life

The Writer’s Room
No. 10 

ห้องเช่าไร้ฮีตเตอร์และชีวิตที่เหี่ยวเฉายิ่งกว่าพืชผลัดใบในฤดูหนาวของ เจ.เคโรว์ลิ่ง
นักเขียนผู้รอดชีวิตจากความล้มเหลวด้วยเวทมนตร์และจินตนาการในวรรณกรรม

Photo: Debra Hurford Brown (2018)

หากชีวิต เจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K. Rowling) เปรียบได้กับพจนานุกรม เธอคงจดจำนิยามและความสำคัญของ ‘failure’ และ ‘imagination’ ได้ขึ้นใจ เพราะทั้งสองคำนี้ ไม่เพียงแค่พลิกผันชีวิตครั้งใหญ่ของโรว์ลิ่ง แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกวรรณกรรมไปตลอดกาล

ความล้มเหลว’ ทำให้เธอฉุดดึงตัวเองขึ้นมาจากจุดตกต่ำที่สุด ไม่ให้ความแร้นแค้นและสิ้นหวังกลืนกินชีวิตเธอจนสูญสิ้น ส่วน ‘จินตนาการ’ กลายเป็นบันไดที่โรว์ลิ่งเพียรพยายามสร้างขึ้นด้วยตัวเองทีละขั้น เมื่อรู้ตัวอีกที เธอได้ก้าวเดินไปถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของชีวิต ในฐานะนักเขียนคนสำคัญของโลก ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมเยาวชนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคปัจจุบัน นั่นคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตที่ติดลบราวกับอุณหภูมิเย็นยะเยือกในฤดูหนาว โรว์ลิ่งรู้ตัวดีว่า โอกาสที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั้นมีไม่มากนัก หรือแทบจะไม่มีโอกาสเลยด้วยซ้ำ เพราะเธอไม่ได้มีต้นทุนหรือตัวเลือกอื่นใด นอกจากความฝัน ความพยายาม และความสามารถในตัวเอง

Photo: https://www.insider.com/jk-rowling-harry-potter-author-biography-2017-7

ช่วงหนึ่งของชีวิต โรว์ลิ่งอยู่ในสถานะราวกับคนจนตรอก เพราะถูกห้อมล้อมดัวยปัญหาและอุปสรรคนานัปการ เธอสูญเสียแม่ผู้เป็นที่รัก ชีวิตคู่ก็ร้าวรานจนจบลงภายในเวลาแสนสั้น และมีชีวิตอย่างขัดสนเพราะต้องรับหน้าที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวโดยไม่มีงานทำ ในที่สุดเธอกลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และเคยมีความคิดว่า อยากจบชีวิตลง เธอในตอนนั้นเหี่ยวเฉายิ่งกว่าพืชผลัดใบในฤดูหนาว

แต่ด้วยพลังใจจากลูกตัวน้อย ทำให้โรว์ลิ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อหวังสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิตในวันข้างหน้า ซึ่งมีแค่ตัวเธอคนเดียวเท่านั้นที่จะทำได้ แม้จะไม่มีหลักประกันใดรับรองว่า ชีวิตของเธอจะไม่ติดลบเหมือนที่ผ่านมา เมื่อหลังชนฝา เธอย่อมไม่มีอะไรต้องเสียไปมากกว่านี้อีกแล้ว

เรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงต่อยอดมาจากแรงบันดาลใจที่โรว์ลิ่งคิดขึ้นได้ขณะรอรถไฟซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดถึง 4 ชั่วโมง เป็นเส้นทางระหว่างเมืองแมนเชสเตอร์และสถานีรถไฟคิงส์ครอส (King’s Cross station) ทันทีที่ถึงห้องเช่าราคาถูกบนชั้นสองเหนือร้านขายอุปกรณ์กีฬา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นร้านขายแว่นตาบริเวณสี่แยกแคลปแฮม (Clapham junction) ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นห้องเช่สำหรับคนจนๆ อย่างโรว์ลิ่ง ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐสัปดาห์ละ 70 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 บาทเธอไม่รีรอ รีบเขียนเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งในโรงเรียนเวทมนต์และคาถา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เธอเรียกว่า birthplace ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1990

