เคยสังเกตขั้นตอนแปรงฟันของตัวเองไหมว่า ที่ผ่านมาคุณแปรงฟันด้วยวิธีไหน?
คนส่วนใหญ่มักจะล้างทำความสะอาดหัวแปรงด้วยวิธีจุ่มลงในแก้วน้ำ หรือไม่ก็เปิดก๊อกให้น้ำไหลผ่านขนแปรงจนเปียกชุ่มก่อนบีบยาสีฟัน แล้วค่อยบ้วนปากร่วมกับกลั้วคออีกครั้งหลังแปรงฟันเสร็จ เพราะเข้าใจว่าฟองฟูฟ่องสีขาวที่เกิดขึ้นระหว่างแปรงเป็นสิ่งแปลกปลอมจากสารเคมีในยาสีฟัน ด้วยความกลัวว่าจะส่งผลร้ายกับร่างกายถ้าเผลอกลืนเข้าไป หลายคนจึงรู้สึกสบายใจมากกว่าหากได้ล้างปากและฟันให้สะอาดหมดจดจนไม่มีฟองของยาสีฟันหลงเหลืออยู่
แต่ในความเป็นจริง วิธี ‘แปรงฟันเปียก’ เช่นนี้ที่หลายคนทำทุกวันด้วยความคุ้นชิน กลับเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ไม่แนะนำ เพราะปริมาณน้ำจำนวนมากที่ใช้บ้วนปากทั้งก่อนและหลังแปรงฟัน ไม่ได้ชะล้างแค่สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามซอกฟันอย่างพวกเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฟันผุเท่านั้น แต่ยังเจือจางสารฟลูออไรด์ให้หลุดร่อนออกไปจากผิวฝันได้ด้วย
- บ้วนน้ำหลังแปรงฟัน 1 ครั้ง ทำให้ปริมาณฟลูออไรด์ลดลง 1-2 เท่า
- บ้วนน้ำหลังแปรงฟัน 2 ครั้ง ทำให้ปริมาณฟลูออไรด์ลดลง 4-5 เท่า
- ดื่มน้ำหรือกินอาหารหลังแปรงฟัน ทำให้ปริมาณฟลูออไรด์ลดลง 12-15 เท่า
หมายความว่าการแปรงฟันเปียกยิ่งสร้างความเสี่ยงทำให้ฟันผุ เพราะสารฟลูออไรด์ในยาสีฟันที่ควรจะเคลือบผิวฟันเพื่อทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันฟันจากคราบจุลินทรีย์ กลับถูกน้ำบ้วนปากหลังแปรงฟันล้างออกไปจนหมด เท่ากับว่ายิ่งบ้วนน้ำเยอะมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งล้วงสารฟลูออไรด์ออกจากผิวฟัน จึงมีโอกาสเกิดฟันผุมากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ทุกคนหันมา ‘แปรงฟันแห้ง’ แทน เพื่อรักษาสุขภาพในช่องปากและฟันให้แข็งแรงอย่างที่ควรจะเป็น
แล้ว ‘แปรงฟันแห้ง’ คืออะไร?
เพื่อความเข้าใจง่ายและสื่อความหมายถึงการแปรงฟันโดยไม่ใช้น้ำทั้งก่อนและหลังแปรงฟัน วงการทันตกรรมในประเทศไทย จึงเลือกใช้คำไทยบัญญัติใหม่ว่า ‘แปรงฟันแห้ง’ หรือ ‘แปรงแห้ง’ แทนประโยคภาษาอังกฤษ ‘Spit Don’t Rinse’ (แปลตรงตัวได้ว่า ‘ถุย (ถ่มทิ้ง) ไม่ต้องบ้วนน้ำ’) ซึ่งเป็นวิธีแปรงฟันที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ดีที่สุดที่องค์กรและหน่วนงานด้านทันตกรรมทั่วโลกให้การยอมรับ
การศึกษาแรกๆ ที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1992 ที่เมืองลานาร์กเชอร์ (Lanarkshire) ประเทศสก็อตแลนด์ หลังจากเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการแปรงฟันในเด็กนักเรียนจำนวน 3,005 คน โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ปี 5 เดือน คณะวิจัยพบว่า ฟันของเด็กที่แปรงฟันแล้วบ้วนน้ำโดยเอาปากไปจ่อกับก๊อกทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าปากได้ไม่เยอะ ผุน้อยกว่าเด็กที่บ้วนน้ำโดยใช้แก้ว
อีกหนึ่งการศึกษาที่ได้ผลลัพธ์สอดคล้องกัน เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2002 ที่เมืองเกานัส (Kaunas) ประเทศลิทัวเนีย คณะวิจัยติดตามพฤติกรรมแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ในเด็กนักเรียน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 11 ปี 8 เดือน โดยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่บ้วนน้ำหลายๆ ครั้งหลังแปรงฟันเสร็จ กลุ่มที่บ้วนน้ำแค่ครั้งเดียว และกลุ่มที่ไม่บ้วนน้ำ ผลปรากฏว่า เมื่อผ่านไปสามปี เด็กนักเรียนในกลุ่มที่ไม่บ้วนน้ำหลังแปรงฟันเลยเกิดปัญหาฟันผุน้อยที่สุด
ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีคนกังวลถึงความปลอดภัย เพราะกลัวว่าถ้าหากไม่บ้วนปากล้างคราบยาสีฟัน สารเคมีจากยาสีฟันที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก จะสร้างอันตรายให้ร่างกายได้หรือไม่?
คำตอบคือ ‘ไม่’ เนื่องจากสารเคมีอื่นๆ ในยาสีฟัน โดยเฉพาะสารลดแรงตึงผิว (Sodium Lauryl Sulfate) ที่ทำให้เกิดฟองนั้น ถูกควบคุมให้มีปริมาณน้อยมากๆ เพียง 0.5 – 2% จึงไม่เพียงพอที่จะสร้างความระคายเคืองในช่องปากและร่างกายได้
สำหรับคนที่ต้องการปกป้องฟันจากฟันผุด้วยวิธี ‘แปรงฟันแห้ง’ โดยไม่บ้วนน้ำ สามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ
1. ก่อนเริ่มแปรงฟัน ให้กำจัดเศษอาหารที่อาจติดอยู่ตามซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน แล้วบ้วนน้ำทิ้งหลายๆ รอบจนแน่ใจว่าไม่มีเศษอาหารติดค้างอยู่ในช่องปาก
2. บีบยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ลงบนหัวแปรงที่แห้งสนิท โดยไม่ต้องจุ่มน้ำให้เปียกชุ่ม หากต้องการทำความสะอาดขนแปรง สามารถทำได้ แต่ต้องสะบัดน้ำออกหลังทำความสะอาดเสร็จจนขนแปรงแห้ง แล้วค่อยบีบยาสีฟัน ไม่อย่างนั้น น้ำที่หลงเหลืออยู่จะทำให้เกิดฟองเต็มปากขณะแปรงฟัน
3. แปรงฟันให้สะอาด เป็นเวลานาน 2 นาที และแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 รอบ คือ หลังตื่นนอนและก่อนเข้านอน
4. เมื่อแปรงฟันเสร็จแล้ว ไม่ต้องบ้วนน้ำตาม ให้ถุยหรือถ่มน้ำลายเพื่อเอาฟองยาสีฟันออกแทน
5. หลังแปรงฟัน ให้งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 30 นาที ช่วยให้ฟลูออไรด์เคลือบผิวฟันได้ดีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ปกป้องฟันจากคราบจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อ้างอิง
- