life

The Writer’s Room
No. 03

ห้องเงียบสงบในคฤหาสน์เหนือแม่น้ำ ของอกาธา คริสตี (Agatha Christie)
สุภาพสตรีขี้อาย ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ ‘ราชินีนวนิยายอาชญากรรม’

Photo: John Gay (1948). Agatha Christie. National Portrait Gallery, London.

อกาธา คริสตี เป็นนักเขียนคนสำคัญที่ประสบความสำเร็จสูงสุดระดับโลก บนเส้นทางนักเขียนอาชีพ เธออุทิศชีวิตและทุ่มเทเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ หรือร่วม 60 ปีเต็ม ให้กับการสร้างสรรค์งานเขียนนวนิยายอาชญากรรมทั้งหมด 76 เรื่อง เรื่องสั้น 158 เรื่อง และบทละครอีก 15 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนอื่นๆ อีกมากมายที่เธอใช้นามแฝงแทนชื่อจริง

อกาธามีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจากนวนิยายอาชญากรรม โดยเฉพาะการเลือกใช้วิธีดำเนินเรื่องแบบ whodunit ซึ่งมาจากประโยคเต็มว่า Who (has) done it? หมายถึง แนวนวนิยายตามหาคนร้าย เริ่มต้นด้วยการตายอย่างผิดธรรมชาติของใครบางคน เพราะถูกฆาตกรรม ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายหรืออยู่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งหมด จากนั้นจึงดำเนินเรื่องผ่านการสืบสวนและสอบสวนโดยมีตัวละครนักสืบคนเก่งเป็นผู้คลี่คลาย เพื่อนำไปสู่บทสรุปในตอนท้ายว่า ใครคือฆาตกรตัวจริง

นวนิยายแต่ละเล่มของอกาธา สามารถเรียงร้อยเรื่องราวได้อย่างมีชั้นเชิงและโดดเด่น เงื่อนงำและปมปัญหาที่เธอนำเสนอ มักจะทำให้ผู้อ่านไขว้เขวจนไม่อาจด่วนตัดสิน หรือปักใจเชื่อได้ในทันที ถ้าหากไม่ระวังให้ถี่ถ้วน หรือมองข้ามข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ก็อาจถูกงานเขียนของเธอหลอกล่อให้ตายใจ จนหลงคิดว่าตัวละครตัวนี้คือฆาตกร ก่อนที่เธอจะเฉลยความจริง ทั้งวิธีการที่ฆาตกรใช้สังหารและแรงจูงใจเบื้องหลัง ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้อ่านรู้ตัวว่าพวกเขาคิดผิดมาตลอด แต่ยังสร้างความรู้สึกเหนือความคาดหมายใดๆ ทั้งหมดนี้ กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้ผลงานของอกาธาน่าติดตามอ่านเสมอ

หากเปรียบโลกนี้เป็นนวนิยายอาชญากรรมสักเรื่อง ชีวิตจริงของเธอไม่แตกต่างจากตัวละครลึกลับ เธอเป็นคนไม่เปิดเผยตัวตน พูดน้อย และหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในที่สาธารณะ ซึ่งอกาธาเคยยืนยันถึงเรื่องนี้ด้วยตัวเองว่า เธอไม่ใช่คนพูดเก่ง หากจะต้องพูดจริงๆ ก็คงทำได้ไม่ดีเท่าการเขียน

Photo: www.newyorker.com/books/page-turner/agatha-christie-and-the-golden-age-of-poisons

เมื่ออกาธาไม่เปิดเผยเรื่องส่วนตัว ชีวิตของเธอในสายตาผู้อื่น จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและข่าวลือที่ชวนทำให้ไขว้เขวเช่นเดียวกับเรื่องที่เธอเขียน ทุกอย่างเป็นปริศนา แต่ขณะเดียวกันก็น่าสืบเสาะค้นหา โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอปักหมุดชีวิตเป็นนักเขียน ที่มาและแรงบันดาลใจของนวนิยายแต่ละเรื่อง การหย่าร้างกับสามีคนแรก และเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอหลังตั้งใจหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยถึง 11 วัน

