life

LOVE SESSION #3

‘ทางแยก’

 

“การที่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนขาดจากกัน คงไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่แน่ชัด
ไม่สิ ต่อให้โดยผิวเผินอาจดูเหมือนไม่มีเหตุผล
แต่เหตุผลนั้นน่าจะเป็นข้ออ้างที่คิดขึ้นมาหลังจากหมดใจให้กันแล้วเสียมากกว่า 

เพราะหากคนเรายังเหลือใจให้กัน เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันไว้จวนเจียนจะขาดลง
ใครสักคนก็น่าจะพยายามรักษามันไว้ได้
การไม่พยายามรักษาไว้ จึงย่อมเกิดจากการที่สายสัมพันธ์ได้ขาดสะบั้นลงแล้วนั่นเอง”

 

นั่นเป็นสิ่งที่ โคสุเกะ เด็กชายผู้คลั่งไคล้วง เดอะ บีตเทิลส์ จากนวนิยายเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ (The Miracle of Namiya General Store)’ นึกในใจ หลังจากที่ได้ดูภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับวงเดอะ บีตเทิลส์ วงโปรดของเขา

คอนเสิร์ตสุดท้ายของเดอะ บีตเทิลส์ จัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการใต้เงาเมฆครึ้มที่ปกคลุมดาดฟ้าของตึก Apple นั่นเป็นการแสดงที่บอกลา 10 ปี บนเส้นทางสายดนตรีที่เรียบง่าย แต่ฉาบไว้ด้วยความเศร้าไม่ต่างกับสภาพอากาศในวันนั้น  

เหตุผลที่วงต้องยุติบทบาทลงอย่างน่าเสียดายนั้น ยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ หลายคนตีความไปต่างๆ นานา หลากเหตุผลร้อยแปดถูกหยิบยกมาอธิบายเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ก็ไม่อาจมีใครล่วงรู้ได้ ความสัมพันธ์ที่เพิ่งจบลงไปนั้น อาจไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการที่ไม่มีใครพยายามที่จะยื่นมือเข้ามารักษากันไว้ อย่างที่ฟูจิคาวะคาดเดาก็เป็นได้ 

ในวันที่เราต่างก็ตกอยู่ในภวังค์รัก เราแทบจะนึกไม่ออกว่าวันที่ต้องจากกันจะเป็นอย่างไร หรือแทบจะไม่รู้สึกได้เลยว่าเราจะรักคนตรงหน้าน้อยลงไปกว่านี้ได้อย่างไร จนกระทั่งวันนั้นมาถึงจริงๆ กลับทำให้วันแรกๆ ที่เคยตื่นเต้น ไม่เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นวันที่เราแทบจำความรู้สึกนั้นไม่ได้เสียด้วยซ้ำ 

ทั้งๆ ที่เคยรักกันมาก แต่มนุษย์เราก็สามารถหมดรักลงได้ แน่นอนว่าวันและคืนที่ผ่านมาเหล่านั้นมีความหมาย แต่ก็ไม่อาจที่จะรั้งให้คนสองคนอยู่ด้วยกันได้อีกต่อไป มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคนเรานั้นจบลง แม้ว่าจะรักกันมากแค่ไหน แต่บางครั้งปัจจัยภายนอกก็เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เรื่องเงินๆ ทองๆ อนาคต ความมั่นคง ในขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในความสัมพันธ์เอง ทั้งเรื่องราวของคนเก่าที่ยังคอยหลอกหลอน การยอมรับตัวตนของอีกฝ่าย ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนเรารามือจากความรักที่เคยหอมหวานได้ง่ายๆ 

เราลองมาสำรวจดูว่า หลักๆ แล้วการที่ใครสักคนเดินจากไปนั้น เป็นเพราะเรื่องอะไรบ้าง 

ช่วงเวลา ‘ฮันนีมูน’ สิ้นสุดลงแล้ว 

ในวันที่ร่างกายอ่อนล้า ขนมหวานจะช่วยบูสต์พลังให้เรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้แน่ๆ ในความสัมพันธ์ก็เช่นกัน ความรักเป็นเหมือนเค้กที่โชคชะตาหยิบยื่นให้คนทั้งสองได้ลิ้มรส หลังจากที่ชิ้นสุดท้ายถูกกลืนลงไป ความหวานละมุนก็ได้อันตรธานหายไปด้วย ช่วงเวลาหลังจากนี้ หากทั้งสองจะยังเดินต่อไปด้วยกัน คงต้องฝึกที่จะร่อนแป้ง อบในอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่งหน้าเค้กและออกแบบรสชาติให้หอมหวานในแบบฉบับของพวกเขาเอง เพื่อให้ความสัมพันธ์นั้นดำเนินต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง 

“เมื่อเวลาผ่านไปความปรารถนาและความตื่นเต้นที่มีต่ออีกคนจะลดลง” 

Susan Orenstein นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จากเมืองแคร์รี นอร์ทแคโรไลนา พูดถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้เวลาร่วมกันนานๆ 

