life

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา และเวลาในวันหยุดยาวก็มักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว

การฉุดดึงตัวเองให้กลับมาทำงานวันแรก หลังจากได้หยุดพักติดต่อกันหลายวัน จึงกลายเป็นปัญหาของเหล่ามนุษย์เงินเดือน เพราะคนจำนวนไม่น้อยต้องพยายามบังคับตัวเองให้ทำงาน ทั้งๆ ที่ใจยังคิดถึงแต่ความสุขสบายในวันหยุด

เพียงแค่นึกว่าตัวเองต้องกลับมาทำงาน ก็รู้สึกทุกข์ขึ้นมาทันที ร่างกายไร้เรี่ยวแรง เซื่องซึม เฉื่อยชา เครียด กังวล คิดงานไม่ออก และมึนงง มากไปกว่านั้น บางคนอาจถึงขั้นซึมเศร้า จนไม่มีกะจิตกะใจทำงานใดๆ เลยด้วยซ้ำ

ลักษณะอาการเหล่านี้เรียกว่า Post-Holiday Blues หรือ Post-Travel Depression

โดยปกติแล้วอาการ Post-Holiday Blues จะหายไปเองภายในไม่กี่วัน เมื่อเราสามารถปรับตัวเข้ากับงานได้ แต่ถ้าไม่สามารถจัดการกับความคิดต่อต้านการทำงานที่เป็นอยู่ อาจนำไปสู่ปัญหาบานปลาย ซึ่งจะส่งผลเสียทั้งเรื่องงานและสุขภาพ

หากงานเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และวันหยุดเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทำให้เราได้หยุดพักผ่อน สิ่งสำคัญที่เราควรทำเพื่อจัดการกับอาการ Post-Holiday Blues คือ วางแผนชีวิต และรู้จักปรับความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเว็บไซต์ Harvard Business Review ได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจไว้ดังนี้

(1) เผื่อใจว่าทุกอย่างมีระยะเวลาของมัน: ไม่ว่าจะได้หยุดพัก หรือต้องรับผิดชอบงาน รวมถึงทำสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ทุกอย่างต่างมีเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดลง

(2) เตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง: รู้จักปรับความรู้สึกให้เข้ากับจังหวะของชีวิต จะช่วยทำให้เราไม่รู้สึกยึดติดสิ่งใดมากเกินไป

(3) ให้ความสำคัญกับปัจจุบัน: อดีตนั้นผ่านไปแล้ว การยึดติดอยู่กับวันวานเท่ากับฉุดรั้งตัวเองไม่ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า

(4) รู้ว่าเวลานี้ต้องทำอะไร: หากเราทำงานได้ดีในเวลางาน และพักผ่อนเต็มที่ในเวลาหยุด แสดงว่าเราบริหารจัดการตัวเองได้ดี ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่มักจะประสบความสำเร็จในชีวิต

(5) ลองนึกถึงความยุ่งยาก หากทำงานได้ไม่เต็มที่: ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ถ้างานที่เรารับผิดชอบเกิดติดขัดขึ้นมา หรือเสร็จไม่ทันเวลา เพราะบ่งบอกถึงความบกพร่องในหน้าที่ ดังนั้น ยิ่งปรับทัศนคติให้สนุกกับวันทำงานได้เร็วเท่าไรยิ่งดี 

 

อ้างอิง