“เคยคิดบ้างไหมว่าเราอาจเป็นแค่สมองในอ่าง?”
หลายคนเมื่อได้ยินคำถามนี้คงจะชะงัก งุนงง และพ่วงมาด้วยคำถามว่า “คนถามมันเป็นบ้าอะไร” เพราะปกติแล้วก็คงไม่มีมนุษย์ประหลาดคนไหนเดินมาแล้วโยนคำถามพิลึกๆ ประเภทนี้ใส่คุณแน่ๆ นี่ไม่ใช่คำถามปกติเช่นเดียวกับคำถามที่ว่าวันนี้กินข้าวกับอะไร และยิ่งไม่ใช่คำถามที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ทำไมเหล่านักปรัชญาถึงครุ่นคิดเกี่ยวกับมันเหลือเกิน
ถูกต้อง ปัญหาเรื่อง ‘สมองในอ่าง’ (Brain in a Vat: BIV) คือการทดลองความคิดทางปรัชญาที่โด่งดังและยังคงเป็นที่ถกเถียงมาจวบจนปัจจุบัน ถึงตรงนี้คงเริ่มสงสัยแล้วว่าการเป็นสมองในอ่างคืออะไรกันแน่ แล้วคนจำพวกไหนที่ช่างสรรหาคำถามประหลาดๆ ใส่หัว ทั้งที่ลำพังการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็เหนื่อยเต็มกลืน หรือแท้จริงแล้วปัญหาสมองในอ่างนั้นสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์เรามากกว่าที่คิด
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อนักปรัชญาชาวอเมริกานามว่า ฮิลารี พัตนัม (Hilary Putnam)ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า Reason, Truth, and History (1981) ขึ้นมา โดยพัตนัมชวนให้เราลองจินตนาการดูว่า
‘จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราถูกผ่าหัวควักสมองออกไป โดยที่สมองของเรานั้นถูกนักวิทยาศาสตร์ผู้ชั่วร้ายยกไปใส่ไว้ในอ่างที่มีสารอาหารหล่อเลี้ยง แล้วเชื่อมต่อปลายประสาทเข้ากับสุดยอดคอมพิวเตอร์ การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าทำให้เจ้าก้อนสมองที่เคยเป็นของเราเกิดความรู้สึกว่ามันมีชีวิตอย่างปกติท่ามกลางโลกภายนอก มันเชื่อว่าทุกสิ่งที่รับรู้และสัมผัสไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า ผืนดิน วัตถุ หรือผู้คนโดยรอบต่างก็เป็นความจริงโดยสมบูรณ์ ทว่าความเป็นจริงแล้วมันก็เป็นแค่ก้อนสมองที่ถูกกระตุ้นโดยสุดยอดคอมพิวเตอร์เท่านั้น’
ฟังแล้วช่างคล้ายกับพล็อตหนังวิทยาศาสตร์หรือหนังไซไฟยุคดิสโทเปีย แต่ใครจะรู้ บางทีเราอาจจะเป็นสมองก้อนนั้นอยู่ก็ได้ คุณจะแน่ใจได้ยังไงว่าโลกที่อยู่ตอนนี้เป็นของจริงและคุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่จริง คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตอนนี้คุณไม่ได้ถูกเจ้าสุดยอดคอมพิวเตอร์โปรแกรมให้คุณคิดไปเองว่ากำลังอ่านบทความนี้อยู่
อย่างไรก็ตาม การทดลองทางความคิดด้วยการจินตนาการถึงสมองในอ่างของพัตนัมก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ปัญหาสมองในอ่างถูกมองว่าเป็นการหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 อย่าง เรอเน เดส์การ์ตส์ (René Descartes) มาขยายซ้ำ
จากเดิมเดสการ์ดได้เสนอไว้ในงานเขียน In Meditations on First Philosophy (1641) ผ่านการทดลองทางความคิดเรื่อง ปีศาจที่ชาญฉลาด (Evil Genius) จนสรุปได้ความว่า มันอาจจะมีปีศาจที่ชั่วร้ายและทรงพลานุภาพตนหนึ่งมาคอยหลอกหลอนผู้คนให้หลงเชื่อหรือเข้าใจในสิ่งที่ผิด อาทิ สมมติฐานเรื่อง Dream Argument ที่อธิบายว่าปีศาจตนนั้นได้หลอกเดส์การ์ตส์ว่าเขากำลังนั่งผิงไฟอยู่หน้าเตาผิงแต่ความเป็นจริงแล้วเขากำลังหลับฝันอยู่ หรือแม้แต่ความจริงทางเรขาคณิตและคณิตศาสตร์ เราก็ยังอาจถูกหลอกโดยปีศาจให้หลงเชื่อไปเองว่ามุมภายในของสามเหลี่ยมรวมกันได้เท่ากับหนึ่งร้อยแปดสิบองศา
เห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างพัตนัมและเดสการ์ดก็คือการที่ข้อเสนอของพัตนัมจะมีความทันสมัยและเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มากกว่า โดยประเด็นหลักยังคงอยู่ในความเป็นไปได้ว่ามันอาจมีปีศาจ นักวิทยาศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์ หรืออะไรก็ตามที่ชั่วร้ายและทรงพลังมาหลอกลวงให้เราหลงผิด
ซึ่งหากคุณบังเอิญเป็นสมองในอ่างนั้นก็ถือเป็นฝันร้ายเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ทุกรูป รส กลิ่น เสียง และผัสสะทั้งหมด ท้องฟ้าทุกเฉดที่เคยเห็น ระดับความเผ็ดของกะเพราไก่ทุกร้านที่เคยสัมผัส ทุกความสัมพันธ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และแม้แต่ความรู้สึกยามที่คุณกำลังอ่านบทความนี้จะไม่ใช่ความจริง หากแต่เป็นเพียงคำสั่งการจากสุดยอดคอมพิวเตอร์ที่ส่งตรงมายังก้อนสมองและหลอกให้หลงผิดไปว่ามันมีชีวิตและกำลังทำสิ่งต่างๆ อยู่จริงๆ เท่านั้น ดังการทดลองความคิดด้วยประโยคทางตรรกะ ความว่า
- ถ้าคุณรู้อะไรเกี่ยวกับโลกภายนอก (เช่น พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก) คุณก็จะรู้ว่าตนเองไม่ใช่สมองในอ่าง
- คุณไม่รู้ว่าคุณไม่ใช่สมองในอ่าง
- ดังนั้น คุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกภายนอกเลย
ก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะเราไม่ใช่สมองในอ่างนี่!
คุณอาจจะโต้แย้งหรือยืนยันอย่างหนักแน่นว่าคุณไม่ใช่สมองในอ่าง เพราะอย่างไรเสียคุณก็มีชีวิตอยู่จริงๆ กำลังงุนงงอยู่กับการอ่านบทความนี้จริงๆ และข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวกับฝุ่นควันจากท่อไอเสียในตอนเช้าก็เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณมีชีวิตอยู่จริงๆ แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่การโต้เถียงว่าคุณเป็นสมองในอ่างหรือไม่ ทว่าประเด็นคือคุณไม่มีทางที่มั่นใจได้เลยว่า ‘คุณเป็นหรือไม่เป็นสมองในอ่าง’ ต่างหาก!
