life

The Writer’s Room
No. 08

ห้องที่คละคลุ้งด้วยควันและกลิ่นบุหรี่ของ จอร์จ ออร์เวลล์
นักเขียนหัวขบถผู้ฝักใฝ่การเมืองและต่อกรกับอำนาจอยุติธรรมด้วยวรรณกรรม

“ตอนผมยังเด็ก อายุประมาณห้าหกขวบ ผมรู้ตัวว่า เมื่อโตขึ้นไป ผมจะเป็นนักเขียน พออายุได้ระหว่างสิบเจ็บถึงยี่สิบสี่ปี ผมเฝ้าพยายามเลิกคิดถึงเรื่องนี้ แต่ผมก็รู้อยู่แก่ใจว่า นั่นเป็นการฝืนธรรมชาติของตัวเอง เพราะไม่ช้าก็เร็ว ผมคงเริ่มลงมือเขียนหนังสืออยู่ดี”

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ในวัยสี่สิบกว่า นึกย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจก้าวเดินบนเส้นทางนักเขียนอาชีพ ออร์เวลล์ลำดับความคิดจากประสบการณ์โชกโชน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นความเรียงไว้ในหนังสือ Why I Write (ตีพิมพ์ปี 1946) โดยบอกเล่าทั้งมุมมอง เหตุผล และแรงบันดาลใจเบื้องหลังการสร้างสรรค์งาน

แต่การเขียนที่ออร์เวลล์เข้าใจว่าเป็นธรรมชาติติดตัว และเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกรู้ ซึ่งสั่งให้เขาเลือกทำตามความตั้งมั่นแรก กลับกลายเป็นสิ่งเดียวกันที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงชีวิตของออร์เวลล์ แต่ผลลัพธ์นั้น ยังคอยย้ำเตือนผู้คนทุกยุคสมัยด้วยว่า สิ่งเลวร้ายที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะจินตนาการได้ อาจเกิดขึ้นจริงอย่างเงียบเชียบ

เอริก อาร์เทอร์ แบลร์ ในวัย 3 ขวบ / Photo: http://ucl.ac.uk/

แม้ว่าผู้อ่านส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชื่อ จอร์จ ออร์เวลล์ แต่นั่นเป็นนามปากกาที่เขาคิดขึ้นมาใช้ในงานเขียนเท่านั้น ออร์เวลล์มีชื่อจริงว่า เอริก อาร์เทอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) เขาเกิดที่เมืองเบงกอล ประเทศอินเดีย เพราะผู้เป็นพ่อ ทำงานในตำแหน่งข้าราชการให้กับประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้น ก่อนจะย้ายกลับมาเพื่อเข้าโรงเรียน

ออร์เวลล์เป็นเด็กเก่งและหัวดี ทักษะที่เขาทำได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมชั้น คือ การเขียน เมื่อต้องตัดสินใจเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ออร์เวลล์กลับเดินตามรอยพ่อ เขาทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจของเจ้าอาณานิคม ในประเทศพม่า แต่ทุกอย่างไม่ได้สวยงาม เขาละอายใจที่ตัวเองเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของระบบกดขี่ชีวิตชาวพม่า ประกอบกับความต้องการเป็นนักเขียนอาชีพในวัยเด็ก ยังคงดังก้องอยู่ในหัวตลอดเวลา

ท้ายที่สุด ในปี 1927 ขณะออร์เวลล์อายุได้ 24 ปี เขาตัดสินใจเดินทางกลับอังกฤษ และลาออกจากราชการ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักเขียนอย่างเต็มตัว โดยมีเครื่องพิมพ์ดีดแบบพกพาของ Remington ชื่อรุ่น Remington Home Portable typewriter ไว้พิมพ์ต้นฉบับ

Photo: https://oztypewriter.blogspot.com/2015/01/hello-dolly-new-home-for-old-home.html

อคติเกลียดชังที่แบ่งแยกคนจากความต่างทางเชื้อชาติและชนชั้นในวันวาน ยังคงตามหลอกหลอนออร์เวลล์ เขารู้สึกผิดทั้งต่อตัวเองและชาวพม่า เพราะไม่เคยยับยั้งระบบที่บั่นทอนและบ่อนทำลายความเป็นมนุษย์เหล่านั้น และไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือชาวพม่าให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ออร์เวลล์จึงชดเชยความผิดบาปทั้งหมดด้วยความตั้งใจว่า จะขอใช้ชีวิตแร้นแค้นเช่นเดียวกับชนชั้นล่างในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เขาจึงย้ายไปอยู่ในสลัมและเขตพักอาศัยซอมซ่อของผู้ใช้แรงงาน บางครั้งออร์เวลล์ก็เลือกใช้ชีวิตเร่ร่อนไร้จุดหมายเหมือนคนไร้บ้าน