Photo: https://twitter.com/jk_rowling/status/1263439084636319746/photo/1

ไม่มีใครรู้ว่าสภาพความเป็นอยู่ในห้องนั้นเป็นอย่างไร เพราะโรว์ลิ่งไม่เคยเผยรายละเอียด ทำให้หลายๆ คนโดยเฉพาะแฟนหนังสือต่างสงสัยว่า โต๊ะและเก้าอี้ที่เธอนั่งเขียนเป็นแบบไหนกันแน่ หรือเลวร้ายที่สุด อาจจะไม่มีเฟอร์นิเจอร์อื่นใดเลยด้วยซ้ำ ไม่มีภาพถ่ายใดช่วยยืนยันได้ เพราะชีวิตที่กำลังตกทุกข์ได้ยากย่อมไม่มีเงินสำหรับซื้อของที่ไม่จำเป็นอย่างกล้องถ่ายรูป โรว์ลิ่งบอกแต่ว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า คาเฟ่ The Elephant House ในเมืองเอดินเบอระ (Edinburgh) สกอตแลนด์ คือจุดเริ่มต้นของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งไม่ใช่ความจริง

Photo: https://www.flickr.com/photos/44392732@N00/2162415200/

สาเหตุที่คนเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็เพราะว่าเป็นภาพชินตาของคนที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการบนชั้นสองของคาเฟ่ ซึ่งมักจะเห็นเธอนั่งอยู่ตรงโต๊ะริมหน้าต่างที่แสงแดดส่องเข้ามาพอดี พร้อมกับแก้วกาแฟ สมุด ปากกา และลูกที่นอนหลับอยู่ในรถเข็นเด็ก

ว่ากันว่าเหตุผลที่โรว์ลิ่งเลือกใช้เวลาในคาเฟ่เพื่อเขียนเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะห้องเช่าของเธอในเมืองเอดินเบอระ ไม่มีฮีตเตอร์ (Heater) หรือเครื่องทำความร้อน ลำพังตัวเธอพอทนความหนาวได้ แต่ลูกของเธอยังเล็กมาก และความอบอุ่นคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก คาเฟ่จึงกลายเป็นพื้นที่อุ่นใจของโรว์ลิ่ง อย่างน้อยลูกของเธอก็ได้รับไออุ่น ทำให้เธอนั่งเขียนงานต่อไปได้อย่างไร้ความกังวล

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่และไม่ใกล้เคียงเรื่องจริงเลยสักนิด โรว์ลิ่งยืนยันว่าห้องเช่าของเธอมีฮีตเตอร์ แต่สาเหตุที่เลือกมานั่งเขียนหนังสือในคาเฟ่ เพราะเธอจะได้ดื่มกาแฟเข้มๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เธอเขียนได้ลื่นไหลและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนระยะทางเดินเท้าจากห้องเช่าถึงคาเฟ่ ยังเท่ากับว่า เธอได้พาลูกออกมาเดินเล่น การเปลี่ยนสถานที่ทำให้โรว์ลิ่งได้ปรับอารมณ์และได้ยืดเส้นยืนสายในเวลาเดียวกัน ซึ่งช่วยให้เธอไม่รู้สึกง่วง เหง หาวนอนระหว่างวัน สามารถทุ่มเทกับงายเขียนได้เต็มที่

Photo: https://www.theguardian.com/books/2016/mar/04/jk-rowling-harry-potter-chair-auction

นอกจากThe Elephant House ยังมีคาเฟ่อื่นๆ ที่เธอมักจะผลัดเปลี่ยนแวะเวียนไปนั่งเขียนหนังสืออยู่เรื่อยๆ คือ Nicolson’s เพราะน้องเขยหรือสามีของน้องสาวโรว์ลิ่งมีหุ่นส่วนอยู่ (ปัจจุบันเปลี่ยนเจ้าของและชื่อร้านเป็น Spoon Cafe Bistroและ Traverse Theatre Cafe เป็นคาเฟ่ที่อยู่ภายในโรงละครเทรเวิร์ส ที่นี่ทำให้เธอได้รู้จักกับ จอห์น ทิฟฟานี (John Tiffany) ก่อนทั้งคู่จะได้ร่วมงานกันในฐานะผู้กำกับละครเวทีเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and the Cursed Child) ในอีกหลายปีให้หลัง

Photo: The former 1st floor Nicholson’s Cafe now renamed Spoon in Edinburgh
Photo: https://www.traverse.co.uk/

