อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราในตอนนั้นมีสติและรู้วิธีรับมืออย่างถูกต้องหรือไม่
การปฐมพยาบาลคือข้อควรรู้ที่จะช่วยให้จัดการกับอุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลาได้ทันท่วงที
แต่ถ้าหากทำด้วยความไม่เข้าใจหรือจากความเชื่อผิดๆ ที่คลาดเคลื่อนกับหลักทางการแพทย์ อาจทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง กลายเป็นปัญหาบานปลายได้
becommon ได้รวมอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน พร้อมวิธีปฐมพยาบาลไว้เป็นแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้
1.
เลือดกำเดาไหล
สาเหตุทั่วไปของเลือดกำเดาไหล เกิดจากการกระแทก สั่งน้ำมูกแรงๆ และการแคะ แกะ เกาจนเส้นเลือดฝอยบริเวณจมูกเปราะแล้วแตก หรือไม่ก็เกิดจากอากาศแห้ง และความดันสูง
ห้ามทำ
- ห้ามเอากระดาษทิชชูมาอุดรูจมูก เพราะไม่ช่วยให้เลือดหยุดไหล
- ห้ามเงยหน้าขึ้น เพราะเลือดอาจไหลย้อนลงไปในคอ ทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้
ต้องทำ
- บีบปีกจมูกให้แน่นนานประมาณ 5-10 นาที เป็นการกดเส้นเลือดช่วยให้เลือดหยุดไหล ระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทน
- นั่งหลังตรง เพื่อลดความดันเลือด และก้มหน้าลงเล็กน้อย ไม่ให้เลือดไหลลงคอ
- อาจใช้ผ้าเย็น หรือน้ำแข็งประคบบริเวณสันจมูกร่วมด้วย ความเย็นจะช่วยให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดหยุดไหลไวขึ้น
2.
บาดแผลน้ำร้อนลวก/ไฟไหม้
บาดแผลที่เกิดจากน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยใช้ความลึกและความกว้างของบาดแผลเป็นเกณฑ์ ดังนี้
- ระดับที่หนึ่ง ผิวหนังมีสีแดง แห้ง ปวดแสบและกดเจ็บ ไม่มีถุงน้ำพุพอง
- ระดับที่สอง ผิวหนังมีถุงน้ำพองใส หากบวมแตกจะเห็นผิวหนังเปียกชื้นสีชมพูหรือแดง และปวดแสบปวดร้อนมาก มีโอกาสเกิดแผลเป็นหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
- ระดับที่สาม ผิวหนังไหม้เกรียมหรือซีดขาว ขนหลุด ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด เพราะเส้นประสาทรับความเจ็บปวดถูกทำลาย
ห้ามทำ
- ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลจนแน่น อย่าดึงออกเด็กขาด เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดลอกออกมาด้วย
- ห้ามใช้น้ำแข็งประคบหรือเอายาสีฟันมาทาบริเวณแผล เพราะอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรก ทำให้แผลติดเชื้อได้
- ห้ามเจาะถุงน้ำพุพอง เพราะเพิ่มความเสี่ยงให้แผลติดเชื้อได้
ต้องทำ
- ยกส่วนที่เกิดแผลรุนแรงให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้สะดวก เป็นวิธีห้ามเลือดและช่วยลดอาการบวม
- นำอวัยวะหรือส่วนที่ถูกน้ำร้อนลวก/ไฟไหม้ไปผ่านน้ำอุณหภูมิปกติ อย่างน้อย 5 นาที แต่ต้องไม่เกิด 20 นาที เพื่อระบายความร้อนออกจากแผล
- ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลแล้วรีบไปพบแพทย์
3.
