life

The Writer’s Room
No. 15

ห้องแห่งการระลึกถึงชีวิตและกล่องลังบรรจุความหลังของ คะซึโอะ อิชิงุโระ
นักเขียนรางวัลโนเบลผู้เชื่อว่าเรื่องแต่งเผยให้เห็นเรื่องจริงแท้ของเราทุกคน

Photo: Jeff Cottenden/Courtesy of Knopf

ย้อนไปในปี 2017 หลังจากคณะกรรมการพิจารณาและตัดสินรางวัลโนเบล แห่งราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ประกาศมองรางวัลสาขาวรรณกรรมให้กับ คะซึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro) บรรดาสื่อมวลชนในกรุงลอนดอนต่างมุ่งหน้าไปยังบ้านพักของอิชิงุโระทันที พวกเขายืนเข้าแถวบริเวณทางเข้าบ้านด้วยใจจดจ่อ เพราะทุกคนต่างมาที่นี่ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือสัมภาษณ์อิชิงุโระถึงความรู้สึกต่อรางวัลอันทรงเกียรตินี้

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความน่ายินดีซึ่งเปิดโอกาสให้อิชิงุโระแสดงออกได้ทั้งความดีใจและความภาคภูมิใจเท่าที่เขาต้องการในฐานะนักเขียนรางวัลโนเบล แต่อิชิงุโระกลับสงบนิ่งด้วยท่าทีครุ่นคิด เพราะเขาแทบไม่เชื่อตัวเองว่านี่คือความจริงที่เกิดขึ้นแล้วในชีวิตการเป็นนักเขียนอาชีพ

อิชิงุโระต้อนรับสื่อมวลชนอย่างไม่ถือตัว เขานั่งลงบนเก้าอี้ไม้ในสวนบริเวณบ้าน ก่อนเผยความรู้สึกว่า ตนเองเชื่อในพลังของเรื่องราวเสมอ วิธีการเขียนของเขาคือการสำรวจแง่มุมชีวิตผู้คน ทั้งที่เสียเปล่าไปอย่างไร้ประโยชน์และพยายามไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาส โดยสร้างสรรค์เรื่องราวเหล่านั้นให้ก้าวผ่านพ้นอุปสรรคและข้อจำกัดด้านเชื้อชาติ ชนชั้น และชาติพันธุ์

Photo: Ben Stansall / AFP

แม้จะเป็นเรื่องแต่งในรูปแบบนิยาย แต่กลับให้กลิ่นอายความเป็นจริงที่ผูกโยงอยู่กับเงื่อนไขเวลาและความรู้สึกอ่อนไหว เพราะชีวิตสมมุติของตัวละครในเรื่อง ซึ่งตกอยู่ในห้วงความโศกเศร้าจวนตรอมใจจากความทรงจำที่เจ็บปวดในอดีต ย่อมสะท้อนกลับมายังผู้อ่าน ชวนให้หวนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาเพื่อไตร่ตรองว่าครั้งหนึ่งเรื่องทำนองเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในชีวิตจริงมาแล้วหรือเปล่า

มากไปกว่านั้น ผลงานเขียนของอิชิงุโระยังชวนให้ตั้งคำถามถึงฉากชีวิตและภูมิหลังของตัวเขาเองด้วยว่า ก่อนที่อิชิงุโระจะนิยามตัวเองเป็นนักเขียนสัญชาติอังกฤษเชื้อสายญี่ปุ่น เขาต้องประสบและพานพบสิ่งใดบ้างที่สำคัญมากพอจนเป็นหมุดหมายให้เขาเลือกเดินบนเส้นทางนักเขียนอาชีพ เพื่อให้ได้คำตอบจำเป็นต้องย้อนความหลังกลับไปยังจุดเริ่มต้น ณ ประเทศญี่ปุ่น