มนุษย์เรามักจะทำอะไรซ้ำๆ เป็นกิจวัตร หลังตื่นนอน เราแปรงฟัน อาบน้ำเวลาเดิม ชอบฟังเพลงเดิมๆ ที่เราชอบและร้องไห้ นั่นเป็นหลักฐานว่าวิถีชีวิตที่เป็นแบบเดิมนั้น ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและคาดเดาได้ แต่ในความสัมพันธ์นั้นกลับเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ทำลายความตื่นเต้นและหลงใหลอย่างช้าๆ

ช่วงเวลา ‘ฮันนีมูน’ อาจเรียกได้ว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า เพราะการตกหลุมรักอย่างบ้าคลั่งนั้น ทำให้หญิงและชายตัดสินใจให้กำเนิดทายาท ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงต่อไปได้ แม้จะมีความสำคัญกับชีวิตพวกเรามากขนาดนี้ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นกลับไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของคนสองคนยืนยาว พอเวลาผ่านไปความหวานก็จะค่อยๆ จืดจางลง และอาจเป็นชนวนที่ทำให้คนสองคนตัดสินใจเลิกรากันไปง่ายๆ

หลังจากที่วันหวานๆ หายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคู่พาลคิดว่าเราไม่ได้ตกหลุมรักกันอย่างที่เคย นั่นอาจทำให้มุมมองที่มีต่อคนตรงหน้าค่อยๆ เปลี่ยนไป เช่น มองเห็นแง่ลบของกันและกันมากขึ้น แต่ละวันที่ดำเนินไปจึงเป็นเหมือนบททดสอบความอดทนที่มีต่ออีกฝ่ายเพียงเท่านั้น

จากกันด้วยดี ก่อนที่จะมองหน้ากันไม่ได้

เมื่อฤดูกาลอันหอมหวานสิ้นสุดลง ความสัมพันธ์ก็เป็นเหมือนถ้วยเอสเปรสโซ่เข้มๆ ในมือของเด็กหญิงผู้หลงรักลาเต้ หากใกล้ๆ นั้นไม่มีน้ำตาลหรือนมอุ่นๆ เพื่อช่วยให้กาแฟถ้วยนั้นละมุนขึ้นมาเป็นรสชาติที่เธอชื่นชอบได้ เป็นไปได้ว่าอีกไม่นานเธอคงยอมแพ้ และเลิกฝืนที่จะลิ้มรสกาแฟถ้วยนั้นก็เป็นได้ 

กาแฟดำ อาจไม่ใช่รสชาติที่นุ่มนวลและละมุนละไมอย่างลาเต้ แต่นั่นเป็นรสชาติที่ทำให้เราทำความรู้จักกับตัวตนจริงๆ ของเมล็ดกาแฟ  หลังจากหมดช่วงฮันนีมูน การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันของมนุษย์สองคนก็ได้เริ่มต้นขึ้น และนั่นเป็นอีกหนึ่งบททดสอบของพวกเขา

Susan Winter ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จากนิวยอร์ก ระบุว่า หากรู้สึกหงุดหงิดกับทุกสิ่งที่คนรักของเราทำ รวมไปถึงหลายสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ นั่นเป็นสัญญาณว่าเราเริ่มจะหมดรักเข้าแล้วจริงๆ และในขณะที่ความรักเริ่มจืดจาง ความสัมพันธ์ก็เริ่มพังลงเช่นกัน

เราจะพบว่า สิ่งรอบข้างที่เกี่ยวกับเขา ไม่ว่าจะเป็นอะไร ช่างดูขัดหูขัดตาไปเสียหมด เราตำหนิกันง่ายขึ้น แต่ให้อภัยกันได้ยาก แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น แย่งกันดูทีวีช่องโปรด 

สิ่งเหล่านั้นนำมาสู่ความขัดแย้ง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะเป็นเรื่องปกติของการใช้ชีวิตร่วมกัน ใจความสำคัญของเหตุการณ์เหล่านี้คือ ‘เราจะอดทนกับคู่ของเราได้นานแค่ไหน’ และเราสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้หรือไม่

ซึ่งหากเรายังรักกันมากพอ เราจะให้อภัยกันได้ง่ายกว่าเดิม นั่นเพราะเมื่อเรารักใครสักคน เราจะมีแรงบันดาลใจที่จะพากันและกันเดินหน้าต่อไป และไม่เก็บเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของอีกฝ่ายมาคิดมากเกินไป แต่หากเผชิญกับการหมดรัก และเจอกับความขัดแย้งเหล่านี้ซ้ำๆ อีกทั้งไม่มีใครกล้าที่จะยื่นมือเข้ามารักษา หลายคู่เกิดความกลัวว่าความขัดใจเล็กๆ น้อยๆ จะทำร้ายทั้งสองฝ่ายไปมากกว่านี้ จึงตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ลงไปอย่างน่าเสียดาย

