของผมเลยก็ว่าได้ ผมรู้สึกว่าการเป็นนักข่าวมันเท่ เลยอยากเป็นนักข่าวทีวี พอเรียนจบมาก็ได้เข้าทำงานที่ไทยทีวีสีช่องสาม ซึ่งช่องสามไม่เคยรับเด็กจบใหม่ รับเฉพาะคนมีประสบการณ์ และไม่เคยรับใครมาห้าปีแล้ว แต่เขารับผม เลยเหมือนกับผมเจอประตูที่เป็นทางสว่างเปิดต้อนรับ
ผมเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม ทำอยู่ปีครึ่งเริ่มได้ลงเสียงและเปิดหน้าทำสกู๊ป จากนั้นพอผู้ใหญ่ของไอทีวีเห็นผมเปิดหน้าเลยชวนไปเป็นผู้ประกาศข่าว ผมจึงเริ่มต้นอาชีพผู้ประกาศข่าวเป็นครั้งแรกทางช่องไอทีวี เริ่มจากประกาศข่าวต้นชั่วโมงสั้นๆ 5 นาที ต่อมาก็ไปอ่านข่าวดึกที่ยาวหน่อย แต่ไม่มีคนดูหรอก จากนั้นก็ย้ายมาอ่านข่าวเที่ยง แล้วก็มาเป็นข่าวเช้า
เคยถามตัวเองไหมว่าอะไรทำให้ช่องสามรับเด็กจบใหม่ชื่อศุภโชคมาทำงาน
ตัวผมเองก็สงสัย แต่ไม่กล้าถามหรอก เพราะตอนนั้นผมเด็กที่สุด คนที่อายุใกล้เคียงกับผมที่สุดคือแก่กว่าสิบปี ผมจึงได้แต่ทำงานอย่างเต็มที่ คิดว่าที่เขารับเพราะเห็นถึงความตั้งใจของผมที่แสดงออกให้เขารู้ว่าผมอยากทำงานนี้ ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าผมเก่งหรือไม่เก่ง แต่ความตั้งใจสามารถแสดงออกกันได้
ทำไมคุณถึงยกให้ คำรณ หว่างหวังศรี เป็นไอดอล
พี่คำรณเป็นคนทำข่าวอารมณ์ดี และตัวจริงแกก็อารมณ์ดีมากนะ ผมอยากทำข่าวให้ได้แบบนั้น แม้หน้าตาผมจะไม่ใช่คนสนุก และนิสัยผมก็ไม่ใช่คนตลกเท่าไร แต่ทุกครั้งที่ผมเห็นพี่คำรณออนแอร์แล้วผมดูข่าวอย่างมีความสุข เลยอยากทำอะไรที่คนดูแล้วมีความสุข อ่านข่าวยังไงให้คนมีความสุข ก็คงไม่ใช่การอ่านตามสคริปท์แน่นอน ผมจึงอยากคัดข่าวดีๆ เล่าข่าวสนุกๆ ให้คนดูได้สนุกตามไปด้วย หน้าที่ผมคือ อยากให้คนมีความสุขกับการได้รู้จักผม แค่นั้นเอง
ปัจจุบัน (ตุลาคม 2564) ผมเป็นผู้ประกาศข่าวรายการห้องข่าวหัวเขียวและข่าวเช้าหัวเขียวทางช่องไทยรัฐทีวีได้สามเดือนแล้ว และพยายามทำข่าวให้ออกมาดีที่สุดทั้งสามคน (ผู้ประกาศร่วมอีก 2 คน คือ ณัชฐพงศ์ มูฮำหมัด และ รสริน ประกอบธัญ) ข่าวเข้มก็เข้ม ข่าวที่ไม่เข้มต้องรีแลกซ์ให้ได้ ต้องดึงคนให้อยู่ แล้วอะไรล่ะที่จะดึงคนให้อยู่ อ่านข่าวธรรมดาและชัดเจน ไม่พอ ต้องมีสีสันเติมเข้าไป เราไม่ได้ใส่ไข่ แต่เราเติมสีสันเข้าไป ฉะนั้น ความเป็นจริงของข่าวยังคงอยู่ แต่เติมสีสันการเล่าให้น่าสนุกมากขึ้น ฉะนั้น จึงไม่ผิดคอนเซ็ปต์ของข่าวที่บอกเล่าความจริง