เพียงมีความไม่แน่นอนนี้เกิดขึ้น ก็ไม่อาจยืนยันได้เลยว่าประสบการณ์ต่อโลกภายนอกทั้งหมดของคุณเป็นความจริง หากคุณยังไม่ยอมแพ้แล้วหยัดยืนว่าโลกที่ตนเห็นคือข้อพิสูจน์ว่าคุณไม่ใช่สมองในอ่าง เหล่านักปรัชญาก็จะมีหลักฐานที่มาสนับสนุนว่าบางทีเราก็เชื่อในสิ่งที่เห็นตรงหน้าไม่ได้เสมอไป ดังเห็นได้จากแนวคิดที่ขัดกับ สัจนิยมทางตรง (Direct Realism) แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรคือสัจนิยมทางตรง
แนวคิดสัจนิยมทางตรงก็คือทรรศนะที่คนทั่วไปใช้กันอยู่ในวิถีชีวิตปกติ นั่นคือ เมื่อเห็นสิ่งใด ก็เลือกเชื่อสิ่งนั้น เชื่อว่าทุกภาพที่รับรู้ผ่านดวงตาล้วนเป็นความจริงดังที่ภาพนั้นปรากฏ อาทิ หากมองเห็นขี้หมาเราก็จะเชื่อว่ามันคือขี้หมา กระนั้นแล้วแนวคิดที่เลือกเชื่ออะไรก็ตามที่ตาเห็นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ไม่น้อย เพราะก็ไม่ใช่ทุกภาพจะเป็นจริงดังที่ตาเห็น
เช่น ภาพการเอียงของหลอดดูดน้ำในแก้วน้ำ กล่าวคือแม้ว่าหลอดในแก้วน้ำนั้นจะเอียงแต่เราก็รู้ได้ว่าแท้จริงแล้วมันตรง หรือแม้แต่หยิบแว่นกันแดดมาใส่ ภาพของโลกที่ปรากฏก็แตกต่างไปแล้ว (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนสายตาสั้นหรือตาบอดสี) ดังนั้นเราจึงไม่อาจเชื่อในสิ่งที่เราเห็นได้ 100% ตราบใดที่มีความเป็นไปได้ว่าผัสสะอาจลวงให้ภาพที่ปรากฏผิดแปลกไปจากความเป็นจริง
ปัญหาสมองในอ่างก็เช่นกัน เมื่อสิ่งที่คุณเห็นอยู่ตำตายังไม่อาจเชื่อถือได้ เราก็ยิ่งไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าประสบการณ์ที่เรารับรู้ผ่านผัสสะจะเป็นจริง เพราะสะพานเชื่อมระหว่างผัสสะของเราและโลกภายนอกนั้นล้วนเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงชวนสงสัย สุดท้ายแล้วเราก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าเรามีชีวิตอยู่ในโลกภายนอกจริงๆ หรือเป็นแค่สมองในอ่างกันแน่
ยิ่งไปกว่านั้นคือพัตนัมได้เสนอว่าเจ้าสุดยอดคอมพิวเตอร์นั้นอาจชาญฉลาดมากจนสามารถหลอกให้ก้อนสมองรู้สึกว่าตนกำลังอ่านคำถามประหลาดๆ อย่างเรื่องสมองในอ่างและขบขันว่ามันไร้เหตุผลอยู่ก็ได้ หรือก็คือการที่คุณสงสัยว่า ‘ไอคนถามเรื่องสมองในอ่างมันเป็นบ้าอะไร’ ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ชวนประหวั่นพรั่นพรึงว่า คุณเองนั่นแหละที่เป็นสมองในอ่างใบนั้น
ถ้าคิดว่านี่มันบ้าไปแล้ว พัตนัมยังจะทำให้ตกใจขึ้นไปอีกเมื่อเขาชวนให้ลองจินตนาการว่า ‘มนุษย์ทุกคนหรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดก็อาจเป็นสมองในอ่างที่ถูกนักวิทยาศาสตร์ผู้ชั่วร้ายจับมาวางไว้ หรือบางทีหากว่านี่เป็นช่วงกำเนิดจักรวาลและผู้ดูแลเหล่าก้อนสมองในอ่างทั้งหลายนี้ก็อาจเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีการตั้งโปรแกรมให้ทุกคนเห็นภาพหลอนร่วมกัน’ เท่ากับว่าโลกทั้งใบของเราก็เป็นแค่ภาพหลอนที่ถูกโปรแกรมขึ้นมาและไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น
ขอสรุปนี้ช่างไม่ชวนอภิรมย์เอาซะเลย ซึ่งก็แน่ล่ะ คงไม่มีใครอยากยอมรับว่าตัวเองเป็นสมองในอ่างและโลกที่เห็นทั้งหมดก็ไม่ใช่ความจริงหรอก หนำซ้ำนักปรัชญาผู้ริเริ่มตั้งคำถามนี้ก็ดูจะไม่ชอบใจกับตอนจบแบบนี้เสียด้วย แล้วพวกเขาจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร?