ขั้นตอนการเขียนของโรว์ลิ่งเริ่มต้นด้วยการจดทุกสิ่งอย่างที่เธอคิดลงบนกระดาษ หากต้องแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เธอจะใช้วิธีขีดฆ่าและเขียนเพิ่มด้วยลายมือ แล้วค่อยใช้พิมพ์ดีดเครื่องเก่าซึ่งมีอายุมากกว่า 10 ปี พิมพ์เรื่องราวทั้งหมดเป็นต้นฉบับสำหรับส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา

หลังจากนั้น 5 ปีเต็ม ในที่สุดต้นฉบับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher’s Stone) ก็เสร็จสมบูรณ์ในปี 1995 แต่โรว์ลิ่งกลับต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญ เพราะต้นฉบับของเธอถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 12 ครั้งจากสำนักพิมพ์ 12 แห่งในระยะเวลาเกือบ 2 ปี จนกระทั่งในครั้งที่ 13 สำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ (Bloomsbury) ตอบรับว่ายินดีตีพิมพ์ผลงานเขียนของเธอ โดยให้เหตุผลว่า ลูกสาววัย 8 ขวบของผู้บริหารสำนักพิมพ์ได้อ่านบทแรกแล้วชอบมาก ถึงขนาดร้องขออยากอ่านบทต่อๆ ไปทันที

Photo: https://pbs.twimg.com/media/Eo-E1fyWEAI1FyT?format=jpg&name=large

ในปี 1997 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (ปัจจุบันมีมูลค่าจากการประมูลสูงถึง 68,000 ปอนด์ หรือเกือบ 3 ล้านบาทได้รับการตีพิมพ์เป็นปกแข็งด้วยจำนวนน้อยนิดเพียง 500 เล่ม ในจำนวนนี้ ยังแบ่งออกเป็นสองส่วน คือนำไปแจกจ่ายตามห้องสมุด 300 เล่ม ที่เหลืออีก 200 เล่มค่อยนำมาวางขาย เธอยังได้รับคำแนะนำจากสำนักพิมพ์ด้วยว่า ถ้าหวังจะมีชีวิตที่ดีจากการเขียนหนังสือเด็กเป็นอาชีพหลัก คงต้องคิดใหม่ ทางที่ดีเธอควรหางานประจำทำที่มีรายได้มั่นคงกว่านี้

เมื่อโรว์ลิ่งคิดว่าตัวเองผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว อาชีพนักเขียนคงไม่ได้ทำให้ชีวิตของเธอตกต่ำไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เธอยังจำความสุขในวัยเด็กได้ไม่เคยลืม เธอรักการอ่าน การเขียน และการเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง โรว์ลิ่งจึงแน่วแน่ว่าจากนี้ไปเธอจะเป็นนักเขียนอาชีพ ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่าการตัดสินใจครั้งนั้น กำลังจะพลิกฟื้นชีวิตของโรว์ลิ่งอย่างที่ตัวเธอเองก็ไม่เคยนึกฝันมาก่อน

หลังจากแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกออกเผยแพร่สู่สาธารณะ กลายเป็นว่าได้รับความนิยมเกินคาดจนต้องพิมพ์เพิ่ม

ในปีต่อมา ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงจัดการประมูลเพื่อถือลิขสิทธิ์สำหรับตีพิมพ์ ซึ่งสำนักพิมพ์ผู้ชนะ ยื่นประมูลด้วยจำนวนเงิน 105,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านบาท) โรว์ลิ่งบอกว่า เธอแทบจะตายลงตรงนั้น ทันทีที่รู้มูลค่าลิขสิทธิ์ หนังสือเล่มแรกของโรว์ลิ่งเปลี่ยนชีวิตของเธอที่แห้งเหี่ยวให้กลับคืนความสดใสอีกครั้ง เหมือนต้นไม้ที่ผลิใบเขียวตลอดปี

ถึงแม้ว่าจะเริ่มเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง และมีรายได้ แต่โรว์ลิ่งยังใช้ชีวิตตามเดิม เธอนั่งเขียนหนังสือเล่มสอง หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (Harry Potter and the Chamber of Secrets) ตามคาเฟ่ที่ไปเป็นประจำจนจบ ก่อนจะซื้อบ้านส่วนตัว และไม่เคยนั่งเขียนหนังสือในคาเฟ่หรือสถานที่เปิดแห่งไหนอีกเลย เพราะโรว์ลิ่งให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว เธอจึงไม่เคยเปิดเผยห้องทำงานภายในบ้านพัก เพื่อเก็บรักษาความลับไว้ ไม่ให้เรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในเล่มต่อมาแพร่งพรายออกไป แต่เธอก็ไม่อยากทำร้ายจิตใจผู้อ่านทั่วโลก ซึ่งอยากรู้และรอคอยวันเปิดตัวหนังสือแต่ละเล่มด้วยใจจดจ่อ เธอจึงเปิดเว็บไซต์ส่วนตัวในปี 2004 เพื่อเป็นพื้นที่บอกเล่าความคืบหน้าและข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์