แต่ดูเหมือนสัดส่วนข่าวเช้าไทยรัฐทีวีจะมีข่าวงู ข่าวหวย มากกว่าช่องอื่น
ผมว่าสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพียงแต่ว่าพอไทยรัฐเล่นข่าวแนวนี้แล้วติดตาคนดูมากกว่า จริงๆ แล้วข่าวก็มาจากแหล่งข่าวเดียวกัน นักข่าวต่างจังหวัดของแต่ละช่องก็แทบจะเป็นคนเดียวกันเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ซิกเนเจอร์ของไทยรัฐเองก็คือข่าวชาวบ้านอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงต้องนำเสนอข่าวที่มีความใกล้ชิดกับคนดูมากหน่อย
ผมเป็นคนชอบเล่าข่าวการเมืองมาก เคยเอาข่าวการเมืองมาเล่า ปรากฏว่าเรตติ้งตกฮวบ อ้าว คนดูข่าวช่องนี้เขาไม่ดูข่าวการเมืองเหรอ งั้นเอางูมา พอคนชอบดูข่าวงู เราก็เข้าใจผู้บริโภคของเราแล้ว เพราะบางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่าคนดูของเราเป็นแบบไหน เลยต้องลองของทุกวัน บางทีเล่นข่าวงูเป็นแพ็คยาวๆ ก็น่าเบื่อ เปลี่ยนบ้าง สลับกันไป
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของคุณคือ มักกระตุ้นเตือนผู้ชมบ่อยๆ ว่า “อย่าเพิ่งละสายตาจากหน้าจอทีวี” ประโยคนี้เริ่มขึ้นได้อย่างไร
ธรรมชาติของมนุษย์พอดูอะไรไปนานๆ ที่บางทีอาจจะไม่ได้สนุกตลอดชั่วโมง กลายเป็นนั่งดูทีวีไปลอยๆ แล้วเหมือนมีคนมากดกริ่งหน้าบ้าน เป็นใครก็ต้องหันไปดู ผมจึงต้องกระตุกวิญญาณคนดูด้วยอารมณ์แบบเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นคิวที่ผมเป็นคนนำข่าว ผมจะกระตุกตลอด เป็นสูตรที่ผมคิดเอง และทำมาตั้งแต่ก่อนอยู่ช่องอมรินทร์อีก ผมไม่รู้หรอกว่าได้ผลหรือไม่ แต่ยังไงก็ต้องดึงคนดูไว้ก่อน
ยากไหมกับการทำข่าวเช้า
ยาก ผมเป็นคนที่เกลียดข่าวเช้ามาตั้งแต่แรก ไม่อยากทำเลย เพราะเหนื่อยมาก คนทำข่าวเช้าแทบจะทิ้งทุกอย่างในชีวิตไปเลย จะนอนกอดลูกกอดเมียหรือแม้แต่กอดแมวกอดหมายังไม่ได้เลย เพราะต้องเข้านอนตอน 6 โมงเย็น เพื่อจะตื่น 5 ทุ่ม แล้วไปประชุมตอนตี 1 รันยาวจนถึงเวลาที่รายการออกอากาศตอนตี 5 ครึ่งถึง 8 โมงครึ่ง ดังนั้น แค่เห็นแดดตอนเก้าโมงเช้าเราก็อยากจะปิดตานอนแล้ว
แล้วในแง่การแข่งขันในสมรภูมิข่าวเช้าของแต่ละช่องทีวีดุเดือดแค่ไหน