อิชิงุโระเกิดที่เมืองนางาซากิ ในปี 1954 หรือ 9 ปีให้หลัง จากเหตุการณ์สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู Fatman ถล่มเมืองนี้ ภายในพริบตาเดียวทุกสิ่งอย่างแม้แต่ชีวิตผู้คน ล้วนสลายสิ้นเป็นเถ้าถ่าน ญี่ปุ่นหมดหนทางสู้ต่อในทันที ต้องยอมจำนนให้กับความสูญเสียครั้งใหญ่ นำไปสู่การยุติลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นรอยตำหนิที่ไม่มีทางลบทิ้งไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของชาติ และเป็นความทรงจำขื่นขมที่ชาวญี่ปุ่นทุกคนไม่มีวันลืมได้ลง

Photo: STF / AFP

เวลานั้น อิชิงุโระยังเด็กเกินกว่าจะรับรู้เรื่องราวทั้งหมด ในวัยเพียง 5 ขวบ เขาไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นบนแผ่นดินเกิด ทำให้อิชิงุโระไม่อาจสัมผัสกับเศษซากของวันวานที่ตกค้างและหลงเหลืออยู่ในเมืองนางาซากิ เหมือนกับที่คนญี่ปุ่นผู้มีชีวิตรอดและชนรุ่นหลังต่างเก็บจำฝังใจเป็นสำนึกที่ติดตัวตลอดชีวิต เพราะพ่อของเขาต้องไปทำงานเป็นนักวิจัยที่ศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ ในเมืองกิลด์ฟอร์ด (Guildford) ประเทศอังกฤษ ทำให้อิชิงุโระต้องย้ายถิ่นฐานตามพ่อ

อิชิงุโระในวัยไม่ถึงขวบ (นั่งกับพื้น) กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว
Photo: https://twitter.com/KazuoIshiguro6/status/1199484669114421248/photo/1

การย้ายถิ่นที่อยู่กลับไม่ได้ลดทอนเลือดอาทิตย์อุทัยที่ไหลเวียนอยู่อย่างเงียบเชียบภายในตัวของอิชิงุโระ เพราะสมาชิกทุกคนของครอบครัวยังคงสอนให้เขารู้ภาษาญี่ปุ่นควบคู่กับการเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน และเลี้ยงดูเขาตามขนบญี่ปุ่นทุกประการ โดยปลูกฝังให้อิชิงุโระเป็นคนละเอียดอ่อนและพิถีพิถันในการใช้ชีวิต อิชิงุโระยอมรับว่า ครอบครัวคือส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนเอาใจใส่สิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะความรู้สึกและอารมณ์ของผู้คนที่แวดล้อมตัวเขา ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นมุมมองหลักที่เขาใช้สร้างตัวละครและถ่ายทอดเรื่องราวที่อ้างอิงกับภาวะทางอารมณ์ได้สมจริงที่สุด

Photo: https://achievement.org/achiever/kazuo-ishiguro/

ช่วงวัยเด็ก อิชิงุโระตื่นตาตื่นใจกับวงการโทรทัศน์ที่เขาเฝ้าดูผ่านจอแก้ว ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกให้เขาลองเขียนสคริปต์หรือบทรายการโทรทัศน์ขึ้นมาตามประสาความคิดความอ่านของเด็ก

จนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น อิชิงุโระเริ่มสนใจดนตรีมากกว่าสิ่งใด เขาชื่นชอบผลงานเพลงของ บ็อบ ดีแลน (Bob Dylan) นักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน ผู้ทรงอิทธิพลในแนวเพลงโฟล์ก-ร็อค (ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2016 ในฐานะผู้สร้างสรรค์เพลงที่สะท้อน​สังคมอเมริกัน และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง)

ในสายตาอิชิงุโระ ดีแลนคือแรงบันดาลใจให้เขาเล่นดนตรีและเขียนเพลงขณะอายุเพียง 13 ปี เขาวางแผนว่าชีวิตจะต้องเอาดีด้านดนตรีให้ได้ ซึ่งความรักของเขาที่มีต่อดนตรีปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่ในห้องนั่งเล่น

อิชิงุโระตั้งเครื่องดนตรีต่างๆ ทั้งเปียโน กีตาร์ และกลองชุดไว้ตามมุมของห้อง พร้อมจัดสรรพื้นที่ให้ใช้งานได้หลากหลาย ตรงกลางวางโซฟาไว้นอนเล่น ด้านหนึ่งของห้องเป็นชั้นหนังสือเต็มผนัง เขาหันโต๊ะเข้ากำแพงสำหรับนั่งเขียนนิยาย