ทุกครั้งที่อกาธาถูกร้องขอให้บอกเล่าเรื่องส่วนตัว เธอจะตอบเพียงสั้นๆ ว่า ผู้อ่านควรสนใจที่ผลงาน ไม่ใช่ที่ตัวผู้เขียน แต่ในท้ายที่สุด อกาธาก็ยอมเปิดเผยชีวิตให้ทุกคนได้รู้ ผ่านอัตชีวประวัติที่เธอเขียนด้วยตัวเอง

วัยเด็กของอกาธาเป็นช่วงเวลาที่เธอรู้สึกมีความสุขมากที่สุด เธอมีชีวิตอย่างมั่งคั่งในเมืองชายทะเลของประเทศอังกฤษอย่างทอร์คีย์ (Torquay) ถือเป็นเมืองตากอากาศยอดนิยมของชนชั้นสูงในสมัยนั้น เธอมีอายุห่างจากพี่สาวและพี่ชายมากกว่า 10 ปี จนรู้สึกว่าตัวเองคือลูกคนเดียวของครอบครัว เธอเป็นเด็กเรียนรู้เร็ว สามารถอ่านหนังสือได้ตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ เธอจึงใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่ในบ้าน

เมื่ออายุครบ 18 ปี อกาธาเริ่มสนใจหนังสือแนวรหัสคดี (Mystery Story) ต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่ ซึ่งมักสนใจบทกวี เมื่อเธออ่านนิยายเรื่อง The Mystery of the Yellow Room ของกัสตง เลอ รูซ์ (Gaston Le Roux) จบ เธอชอบมากจนอยากเขียนเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนบ้าง แต่พี่สาวซึ่งเก่งและฉลาดกว่าในสายตาเธอ กลับท้าทายอกาธาด้วยคำสบประมาทว่า ไม่มีทางทำได้

Photo: The Sun

หลังจากนั้น อกาธาในวัย 21 ปี พบรักกับนักบินหนุ่ม ทั้งคู่แอบแต่งงานกันอย่างลับๆ  ก่อนจะบอกให้ครอบครัวรู้ ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพอดี สามีของเธอต้องไปร่วมรบกับกองทัพ ส่วนอกาธาเองก็รู้สึกว่าควรทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติ เธอจึงสมัครเป็นพยาบาลอาสา (Voluntary Aid Detachment Nurse) และเข้าเรียนหลักสูตรพยาบาลสงคราม ทำให้เธอเข้าใจเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและความตาย กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่มีใครอยากเห็น ทั้งบาดแผลฉกรรจ์ และสภาพร่างกายบาดเจ็บสาหัสของทหารรบ ที่สำคัญ เธอยังเป็นผู้ช่วยเภสัชกร ทำให้ได้เรียนรู้วิธีใช้ยาประเภทต่างๆ

Photo: The Sun

ยา คือ สิ่งแปลกใหม่ที่เธอสนใจมากเป็นพิเศษ เพราะผู้ให้ยาคือคนกำหนดว่ายาตัวนั้นจะเป็นคุณหรือให้โทษ เธอคิดว่าควรนำความรู้เรื่องยามาใช้ในงานเขียน ระหว่างทำงานที่สถานีอนามัย เธอจึงเริ่มพัฒนาโครงเรื่องนวนิยายอาชญากรรมควบคู่ไปด้วย โดยใช้ห้องปรุงยาเป็นสถานที่สำหรับนั่งเขียนงานในช่วงแรกๆ 