นี่คือทะเลเลือดเลย บางช่องไม่มีข่าวเที่ยง บางช่องไม่มีข่าวเย็น แต่ไม่มีช่องไหนไม่มีข่าวเช้า ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนผมอยู่ข่าวเช้าช่องอมรินทร์ ผมไม่เคยรู้ว่าข่าวเช้าไทยรัฐเรตติ้งไม่ค่อยดี พอผมก้าวเข้ามารับการบ้านตรงนี้เลยถือเป็นงานใหญ่ ไทยรัฐกับอมรินทร์เป็นคู่แข่ง เคียดแค้นกันตั้งแต่ชาติปางไหนก็ไม่รู้ ถึงต้องมาแข่งกันทุกวัน ทุกเวลา ตั้งแต่เช้าจรดมืด แล้วเราจะทำยังไง เพราะตอนนี้คนดูติดช่องอมรินทร์หรือไม่ก็เวิร์คพอยท์ไปแล้ว เลยต้องหาวิธีค่อยๆ สู้ไป
“การทำข่าวเหมือนการแทงหวยทุกวัน วันนี้เราเลือกข่าวแบบนี้มาเรียงเสร็จแล้วผู้ชมชอบไหม ถ้าผู้ชมชอบ ก็ถือว่าถูกหวย”
ผมโชคดีตรงที่แม้ผมจะเป็นผู้ประกาศข่าวมาโดยตลอด แต่ผมก็ได้ทำงานบริหารควบคู่ไปด้วยเสมอ เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ เขยิบมาเป็นบรรณาธิการข่าว หรือ News Producer จนทุกวันนี้ผมเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายบรรณาธิการสายงานข่าวไทยรัฐทีวี ผมจึงได้ดูคอนเทนต์ควบคู่ไปด้วย พอได้ทำงานทั้งระบบ ผมจึงเปลี่ยนทุกอย่างได้ ใครที่เคยทำงานก๊อกๆ แก๊กๆ พอเจอผม เขาก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนเพื่อองค์กร ไม่ได้เปลี่ยนเพื่อศุภโชค จนสถานการณ์ตอนนี้เริ่มดีขึ้น ถ้าไม่นับช่องสามกับช่องเจ็ดที่เป็นดาวค้างฟ้า คู่แข่งของเราจึงมีช่องอมรินทร์ เวิร์คพอยท์ และช่องแปด วันนี้ไทยรัฐชนะช่องแปดได้แล้ว ชนะเวิร์คพอยท์และอมรินทร์ได้บางวัน ซึ่งที่ผ่านมาไทยรัฐไม่เคยชนะเลย
สไตล์การทำงานของคุณเป็นแบบไหน
ในการประชุมข่าว ผมจะเป็นคนวางข่าวของทุกวัน ทำตัวประหนึ่งลูกค้าที่บรรณาธิการข่าวแต่ละคนต้องพรีเซนต์ข่าวเหมือนขายโฆษณา และต้องทำให้ผมซื้อให้ได้ ถ้าขายห่วยๆ ผมตบประเด็นทิ้ง ไปทำมาใหม่ ผมค่อนข้างดุมากเวลาประชุม โดยหน้าที่แล้วผมต้องเข้มข้นกับทุกคน เพราะเราต้องเอาของดีมานำเสนอคนดู ไม่อย่างนั้นผมจะมาอยู่ไทยรัฐทีวีทำไม สู้ไปอยู่ช่องที่สบายๆ ก็ได้ แต่ในเมื่อเราตั้งใจที่จะมาสู้แล้ว ก็ต้องสู้ด้วยกัน
บรรยากาศการทุบโต๊ะเขี่ยข่าวทิ้งที่ว่าเกิดขึ้นตอนไหน
