เชื่อว่าการทำความสะอาดบ้านคือยาขมของคนส่วนใหญ่
ทางแก้ คือ การซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติมาช่วยทุ่นแรง หรือจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดเพื่อเป็นการซื้อเวลาไปในตัว
แต่จริง ๆ แล้วการลงมือทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเองก็ไม่ต่างอะไรกับการทำกับข้าวกินเอง ที่เราสามารถมั่นใจได้ในสุขอนามัยมากกว่าการฝากสุขภาพไว้กับเครื่องจักรหรือฝีมือคนอื่น
เพราะที่แน่ ๆ หุ่นยนต์อัตโนมัติทุกรุ่นย่อมทิ้งฝุ่นที่ออกมาจากช่องระบายลมไว้มากมาย หรือแม่บ้านรับจ้างก็คงไม่สนใจลงมือทำความสะอาดฝุ่นที่สะสมอยู่ตามมุมห้องเสมอไป
ดังนั้น การมองหาเทคนิคทำความสะอาดบ้านให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยออกแรงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่สะอาดเอี่ยม ย่อมเป็นคำตอบที่หลายคนกำลังมองหา
และคำตอบดังกล่าวก็อยู่ในหนังสือ วิทยาศาสตร์ของการทำความสะอาดบ้าน ของสำนักพิมพ์วีเลิร์น เขียนโดย มัตสึโมโตะ ทาดาโอะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำความสะอาด เจ้าของตำแหน่งประธานสมาคมเฮลธ์แคร์คลีนนิ่งในประเทศญี่ปุ่น ที่นำเทคนิคและความรู้ด้านการทำความสะอาดที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ถ่ายทอดผ่านหลักการทางฟิสิกส์และเคมีที่ผู้อ่านสามารถนำไปทำตามได้แบบไม่ยุ่งยาก
5 เทคนิคทำความสะอาดบ้านที่ออกแรงน้อยแต่สะอาดมากในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคดี ๆ ที่หาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือขวัญใจแม่บ้านสมัยใหม่เล่มนี้
1.
ทำความสะอาดตอนเช้าดีที่สุด
ตอนเช้าเป็นเวลาที่ฝุ่นซึ่งฟุ้งกระจายจากการขยับตัวของมนุษย์และสิ่งของมาตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงตอนกลางคืนค่อย ๆ ตกลงบนพื้น ชั้นวางของ และไปรวมตัวบริเวณมุมห้องและรอบ ๆ เฟอร์นิเจอร์ การทำความสะอาดบ้านในตอนเช้าจึงทำเฉพาะมุมห้องก็ได้ ประหยัดทั้งแรงและเวลา มาพร้อมผลลัพธ์ที่คุ้มค่า คือ บ้านที่สะอาดทุกซอกทุกมุม
หรือหากใครมีเวลา อยากลงมือจะทำความสะอาดทั่วทั้งห้อง ควรทำความสะอาดตรงกลางห้องก่อน โดยค่อย ๆ ขยับไม้ถูพื้นจากพื้นที่ที่มีฝุ่นเยอะไปทางด้านหน้า พยายามให้ไม้ถูพื้นห่างจากตัวเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยทำความสะอาดมุมห้องเป็นลำดับสุดท้าย
2.
ทำความสะอาดบ้านเพียงลำพังอย่างใจเย็น
การทำความสะอาดบ้านให้สะอาดที่สุดควรทำคนเดียว เพื่อลดกระแสลมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ ทำให้สามารถลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นลงได้ดี และไม่ควรรีบร้อนในการทำความสะอาด เช่น หากใช้เครื่องดูดฝุ่น ควรเลือกซื้อเครื่องดูดฝุ่นแบบไร้สายที่มีช่องระบายลมอยู่ใกล้มือ เพื่อลดปริมาณการฟุ้งกระจายของฝุ่นบนพื้น
การใช้งานเครื่องดูดฝุ่นควรค่อย ๆ ขยับหัวดูดให้เคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็ว 5 – 6 วินาทีต่อ 1 เมตร หากขยับหัวดูดเร็วเกินไปจะทำให้ฝุ่นบนพื้นฟุ้งกระจาย หรืออาจทำให้พลาดการดูดฝุ่นที่ติดอยู่บนพื้น และการลากเครื่องดูดฝุ่นไปมายังทำให้หัวดูดกระดกขึ้นจนประสิทธิภาพในการดูดฝุ่นลดลงอีกด้วย
3.