สวัสดี เจ้าผีร้ายวิมัตินิยม
คราวนี้เราลองมาทบทวนการแก้ปัญหาทางปรัชญากันบ้าง กลับมาที่เดส์การ์ตส์ แม้เขาจะมีสมมติฐานเรื่องปีศาจที่ แต่เขาก็ไม่ยินยอมที่จะปล่อยให้ปัญหานี้คงอยู่ต่อไปอย่างไร้ทางแก้ เดส์การ์ตส์เริ่มต้นปัญหาของเขาด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘วิมัตินิยม’ (skepticism) อันหมายถึง จุดยืนที่ตั้งข้อสงสัยกับความจริงและความรู้จนนำไปสู่ทรรศนะว่าเราไม่อาจแน่ใจในสิ่งใดได้ จากเดิมที่มนุษย์เลือกที่จะเชื่อในผัสสะของตน ตอนนี้แม้แต่ผัสสะก็ไม่อาจถือเป็นที่มาของความรู้ได้อีกแล้ว เพราะผัสสะสามารถลวงเราได้ อีกทั้งเราไม่อาจแยกแยะได้ว่าเรากำลังอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือความฝันเพราะปีศาจร้ายกำลังหลอกเราอยู่
ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมีความรู้ในอะไรได้เลย เมื่อทุกสิ่งมีแต่ความไม่แน่นอนเดส์การ์ตส์จึงพยายามหาทางออกจากมหาสมุทรวิมัตินิยม แล้วสร้างฐานแห่งความรู้ที่มั่นคงขึ้นมาใหม่โดยอาศัยวิธีการ คิดสงสัย (Methodic Doubt) นั่นเอง
สิ่งนี้คือการละทิ้งความเชื่อรูปแบบเดิมๆ และพยายามสงสัยในทุกสิ่งเพื่อตามหาฐานความรู้ที่มั่นคงแน่นอน เดส์การ์ตส์ตัดเอาความไม่แน่ใจทุกอย่างออกไป ไม่เว้นแม้แต่ความเชื่อที่มีความน่าคลางแคลงใจเพียงนิด หากมันมีโอกาสที่จะผิดก็จำต้องตัดทิ้งเสีย แม้โอกาสนั้นจะเป็นเพียง 1% ก็ตาม สุดท้ายแล้วความพยายามของเดส์การ์ตส์ก็สัมฤทธิผลเมื่อเขาค้นพบว่าท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกระแสธารอันไม่แน่นอนนี้ ยังมีอยู่หนึ่งสิ่งที่เป็นจริงอยู่แน่นอนนั่นคือ ‘การคิดสงสัย’ นำมาสู่ที่มาของประโยคอันโด่งดังในภาษาละตินความว่า “cogito ergo sum” หรือ “I think, therefore I am” (ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่) นั่นเอง แม้ปีศาจตนนี้จะสามารถหลอกเราได้ในเรื่องความฝันและผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ แต่ปีศาจตนนี้จะไม่มีทางมาหลอกให้เราสงสัยว่าตัวเรามีอยู่จริงหรือไม่ และเพราะเราสามารถสงสัยในความเป็นจริงของโลก เราจึงมีตัวตนและมีอยู่จริงในฐานะผู้คิด (ยิปปี้!)
อนิจจา การแก้เงื่อนที่ตนผูกของเดส์การ์ตส์ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับเสียทีเดียว เขามักถูกวิจารณ์ว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” เมื่อยังมีความเป็นไปได้ว่าจะมีปีศาจมาหลอกลวงให้เผลอคิดไปเองว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วตัวผู้คิดนั้นอาจไม่มีอยู่จริงก็ได้ ดูเหมือนว่าเราจะวนกลับมาที่ปัญหาสมองในอ่างอีกครั้งว่า สุดท้ายเราก็เป็นแค่ก้อนสมองไม่มีชีวิตที่ถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าจากคอมพิวเตอร์อยู่ดี
