2+2=4
อาจเป็นหนึ่งในสมการแรกๆ ของชีวิต ที่ใครหลายๆ คนเริ่มรู้จัก มันคือความจริงทางคณิตศาสตร์เชิงประจักษ์ที่ได้รับการยอมรับและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คุณอาจเชื่อเช่นนั้น เพราะมันไม่มีทางที่จะเปลี่ยนเป็นอื่นได้
แต่ถ้าวันหนึ่งความเชื่อของคุณกลายเป็นความผิดแปลกล่ะ หากคุณตื่นขึ้นมาในโลกที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 2+2=5 และไม่ว่าคุณจะส่ายหัวปฏิเสธหรือพยายามพูดโน้มน้าวอย่างไร ก็ไม่มีใครเชื่ออีกแล้วว่า 2+2=4 หนำซ้ำยังโดนมองด้วยสายตาแปลกๆ
ในโลกที่ความจริงเชิงประจักษ์บิดเบี้ยวเช่นนี้ ชีวิตและความเชื่อของคุณจะอยู่ตรงไหนในสังคม?
‘โอชันเนีย’ รัฐที่ 2+2=5
(มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของวรรณกรรม 1984)
คุณอาจโต้แย้งว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ 2+2=5 แต่สมการที่ดูผิดเพี้ยนนี้ กลับได้รับการยอมรับอย่างหนักแน่นในรัฐสมมุติรัฐหนึ่ง ชื่อว่า ‘โอชันเนีย’ (Oceania) ซึ่งปรากฏในวรรณกรรมคลาสสิกชื่อดังเรื่อง Nineteen Eighty-Four หรือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)
โอชันเนียคือตัวอย่างของรัฐที่ปกครองด้วย ‘ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ’ (Totalitarianism) จนผู้คนไม่อาจพูดได้ว่า 2+2=4
เรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าผ่านมุมมองของ ‘วินสตัน สมิธ’ ชายหัวขบถที่ตั้งคำถามต่อระบอบดังกล่าว เขาบรรยายให้เห็นสภาพของโอชันเนียที่เต็มไปด้วยการลิดรอนเสรีภาพและควบคุมประชาชน โดยเฉพาะการควบคุมทางจิตใจโดยตำรวจทางความคิดในคราบเจ้าหน้าที่รัฐฯ ซึ่งคนพวกนี้สามารถทำให้คุณกลายเป็นบุคคลสาบสูญได้ในฐานะผู้ก่อ ‘อาชญากรรมทางความคิด’ (Thoughtcrime) หากคุณเคลือบแคลงใจสงสัยในตัวผู้นำแม้เพียงนิดเดียว
ทางเดียวที่คุณจะไม่เป็นผู้ก่ออาชญากรรมทางความคิดคือกังขังความสงสัยไม่ให้โลดแล่นออกไป มากไปกว่านั้น คุณจะต้อง ‘คิดสองชั้น’ (doublethink) ซึ่งเป็นการกลับดำเป็นขาว กลับขาวเป็นดำ อะไรที่พรรคบอกว่าคุณควรเชื่อ ก็จะต้องเชื่ออย่างถือมั่น อะไรที่พรรคบอกว่าไม่ควรเชื่อ ก็ต้องปฏิเสธสิ่งนั้น แม้ว่าความจริงจะประจักษ์ต่อหน้าก็ตาม นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไม 2+2 ถึงไม่เท่ากับ 4 เสมอไป
ไม่เพียงเท่านั้น ตามสถานที่ต่างๆ ของรัฐ มักปรากฏภาพของ พี่เบิ้ม (Big Brother) ผู้นำที่ประชาชนพร้อมปวารณาตนอย่างภักดีพร้อมกับข้อความใต้ภาพความว่า
“พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ”
(Big Brother is watching you)