ยังมีเก้าอี้ตัวใหญ่หันหน้าออก เมื่อมองผ่านบานกระจกจะเห็นสนามหญ้าและสวนขนาดกะทัดรัดอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่อิชิงุโระมักจะเอาไว้นั่งปล่อยใจระลึกถึงอดีตหรือคิดอะไรเพลินๆ คนเดียว

Photo: https://www.pbs.org/video/nobel-prize-winning-novelist-kazuo-ishiguro-yblga4/

ความทรงจำเป็นสิ่งล้ำค่าของอิชิงุโระ เพราะการจำได้ทำให้เขารู้ตำแหน่งแห่งที่ของตน และเข้าใจว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เขายังใช้วิธีคิดเดียวกันนี้สร้างบุคลิกและที่มาที่ไปให้ตัวละครในนิยาย ระหว่างวัน อิชิงุโระจึงเลือกอยู่แต่ในห้องแห่งการระลึกถึงความหลังตลอดชีวิตนี้ตามลำพังเสมอ แต่คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันเหเส้นทางชีวิตจากสายดนตรีสู่การเขียนเป็นอาชีพ

Photo: https://sites.utexas.edu/ransomcentermagazine/2016/06/15/taking-note-of-the-kazuo-ishiguro-archive/

เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจว่าจะต้องเรียนต่อ อิชิงุโระเลือกเรียนด้านวรรณกรรมอังกฤษและปรัชญาในระดับปริญญาตรี โดยก่อนหน้า เขามีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นนักล่าห่าน (grouse-beater) ในปราสาทแบลมอรัล ซึ่งใช้เป็นที่ประทับประจำฤดูร้อนของราชวงศ์อังกฤษ และเคยทำงานเป็นอาสาสมัครด้านสังคมสงเคราะห์ คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านในลอนดอนร่วม 3 ปี แล้วค่อยเรียนต่อด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในระดับปริญญาโท โดยมีนักเขียนชาวอังกฤษชั้นครู อย่าง มัลคอล์ม แบรดบิวรี (Malcolm Bradbury) และ แองเจลา คาร์เตอร์ (Angela Carter) เป็นที่ปรึกษา

การทำงานมอบประสบการณ์ใหม่ให้อิชิงุโระเข้าถึงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์ ส่วนการเรียนมอบโลกใบใหม่ที่ทำให้เขาเข้าใจว่า ต่อให้ภายนอกของมนุษย์จะดูลึกลับหรือซับซ้อนมากแค่ไหน แต่วรรณกรรมจะเสนอหนทางที่ช่วยให้เข้าถึงภายในของความเป็นมนุษย์ได้ ซึ่งบอบบางและแตกหักง่าย ทำให้เขาอยากเขียนเรื่องแต่งที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ชีวิตของผู้คนที่พบเจอ

Photo: https://www.npr.org/sections/thesalt/2017/10/15/557217635/nobel-laureate-kazuo-ishiguro-once-wrote-a-screenplay-about-eating-a-ghost

ผลงานเขียนเล่มแรกของอิชิงุโระในวัย 27 ปี จึงเป็นผลลัพธ์ที่ผสมผสานระหว่างประสบการณ์ชีวิตและความสำเร็จด้านการเรียน เพราะพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ซึ่งบอกเล่าความทรงจำของคนญี่ปุ่นผู้ผ่านพ้นเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิมาด้วยความยากลำบาก

หลังจากส่งต้นฉบับเรื่อง A Pale View of Hills ไปให้สำนักพิมพ์ Faber and Faber พิจารณา งานเขียนของอิชิงุโระก็ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1982 ซึ่งเผยแพร่ทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่จดจำในแวดวงนักเขียน ถึงขนาดได้รับการยกย่องจากราชสมาคมวรรณกรรม (Royal Society of Literature) แห่งสหราชอาณาจักร ให้เป็นผลงานระดับยอดเยี่ยม เป็นความสำเร็จจากการสร้างสรรค์นิยายรสชาติใหม่ที่ใช้ตัวละครชาวญี่ปุ่นดำเนินเรื่อง โดยมีฉากหลังตัดสลับระหว่างประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ

Photo: https://achievement.org/achiever/kazuo-ishiguro/

ปีต่อมาอิชิงุโระได้รับสัญชาติอังกฤษ ทำให้เขาเป็นพลเมืองอังกฤษโดยสมบูรณ์ เช่นเดิม สิ่งนี้ไม่ได้ลดทอนความข้นของเลือดอาทิตย์อุทัยซึ่งได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก อย่างน้อยสายตาของเขายังมองความเป็นไปของโลกด้วยสำนึกจากความเป็นคนญี่ปุ่น แม้เคยใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นแค่ 5 ขวบแรกเท่านั้น (และกว่าที่อิชิงุโระจะได้กลับไปยังแผ่นดินเกิดอีกครั้ง เวลาก็ล่วงเลยเข้าสู่ปี 1989 เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว)

ความสามารถด้านการเขียนยังทำให้อิชิงุโระทำตามความฝันในวัยเด็กได้สำเร็จ เขาได้รับโอกาสให้เขียนบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์ในปี 1984 ควบคู่กับงานหลักคือการเขียนนิยาย แต่เขาก็ไม่เคยละทิ้งความชอบด้านดนตรีไป ในเวลาเดียวกันอิชิงุโระยังเล่นดนตรีและเขียนเนื้อเพลงอยู่เสมอซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับนักร้องและนักดนตรีคนอื่นๆ

Photo: https://sites.utexas.edu/ransomcentermagazine/2016/06/15/taking-note-of-the-kazuo-ishiguro-archive/

หากนับจำนวนนิยายของอิชิงุโระจะพบว่า จนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2021) เขาตีพิมพ์ผลงานเขียนเพียง 8 เล่ม อิชิงุโระให้เหตุผลว่า เขาใช้เวลาเขียนนิยายแต่ละเล่มไม่ต่ำกว่า 5 ปี ตั้งแต่หาแรงบันดาลใจแรก วางเค้าโครงเรื่อง ลงมือเขียน แก้ไขตันฉบับ จนถึงขั้นสุดท้าย คือตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม

โดยขั้นตอนที่อิชิงุโระให้ความสำคัญมากที่สุด คือ กระบวนการสร้างความจำและการหวนรำลึกความหลังของตัวละคร เพราะเขาต้องคงความคลุมเครือผ่านปมปัญหาชวนสงสัย เพื่อกระตุ้นเร้าความอยากของผู้อ่านให้ตามติดห้วงความทรงจำทั้งเด่นชัดและพร่าเลือนของตัวละครตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา แต่เมื่อถึงบทสรุป ในความไร้ระเบียบของชิ้นส่วนความทรงจำเหล่านั้นกลับเชื่อมโยงและร้อยเรียงให้เห็นเป็นความสัมพันธ์ของเหตุและผล คลี่คลายความคับข้องใจก่อนหน้าได้อย่างงดงาม แม้ความทรงจำนั้นจะสร้างบาดแผลฉกรรจ์จวนทำให้ใจสลายทุกครั้งยามหวนคิดถึง

อิชิงุโระถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดผ่านการบรรยายด้วยชุดคำและการเปรียบเปรยให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน เขาไม่ได้ใช้คำยาก แต่คำที่เขาเลือกใช้มักสื่อและแฝงเร้นความรู้สึกบางอย่างไว้เสมอ รวมถึงวางแผนการเล่าเรื่องไว้อย่างรัดกุม โดยประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา

เบื้องหลังความสำเร็จของนิยายที่อิชิงุโระบรรจงเขียนขึ้นทุกเล่มล้วนเกิดขึ้นบนโต๊ะสองตัว (ยกเว้นนิยาย 2 เล่มแรก เพราะเขาใช้เครื่องพิมพ์ดีดช่วยเขียน)