เดส์การ์ตส์ยังถูกวิจารณ์อีกว่าประโยค “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” เป็นเพียงการยืนยันว่ามีการคิดเกิดขึ้นเท่านั้นและไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปว่าตัวเรามีการดำรงอยู่ได้ อีกทั้งประโยคนี้ยังมีลักษณะของความเป็นปัจจุบันกาล หากเดส์การ์ตส์อ้างว่าการคิดของตนคือการยืนยันการดำรงอยู่ คำถามคือหากเราหยุดคิดไปชั่วขณะ นั่นยังจะเท่ากับว่าเราดำรงอยู่หรือไม่ ? กล่าวคือ การคิดเป็นเพียงห้วงขณะเดียวที่เราสามารถเกิด สำนึกรู้ในตน (self-consciousness) ขึ้นอย่างประเดี๋ยวประด๋าว ซึ่งไม่อาจเชื่อมต่อกับทั้งอดีตและอนาคตของตัวเอง กลายเป็นว่าเดส์การ์ตส์ได้เริ่มขุดหลุมลงไป แต่กลับหาทางขึ้นจากหลุมไม่ได้เสียอย่างนั้น
สรรพวุธของวิมัตินิยม และปัญหาอ่างที่พัตนัมไม่อาจแก้
เราลองหวนกลับมาดูเจ้าของปัญหาอย่างพัตนัมกันบ้าง รายนี้เองก็ไม่ต่างจากเดส์การ์ตส์เท่าไหร่ เพราะพัตนัมก็เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าสมองในอ่างไม่สามารถคิดได้ว่าตนคือสมองในอ่าง ดังนั้นเมื่อเราคิดว่าเราอาจเป็นสมองในอ่างได้เราจึงไม่ใช่สมองในอ่าง อย่างไรก็ตามปัญหาสมองในอ่างจะขยายไปไกลเกินกว่าวิธีการแก้ปัญหาของพัตนัมเสียแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมันก้าวไปสู่ประเด็นเรื่องความรู้ กล่าวคือเราจะมั่นใจว่าเรารู้อะไรได้อย่างไรถ้ายังมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจเป็นสมองในอ่าง
กล่าวได้ว่าจนถึงตอนนี้ ประตูผีร้ายวิมัตินิยมก็ยังไม่ถูกปิดลงแต่อย่างใด แน่นอนว่าสิ่งที่พวกวิมัตินิยมสร้างขึ้นได้แง้มบานประตูของความสงสัยใคร่รู้ ความไม่แน่นอนกลายมาเป็นความกระอักกระอ่วนเมื่อเราหาทางออกไม่ได้สักที แต่อย่างไรก็ตามวิมัตินิยมก็ไม่ได้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง จริงอยู่ที่วิมัตินิยมบางสำนักก็นำพาเราไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเราไม่อาจเข้าถึงความรู้ได้ แต่ก็ไม่ใช่วิมัตินิยมทุกสายที่เห็นด้วยกับข้อสรุปนั้น เราจึงไม่อาจทึกทักไปเองได้ว่าพวกวิมัตินิยมปฏิเสธความจริงและความรู้ทั้งหมด แต่ความพยายามของวิมัตินิยมคือการบอกว่าเราไม่อาจแน่ใจในอะไรได้ ซึ่งการออกมาป่าวประกาศว่าเราไม่อาจมั่นใจได้ว่าเราเป็นหรือไม่เป็นสมองในอ่างก็เป็นเรื่องมหาหินที่ยากจะแก้แล้ว ทั้งยังเป็นจุดแข็งที่ยากจะล้มอีกด้วย
หรือจริงๆ แล้วเราเป็นเหมือนภาพยนตร์ The Matrix?
(มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์)
The Matrix (1999) เพาะพันธุ์มนุษย์เหนือโลก 2199 คือภาพยนตร์ที่ฉายภาพการเป็นสมองในอ่างได้เป็นอย่างดี ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับโลกที่เครื่องจักรสามารถเอาชนะมนุษยชาติและจับมนุษย์มาเป็นทดลองด้วยการนำร่างมาเชื่อมต่อกับเครื่องกระตุ้นกระแสไฟฟ้าเพื่อนำมาเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงเครื่องจักร เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นเมื่อ ‘นีโอ’ ถูกปลุกขึ้นมาในคืนหนึ่ง และเกิดความสงสัยว่า Matrix คืออะไร ต่อมาเมื่อนีโอได้พบกับมอร์เฟียส เขาได้อธิบายว่า Matrix นั้นอยู่ในทุกที่ มันคือโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลวงเขาให้มืดบอดจากความจริงหรือเป็นเป็นเรือนจำขังจิตใจ