ต้องขอบคุณสำนวนการแปลของของ รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ (ใน หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ 1984 ฉบับภาษาไทย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ) ที่สามารถคงความหมายจากต้นฉบับและสื่อความได้อย่างทรงพลัง การจับตาของพี่เบิ้มสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ปกครองสามารถสอดส่องประชาชนได้ทุกขณะของชีวิตไม่ว่าจะยามตื่นหรือยามนอน ดังที่วินสตันมักหวาดระแวงอยู่เสมอว่า เขาจะเผลอละเมอพูดอะไรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงออกไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นยามที่คุณไม่รู้ตัวและควบคุมไม่ได้
เรื่องตลกร้ายคือเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพี่เบิ้มมีอยู่จริงหรือไม่ แม้เขาจะจ้องมองคุณจากทุกที่ ทว่าหากคุณไม่สยบยอมเป็นผู้ภักดี ผลลัพธ์สุดท้ายคือต้องชดใช้ด้วยชีวิต คุณจะหายไปเหมือนไม่เคยมีตัวตนมาก่อน (หรือที่โอชันเนียเรียกว่า อบุคคล) เพราะประวัติศาสตร์และความจริงถูกควบคุมโดยพรรค หากพรรคปรารถนาให้คุณไม่มีตัวตน อดีตของคุณย่อมถูกลบหายไปตลอดกาล เนื่องด้วยโอชันเนียสามารถแก้ไขอดีตให้ทันสมัยได้เสมอ ดั่งคำขวัญของพรรคที่ว่า ‘ผู้ควบคุมอดีต ย่อมควบคุมอนาคต: ผู้ควบคุมปัจจุบันย่อมควบคุมอดีต’
“ท้ายที่สุด พรรคจะประกาศว่าสองบวกสองเป็นห้า และเราก็ต้องเชื่อ…
เพราะตรรกะพรรคจะสั่งการเช่นนั้น
ปรัชญาพรรคจะปฏิเสธประสบการณ์มนุษย์โดยปริยาย
ปฏิเสธกระทั่งความจริงภายนอกที่แลเห็นได้”
(หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ 1984, หน้า 132)
การเซนเซอร์อดีตให้สอดคล้องกับปัจจุบันเกิดขึ้นภายใต้หน่วยงานที่เรียกว่า กระทรวงความจริง (Ministry of Truth) ซึ่งวินสตันเองก็เป็นเจ้าหน้าที่ในกระทรวงดังกล่าว ถ้าพรรคสามารถควบคุมอดีตได้ หนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่ม สารนิพนธ์ทุกฉบับ หรือแม้แต่นวนิยายทุกประเภท ก็ล้วนแต่พูดถึงเรื่องเดียวกัน ที่ไม่ว่าพี่เบิ้มจะคาดการณ์สิ่งใด สิ่งนั้นก็จะถูกเสมอตลอดกาล ตั้งแต่ตัวเลขผลผลิตรองเท้าบู๊ตไปจนถึงคำทำนายผลสงคราม
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน ผนวกกับการคิดสองชั้นที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจลืมอดีตทุกอย่างทันทีตามความต้องการของพรรค นั่นเท่ากับว่าอดีตทั้งหมดและความเป็นไปของโลกภายนอกล้วนอยู่ที่การควบคุมของพี่เบิ้มอย่างเบ็ดเสร็จ
คุณจะหาหลักฐานอะไรมายืนยันว่า 2+2=4 ในเมื่อมันไม่เคยถูกบันทึกไว้แต่แรก?
คุณจะจดจำว่า 2+2=4 ได้อย่างไร หากจิตใจของคุณถูกควบคุมโดยพรรค?
อย่างไรก็ตาม แม้วินสตันจะสามารถเกิดสำนึกรู้และคิดจะต่อต้านล้มล้างเผด็จการ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกจับโดย ‘โอไบรอัน’ ชายที่เป็นเสมือนความหวังของวินสตันมาโดยตลอด
โอไบรอันคือตัวแทนของผู้คนทั่วไปในสังคมที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต ทว่ากลับทำหน้าที่ดักจับผู้ก่ออาชญากรรมทางความคิดอย่างแนบเนียน เขาอาจแทรกตัวเยี่ยงคนธรรมดา อาจเป็นเพื่อนร่วมงาม ป้าข้างบ้าน หรือพวกพ้องที่คุณสนิทและรู้สึกไว้วางใจพอที่จะแชร์เรื่องราวต่างๆ อย่างสนิทใจ ซึ่งกลไกรักษาความมั่นคงเช่นนี้ ทรงประสิทธิภาพและอันตรายกว่าพี่เบิ้มเสียอีก พวกเขาจะเข้ามาร่วมสนทนา กล่าวชื่นชมอุดมการณ์ของคุณ ทำให้คุณมีความหวัง ก่อนบดขยี้มันเป็นผุยผง