Photo: https://achievement.org/achiever/kazuo-ishiguro/

ตัวหนึ่งเป็นโต๊ะที่มีพื้นเอียงขึ้นทำองศาเล็กน้อยคล้ายกับโต๊ะนักเรียน ช่วยให้เขาจรดปากกาเขียนเรื่องบนกระดาษได้ถนัดมือ อีกตัวเป็นโต๊ะธรรมดาเอาไว้วางคอมพิวเตอร์ อิชิงุโระแบ่งขั้นตอนการทำงานเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ

ส่วนแรกเริ่มต้นด้วยปากกาเพียงหนึ่งด้าม เขาชอบความรู้สึกขณะเขียนทุกสิ่งที่คิดว่าน่าสนใจโดยไม่สนว่าความคิดแต่ละกลุ่มก้อนจะเชื่อมโยงเข้ากันได้อย่างไร เมื่อเขาพอใจจึงค่อยปะติดปะต่อเป็นโครงเรื่องและตัวละคร โดยไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่บทนำจนถึงบทส่งท้าย โดยเขียนอธิบายแต่ละบทเพิ่มเติมให้ละเอียดที่สุด ถ้าพื้นที่หน้ากระดาษไม่พอ หรือต้องการเน้นข้อความสำคัญ เขาจะเขียนลงบนโพสต์-อิทหรือกระดาษโน๊ตแผ่นเล็ก แล้วแปะลงไปในหน้ากระดาษอีกที จากนั้นอิชิงุโระจะเริ่มเขียนต้นฉบับอย่างจริงจังด้วยปากกาจนเสร็จ พร้อมอ่านทวนและปรับแก้เป็นต้นฉบับให้สมบูรณ์

Photo: https://sites.utexas.edu/ransomcentermagazine/2016/06/15/taking-note-of-the-kazuo-ishiguro-archive/

ส่วนที่สองคือนำต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือมาพิมพ์ลงบนคอมพิวเตอร์เพื่อส่งไปยังสำนักพิมพ์ สำหรับอิชิงุโระแล้ว ถ้าไม่นับการค้นคว้าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์มีบทบาทต่อการเขียนงานของเขาเพียงเท่านี้

หากก้มดูบริเวณใต้โต๊ะที่อิชิงุโระใช้นั่งเขียนงานเป็นประจำ จะเห็นกล่องลังเหลือใช้วางอยู่ มันคือถังขยะที่เขาตั้งใจเอาไว้ทิ้งแผ่นกระดาษระหว่างเขียนนิยาย บางแผ่นเป็นซากความพยายามที่ไร้ผลเพราะว่าเอาไปใช้ในงานเขียนจริงไม่ได้ บางแผ่นคือฉบับร่างที่นำไปเขียนเป็นเรื่องราวเรียบร้อยแล้ว เขาไม่เคยสนใจว่าตัวเองทิ้งอะไรลงไปในกล่องลังนั้นบ้าง จนกระทั่งถึงวันที่ต้องจัดห้อง

Photo: https://sites.utexas.edu/ransomcentermagazine/2016/06/15/taking-note-of-the-kazuo-ishiguro-archive/

อิชิงุโระจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเอากล่องนี้มาวางตั้งแต่เมื่อไหร่ เมื่อหยิบขึ้นมาดู กระดาษในกล่องกลายเป็นของมีค่าทันที เพราะทำให้ระลึกถึงความหลังเสมือนบันทึกส่วนตัวตลอดเวลาที่ผ่านมา แน่นอน อิชิงุโระทิ้งกระดาษเหล่านั้นไม่ลง แสดงให้เห็นว่าความทรงจำยังคงเป็นสิ่งล้ำค่าในสายตาของเขาไม่เปลี่ยนแปลง

ความทรงจำสร้างความสำเร็จให้อิชิงุโระอย่างไร้ข้อกังขา ผลงานนิยายของเขาถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 50 ภาษา นิตยสารไทม์ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งใน 50 นักเขียนชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1945 อิชิงุโระได้รางวัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากหลายประเทศ เพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะนักเขียนผู้สร้างคุณูปการต่อแวดวงวรรณกรรมโลก รวมถึงรางวัลโนเบล ซึ่งมีความหมายสูงสุดในชีวิตเขา