ดุกันตอนตี 1 หลอนๆ เลย ทำไมได้มาแค่นี้ ตื่นมาทำงานตอนกี่โมงกันแน่ ตอนห้าโมงเย็นก็ข่าวนี้ เที่ยงคืนยังข่าวนี้อีกเหรอ ตูม! เงียบ คือผมไม่ใช่คนอารมณ์ร้าย แต่ถ้าของมันไม่ดีพอ แล้วจะสู้กับใครได้ เรามีหน้าที่สู้ทุกวัน เหมือนต้องเก็งเลขแทงหวยทุกวัน ฉะนั้นจึงต้องมีของดีในการไปสู้กับช่องอื่น เลยต้องทำแบบนี้ทุกวัน แต่จบก็คือจบ พอจบข่าวเช้าหัวเขียว ทุกคนก็แยกย้ายกลับบ้านได้ถ้าไม่มีความผิดพลาด แต่ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็ต้องประชุมกันต่อเพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง
คุณเสพข่าวแต่ละวันหนักแค่ไหน
ไม่ถึงกับต้องไถหน้าจอเช็คข่าวตลอดเวลา ผมแค่ต้องรู้ว่าวันนี้มีอะไรเกิดขึ้นในสารบบบ้าง หน้าที่เราคือ ต้องไม่ตกข่าวใหญ่ ส่วนข่าวย่อยๆ เป็นหน้าที่ของลูกน้อง หน้าที่ของบก. ต้องมาเติมให้ผม ฉะนั้น ประเด็นใหญ่ห้ามตก ประเด็นเล็กมาเสริม ประเด็นสนุกมาเติม ครบสามองค์ประกอบนี้ก็จะได้ข่าวที่สมบูรณ์
“แค่ได้เล่าข่าวแต่ละวันผมก็มีความสุขแล้ว มีความสุขกับข่าวที่อาจจะมาถึงมือเราเป็นแค่ก้อนเล็กๆ แต่เราเล่าให้สนุกได้มากกว่านั้น”
แต่ทีนี้รายการข่าวสามชั่วโมงถือว่านานมาก เราจะเรียงข่าวยังไงให้คนติดตามตลอดสามชั่วโมง ดังนั้น แต่ละเบรกจึงจำเป็นต้องมีพระเอก สมมติว่ามี 9 เบรค ก็ต้องหาพระเอกให้ได้ 9 ตัว จะมีหรือไม่มีก็ต้องทำให้มีให้ได้ เป็นหน้าที่ของผมและทีมที่จะต้องครีเอตแต่ละประเด็น เช่น ต้นสารภีล้มที่เชียงใหม่ ทำไมถึงทำข่าวแค่เรื่องต้นไม้ล้ม ผีมีไหม อาถรรพ์ล่ะ ต้นไม้ล้มแบบนี้ทุกวันเหรอ ถ้าไม่ใช่แปลว่ามีอาถรรพ์ ไปหามาว่าอะไรคืออาถรรพ์ จนสุดท้ายเรื่องถึงแดงออกมาว่าเพราะมีคนไปถ่ายวิดีโอต้องห้ามที่นี่ เราก็ต้องเอาข่าวมาเล่นต่อ
การทำข่าวเหมือนการแทงหวยทุกวัน วันนี้เราเลือกข่าวแบบนี้มาเรียงเสร็จแล้วผู้ชมชอบไหม ถ้าผู้ชมชอบ ก็ถือว่าถูกหวย ถ้าผู้ชมไม่ชอบ หวยแดก (หัวเราะ) เมื่อต้องแทงหวยทุกวัน เราก็จะต้องศึกษาผู้บริโภค ศึกษาคนดู ศึกษาประเด็นข่าว ทุกช่องได้ข่าวมาเหมือนๆ กันหมด อยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอมุมไหนให้คนรู้สึกสนุกกับข่าว ฉะนั้น ข่าวก้อนเดียวกันการนำเสนอจึงสำคัญมาก คนพรีเซนต์อย่างผู้ประกาศข่าวก็สำคัญ ทุกองค์ประกอบจึงต้องเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ตั้งแต่ก้อนข่าว คนเขียนข่าว และคนนำเสนอข่าว จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องคอนโทรลก้อนต่างๆ เหล่านี้เพื่อที่จะลำเลียงออกไปนำเสนอสู่ผู้ชม
เป้าหมายของข่าวเช้าไทยรัฐทีวีคือนัมเบอร์วัน?