เธอตัดสินใจส่งต้นฉบับนวนิยายเล่มแรกที่ใช้ยาพิษเป็นวิธีฆาตกรรมไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ระหว่างรอการตอบรับ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ยุติ หน้าที่พยาบาลอาสาของเธอสิ้นสุดลง ส่วนสามีก็ได้กลับมาอยู่กับเธอ ทั้งคู่มีลูกและใช้ชีวิตร่วมกัน เธอลืมเรื่องนวนิยายของตัวเองและความตั้งใจที่จะเป็นนักเขียนไป จนกระทั่งได้รับจดหมายตอบรับ

สำนักพิมพ์ The Bodley Head ตัดสินใจตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรกของเธอ และเซ็นสัญญาให้เธอเขียนนวนิยายแนวอาชญากรรมอีก 4 เรื่อง ผู้อ่านจำนวนมากชื่นชอบผลงานของเธอ เพราะพวกเขาต้องการสวมบทบาทเป็นนักสืบ เพื่อร่วมไขปริศนาตามหาฆาตกร

อกาธามีชื่อเสียงสูงสุดเมื่อตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง The Murder of Roger Ackroyd (1962) กับสำนักพิมพ์ William Colline& Son เธอตั้งใจละเมิดกฏข้อสำคัญของการเขียนนวนิยายรหัสคดี โดยหลอกผู้อ่านให้เข้าใจผิด ตอบจบของเรื่องจึงหักมุมอย่างคาดไม่ถึง จนกลายเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก ทั้งในหมู่ผู้อ่านและสโมสรนิยายสืบสวน (Detection Club) ซึ่งมีบรรดานักเขียนชาวอังกฤษเป็นสมาชิก ผลงานของเธอท้าทายขนมธรรมเนียมคร่ำครึ ซึ่งไม่เคยมีนักเขียนคนไหนกล้าทำ แต่ความอาจหาญของอกาธาในครั้งนี้ทำให้เธอได้รับการยกย่องและขนานนามว่า Queen of Crime หรือราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล คือ การสูญเสียแม่ หลังจากนั้นไม่นานสามีของเธอขอหย่า เธอเศร้าและเสียใจอย่างมาก จนตัดสินใจขับรถออกจากบ้านและหายตัวไปเป็นเวลา 11 วัน วันที่ 12 เธอเปิดเผยว่าอยู่ในโรงแรม Harrogate Old Swan Hotel และทำเสมือนว่าไม่มีอะไรผิดแปลก ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงของเธอ

Photo: Hulton Archive via Newsweek Magazine

อกาธาในวัย 38 ปี พยายามลืมความทุกข์โศก โดยการออกเดินทางด้วยรถไฟไปยังแหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียคนเดียว จากนั้นเธอท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ตามที่ใจต้องการ จนเธอพบรักครั้งใหม่กับนักโบราณคดีที่มีอายุน้อยกว่าถึง 14 ปี ทั้งคู่ร่วมเดินทางรอบโลกเพื่อสำรวจแหล่งโบราณสถาน ทำให้เธอเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ และสิ่งที่พบเจอระหว่างเดินทาง

Photo: Planet News Ltd / AFP

เมื่ออกาธารู้สึกว่าเธอได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างสมบูรณ์ เธอจึงตัดสินใจขายบ้านในเมืองทอร์คีย์ที่อยู่มาตั้งแต่เด็กไปพร้อมกับความทรงจำในวันวาน 

เธอซื้อคฤหาสน์หลังใหม่ในกรีนเวย์ (Greenway) ซึ่งห่างจากบ้านหลังเดิมประมาณ 10 ไมล์ คฤหาสน์หลังนี้ตั้งอยู่บนเนินสูงเหนือแม่น้ำรีเวอร์ดาร์ท (River Dart) แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันเงียบสงบ

อกาธารู้สึกอุ่นใจและมีความสุขได้ไม่นาน เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เธอกลับไปเป็นพยาบาลอาสาอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอต้องย้ายไปประจำที่ UCL หรือ University College Hospital ในกรุงลอนดอน ถึงแม้ว่าเธอจะต้องทำงานอยากหนัก แต่เธอไม่เคยลืมแบ่งเวลาว่างสำหรับเขียนนวนิยาย เพราะโรงพยาบาลคือคลังความรู้และแรงบันดาลใจของเธอ