Photo: https://www.orwelltoday.com/readeranfarmtbhospital.shtml

แต่ความลำบากเหล่านี้กลับไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกว่าตัวเองได้ชดใช้ครบหมดแล้ว ออร์เวลล์จึงหยิบปากกาจรดกระดาษสลับกับใช้เครื่องพิมพ์ดีดบันทึกเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงทั้งความยากไร้ของชาวยุโรป และความขืนขมของชีวิตในประเทศพม่า จนสำเร็จเป็นผลงานเล่มแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ในชื่อ Down and Out in Paris and London (ตีพิมพ์ปี 1933) และ Burmese Days (ตีพิมพ์ปี 1934) ตามลำดับ

ช่วงเริ่มแรกของการเป็นนักเขียน ออร์เวลล์ไม่ได้มีห้องหับสำหรับนั่งเขียนงานอย่างเป็นกิจลักษณะ เพราะสภาพชีวิตในตอนนั้นต้องอยู่อย่างอัตคัด แค่มีห้องให้พักก็นับว่ามากเกินพอแล้ว ออร์เวลล์จึงคุ้นชินกับการนั่งบนเก้าอี้คู่กับโต๊ะธรรมดา ซึ่งมีความกว้างเพียงพอสำหรับวางเครื่องพิมพ์ดีด แผ่นกระดาษ และที่เขี่ยบุหรี่ เพราะเขาเป็นคนสูบบุหรี่จัด

ส่วนหนึ่งของต้นฉบับ The Road to Wigan Pier (1937) / Photo: https://www.flickr.com/photos/theorwellprize/sets/72157625812621057/with/5401244674/

ด้วยชีวิตที่ต้องดิ้นรนไม่ต่างจากกรรมกรปากกัดตีนถีบ ทำให้ออร์เวลล์เห็นความเสื่อมโทรมของชีวิตชนชั้นล่างที่ไม่มีใครสนใจ เพราะชนชั้นนำในสมัยนั้นให้ความสำคัญแต่เกมการเมืองและอำนาจปกครอง จุดประกายให้เขาเขียนงานโดยมุ่งเน้นวิพากษ์วิจารณ์สังคม

งานเขียนของออร์เวลล์ทั้งหมด มีที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา หมายความว่า เขาจะไม่มีทางเขียนในสิ่งที่เขาไม่รู้หรือไม่เคยพบเจอมาก่อน ดังนั้น คลังข้อมูลของออร์เวลล์สำหรับใช้เขียนงานจึงอยู่ในหัว ในตัว และในใจของเขาเสมอ ถ้าต้องการข้อมูลใหม่ ก็ต้องไปเผชิญหน้ากับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง โดยไม่สนใจด้วยว่าทางที่ไปจะอันตรายแค่ไหน หากการเสี่ยงครั้งนั้นคุ้มค่าพอ เขายอมแลก

ภาพถ่ายใบหน้าตรงของออร์เวลล์ที่ใช้ติดในใบสมัครร่วมรบ / Photo: https://www.flickr.com/photos/nationalarchives/3010479084/
ออร์เวลล์ (อุ้มสุนัข) กับเพื่อนทหารในกองทัพ / Photo: https://imgur.com/5jHWBWa

ครั้งหนึ่งออร์เวลล์เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครออกรบในสงครามกลางเมืองของประเทศสเปนด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง พร้อมกับเขียนรายงานสงครามและบันทึกประจำวันควบคู่ไปด้วย ปรากฏว่าขณะปฏิบัติหน้าที่ เขาถูกยิงบริเวณลำคอเป็นแผลฉกรรจ์ แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่กระสุนได้ทำลายกล่องเสียงและกล้ามเนื้อส่วนคอเสียหาย ทำให้เสียงพูดของออร์เวลล์เปลี่ยนไป รวมถึงเปล่งเสียงได้ช้า และเบากว่าก่อ

บัตรประจำตัวประชาชนของออร์เวลล์ออกให้โดยทางการของประเทศโมรอคโค [บน] ด้านนอก [ล่าง] ด้านใน / Photo: https://orwelldiaries.wordpress.com/image-gallery/
หลังรักษาตัวหาย เขายังคงร่วมสู้รต่อ แต่สถานการณ์รุนแรงกว่าเดิมมาก เขาจึงต้องหลบหนีกลับมายังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาชีวิต ประสบการณ์เฉียดตายในสนามรบสร้างบาดแผลในใจจนทำให้ออร์เวลล์รังเกียจลัทธิคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่นั้น ซึ่งเป็นที่มาของงานเขียนเชิงสารคดีในชื่อ Homage to Catalonia (ตีพิมพ์ปี 1938)