วินสตันถูกล้างสมองโดยมีโอไบรอันตามติดทุกกระบวนการ เทคโนโลยีสำหรับสร้างความเจ็บปวดถูกนำมาใช้เพื่อทำลายการคิดและเสรีภาพของผู้คน วินสตันถูกทรมานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รับสารภาพความผิดร้ายแรงที่เขาไม่ได้ก่อ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่โอไบรอันยกมือขึ้น เขากางนิ้วทั้งสี่และถามวิลสตันว่า
“ผมชูกี่นิ้ว วินสตัน”
“สี่”
“แล้วถ้าพรรคบอกว่าไม่ใช่สี่แต่เป็นห้านิ้ว มันเป็นกี่นิ้ว”
(หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ 1984, หน้า 323)
สุดท้ายวินสตันก็ไม่อาจพูดได้ว่า 2+2=4 เขายอมรับแต่โดยดีว่า 2+2=5 เมื่อทนรับทัณฑ์ทรมานจากกระทรวงความรัก (Ministry of Love) ไม่ไหว เป็นเรื่องตลกร้ายที่กระทรวงซึ่งมีขึ้นเพื่อใช้กักขังผู้เป็นภัยความมั่นคงของรัฐ กลับถูกตั้งชื่อให้ดูเปี่ยมเมตตา ตอนจบของวรรณกรรมคลาสสิกเล่มนี้คือคำพูดปิดท้ายชวนกระอักกระอ่วน เมื่อวินสตันยิ้มรับทั้งน้ำตาและกล่าวว่าเขารักพี่เบิ้ม
แม้ว่าจะถูกเขียนมาในบริบทยุคสงครามเย็นและย้ำเตือนความอันตรายของระบอบเผด็จการที่ทำให้ประชาชนสยบยอมโดยไม่ตั้งคำถาม แต่ 1984 ก็ยังคงถูกหยิบมากล่าวถึงอยู่เรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน
เราอาจโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในรัฐโอชันเนียที่ควบคุมตั้งแต่ภาษา ประวัติศาสตร์ และสื่อทุกประเภท แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐที่เราอยู่จะไม่เป็นเช่นนั้น? หรือบางทีเราอาจถูกจับตามองหรือควบคุมโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้
นี่คือความอัศจรรย์ของออร์เวลล์ ที่สามารถร้อยเรียงความคิดได้อย่างเฉียบคม แม้ตอนจบของวินสตันจะไม่น่าอภิรมย์นัก แต่คำทำนายของ 1984 จะย้ำเตือนให้เราระแวดระวังต่ออำนาจรัฐที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ในทุกอณูของชีวิต เพื่อไม่ให้เกิดการเอาผิดในฐานะผู้ก่ออาชญกรรมทางความคิด
หากประชาชนไม่สามารถรู้เท่าทัน ปัจเจกชนก็จะกลายเป็นเพียง ‘คนดี’ ที่ไร้จิตวิญญาณและมีความคิดอย่างที่รัฐต้องการ เมื่อถึงตอนนั้น รัฐโอชันเนียในหนังสืออาจกลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้
กล่าวได้ว่า หากเราอยู่ในสังคมที่ 2+2≠4 แต่ไม่อาจพูดได้ว่า 2+2=4 ก็มีความเป็นไปได้ว่าสังคมของเราคงไม่ต่างอะไรกับโอชันเนีย ดังนั้น เราจึงต้องสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถพูดได้ว่า 2+2=4 โดยไม่มีใครถูกลบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ดังที่บันทึกของวินสตันระบุไว้ว่า
“เสรีภาพ คือเสรีภาพที่จะพูดว่าสองบวกสองเป็นสี่
ถ้าทำสิ่งนี้สำเร็จ อย่างอื่นจะตามมา”
(หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ 1984, หน้า 133)
เราเชื่อคณิตศาสตร์ได้จริงหรือ ?