กำจัดฝุ่นด้วยไม้ถูพื้นแบบแห้ง
คนส่วนใหญ่เคยชินกับการใช้ไม้ถูพื้นแบบเปียก เพราะคิดว่าเก็บฝุ่นได้ดี ทั้งที่ความจริงแล้วการถูพื้นแบบใช้น้ำจะทำให้คราบสกปรกและเชื้อโรคแพร่กระจายได้มากกว่าการใช้ไม้ถูพื้นแบบแห้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงแรงในการถู แค่ถือไม้ถูพื้นให้ห่างจากตัวมากที่สุด แล้วค่อย ๆ เลื่อนไม้ถูพื้นให้แนบพื้นไปทางด้านหน้าอย่างช้า ๆ ฝุ่นก็หายวับไปกับตาแล้ว
สำหรับการเช็ดฝุ่นออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าควรใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ เพราะเส้นใยที่ละเอียดของผ้าไมโครไฟเบอร์สามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กไม่ให้หลุดลอดออกไปได้ วิธีเช็ด คือ เช็ดช้า ๆ อย่างเบามือไปในทิศทางเดียว เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย
4.
สังเกตปริมาณขยะที่รวบรวมได้
แต่ละพื้นที่ในบ้านมีปริมาณฝุ่นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความถี่ของการเดินผ่านและการใช้งาน ดังนั้น วิธีทำความสะอาดบ้านที่เหนื่อยน้อยแต่สะอาดมาก ก็คือ เพิ่มจำนวนครั้งในการทำความสะอาดพื้นที่ที่มีคราบสกปรกมาก และลดจำนวนครั้งในการทำความสะอาดพื้นที่ที่มีคราบสกปรกเพียงเล็กน้อย
ที่สำคัญ คือ ทุกครั้งหลังทำความสะอาดบ้าน อย่าลืมสังเกตปริมาณขยะที่รวบรวมได้ เพราะนี่คือผลลัพธ์ของความพยายามที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด โดยเฉพาะเมื่อได้ลองทำความสะอาดบ้านอย่างมีประสิทธิภาพโดยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นตามวิธีทั้งหมดข้างต้น ย่อมทำให้รวบรวมขยะไปทิ้งได้มากขึ้น ส่งผลให้บ้านสะอาด ลดปริมาณเชื้อโรคลงอย่างเห็นผล
5.
ไม่กดดันตัวเอง
ไม่ต้องตั้งใจมุ่งมั่นอยากทำความสะอาดบ้านทั้งหลังแบบหมดจิตหมดใจ โดยเฉพาะหากคุณเป็นคนที่ทำอะไรได้แป๊บเดียวก็เลิก หรือรู้สึกถึงความยุ่งยากไม่มีอารมณ์ลงมือทำ
ลองเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นการทำความสะอาดแค่พอประมาณ ทำเท่าที่ทำได้ และไม่ตั้งใจจนเกินไป เริ่มจากการค่อย ๆ เริ่มทำจากส่วนที่ทำได้ก่อน ไม่ต้องกดดันตัวเอง เท่านี้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำความสะอาดอย่างต่อเนื่องแล้ว
อ้างอิง
- มัตสึโมโตะ ทาดาโอะ.วิทยาศาสตร์ของการทำความสะอาดบ้าน.วีเลิร์น, 2566.