“คุณเป็นทาสคนหนึ่งนีโอ เหมือนคนอื่นคุณเกิดมาเพื่อถูกจองจำ เกิดมาในคุกที่คุณไม่สามารถสูดดม ลิ้มรส หรือสัมผัส” และเพื่อให้ความกระจ่างแก่นีโอมอร์เฟียสได้หยิบยาเม็ดสีฟ้าและแดงออกมา พร้อมกับให้นีโอเลือกเส้นทางที่เขาจะเผชิญต่อไปนี้ด้วยตัวของเขาเอง
“เลือกเม็ดสีฟ้า เรื่องทุกอย่างก็จบ คุณจะตื่นมาแล้วเชื่อในสิ่งที่คุณอยากเชื่อ ถ้าเลือกเม็ดสีแดงคุณจะอยู่ในแดนมหัศจรรย์ และผมจะให้คุณดูว่าโพรงกระต่ายมันลึกแค่ไหน”
สุดท้ายความอยากรู้อยากเห็นก็ชนะ นีโอตัดสินใจเลือกกินเม็ดสีแดงเพื่อค้นหาความจริง ทว่าภาพของความจริงที่เขาเห็นนั้นไม่ใช่แดนมหัศจรรย์ที่งดงามชวนฝัน นีโอตื่นขึ้นมาในแคปซูลที่มีขนาดพอดีตัว รอบข้างล้นทะลักไปด้วยน้ำเมือกและสายท่อระโยงระยางทั่วร่างกาย กล่าวได้ว่าสภาพของนีโอก็คือแบบจำลองของปัญหาสมองในอ่างนั่นเอง
และมันยังไม่ใช่แค่อ่างใบเดียว เพราะเมื่อนีโอมองออกไปรอบตัวแล้ว ทัศนียภาพสุดลูกหูลูกตาของเขาก็มีแต่แคปซูลที่บรรจุร่างของมนุษย์ที่หลับใหลลืมตื่นอยู่แน่นขนัด นีโอพลันตระหนักขึ้นมาว่าตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเขาไม่ว่าจะเป็นการจ่ายภาษี ประกันสังคม ท้องฟ้า แผ่นดิน หรือวัตถุใดที่เขาเคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ไม่เป็นความจริง ที่แท้แล้วเขาไม่เคยได้ใช้ชีวิตแต่กลับหลับฝันอยู่ในโลกแห่งความลวง แม้แต่ชื่อและอัตลักษณ์ของเขาก็ไม่เคยมีอยู่เลย ความจริงที่นีโอค้นพบคือสิ่งที่โหดร้ายจนบางทีการไม่ตื่นขึ้นมาอาจจะดีเสียกว่า
The Matrix คือภาพสะท้อนของการทดลองทางความคิดที่พัตนัมได้ฝังเมล็ดพันธุ์เอาไว้ โพรงกระต่ายที่เหล่าเครื่องจักรสร้างขึ้นมาสามารถลวงนีโอจนหลงคิดไปว่าเขาตื่นทั้งที่ยังฝันอยู่ หรือก็คือมนุษย์ไม่อาจแยกได้ว่าพวกเขากำลังตื่นหรือฝันไป อย่าลืมเสียว่าจุดแข็งของวิมัตินิยมก็คือการบอกว่าเราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าเราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างเป็นจริงหรือเป็นแค่สมองในอ่าง
ถ้าโชคดีโลกที่เราเห็นทั้งหมดก็อาจจะเป็นจริง และเราก็มีตัวตน เป็นมนุษย์ที่มีแขนขาสองตาหนึ่งจมูกจริงๆ แต่ถ้าโชคร้าย ไม่แน่เราก็อาจเป็นเหมือนใน The Matrix ที่ถูกเหล่าเครื่องจักรจับร่างยัดใส่แคปซูล แล้วต่อสายท่อเพื่อเอาเซลล์มาเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงพวกมันอีกทีหนึ่ง น่าเสียดายที่ตอนนี้เราไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ อีกทั้งยังไม่อาจปฏิเสธทรรศนะแบบวิมัตินิยมที่ว่าเรามีโอกาสที่จะเป็นเหมือนกับนีโออีกด้วย
แล้วเราจะหลุดออกจากอ่างได้อย่างไร?