ก่อนหน้านี้เราได้คำตอบแล้วว่ารัฐที่ 2+2≠4 นั้นมีลักษณะอย่างไร สิ่งที่ต้องขบคิดต่อไปคือ แล้วจะเป็นไปได้ไหม? ที่ 2+2≠4
บางคนอาจตอบว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าอย่างไร 2+2 ก็จะต้องเท่ากับ 4 เสมอ เพราะมันเป็นสมการคณิตศาสตร์ที่แน่นอน (วินสตันก็คิดเช่นนี้ก่อนจะถูกล้างสมอง) กล่าวได้ว่า นี่คือการคิดภายใต้กรอบทาง ‘ตรรกะ’ (logique) ซึ่งหมายถึงแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงความคิดเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล หรือก็คือการเชื่อว่า 2+2=4 คือความจริงที่ถูกต้องตามหลักสมการ
เรามาลองท้าทายกรอบความคิดที่ว่านี้เสียหน่อย
เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยที่ชื่อว่า 2+2=4 and 2+2=5 in George Orwell’s 1984: A Reader-Response Analysis (2022) โดยนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ของสมการดังกล่าว ซึ่งไม่แน่ว่ามันอาจพลิกมุมมองของคุณไปตลอดกาลก็ได้
งานวิจัยที่ว่า ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของสมการ 2+2=4 และ 2+2=5 ในวรรณกรรม 1984 โดยจับคู่ผลลัพธ์ทั้งสองเข้ากับแนวคิด 2 ทฤษฎี
2+2=4 เป็นแนวคิดทางตรรกะ ส่วน 2+2=5 เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกัน นั่นคือ ‘วิภาษวิธี’ (dialectique) หมายถึงการนำบทเสนอที่มีเหตุผลแบบเดิม (Thesis) และบทคัดค้าน (Antithesis) มาหักล้างกัน กล่าวคือเป็นการนำความคิดที่อยู่ตรงกันข้ามมาหักล้างกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปหรือทางเลือกใหม่ และผลที่ได้จากข้อสรุปนั้น ก็จะถูกท้าทายโดยบทแย้งที่ตรงข้ามแบบอื่นต่อไป เป็นเช่นนี้ไม่สิ้นสุด
การคิดแบบวิภาษวิธีจึงโอบรับความขัดแย้งในมุมมองที่ก้าวหน้าและมีพลวัต ซึ่งเป็นการยอมรับว่า 2+2=5 ได้นั่นเอง
สมการนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของ สัมพัทธนิยม (Relativism) ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าความจริงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่แนวคิดทางตรรกะของ 2+2=4 จะมีความเป็นบรรทัดฐานตามรูปแบบของการใช้เหตุผล ซึ่งจะกีดกันจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด
จนถึงตอนนี้คุณอาจโต้แย้งว่า ไม่ว่าอย่างไรคณิตศาสตร์ก็เป็นจริงอยู่ดี เพราะมันเป็นวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่เป็นหลักเหตุผลที่สุด ทว่ามันจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?
แน่นอนว่าโลกของเราทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ก็เป็นคลังสมบัติทางปัญญาของมวลมนุษยชาติ แต่อย่าได้ลืมว่าแท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์คือสิ่งที่สัมพันธ์อยู่กับสัมพัทธนิยมอยู่ไม่น้อย ดั่งที่นักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย-อังกฤษ คาร์ล ปอมเปอร์ (Karl Popper) เคยเสนอไว้ในงานเขียน La logique de la découverte scientifique (1973) ซึ่งสามารถสรุปความได้ว่า
“วิทยาศาสตร์นั้นมิได้ตั้งมั่นอยู่บนฐานที่เป็นหินแกร่งแต่อย่างใด กลับกันทฤษฎีต่างๆ ล้วนถูกสร้างอยู่บนเสาค้ำที่ถูกตอกเข้าไปในหนองน้ำ ซึ่งมันไม่ได้ทะลวงไปถึงฐานรากของธรรมชาติที่มั่นคง แต่ที่เราหยุดหรือไม่ผลักเจ้าเสาค้ำอันนี้ลงไปอีกนั่นก็เพราะเรามั่นใจว่าทฤษฎีของเราแข็งแกร่งพอชั่วคราว”
จริงอยู่ที่วิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ในเชิงประจักษ์ แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าข้อสรุปที่ได้จากการทดลองที่สังเกตการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะถูกต้องและเป็นจริงเสมอไป ดังนั้น โลกคู่ขนานระหว่างความจริงสัมบูรณ์ของวิทยาศาสตร์ (2+2=4) และโลกของความจริงเชิงสัมพัทธ์ (2+2=5) ใน 1984 อาจได้รับการตีความใหม่