Photo: Jonathan Nackstrand / AFP

ใบประกาศเกียรติคุณจากรางวัลโนเบลที่อิชิงุโระได้รับ ยกย่องเขาว่าเป็นนักเขียนผู้ประพันธ์นิยายที่เปี่ยมด้วยพลังทางอารมณ์ เพราะนิยายของอิชิงุโระ คือความลุ่มลึกที่ใคร่ครวญถึงชีวิตแบบวรรณกรรมญี่ปุ่น ซึ่งถ่ายทอดโดยใช้วรรณศิลป์แบบวรรณกรรมอังกฤษ แต่ละบทตอนฉายภาพให้เห็นความทุกข์ตรมที่ไร้หยดน้ำตาและการฟูมฟาย เป็นความเจ็บปวดในรูปความทรงจำที่สถิตอยู่ในก้นบึ้งของใจไม่เปลี่ยนแปลง ตราบเท่าที่สำนึกยังสั่งให้ระลึกถึง

ความจริงของชีวิตก็เป็นเช่นนั้นไม่ผิดเพี้ยน เพราะเราทุกคนต่างมีความหลังที่ไม่อยากจำ และเรื่องแต่งของอิชิงุโระก็เผยให้เห็นความจริงแท้ข้อนี้ของชีวิตไว้อย่างตราตรึงใจ

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของ คะซึโอะ อิชิงุโระ

The Remains of the Day (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 1989)
เถ้าถ่านแห่งวารวัน (ฉบับภาษาไทย โดย แพรวสำนักพิมพ์)
นิยายกลิ่นอายวรรณคดีอังกฤษยุคเก่า ซึ่งได้รับรางวัล Booker Prize ในปี 1989 ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘สตีเฟนส์’ หัวหน้าพ่อบ้านแห่งปราสาทดาร์ลิงตัน ผู้เผชิญความจริงอันเจ็บปวดขณะหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่เขาทำงานรับใช้เจ้านายด้วยความซื่อตรง จงรักภักดี และอุทิศตนโดยไม่คำนึงถึงชีวิตส่วนตัว ทำให้เขาสูญเสียสิ่งสำคัญหลายอย่างจากผลพวงของมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะความรัก ในซอกมุมแห่งความทรงจำนั้นเอง เขาเริ่มรู้สึกเคลือบแคลงความศรัทธาของตนที่มีต่อชายที่เขารับใช้

Never Let Me Go (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2005)
แผลลึก หัวใจสลาย (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์เอิร์นเนสต์)
บอกเล่าเรื่องราวผ่านการบรรยายและย้อนทวนความหลังของ ‘แคธี เอช.’ หญิงสาววัย 31 ปี สมัยยังร่ำเรียนในเฮลแชม สถานศึกษาที่ซุกซ่อนความลับดำมืดไว้มากมาย พร้อมกับมิตรภาพ ความรัก ความสัมพันธ์ และชะตากรรมที่ก่อตัวขึ้นภายในกลุ่มนักเรียนประจำ การเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำนี้ จึงไม่ใช่แค่การคลี่กางอดีตออกมาให้เห็นตรงหน้าอีกครั้ง แต่เป็นบททดสอบความเปราะบางในห้วงอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งบีบคั้นและสั่นสะเทือนใจ นิตยสารไทม์ยกย่องให้เป็นนิยายดีที่สุดในรอบทศวรรษ

Klara and the Sun (ตีพิมพ์ครั้งแรก ปี 2021)
นิยายเล่มแรกหลังจากได้รับรางวัลโนเบล นำเสนอเนื้อเรื่องผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และความรู้สึกลุ่มลึกอย่างมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านมุมมองของ ‘คลาร่า’ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ผู้เฝ้าสังเกตและพยายามทำความเข้าใจมนุษย์รายรอบตัวท่ามกลางปัญหาสังคมในโลกอนาคต จนรับรู้อารมณ์และเข้าถึงความต้องการของมนุษย์ได้ หน้าที่สำคัญของเธอคือคอยเป็นเพื่อนคลายเหงาให้วัยรุ่นผู้หญิงครอบครัวหนึ่ง แต่ก่อนจะเริ่มทำหน้าที่นี้ เธอกลับได้รับคำเตือนว่า อย่าลงเชื่อคำสัญญาของมนุษย์

 

อ้างอิง