คำตอบคือเราไม่มีทางรู้ และดูเหมือนว่าการเป็นสมองในอ่างก็ดูทวีความเป็นไปได้ขึ้นทุกทีในอนาคต นิค โบสตรอม (Nick Bostrom) นักปรัชญาชาวสวีเดนเสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่อารยธรรมของมนุษย์ในอนาคตจะพัฒนาจนคอมพิวเตอร์สามารถจำลองโลกเสมือนจริงขึ้นมา จำลองสมองของมนุษย์ขึ้นมา ทั้งยังทำให้สมองจำลองนั้นอาศัยอยู่ในโลกเสมือนได้อีกด้วย ราวกับตัวละครในเกม SimCity
ทีนี้มองกลับกัน เราก็จะพบว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะเป็นเจ้าสมองจำลองในโลกเสมือนตัวนั้น ! เพราะเพียงคอมพิวเตอร์เล็กๆ เครื่องเดียว ก็จะสามารถสร้างโลกเสมือนและสมองจำลองขึ้นมาได้นับล้านเท่ากับว่าเรามีโลกและสมองจริงเพียงหนึ่ง แต่จะมีโลกและสมองที่ถูกจำลองขึ้นนับอนันต์ เทียบจำนวนแล้วก็คงไม่ต้องคิดเลยว่าความเป็นไปได้ที่เราจะอยู่ในโลกความจริงหรือโลกเสมือนอย่างไหนจะมากกว่ากัน
ที่น่ากังวลก็คือเจ้าสมองชีวภาพซึ่งเป็นของจริงไม่มีทางแยกออกว่าตอนนี้มันอยู่ในโลกแห่งความจริงหรือโลกเสมือน และไม่ว่าจะเป็นสมองจริงหรือสมองจำลองพวกมันต่างก็คิดว่ามันเป็นสมองชีวภาพที่มีอยู่จริงทั้งคู่ ดังนั้นแล้ว โลกภายนอกที่เราอยู่ตอนนี้ก็อาจจะเป็นแค่โลกเสมือนที่ถูกจำลองขึ้นมาก็เป็นได้
การหาทางออกสำหรับปัญหาสมองในอ่างเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีมอร์เฟียสผู้หยิบยื่นยาเม็ดสีแดงให้เราตื่นจากฝัน อย่างไรก็ตามแม้แนวคิดวิมัตินิยมจะคอยตามหลอกหลอนแต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดระแวง เพราะแม้เราจะมีโอกาสที่จะเป็นสมองในอ่าง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ใช่สมองในอ่างด้วยเช่นกัน
ประโยชน์ของการตั้งคำถามถึงความจริงและความรู้ช่วยให้เราไม่หลงเชื่อไปกับอะไรง่ายๆ และคิดใคร่ครวญต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลมหาศาล
การตัดสินใจเลือกยาเม็ดสีฟ้าหรือแดงในทันทีก็อาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น ทางที่ดีเราควรผสมมันไปอย่างละครึ่งๆ เพื่อที่สุดท้ายหากคุณพบว่าตนเป็นสมองในอ่างก็จะได้ไม่ตื่นตกใจมาก หรือหากคุณไม่ใช่สมองในอ่าง คุณก็จะสามารถรักษาชีวิตและสมองชีวภาพของคุณเอาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ การมีทรรศนะอย่างพวกวิมัตินิยมจึงเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็ทำให้ได้หันมาตรวจสอบความรู้ที่มีอยู่ว่ามันน่าเชื่อถือจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องระลึกเสมอว่าการสงสัยอย่างสุดโต่งนั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องที่พึงกระทำ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเหมือน ไพโร (Pyrrho) นักปรัชญากรีกโบราณสายวิมัตินิยมสุดขั้วที่เลือกจะไม่เชื่ออะไรสักอย่างจนยอมก้าวเท้าของตัวเองดิ่งลงผา เพราะเขาไม่เชื่อในประสาทสัมผัสของตน และไม่เชื่อว่าข้างล่างจะเป็นผาจริงๆ
ยิ่งไปกว่านั้นการตกหน้าผาก็อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายก็ได้ (เคราะห์ดีที่เขามีมิตรสหายมาคอยขัดขวางไม่ให้ดิ่งพสุธาสำเร็จ) ซึ่งในกรณีนี้หากคุณดำเนินรอยตามตำนานของไพโร ความหายนะก็จะเกิดขึ้นถ้าคุณบังเอิญไม่ได้เป็นสมองในอ่าง
