life

บ้านพักสไตล์ไทยผสมบาหลี หลังน้อยใหญ่ กระจายตัวอยู่ท่ามกลางสวนเกษตรอินทรีย์ ที่ปลูกทุกอย่าง ตั้งแต่พืชผัก ส้มโอ มัลเบอรี่ ทุเรียน ลองกอง มะไฟ หน่อไม้ ฯลฯ แห่งนี้ชื่อว่า “ภูผาตาด โฮมสเตย์”

ภูผาตาด โฮมสเตย์ ตั้งอยู่ใน อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี ในบรรยากาศร่มรื่นจากสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่อยู่รอบบริเวณ 

‘ลุงหมึก’ ชำนาญ มณีวงษ์ วัย 67 ปี เป็นทั้งเจ้าของบ้าน และพนักงานประจำเพียงคนเดียว 

โดยมีแม่ครัวมาช่วยงานเป็นครั้งคราว เมื่อมีแขกมาพัก 

“ที่นี่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีค่า” 

คือคำพูดที่ทำให้ common ต้องเริ่มสนทนากับลุงหมึกอย่างจริงจัง  

ลุงหมึก – ชำนาญ มณีวงษ์

ลุงหมึกเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ย้ายมาตั้งรกรากที่กาญจนบุรี ตั้งแต่ปี 2546  

เพราะพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เขาต้องตกงานในวัยเกือบ 50 ปี 

หลังตกงาน ลุงหมึกไม่เคยท้อ ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนสู้ชีวิต เขาดิ้นรนหางานทำอย่างไม่เกี่ยงอาชีพอยู่หลายปี ทั้งเป็นเซลล์แมน ทำขนมขาย เป็นนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ล้วนต้องจบลงด้วยความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ความผิดหวังนั้นทับถมจนในที่สุดเขารู้สึกว่า ตัวเองช่างไร้ค่า 

“ตอนที่ไม่มีงาน รู้สึกแย่มาก ตรงที่ภรรยาต้องทำงานคนเดียว เราเหมือนไม่มีค่าเลย หายใจทิ้งไปวันๆ อยู่บ้านก็อึดอัด เพราะไม่อยากตอบคำถามเพื่อนบ้าน ก็เลยนั่งรถเมล์ไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะไปสวนลุมฯ เพราะเราไม่มีเงิน” 

ดูเหมือนโชคชะตาจะไม่ใจร้ายกับลุงหมึกนัก เมื่อเขาได้พบที่ดินแปลงหนึ่งในอำเภอทองผาภูมิโดยบังเอิญ 

เขาตกหลุมรักที่นี่ทันที และตัดสินใจใช้เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้ห่างไกลจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่บั่นทอนคุณค่าในตัวเขาลงไปทุกวัน 

เริ่มต้นด้วยการเกษตร หวังแค่อยู่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

หลังจากฝ่าฟันจนได้เป็นเจ้าของที่ดิน 22 ไร่ ลุงหมึกหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ 

แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด 

“เราไม่เคยทำเกษตรมาก่อน ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้กระทั่งที่ดินของตัวเองไม่เหมาะกับการทำเกษตร มันปลูกอะไรไม่ขึ้น”   

ลุงหมึกลองผิดลองถูกเรื่องการเกษตรอยู่ 3-4 ปี กว่าจะปรับปรุงดินให้สามารถปลูกพืชได้ ด้วยการหาความรู้และปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ จนสามารถปลูกข้าว ผัก ผลไม้ ได้อย่างที่หวัง 

“ส่วนใหญ่จะลองผิดมากกว่าถูก แต่ผมเป็นคนเดินหน้าแล้วจะไม่เดินกลับ ยังไงก็ต้องเอาให้รอด ก็พยายามดูแล หาปุ๋ยมาใส่ จนมันปลูกได้” 

จากเดิมที่หวังแค่ปลูกพืชผักไว้กินเอง พอเลี้ยงตัวเองได้ ปัจจุบันสวนของลุงหมึกมีผลไม้ที่ขายได้ทั้งส้มโอ เงาะ ลองกอง และ มังคุด 

หลังจากบุกเบิกเรื่องการเกษตร จนสามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว การพบปะกับเพื่อนใหม่ชาวไต้หวัน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำโฮมสเตย์ 

จากชวนเพื่อนมาเที่ยวบ้าน สู่โฮมสเตย์แสนอบอุ่น 

“ตอนแรกผมไม่ได้คิดว่าจะทำบ้านพัก พอดีไปเจอคนไต้หวันที่บ่อน้ำพุร้อน เขามาทำธุรกิจในไทย คุยกันถูกคอก็เลยชวนเขามาเที่ยวบ้าน เขาชอบสวนของผม เลยพาเพื่อนมาอีก 5-6 คน เลยคิดว่าน่าทำบ้านไว้ให้เพื่อนพักเป็นสัดส่วน” 

ลุงหมึกเลยเริ่มสร้างบ้านหลังเล็กๆ เพิ่มเติม ประจวบเหมาะกับที่มีชาวบ้านนำไม้เก่ามาเสนอขายราคาไม่แพง และกระแสโฮมเสตย์เริ่มได้รับความนิยม 