นัมเบอร์ทรี นัมเบอร์วันไม่ต้องไปพูดถึง ไม่มีทางสู้พี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ได้ ช่องเจ็ดยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนต่างจังหวัดไม่ดูช่องสามอยู่แล้ว ยังไงก็เปิดช่องเจ็ด ต่อให้เอาแมวมาอ่านข่าว คนก็ดูช่องเจ็ด ส่วนอันดับสามคือช่องอมรินทร์ ที่ตอนนี้เราเริ่มชนะไปทีละสเต็ป เมื่อเราเห็นช่องทางแล้วว่าสู้แล้วมีโอกาส เราสู้ต่ออยู่แล้ว
อะไรคือความสุขของการทำข่าว
จริงๆ แล้วเรื่องเรตติ้งมาทีหลัง แค่ได้เล่าข่าวแต่ละวันผมก็มีความสุขแล้ว มีความสุขกับข่าวที่อาจจะมาถึงมือเราเป็นแค่ก้อนเล็กๆ แต่เราเล่าให้สนุกได้มากกว่านั้น ตอนได้เล่าข่าวกับตอนชงกาแฟเป็นความสุขประเภทเดียวกัน นั่นคือการทำให้คนมีความสุข โดยเฉพาะกาแฟดริปที่มีความละมุนเหมือนจิบไวน์ ซึ่งอยู่ที่ศิลปะในการคัดเมล็ด การชง และการเสิร์ฟ ผมมีหน้าที่ในการคัดกาแฟที่ดีที่สุดให้คนชิม และคัดข่าวที่ดีที่สุดให้ผู้ชม
คุณหลงใหลกาแฟตั้งแต่เมื่อไร
ผมชอบกาแฟมาเป็นสิบปีแล้ว คนชอบกาแฟก็เหมือนคนชอบไวน์ รูปร่างหน้าตาภายนอกอาจจะดูเหมือนกัน แต่รสชาติไม่เหมือนกัน กาแฟที่ปลูกในจังหวัดนี้ ประเทศนี้ ก็รสชาติออกมาไม่เหมือนกัน ผมเลยเสาะแสวงหาชิมกาแฟไปทั่ว โชคดีที่มีเพื่อนทำโรงคั่วและทำไร่กาแฟ ผมจึงทั้งสั่งมากินเองและทำขายที่นี่หลังเลิกงาน
จริงๆ ลูกค้าที่มาแลนด์แล็บส่วนใหญ่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งก็ไม่ได้สนใจเมล็ดกาแฟหรือการดริปมากขนาดนั้น เขาก็สั่งกาแฟร้อน กาแฟดำไปตามปกติ แต่ผมจะนำเสนอทุกครั้งว่ารับเมล็ดอะไรดีครับ พร้อมกับแนะนำกาแฟให้ลูกค้าเลือก เพราะผมอยากนำเสนอ ขอให้ได้พูด ขอให้ได้นำเสนอ แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว ชอบ–ไม่ชอบไม่เป็นไร
ทำไมต้องกาแฟดริป
การดริปกาแฟทำให้เกิดมิติของรสชาติ คล้ายกับการทำข่าวที่มีมิติของการทำข่าว ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อย ข่าวก้อนเดียวกัน แต่เราทำให้เกิดมิติได้ กาแฟก็เหมือนกัน เราคัดเมล็ดมาอย่างดี เราตั้งใจทำ ก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าฟัง ดังนั้น หน้าที่ของผมคืออธิบายข่าว เล่าข่าว อธิบายกาแฟ และเล่าเรื่องกาแฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเล่าได้ไม่มีวันเบื่อ