แน่นอนว่า 2+2=5 ในความหมายของการลิดรอนเสรีภาพนั่น เป็นฝันร้ายที่เราไม่อยากให้เป็นจริง ทว่าในอีกมุมหนึ่ง มันก็เป็นภาพแสดงของความใจกว้าง และการเปิดประตูโอบรับความเป็นไปได้อื่นๆ แม้แต่ในสมการคณิตศาสตร์ที่ดูจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือก็คือการหาความเป็นไปได้ของ 2+2≠4 นั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพียงแต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้มันกลายเป็นเครื่องมือที่มุ่งธำรงรักษาอำนาจแก่คนบางกลุ่ม
เรื่องสมมติที่เกิดขึ้นจริง
แม้ว่าแนวคิดคิดเรื่อง 2+2=5 ใน 1984 จะฟังดูเป็นนามธรรม แต่สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วในโลกสหภาพโซเวียสภายใต้การปกครองของ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)
ในช่วงการปรับปรุงเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1928 ถึง 1932 แผนพัฒนาฉบับห้าปีฉบับแรก (The First Five-Year Plan) คือเป้าหมายสำคัญที่สตาลินต้องการจะบรรลุ จนเกิดโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อสีแสบสันที่ปรากฏข้อความว่า ‘…2+2 บวกความกระตือรือร้นของแรงงาน =5’ (2+2 plus the enthusiasm of the workers=5)
สำหรับสตาลิน 2+2=5 เป็นเสียงโห่ร้องที่โอ้อวดว่าเป้าหมายของแผน 5 ปีแรกจะบรรลุก่อนกำหนดในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น สิ่งที่สตาลินทำคือการรวบรวมพื้นที่เพาะปลูกและสร้างอุตสาหกรรมหนักทั่วประเทศ ความหนักหนาของแผนที่เร่งรัดทำให้คนงานในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถทำงานให้บรรลุแผนได้จนถูกลงโทษอย่างรุนแรง อีกทั้งผลพวงของแผนพัฒนาฉบับห้าปีฉบับแรกนี้ ยังส่งผลให้เกิดความอดอยากซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน
กล่าวได้ว่านี่คือแรงบันดาลใจของ 1984 ซึ่งต่อให้รัฐโอชันเนียจะไม่เคยปรากฏอยู่บนแผนโลก แต่ปูมหลังของเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นผลึกจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง
มรดกจากนักปรัชญาและคำทำนายของออร์เวลล์ทิ้งมรดกบางประการแก่เรา นั่นคือการคิดและการขบถต่อสิ่งต่างๆ ที่ดูเหมือนจะธรรมดา สุดท้ายไม่ว่า 2+2 จะเท่าหรือไม่เท่ากับ 4 สิ่งสำคัญคือเราจะต้องสามารถพูดได้ว่ามันเท่าหรือไม่เท่าอย่างไร เพราะนี่คือเสรีภาพทางความคิดที่มนุษย์ทุกคนพึ่งมี แต่เมื่อใดที่คุณไม่อาจยกมือตั้งคำถามนั่นก็หมายความว่าคุณกำลังอยู่ในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ควบคุมแม้กระทั่งความคิด
ลองหันสายตาออกจากหน้าบทความแล้วสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวสิ
พี่เบิ้มกำลังจ้องมองคุณอยู่หรือเปล่า?
แล้วพี่เบิ้มที่คุณจินตนาการไว้หน้าตาเป็นแบบไหน?
บางทีในโลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยทุนนิยม พี่เบิ้มอาจกำลังสอดส่องคุณผ่านโฆษณาต่างๆ เพื่อชักจูงให้คุณมาเป็นสมาชิกลัทธิบริโภคนิยมอยู่ก็เป็นได้
สิ่งที่จะเกิดในโลกที่ 2+2≠4 ก็อาจเป็นรัฐโอชันเนียในยุคดิสโทเปีย หรือกระทั่งยูโทเปียที่ก้าวล้ำเกินกว่าภาษาคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน
เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่เราจะต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป
อ้างอิง
- ออร์เวลล์, จอร์จ. (2557). หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ 1984 (รัศมี เผ่าเหลืองทอง และอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์,แปล), กรุงเทพฯ: สมมติ.
- โชคชัย สุทธาเวศ. (2562). วิภาษวิธีของการ “อยู่ไม่เป็น” ในการสร้างสรรค์ประเทศไทย. https://bit.ly/4349OfV
- Mabandine DJAGRI TEMOUKALE and Nouhoun AMADOU. (2022). 2+2=4 and 2+2=5 in George Orwell’s 1984: A Reader-Response Analysis. https://bit.ly/3PyMkfV
- David Michael Newstead. (2017). 2+2=5. https://bit.ly/3r73x63