ไอเดียทำบ้านพักแบบโฮมสเตย์จึงเกิดขึ้น ค่อยๆ เพิ่มบ้านมาทีละหลัง ตามแต่ไอเดียและวัสดุที่พอจะหาได้ โดยตั้งชื่อตามถิ่นที่ตั้งว่า “ภูผาตาด โฮมสเตย์” 

(Photo : Naritha Tai)

(Photo : Naritha Tai)

ปัจจุบันมีบ้านที่เปิดรับแขก 4 หลัง ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ตั้งชื่อน่ารักๆ แบบไทยๆ ว่า พะเน้าพะนอ พระเพื่อนพระแพง ออดอ้อนฉอเลาะ และ ระริกระรี้ แขกที่มาพักสามารถเลือกบ้านที่ต้องการได้ ซึ่งแต่ละหลังนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

เรือนแบบไทย แต่มีกลิ่นไอแบบบาหลี ที่สวย แปลก และมีเสน่ห์ ด้วยสถาปัตยกรรมนอกตำรา ที่บางคนมาพักแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะขอลอกแบบไปสร้างเองบ้าง 

ทั้งหมดเป็นไอเดียของลุงหมึก 100% เป็นแบบบ้านจากจินตนาการ ฉะนั้นลุงหมึกจึงต้องคุมงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิด กว่าจะได้บ้านตามต้องการ 

“บ้านพระเพื่อนพระแพงนี่ผมได้ไอเดียหลังคามาจากหลังคาเรือข้ามฟากของโรงแรมโอเรียลเต็ล ส่วนหน้าต่าง ผมเอาไอเดียมาจากหน้าต่างทรงบานกระทุ้ง แบบสมัยรัชกาลที่ 5 เดี๋ยวนี้ช่างรุ่นใหม่คงไม่มีใครทำแล้ว” 

หลังคาบ้านจากเรือข้ามฟากโรงแรมโอเรียลเต็ลและหน้าต่างทรงบานกระทุ้งของบ้านพระเพื่อนพระแพง
ห้องน้ำไอเดียน่ารัก ที่เป็นทั้งอินดอร์และเอาท์ดอร์ เพื่อให้ผู้มาพักได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

“บางหลังที่เห็นไม้มันไม่ค่อยเรียบ เพราะทำจากเศษไม้บ้าง ไม้ที่ชาวบ้านจะเอาไปเผาถ่านบ้าง เราก็พยายามออกแบบให้เหมาะกับวัสดุที่มี” 

และถึงแม้บ้านพักจะดูเรียบง่าย แต่ของใช้ระดับพรีเมี่ยม  

“ผ้าม่านนี่ผมซื้อจากโรงงาน pasaya ที่ราชบุรี เวลาเขาลด 80% ถ้าไม่ลดราคาผมก็ไม่มีเงินซื้อหรอก ผมเคยเอาผลไม้ที่สวนไปฝากพนักงานที่โรงงาน เวลาโรงงานลดราคา เขาก็จะโทรมาบอกผม คือเรามีน้ำใจให้เขา เขาก็มีน้ำใจกับเรา”  

บริการดุจญาติมิตร เสน่ห์ที่ทำให้ใครๆ ต้องมาซ้ำ 

ค่าบริการของภูผาตาด โฮมสเตย์ คิดเป็นแพ็คเกจต่อคน 

ราคาคนละ 850 บาท รวมอาหารเช้า – เย็น และเดินเก็บผลไม้ในสวนกินได้ตามสบาย 

ซึ่งลุงหมึกกล้ารับรองว่า ถูกที่สุดในย่านนี้ 

แต่ถึงแม้จะราคาเบาๆ แต่การบริการและอาหารการกินนั้นจัดหนักเกินราคา

“พอบอกว่ารวมอาหารด้วย ทุกคนก็คิดว่าน่าจะแค่ กะเพรา แกงจืด ไข่เจียว อะไรแบบนี้ แต่ผมไม่ทำอย่างนั้น เราอยากให้คนที่มาได้กินของดี ของที่เราปลูกเอง” 

อาหารเย็นที่ภูผาตาด โฮมสเตย์

“ตั้งแต่ผมเปิดมาไม่เคยมีใครบ่นเลยว่าอาหารไม่พอ หรือกับข้าวไม่อร่อย” 

อาหารที่ภูผาตาด โฮมสเตย์มาแบบสำรับชุดใหญ่จัดเต็ม แถมยังเติมได้ไม่อั้น ทั้งเช้าและเย็น 

โดยผักส่วนใหญ่ที่นำมาประกอบอาหาร จะเป็นผักปลอดสารพิษ ที่ลุงหมึกปลูกเอง 

นอกจากนี้ การไปเยือนภูผาตาด โฮมสเตย์แต่ละครั้ง ลุงหมึกจะมีผลไม้ใหม่ๆ ที่เขาทดลองปลูก ให้ได้เดินเก็บอยู่เสมอ โดยเขาจะทำหน้าที่เป็นไกด์เดินชมทุกครั้ง 