ออร์เวลล์ปักหลักใช้ชีวิตในอังกฤษอีกครั้ง เขาทำงานให้กับองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศอังกฤษ British Broadcasting Corporation (BBC) หมายเลขประจำตัว 9889 รับผิดชอบหน้าที่เขียนโฆษณาชวนเชื่อให้กับทางการของอังกฤษเป็นเวลานานหลายปี และจัดรายการวิทยุภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารอย่างเที่ยงตรงในอินเดีย ขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่นั่งประจำการของเขาคือภายในห้องหมายเลข 101 ซึ่งภายหลังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขานำห้องนี้ไปเป็นห้องแห่งความทรมานและฝันร้ายใน Nineteen Eighty-Four (ตีพิมพ์ปี 1949)

Photo: https://twitter.com/bbcradio4/status/1295350414033002497

ออร์เวลล์เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียน เขาจึงยุติบทบาทจาก BBC มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการฝ่ายวรรณกรรมให้กับ Tribune นิตสารรายสัปดาห์ที่นำเสนอเนื้อหาสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมฝ่ายซ้ายตามอุดมการณ์ที่เขายึดมั่น ออร์เวลล์กลายเป็นเจ้าของผลงานวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองมากมาย ทั้งนวนิยาย ความเรียง บทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ จุลสาร รวมถึงบทกวี

สถานที่เขียนงานของออร์เวลล์ยังคงเป็นมุมใดมุมหนึ่งของห้อง ส่วนบนโต๊ะ ก็เป็นที่วางเครื่องพิมพ์ดีด กองกระดาษ ปากกา และที่เขี่ยบุหรี่เหมือนเดิม บางครั้งมีแก้วใส่กาแฟดำหรือชาขมตั้งไว้ด้วย บรรยากาศรอบๆ โต๊ะจึงมักคละคลุ้งด้วยควันและกลิ่นบุหรี่เสมอ เพราะออร์เวลล์สูบบุหรี่มวนต่อมวลตลอดการเขียนงาน หากนับเป็นจำนวน แต่ละวันเขาจสูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่าร้อยมวน

Photo: https://www.pushkinhouse.org/events/2018/2/27/masha-karps-talk-about-russian-biography-of-george-orwell

ในปี 1946 ออร์เวลล์ย้ายไปอยู่ในบ้านกลางทุ่งอันเงียบสงบของเพื่อนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะของสกอตแลนด์ เพื่อเขียนนวนินายเล่มใหม่ Nineteen Eighty-Four หลังจากเขียนไปได้สักพัก เขาเริ่มล้มป่วยด้วยอาการปวดบวม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสูบบุหรี่จัด

แต่ออร์เวลล์กลับเลือกใช้ชีวิตตามปกติ เขายังสูบบุหรี่จัดเหมือนเดิม สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปในตอนนั้น คือ ที่ทำงาน ร่างกายเขาอ่อนแอลงจนต้องพิมพ์ต้นฉบับบนเตียงนอนแทน

Photo: https://brunch.co.kr/@yunsik/83
Photo: https://wikitravel.org/en/File:Barnhill.jpg

สำหรับออร์เวลล์ ถึงแม้ว่าการเขียนจะเป็นงานที่หนักหนาและน่ากลัวเสมอ ไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างที่ผู้อ่านเข้าใจโดยเฉพาะในยามที่ร่างกายไม่พร้อม แต่เหตุผลสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้เขายังทำงานเขียนต่อไปมีทั้งหมด 4 ข้อ คือ

(1) เขียนเพื่อตัวเอง ออร์เวลล์เชื่อว่าทุกคนต่างรักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น อยากให้คนอื่นมองว่าฉลาด และอยากเป็นที่จดจำของใครสักคน การเขียนจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านพูดถึงเขา ต่อให้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ตัวเขาและผลงานเขียนจะยังคงอยู่เป็นที่กล่าวถึงของคนรุ่นต่อๆ ไป

(2) เขียนเพื่อความสุนทรีย์ งานเขียนคือศิลปะอย่างหนึ่งที่มีความงดงามในตัวเอง การเขียนมากๆ อย่างต่อเนื่องจึงเป็นวิธีพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้น เป็นความสุขและความเพลิดเพลินใจทั้งของผู้เขียนและผู้อ่าน เพราะทุกคนมีโอกาสได้สัมผัสความงามร่วมกัน

(3) เขียนเพื่อปลุกเร้าความอยากรู้เชิงประวัติศาสตร์ การเขียนคือการบันทึกเรื่องราวและความจริงที่เกิดขึ้นในชั่วเวลาหนึ่งไว้ ผลงานเขียนจึงเป็นหลักฐานที่กระตุ้นให้ผู้อ่านสงสัยใคร่รู้ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งนำไปสู่การหาคำตอบหรือความเป็นไปได้ใหม่ๆ