Photo: Planet News Ltd / AFP

เมื่อสงครามครั้งที่สองยุติลง อกาธาย้ายกลับมาอยู่คฤหาสน์ที่เธอรักอีกครั้ง เธอเลือกห้องที่มองเห็นแม่น้ำรีเวอร์ดาร์ทผ่านหน้าต่างเป็นห้องทำงาน เธอบอกว่า หากจะต้องเขียนนวนิยายสักเรื่อง ของจำเป็นที่ต้องมี คือ เก้าอี้ โต๊ะ เครื่องพิมพ์ดีด Remington Victor T ซึ่งสามารถพกพาไปได้ทุกที่ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ความเงียบสงบ เธอรักความเป็นส่วนตัวและชอบเขียนงานเงียบๆ ตามลำพัง ความเงียบทำให้เธอเขียนได้อย่างลื่นไหล เพราะมีสมาธิอยู่กับการเรียบเรียงและปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน ภายในห้องจึงแทบจะไม่มีเสียงอื่นใด นอกจากเสียงกระทบของแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีดที่เธอใช้

นอกจากนี้ บนโต๊ะของเธอต้องมีปากกา กับม้วนกระดาษขนาดใหญ่และหนาวางคู่กันเสมอ เพราะจริงๆ แล้วเธอชอบเขียนด้วยมือมากกว่า แล้วค่อยนำมาพิมพ์ซ้ำทีหลังเพื่อส่งต่อไปยังสำนักพิมพ์

Photo: Planet News Ltd / AFP

สำหรับอกาธา การเขียนลงบนกระดาษจึงแตกต่างจากการพิมพ์อย่างสิ้นเชิง เพราะเธอสามารถร่างโครงเรื่อง เขียนความคิดใหม่ๆ แทรกเข้าไป และลากเส้นเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างอิสระ เธอยังบอกด้วยว่า โครงเรื่องของนวนิยายอาชญากรรมมักจะเกิดขึ้นมาอย่างไม่ทันได้เตรียมตัว เช่น ขณะเดินเล่นบนถนน หรือระหว่างที่เธอกำลังเลือกซื้อของ เมื่อไม่ได้นั่งอยู่ที่โต๊ะ เธอจะพกกระดาษและปากกาติดตัวเสมอ เพื่อจดสิ่งที่เธอบังเอิญนึกขึ้นมาได้

Photo: Planet News Ltd / AFP

อกาธายังได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสโมสรนิยายสืบสวน ซึ่งเธอเคยละเมิดกฎต้องห้ามอย่างกล้าหาญ แต่ตลอดเวลา 20 ปีที่เธอยอมเป็นประธาน เธอมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวว่า เธอจะไม่กล่าวสุนทรพจน์ หรือพูดต่อหน้าสมาชิกคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในโอกาสใดก็ตาม

ช่วงบั้นปลายของชีวิต อกาธามีปัญหาสุขภาพ จนกระทั่งอายุ 86 ปี เธอจากโลกนี้ไปอย่างสงบ

ตลอดชีวิตของอกาธาให้สัมภาษณ์กับสื่อน้อยมาก เธอไม่ยอมให้นิตยสารเล่มไหนนำรูปเธอขึ้นเป็นปก และไม่ชอบให้คนอื่นที่เธอไม่รู้จักถ่ายรูปตัวเธอ เธอคือนักเขียนที่มีโลกส่วนตัวสูงและไม่เคยหวั่นไหวกับชื่อเสียงที่ได้รับ