หิมาลายัน มัลเบอรี่ รสชาติหวานเหมือนน้ำผึ้ง ผลไม้ล่าสุดของสวนลุงหมึก

“ผมมีลูกค้าที่มาซ้ำๆ เยอะมาก มาแล้วมาอีก แล้วก็แนะนำเพื่อนมาต่อ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่มีกิจกรรมอะไรใหม่ๆ ให้เขาหรอก” 

นั่นเพราะเสน่ห์ดึงดูดของที่นี่ไม่ใช่ความหวือหวา แปลกใหม่ 

แต่สิ่งที่ทำให้ใครๆ ติดใจคือความอบอุ่น สบายกายสบายใจ เหมือนมาเที่ยวบ้านญาติ ซึ่งความรู้สึกนี้เกิดจากพลังงานด้านบวก ที่ลุงหมึกมีให้แขกที่มาพักเสมอ 

ความสุขที่เกิดจากการเติมเต็มซึ่งกันและกัน 

“ที่นี่พาคุณค่าที่เคยมีอยู่ในตัวเรากลับมา ผมได้ภูมิใจกับตัวเองอีกครั้งหนึ่ง” 

ความสุขของลุงหมึกในวันนี้ คือการที่เขาได้ใช้ชีวิตในแบบที่อยากทำ มากไปกว่านั้นคือสิ่งที่เขาทำ บางครั้งสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ที่มาพบเห็น 

ทุกวันเสาร์มักจะมีลูกค้าแวะเวียนมาพักเสมอ หน้าเก่าบ้าง หน้าใหม่บ้าง ซึ่งลุงหมึกถือทุกคนเป็นเพื่อน ที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน 

คนแปลกหน้าเหล่านั้นซักถามเขาด้วยเรื่องเดิมๆ  

แต่ลุงหมึกบอกว่า มีความสุขทุกครั้งที่เล่าเรื่องเก่าของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้เพื่อนใหม่ฟัง 

“ที่นี่นำพาคนดีหลายคนมาหาผม ทั้งคนไทยและต่างชาติ เข้ามาคุย แลกเปลี่ยนกัน บางคนมาทุกปี บางครั้งก็มีอะไรติดไม้ติดมือมาฝาก อย่างเว็บไซต์ของภูผาตาด ก็แขกที่มาพักนี่แหละครับช่วยทำให้” 

ทุกวันนี้ลุงหมึกบอกว่าลูกค้ามากบ้าง น้อยบ้าง บางครั้งฟ้าฝนไม่เป็นใจ ผักผลไม้ที่ปลูกก็ไม่ได้ผลตามต้องการ ทำให้ 2 ปีหลังมานี้ รายได้มักจะไม่พอกับรายจ่ายอยู่บ่อยครั้ง แต่ลุงหมึกบอกว่าเขาคงไม่ถอย 

“เราไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทุกวันนี้เราทำแค่อยากให้ภูผาตาดยังอยู่ต่อไปจนถึงลูกหลาน เพราะกว่าเราจะทำมาถึงจุดนี้ที่เลี้ยงตัวเองได้และมีคนรู้จัก ก็ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย แต่พออายุมากขึ้น ทางบ้านเค้าก็เริ่มเป็นห่วงสุขภาพ อยากให้กลับไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน แต่ผมอยู่กรุงเทพฯ ได้ 2 วันก็อึดอัดแล้วครับ ”

สำหรับลุงหมึก ภูผาตาด โฮมสเตย์ เป็นมากกว่าธุรกิจ เป็นยิ่งกว่าบ้าน 

เพราะที่นี่ ได้พาคุณค่าในตัวเขากลับมา 

“ที่นี่เป็นความสำเร็จหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่เรื่องเงินนะครับ แต่ทำให้คนยอมรับนับถือในตัวเรา มันมีค่านะ 

ตอนอยู่กรุงเทพฯ คนก็คงเรียก ‘ไอ้หมึก’ อยู่นี่ที่ทุกคนเรียก ‘ลุงหมึก’ ” (หัวเราะ)

(Photo : Naritha Tai)

(Photo : Naritha Tai)

 

FACT BOX :

  • ภูผาตาด โฮมสเตย์ เปิดต้อนรับผู้มาเยือนทุกวัน นอกจากกิจกรรมเดินชมสวนแล้ว ลุงหมึกยังมีจักรยานไว้ให้ยืมปั่นเที่ยวชมธรรมชาติ แถมโฮมสเตย์ยังอยู่ห่างจากบ่อน้ำพุร้อนหินดาด เพียง 2.5 กิโลเมตรเท่านั้น โดยสามารถปั่นจักรยานไปได้สบายๆ 
  • ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดบ้านพักได้ที่ http://phuphatat.com/ ส่วนการจอง แนะนำให้ติดต่อลุงหมึกที่ 2 ช่องทาง คือ โทรศัพท์หรือไลน์ ที่เบอร์ 0879226187 หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ “ภูผาตาดโฮมสเตย์” และเฟซบุ๊กส่วนตัวของลุงหมึก “พี่หมึก ภูผาตาด”