(4) เขียนเพื่อเป้าหมายทางการเมือง ออร์เวลล์ยืนยันว่า ไม่มีงานเขียนใดที่ปราศจากมุมมองและอคติทางการเมือง นักเขียนจึงสร้างสรรค์ผลงานออกมาด้วยความตั้งใจบางอย่างที่ซ่อนอยู่หลังตัวหนังสือ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่เขาต้องการ โดยเฉพาะประสบการณ์ทางการเมือง เพราะเป็นส่วนสำคัญในงานเขียนของเขา หากขาดเรื่องสังคมและการเมืองไป งานเขียนย่อมไร้ค่าไร้ความหมาย

Photo: https://www.expressandstar.com/news/Features/2020/01/21/orwells-tales-from-the-midlands/

หลายคนอาจเคลือบแคลงใจว่า แล้วออร์เวลล์ไม่เขียนเพื่อเงินบ้างเหรอ เขาได้อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จริงอยู่ เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่เงินไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เขาผลิตงานเขียน และถ้ามองว่าการเขียนคือช่องทางหาเงิน ก็ควรคิดเสียใหม่ เพราะ (ในยุคนั้น) มีวิธีอื่นอีกมากมายที่จะทำให้ได้เงินมากกว่าการเขียน 

ออร์เวลล์ยังเคยตกเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาลอังกฤษ เพราะความคิดขบถที่เขานำเสนอผ่านงานเขียน ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ทางการจึงตามติดชีวิตเขาทุกย่างก้าวเป็นเวลานานถึง 12 ปีเต็ม ไม่ว่าเขาจะไปไหน ทำอะไร หรือพูดกับใคร ย่อมอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ ถึงอย่างนั้น เขากลับไม่ได้สนใจและไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือความคิดทางการเมืองเพียงเพราะคนอื่นมองว่าไม่ถูกต้อง

เมื่อออร์เวลล์รู้จุดยืนของการเป็นนักเขียนอาชีพอย่างถ่องแท้ เขาจึงยืนหยัดใช้ทักษะที่ถนัด เพื่อต่อสู่กับอำนานิยมอย่างหาญกล้า โดยไม่เกรงกลัวต่ออำนาจอยุติธรรมใดๆ

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของจอร์จ ออร์เวลล์

Burmese Days (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1934)
พม่ารำลึก (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น)
นวนิยายเรื่องแรกของออร์เวลล์ที่เขียนขึ้นจากความตั้งใจอยากถ่ายทอดสภาพสังคมและความเป็นอยู่ของผู้คน โดยเฉพาะชาวอังกฤษ ในช่วงที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษราวทศวรรษ 1920 เพื่อสะท้อนให้เห็นการกดขี่ทางชาติพันธุ์ การช่วงชิงอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูง และความระยำหยาบช้าที่มนุษย์กระทำต่อกัน เนื้อเรื่องทั้งหมดอ้างอิงมาจากประสบการณ์และมุมมองส่วนตัวของออร์เวลล์ สมัยทำงานให้ทางการอังกฤษในประเทศพม่า

Animal Farm (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1945)
สงครามกบฏของสรรพสัตว์ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น)
บรรดาสัตว์ในฟาร์มแห่งหนึ่งไม่ต้องการตกเป็นทาสของมนุษย์ พวกมันจึงรวมกำลังกันขับไล่มนุษย์ให้ออกไปได้สำเร็จ และเริ่มปกครองกันเองด้วยบัญญัติ 7 ประการ ด้วยการนำของหมู ซึ่งจะทำให้สัตว์ทุกตัวอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้น กลับโหดร้ายมากกว่าตอนตกเป็นทาสทำงานให้มนุษย์เสียอีก เพราะอำนาจและผลประโยชน์ได้เปลี่ยนแปลงสัตว์บางตัวให้คิดและทำไม่ต่างจากมนุษย์ที่พวกมันเคยเกลียดและมองว่าเป็นศัตรู 

Nineteen Eighty-Four (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1949)
หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์สมมติ)
นวนิยายแนวดิสโทเปีย (dystopian novel) มีเนื้อเรื่องจากการจำลองประเทศในจินตนาการ ซึ่งออร์เวลล์ได้ตั้งกฎข้อบังคับแบบรัฐเผด็จการ เพื่อจำกัดสิทธิของพลเมืองในทุกๆ ด้าน ทำให้เกิดเป็นความรู้สึกหวาดกลัว แร้นแค้น และสิ้นหวัง ภายใต้การครอบงำของระบบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นความเศร้าใจในชีวิตจริง เพราะสังคมโลกสมมุติที่เลวร้ายเกินกว่าความเป็นจริงจะยอมรับได้ กลับกำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

 

อ้างอิง