Photo: AFP

หลังจากอกาธาเสียชีวิต ลูกสาวคนเดียวของเธอนำผลงานนวนิยายที่ผู้เป็นแม่เขียนไว้ออกตีพิมพ์จนครบถ้วน รวมถึงอัตชีวประวัติที่เธอเขียนเสร็จไว้นานแล้ว แต่ไม่ยอมให้ตีพิมพ์ระหว่างมีชีวิตอยู่ เธอบอกเล่าชีวิตไว้อย่างครบถ้วนด้วยข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ ความรู้สึกนึกคิดของเธอ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกผิดหวัง เพราะไม่อาจเข้าถึงตัวตนและหัวใจของเธอได้

ขณะเดียวกัน นักเขียนหน้าใหม่ชื่อ แมรี เวสต์มาคอทท์ (Mary Westmacott) ตีพิมพ์นิยายรัก 6 เล่ม เป็นเรื่องราวของผู้หญิงขี้อายคนหนึ่ง ชีวิตของเธอผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหลายครั้ง ทั้งการหย่าร้าง และสงครามโลก เธอเคยมีความคิดฆ่าตัวตาย แต่กอบกู้ความรู้สึกและตัวตนกลับคืนจากความโศกเศร้ามาได้ก่อน บทสรุปของนิยายมักจบลงด้วยความไม่สมหวัง ความเจ็บปวดจากการสูญเสียความรัก และการไม่มีตัวตน ซึ่งไม่มีใครมีโอกาสได้พบกับนักเขียนคนนี้ เพราะเธอคือนามปากกาของอกาธา เธอเขียนนิยายชุดนี้หลังจากเลิกรากับสามีคนแรก งานเขียนของแมรี เวสต์มาคอทท์จึงสามารถบ่งบอกตัวตัวและความรู้สึกลึกๆ ในใจของเธอได้อย่างแยบคาย และลึกซึ้งมากกว่าอัตชีวประวัติ

ชีวิตเบื้องหน้าของอกาธา คือ นักเขียนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ เป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิล และผลงานของวิลเลียม เชกสเปียร์ ผลงานของเธอตีพิมพ์ไปมากกว่า 2,000 ล้านเล่ม ได้รับการแปลไม่ต่ำกว่า 103 ภาษา นวนิยายของเธอยังทรงอิทธิพลกับผู้อ่านทุกยุคสมัย 

ส่วนชีวิตเบื้องหลังของอกาธา คือ สตรีอังกฤษที่มีฉากชีวิตซับซ้อนเกินกว่าใครจะคาดเดาได้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่เธอรักมากที่สุดคือ ความโดดเดี่ยว เรื่องราวของชีวิตที่ไม่ยอมเปิดเผยมากนัก ทำให้เธอเป็นนักเขียนลึกลับที่น่าติดตามไม่แพ้นวนิยายอาชญากรรม แต่แตกต่างตรงที่ชีวิตจริงของอกาธาไม่มีนักสืบคนเก่งมาคลี่คลายปมปริศนาเหมือนเรื่องราวที่เธอแต่ง หรืออาจจะมี แต่นักสืบผู้นั้นคงไม่อาจไขปริศนาของเธอได้

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของอกาธา คริสตี

The Mysterious Affair at Styles (1920) / เรื่องลึกลับที่สไตล์ส (ฉบับภาษาไทย โดย แพรวสำนักพิมพ์)
ผลงานเขียนลำดับแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ ว่าด้วยเรื่องราวการตายของ ‘เอมิลี อิงเกิลธอร์ป’ หญิงสูงอายุผู้มั่งคั่ง เพราะได้รับมรดกจากสามีเก่าที่มีลูกติดอยู่สองคน หลังจากสูญเลียสามีไปได้ไม่นาน เธอตัดสินใจแต่งงานใหม่ และใช้ชีวิตคู่ร่วมกับ ‘อัลเฟรด’ ชายช่างประจบผู้มีอายุน้อยกว่า แต่แล้วทุกอย่างกลับพลิกผัน เมื่อเธอถูกใครบางคนวางยาพิษ ร่างของเธอนอนนิ่งหมดลมหายใจอยู่ภายในห้องที่ลงกลอนอย่างแน่นหนา ทุกคนในคฤหาสน์ ทั้งลูกเลี้ยงของสามีคนก่อน แม่บ้านผู้ซื่อสัตย์ และลูกบุญธรรมผู้มีความรู้เรื่องการปรุงยา ต่างสงสัยตรงกันว่า ต้องเป็นฝีมือของสามีคนใหม่อย่างแน่นอน เพราะว่าเขาจะได้สมบัติทั้งหมดไปครอบครองเพียงผู้เดียว แต่ยอดนักสืบอย่าง ‘แอร์กูล ปัวโรต์’ กลับไม่คิดเช่นนั้น เขาค่อยๆ คลี่คลายปมปริศนา ก่อนจะเปิดเผยฆาตกรตัวจริงให้ทุกคนได้รู้