การจากลาแบบนี้อาจเรียกได้ว่า ยังพอมีใจให้กันหลงเหลืออยู่ เพียงแต่อยากจะเปลี่ยนให้ความรู้สึกที่หลงเหลือนั้นเป็นโอกาสให้ทั้งสองได้ลองเดินทางใหม่ๆ ที่ไม่มีกันและกันดู เพราะหากปล่อยไว้นานกว่านี้ อาจจะไม่หลงเหลือแม้แต่ความเป็นเพื่อนก็เป็นได้ 

 

ทะเลาะกันเป็นประจำ จนความสัมพันธ์เป็นพิษ

ความขัดแย้งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รักเป็นเหมือนแมลงตัวเล็กๆ ที่กัดจนคันยุบยิบ แต่ระคายเคืองจนทำให้ต้องล้วง แคะ แกะ เกา จนกลายเป็นแผลใหญ่ ถ้าไม่หายาทาตั้งแต่เนิ่นๆ อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษายาวนาน หลายๆ คู่ไม่รู้ว่าเราควรเริ่มเยียวยาความขัดแย้งของตัวเองอย่างไร ไม่รู้วิธีอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จนทำให้เกิดการทะเลาะแบบไม่มีใครยอมใคร และต่อสู้กันไม่จบไม่สิ้น

“คู่รักที่มีความขัดแย้งสูง มักพบว่าตัวเองมักจะตะโกนหรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบที่เป็นอันตรายต่อคู่ของพวกเขา ทั้งยังลามไปถึงการทำร้ายร่างกาย นั่นทำให้ฝ่ายที่ถูกกระทำรู้สึกไม่ปลอดภัย 

ความรู้สึกเสน่หาที่เคยละมุนละไมและหอมหวาน กลับถูกครอบงำโดยความกลัวและความโกรธ นำไปสู่ความอับอาย เป็นเหมือนฝันร้ายที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นพิษต่อกันและกัน 

ไปต่อหรือพอแค่นี้ ?

“องค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์คือ ความหวังและความตื่นเต้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คุณต้องมีอะไรเหมือนๆ กัน พร้อมแบ่งปันความฝันและเป้าหมายในชีวิตร่วมกัน”  Alessandra Conti เซเลบริตี้นักจับคู่แห่งเว็บหาคู่ Matchmakers In The City 

เมื่อใดก็ตามที่ใครสักคนเริ่มจินตนาการถึงอนาคตที่ไม่มีกันแล้ว นั่นเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าความสัมพันธ์มาถึงทางตัน 

แต่หากทั้งสองคนยังเหลือไพ่ใบสุดท้ายคือ สองมือที่พร้อมจะช่วยกันกรุยทางไปต่อ ประกอบเศษเสี้ยวของความฝันที่แหลกสลายขึ้นมาใหม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิธีเลยเสียทีเดียว มีหนทางมากพอที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ตั้งแต่พยายามแก้ไขสถานการณ์ร่วมกัน จนถึงพึ่งพาที่ปรึกษา หรือนักจิตวิทยา เพียงแต่ต้องเป็นการเรียนรู้และพร้อมจะก้าวไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายที่ยังมีอยู่ เหมือนกับแสงเทียนอ่อนแรงที่เปล่งประกายอ่อนๆ ท่ามกลางความมืดมิดก็คือ การที่คนทั้งคู่พร้อมที่จะแก้ไขและเรียนรู้ที่จะประคับประคองกันและกันเอาไว้

แต่สำหรับความสัมพันธ์ที่กลายเป็นพิษมากเกินกว่าที่จะซ่อมแซมและประกอบขึ้นมาใหม่นั้น การเดินจากไปอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

เราเรียนรู้อะไรจากการหมดไฟในความสัมพันธ์

ธรรมชาติของห่านคือ การมีคู่ตัวเดียวไปตลอดชีวิต แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามนุษย์เรานั้นถูกออกแบบมาให้อยู่ร่วมกันไปตลอดชีวิตเหมือนพวกห่านหรือไม่ ยิ่งในสังคมที่ทำให้เรารักความสันโดษ บนหน้าหนังสือทฤษฏีเกี่ยวกับมานุษยวิทยาย่อมมีบางบทที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ ภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุดหน้าเช่นนี้ 

แต่สิ่งที่แน่นอนของพวกเราคือ มนุษย์สามารถเรียนรู้ได้เสมอ แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จกับความสัมพันธ์ในครั้งนี้ แต่นับว่าเป็นโอกาสดีๆ ให้เราได้เรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์อันมั่นคงกับใครสักคนในอนาคต บางครั้ง เราอาจต้องขอบคุณการจากลาครั้งก่อน ความสัมพันธ์แย่ๆ หรือใครสักคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา แม้เขาจะไม่ใช่คนที่เราควรจะรักษาเอาไว้ แต่นั่นไม่ได้ไร้ความหมาย แน่นอนว่าทุกความสัมพันธ์ย่อมทิ้งร่องรอยอะไรบางอย่างไว้ให้เรา เป็นเครื่องเตือนใจและทำให้เราเรียนรู้ที่จะรักได้อีกครั้ง 

 

อ่านบทความซีรี่ส์ LOVE SESSION ตอนอื่นๆ ได้ที่

 

อ้างอิง