ทั้งนี้ การพิสูจน์การมีอยู่ของโลกภายนอกของนักปรัชญานาม จี. อี. มัวร์ (G. E. Moore) อาจทำให้เราสบายใจมากขึ้น โดยมัวร์ได้เสนอทรรศนะว่าโลกภายนอกนั้นมีอยู่จริงผ่านงานเขียนที่มีชื่อว่า Proof of an External World (1939)
ข้อพิสูจน์นั้นง่ายมาก เพียงแค่เรายกมือขึ้นมาแล้วพบว่า “นี่คือมือข้างที่หนึ่ง และนี่ก็คือมือข้างที่เหลือ” (Here is one hand, and here is another.) และหากเราเห็นมือสองข้างนี้ ก็เท่ากับเป็นการพิสูจน์แล้วว่าโลกภายนอกมีอยู่จริง แม้ข้อเสนอนี้จะฟังดูกำปั้นทุบดินไปสักนิด แต่มันก็พอจะปลอบประโลมจิตใจของเราจากความไม่แน่นอนของวิมัตินิยมได้บ้าง ว่าอย่างน้อยมือที่กำลังจรดแป้นพิมพ์ข้อความเหล่านี้มีอยู่จริง
สุดท้ายแล้ว ตราบเท่าที่ชีวิตของเราไม่เกิดสถานการณ์ผิดปกติอย่างกรณีของนีโอ (เพราะคุณยังไม่ใช่ผู้ถูกเลือก) หรือหากยังไม่มีไฟสปอตไลท์ร่วงลงมาจากฟ้าเหมือนอย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show (1998) ที่เล่าเรื่องราวของ ‘ทรูแมน เบอร์แบงค์’ ชายที่ถูกเลี้ยงมาในสตูดีโอและหลงคิดว่าชีวิตของเขาเป็นเรื่องจริงทั้งที่มันคือการจัดฉาก กล่าวคือถ้าชีวิตของคุณยังไม่มีความผิดปกติใดเกิดขึ้น การใช้ชีวิตทางสายกลางก็อาจเป็นวิถีที่ดีเพียงแค่ในห้วงลึกหนึ่งเรายังตระหนักว่าตัวเองมีโอกาสเป็นสมองในอ่างและไม่ลืมที่จะตั้งคำถามและตรวจสอบความคิดนี่ก็นับเป็นทางออกที่ดีไม่น้อย คุณไม่จำเป็นที่จะต้องสุดโต่งเหมือนไพโร กอปรกับการหยุดตัวเองไม่ให้เชื่อทุกสิ่งอย่างหน้ามืดตามัว ก็จะทำให้คุณตระหนักและรู้ว่ามนุษย์นั้นรู้น้อยมากเพียงใด
ดังนั้นการตั้งคำถามประหลาดๆ ที่ชวนพิลึกพิลั่นก็นับเป็นความจำเป็นที่จะช่วยให้อย่างน้อยเราก็จะได้รู้ว่าเราไม่รู้อะไร แล้วจะขยับเข้าใกล้ความรู้ได้อย่างไร
อ้างอิง
- โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. (2562). ปรัชญาทั่วไป.กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- เบน ดูเปร่. (2556). 50 เรื่องจากความไม่เป็นเรื่อง (อู่ทอง โฆวินทะ และอุกฤษณ์ แพทย์น้อย, แปล), กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
- ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา: ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา (ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร, แปล), กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป.
- พิสิษฐิกุล แก้วงาม. (2564). The Matrix: ไซเบอร์พังค์ มหาบุรุษ ถ้ำของเพลโต้ และการกลับมา. https://bit.ly/3qCFmvN
- Tawan Manakul. (2560). หรือจริงๆ แล้วเราอยู่ในเกม? : เมื่อโลกอาจเป็นเพียงภาพจำลองในคอมพิวเตอร์. https://bit.ly/43MdnZw
- Watchman. (2564). The Matrix: โลกความจริง ห้วงความฝัน ภายในเม็ดยาสีแดงและน้ำเงิน. https://bit.ly/3XcJuir
- The Wachowskis. (1999). The Matrix. Warner Bros. Entertainment.
- Lance P. Hickey. (n.d.). The Brain in a Vat Argument. https://bit.ly/43I40tP
- Putnam, Hilary. (1982). Reason, Truth and History. Cambridge: Cambridge University Press.
- Moore, G. E. (1939). Proof of an external world. Epistemology: An Anthology, 24-26.