The Murder of Roger Ackroyd (1926) / ฆาตกรรมโรเจอร์ แอ็คครอยด์ (ฉบับภาษาไทย โดย แพรวสำนักพิมพ์)
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการฆ่าตัวตายของ ‘เฟอร์ราร์ส’ สาวม่ายผู้เลือกจบชีวิตด้วยการกินยานอนหลับเกินขนาด เพราะต้องการหนีจากความจริงบางอย่าง 24 ชั่วโมงต่อมา ‘โรเจอร์ เเอ็กครอยด์’ ชายที่เธอวางเเผนว่าจะเเต่งงานด้วย ถูกฆ่าในบ้านของเขาเอง ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ใดๆ ในที่เกิดเหตุ ทรัพย์สินทุกอย่างอยู่ครบถ้วน ไม่ปรากฏลายนิ้วมือของคนร้าย สิ่งเดียวที่ฆาตกรจงใจทิ้งไว้ คือ อาวุธสังหาร ซึ่งเป็นกริชของเเอ็คครอยด์ การสืบหาตัวคนทำจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ตายไม่เคยมีศัตรูหรือบาดหมางกับใคร นำไปสู่บทสรุปที่พลิกความคาดหมายอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อให้อกาธามากที่สุด

Murder on the Orient Express (1934) / ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส (ฉบับภาษาไทย โดย แพรวสำนักพิมพ์)
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่ซีเรีย ‘แอร์คูล ปัวโรต์’ ตั้งใจเดินทางต่อไปยังตุรกีเพื่อพักผ่อน เมื่อถึงจุดหมาย เขากลับได้รับโทรเลขตามตัวอย่างกระทันหัน ทำให้ต้องรีบเดินทางกลับอังกฤษด้วยรถไฟเที่ยวด่วนพิเศษ จนกระทั่งเลยเวลาเที่ยงคืนได้ไม่นาน รถไฟจำเป็นต้องหยุดวิ่งชั่วคราว เพราะมีหิมะถล่มกีดขวางเส้นทาง ในเวลาเดียวกัน ชายแปลกหน้าถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหด ร่างกายของเขามีแผลจากการถูกแทงทั้งหมด 12 ครั้ง เป็นหน้าที่ของปัวโรต์ที่ต้องสืบหาว่าใครคือคนร้าย ในบรรดาผู้โดยสารทั้งหมด 12 คน นวนิยายอาชญากรรมเรื่องนี้ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์บ่อยครั้งที่สุดเรื่องหนึ่ง

อ้างอิง

  • Agatha Christie. Agatha Christie: An Autobiography. London: HarperCollins, 2017.
  • Andrew Maunder, ed. The Facts on File Companion to the British Short Story. New York: Facts on File, 2007: 69–70.
  • The Home of Agatha Christie. How Christie Wrote. https://bit.ly/37mAPQx
  • Public Broadcasting Service (PBS). Extraordinary Women: Agatha Christie. https://to.pbs.org/2MPyYu1
  • Vanessa Thorpe. How Agatha Christie’s wartime nursing role gave her a lifelong taste for poison. https://bit.ly/37nnHdP