life

ท่ามกลางสภาวะการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชากรโลกต้องระมัดระวังลมหายใจ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอยู่เสมอ จนแทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ไปแล้ว ยิ่งกว่านั้น ยังส่งผลให้หลายคนเกิดอาการ กลัว ที่จะหายใจตามมา  

ถึงจะหวาดผวาต่อการสูดลมหายใจแค่ไหน เราก็ปฏิเสธการหายใจไม่ได้อยู่ดี ดังนั้น แทนที่จะกลั้นๆ กั๊กๆ สู้หันมาฝึกสูดลมหายใจให้เต็มปอดจนกระบังลมแผ่ขยายเต็มที่ เพื่อช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเกราะต้านทานสารพัดโรคจะดีกว่า

เหตุผลที่เราจำเป็นต้องฝึกการหายใจ แม้จะเป็นสิ่งที่ร่างกายสั่งการโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ก็เพราะในรายละเอียดของการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้มนุษย์เราเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งความรู้สึกโกรธ เกลียด อิจฉา ท้อแท้ สิ้นหวัง เสียใจ ไปจนถึงความเครียดจากการทำงานและสภาวะต่างๆ ส่งผลให้เรา หายใจตื้น’ โดยไม่รู้ตัว

เมื่อหายใจตื้น ออกซิเจนก็เข้าไปสู่ปอดได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้อย่างทั่วถึง นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยต่างๆ ผิดกับการหายใจอย่างถูกวิธีที่เหมือนเป็นการอัดออกซิเจนเข้าไปให้เต็มปอด เซลล์ต่างๆ จึงได้รับอาหารเต็มที่ จนเปี่ยมด้วยพลัง ทำให้เกิดความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และระบบต่างๆ ในร่างกายก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น การศึกษาศาสตร์ของการบังคับลมหายใจ หรือปราณายามะ จึงเป็นประตูสู่การมีสุขภาพดี ที่ทดสอบได้ด้วยตัวเอง เพียงสละเวลาสัก 5-10 นาที หลังจากลืมตาตื่นนอน โดยแทบจะไม่ต้องลุกออกจากเตียง แค่นั่งๆ นอนๆ ฝึกใช้ลมหายใจเข้าและออกตาม วิธีดังต่อไปนี้เป็นประจำต่อเนื่องนาน เดือน เท่านี้ทั้งระบบทางเดินหายใจ ระบบขับถ่ายที่เคยมีปัญหา ผิวพรรณที่ไม่สดใส หรืออารมณ์ที่ไม่เบิกบาน จะพลิกกลับสลับขั้วจากร้ายกลายเป็นดี จนสังเกตได้ด้วยตัวเอง

1.

หายใจสลับรูจมูก

breathe

ใช้ปลายนิ้วชี้แตะบริเวณหว่างคิ้ว แล้วใช้นิ้วกลางปิดรูจมูกข้างซ้าย ค่อยๆ หายใจเข้าทางรูจมูกด้านขวาให้ลึกและยาว จากนั้นใช้นิ้วโป้งปิดรูจมูกข้างขวาแล้วปล่อยนิ้วกลางออก หายใจออกทางจมูกข้างซ้ายช้าๆ แล้วหายใจเข้า ปิดรูจมูกข้างซ้าย หายใจออกด้านขวา ทำซ้ำแบบนี้สัก 3-4 รอบแล้วค่อยพัก ลองได้จดจ่อกับสมาธิในหายใจสลับรูจมูกนานสัก นาที ก็เห็นผลลัพธ์เป็นจิตใจที่สงบผ่อนคลายขึ้นแล้ว 

2.

หายใจแบบจุดไฟ

breathe

เทคนิคนี้เหมาะสำหรับงัดออกมาใช้งานยามง่วงเหงาหาวนอนหรือหมดไฟระหว่างวัน ทำได้โดยการหายใจเข้าและออกในทุกหนึ่งวินาที โดยใช้กระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยในการส่งลมหายใจออก อาจจะดูฟึดฟัดๆ ในสายตาคนอื่น แต่อย่าได้แคร์ เพราะนี่แหละคือวิธีจุดไฟในตัวที่เห็นผลทันตา โดยเมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานได้มากขึ้น จึงทำให้ตาสว่างนั่นเอง

3.

หายใจแบบเสียงคลื่น

breathe

หรือที่ในภาษาโยคะเรียกว่า การหายใจแบบอุจจายี ที่ฝึกทำได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนกำลังอยู่บนรถไฟฟ้าขบวนแน่นที่สุดจนอดรู้สึกหงุดหงิดไม่ได้ แค่ค่อยๆ หายใจเข้าทางจมูก โดยนับ 1 – 5 ในใจ แล้วหายใจออกโดยให้มีเสียงออกมาจากด้านในลำคอ คล้ายเสียงคลื่นซัดเข้าซัดออกจากฝั่ง ทำซ้ำได้เรื่อยๆ จนกว่าจิตใจจะค่อยๆ สงบลง

4.

หายใจออกทั้งปากดัง ฮ่าห์!

breathe

ช่วยคลายความปวดเมื่อยตามร่างกาย และลดความตื่นตระหนกได้ชะงัดนัก วิธีปฏิบัติก็แค่ค่อยๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วปล่อยลมหายใจออกทางปากจนสุดออกมาเป็นเสียง ฮ่าห์ เท่านี้ระบบประสาทอัตโนมัติฝั่งผ่อนคลาย (พาราซิมพาเทติก) ก็ทำงานเต็มที่จนร่างกายคลายตึงเครียดลงได้เอง

5.

หายใจแบบผึ้ง

breathe

หลับตา แล้วใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างจิ้มไปที่แผ่นเล็กๆ บริเวณรูหู เพื่ออุดรูหูกันเสียงจากภายนอก (อย่าเอานิ้วสอดเข้ารูหูโดยตรง) จากนั้น หายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ทางจมูก แล้วทำเสียงฮัมหึ่งๆ เหมือนเสียงผึ้ง แล้วหายใจออกช้าๆ เพ่งสมาธิไปที่การสั่นสะเทือนของเสียงในหัว จนเสียงค่อยๆ ดับไปเมื่อหายใจออกจนสุด ทำซ้ำ 20-50 ครั้ง ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าของสมอง ลดความเครียด และแก้อาการนอนไม่หลับได้ดี 

 

อ้างอิง 

  • Sanjiv Chaturvedi.ปราณายามะในชีวิตประจำวัน. https://bit.ly/2L9aPkU 
  • โทโมมิ เคียวโนะ.โยคะสไตล์คนขี้เกียจสำหรับคนทำงาน.บุ๊คไทม์,2563