ตะคริว
ตะคริวเป็นอาการเกร็งค้างของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการปวด และขยับอวัยวะตามที่ต้องการไม่ได้ชั่วขณะ ตะคริวเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับกล้ามเนื้อขา เมื่อเวลาผ่านไปซักพัก อาการก็จะดีขึ้น แต่จะเสี่ยงเกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตทันที หากเป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำและขับรถ
ห้ามทำ
- ห้ามกระตุก กระชาก ออกแรงเคลื่อนไหวส่วนที่เกิดตะคริวรวดเร็ว เพราะกล้ามเนื้ออาจฉีกขาดได้และทำให้เจ็บปวดมากขึ้น
ต้องทำ
- ค่อยๆ ยืดเหยียดอวัยวะที่เกิดตะคริวช้าๆ อาจนวดหรือประคบร้อนร่วมด้วย เพื่อคล้ายกล้ามเนื้อที่เกร็งค้าง
- เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับการเกร็งตัวหรือบริเวณที่เป็นตะคริว
- หากเกิดตะคริวตอนอยู่คนเดียว ให้นั่งเหยียดขาข้างที่เกิดตะคริว พยายามฝืนกระดกข้อเท้าขึ้น
4.
สะอึก
สะอึกเกิดจากการกระตุกเกร็งหรือหดตัวฉับพลันของกะบังลมซึ่งเป็นกล้ามเนื้อทรงโดมขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างช่องอกและช่องท้อง จนทำงานไม่สอดคล้องกับกล่องเสียง ในชั่วเวลาหนึ่ง กะบังลมทำให้ปอดดึงอากาศเข้าไปทันที แต่เส้นเสียงกลับปิดกั้นไม่ให้อากาศเข้าไปได้ ทำให้เกิดเสียงสะอึก และกระตุกประมาณลำคอและช่วงอก
ห้ามทำ
- ห้ามกินอาหารระหว่างสะอึก เพราะเสี่ยงสำลักได้ หากสะอึกระหว่างกินข้าว ให้หยุดกิน แล้วค่อยกลับมากินใหม่หลังหายสะอึก
ต้องทำ
- ทำให้ตกใจหรือทำให้จาม เพื่อให้เกิดการสูดหายใจเข้าอย่างแรง
- กลั้นหายใจระยะสั้นๆ เพื่อปรับการทำงานของอวัยวะให้กลับมาสอดคล้องกัน
- หรือไม่ต้องทำอะไร เพราะอาการสะอึกจะหายไปได้เอง ยกเว้นเป็นอาการสะอึกเรื้อรังที่เกิดจากโรคทางกาย ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
5.
ก้างปลาติดคอ
ปลาเป็นสัตว์ที่มีก้างหรือแนวกระดูกชิ้นเล็กๆ แทรกอยู่ในเนื้อ หากไม่ระมัดระวังหรือดูให้ดีก่อนกิน ก้างปลาอาจหลุดเข้าไปทิ่มค้างอยู่ในลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดทุกครั้งและกลืนลำบาก หากเป็นก้างขนาดเล็กอาจหลุดได้เอง แต่ถ้าเป็นก้างที่มีลักษณะหนาและแหลมคม จะยิ่งทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อบริเวณช่องคอและหลอดอาหาร
ห้ามทำ
- ห้ามกลืนอาหารคำใหญ่หรือก้อนใหญ่ เช่น ข้าวเหนียวปั้นกลม กล้วย เพราะคิดว่าจะช่วยเข้าไปดันก้างปลาให้หลุด แต่อาจทำให้ทุกอย่างแย่ลง คือยิ่งดันให้ก้างปลาทิ่มลึกกว่าเดิม จนเกิดแผลรุนแรง
- ห้ามใช้นิ้วล้วงคอ เพราะมือที่สกปรกจะทำให้เนื้อเยื่อภายในคอระคายเคือง และบริเวณที่ก้างติดคอมักอยู่ลึกเกินกว่านิ้วมือจะล้วงเข้าไปถึง ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์คีบออกมา
ต้องทำ
- ลองดื่มน้ำแล้วกลั้วคอแรงๆ ถ้าก้างปลายังไม่หลุด ให้รีบพบแพทย์ทันที
อ้างอิง
- กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. การปฐมพยาบาลเมื่อเป็นตะคริวจากการออกกำลังกาย. https://bit.ly/3HxCUuC
- ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทางศัลยกรรม. https://bit.ly/3FuUZYA
- Harvard Health Publishing. Emergencies and First Aid – How to stop a nosebleed. https://bit.ly/3cqNvcr
- John Cameron. Why do we hiccup?. https://bit.ly/3nuk6Ep
- University of Utah Health Hospitals and Clinics. What to do if you swallow a fishbone. https://bit.ly/30Fs7gN