เมื่อเริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มที่สาม โรว์ลิ่งบอกลาเครื่องพิมพ์ดีดและเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์แทน แต่สิ่งเดียวที่เธอไม่เคยเปลี่ยนคือการเขียนด้วยมือ เคยมีคนถามโรว์ลิ่งว่า จะเป็นอย่างไรหากนักเขียนผู้เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์กลับไม่มีคอมพิวเตอร์ดีๆ ใช้ เธอบอกอย่างชัดเจนว่า สิ่งจำเป็นที่นักเขียนต้องการ มีเพียงสองอย่าง คื ความสามารถ หรือบางคนอาจเรียกว่าพรสวรรค์ กับน้ำหมึก

Photo: https://www.hp-lexicon.org/source/other-canon/jkr/jkr-com-scrapbook/psdraft1/

ในที่สุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ก็ดำเนินมาถึงเล่มสุดท้าย โรว์ลิ่งได้เปิดเผยว่า เมื่อต้องเขียนบทสรุป เธอรู้สึกฟุ้งซ่านและกดดันอย่างมาก จนต้องการเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งเขียนที่ไหนสักแห่งที่ไม่ใช่บ้าน แล้วสถานที่ที่เธอเลือกใช้เขียนหนังสือเล่มที่เจ็ด หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (Harry Potter and the Deathly Hallows) คือภายในห้องหมายเลข 552 ของ เดอะ บัลมอรัล (The Balmoral Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมหรูห้าดาวในสก๊อตแลนด์ ระหว่างที่โรว์ลิ่พักในโรงแรม เธอเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ มีคนใกล้ชิดไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้

Photo: https://www.outdooractive.com/en/accommodation/city-of-edinburgh/balmoral-hotel/38161087/

ในวันที่ 11 มกราคม 2007 โรว์ลิ่งเขียนเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์จบ เธอได้เขียนข้อความไว้เป็นหลักฐานยืนยันบนรูปปั้นเทพเฮอร์มีส (Hermes) ทางโรงแรมจึงตั้งชื่อห้อง 552 ว่า J K Rowling Suite พร้อมทั้งเปลี่ยนสีประตูจากสีขาวเป็นสีม่วงคล้ายกับสีของรถเมล์อัศวินราตรี (Knight Bus) พาหนะด่วนพิเศษสำหรับบรรดาพ่อมดแม่มดพเนจร ซึ่งปรากฏในเล่มที่สาม หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับกับนักโทษแห่งอัซคาบัน (Harry Potter and the Prisoner of Azkaban) และเก็บรักษารูปปั้นหินอ่อนไว้ในตู้กระจก เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงโรว์ลิ่ง โดยกำหนดราคาเข้าพักต่อคืนของห้องนี้ไว้ที่ 3,000 ปอนด์ (ประมาณ 120,000 บาท)

Photo: https://jackrunstheworld.com/2019/09/19/the-balmoral-hotel-where-j-k-rowling-wrote-deathly-hallows/
Photo: https://www.wizardingworld.com/news/10-years-since-jk-rowling-finished-writing-deathly-hallows

เมื่่อชีวิตอยู่ในจุดสูงสุดที่เรียกได้อย่างภูมิใจว่าประสบความสำเร็จ โรว์ลิ่งมักมองย้อนกลับไปยังเส้นทางชีวิตเบื้องล่างที่เต็มไปด้วยขวากหนามและความท้าทายซึ่งเคยทำให้ชีวิตของเธอล้มเหลวไม่เป็นท่า ความล้มเหลวทำให้โรว์ลิ่งมองชีวิตใหม่ หยุดพยายามผิดที่ผิดทาง แล้วเริ่มต้นมุ่งมั่นและทุ่มเททำสิ่งที่มีความหมายจริงๆ กับชีวิต ในตอนนั้น เธอรู้สึกว่าได้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ เพราะความน่ากลัวที่สุดในชีวิตได้เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญมันทำอะไรเธอไม่ได้ เพราะเธอไม่ยอมแพ้ สู้ฝ่าฟันทุกบททดสอบ และกลายเป็นผู้รอดชีวิตที่ลุกขึ้นมายืนได้ด้วยตัวเองอีกครั้งจากความตั้งใจทำในสิ่งที่รัก

Photo: https://news.harvard.edu/gazette/story/2008/06/text-of-j-k-rowling-speech/

ในพิธีสำเร็จการศึกษาประจำปี 2008 ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โรว์ลิ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ถึงชีวิตที่ล้มเหลวเพื่อเป็นข้อคิดแก่บัณฑิตว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่เคยล้มเหลวเลย เว้นแต่ว่า จะใช้ชีวิตอย่างระวังมากๆ มากเสียจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิต ซึ่งก็เท่ากับว่าชีวิตได้ล้มเหลวไปแล้ว แต่ความล้มเหลวจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่ง ทำให้จัดการชีวิตใหม่ ทบทวนตัวเอง หมั่นเรียนรู้ ที่สำคัญคือ รู้จักถ่อมตนกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การยอมรับความจริง ซึ่งเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้ชีวิตรอดพ้นจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดจากความล้มเหลว

ปัจจุบัน แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่มีผู้อ่านมากที่สุดของโลก ตีพิมพ์ไปแล้วมากกว่า 500 ล้านเล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ มากกว่า 80 ภาษา จินตนาการของโรว์ลิ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่ชีวิตของเธอเท่านั้น เวทมนตร์ที่เธอสร้างไม่ได้อยู่แค่ในหน้ากระดาษของหนังสือ เพราะกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านทั่วโลกสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ของความวิเศษเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง เหมือนที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ 

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง

Harry Potter and the Philosopher’s Stone (ตีพิมพ์ครั้งแรก 1997)
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
นวนิยายลำดับแรกของวรรณกรรมเยาวชนชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เปลี่ยนชีวิต เจ.เคโรว์ลิ่งไปตลอดกาล ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อมด แม่มด และเวทมนตร์คาถา ที่พลิกผันชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งให้กลายเป็นทั้งผู้สูญเสียและผู้ได้รับในเวลาเดียวกัน ทั้งหมดนี้ได้นำเขาไปสู่การผจญภัยกับผองเพื่อน เพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายในโลกของผู้วิเศษ ด้วยหัวใจที่ยึดมั่นในความกล้าหาญ มิตรภาพ และคุณธรรม

The Cuckoo’s Calling (ตีพิมพ์ครั้งแรก 2013)
เสียงเพรียกจากคักคู (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
รอเบิร์ต กัลเบรท คือ นามปากกาที่ เจ.เคโรว์ลิ่ง เอาไว้ใช้สำหรับเขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวนโดยเฉพาะ เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการตายของนางแบบสาว เธอเสียชีวิตเพราะตกลงมาจากระเบียงตึก ตำรวจดูรูปการณ์แล้วสรุปว่าเธอฆ่าตัวตาย แต่พี่ชายไม่ปักใจเชื่อง่ายๆ จึงจ้างนักสืบเอกชนอดีตทหารผ่านศึกอย่าง ‘คอร์โมรัน สไตรก์’ ให้ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง เขารับทำงานนี้เพื่อหวังให้ได้เงินมาประทังชีวิตต่อไป โดยหารู้ไม่ว่า หนทางสู่ความจริงนั้นดำมืด และเต็มไปด้วยอันตรายเกินกว่าที่เขาคาดคิดไว้

The Ickabog (ตีพิมพ์ครั้งแรก 2020)
อิ๊กคาบ็อก (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)
เป็นเรื่องราวเหนือจินตนาการระหว่างสัตว์ประหลาดในตำนานที่มีชีวิตอยู่จริง กับกษัตริย์หนวดงามและบรรดาผู้คนในดินแดนเปี่ยมสุข เดิมทีเจ.เคโรว์ลิ่ง เขียนเทพนิยายเรื่องนี้เสร็จตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน เพื่อเอาไว้เล่าให้ลูกๆ ของเธอฟังก่อนเข้านอน แต่สาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจนำเรื่องโปรดของครอบครัวมาเผยแพร่ เพราะต้องการแบ่งปันความสนุกสนานกับเด็กๆ ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

อ้างอิง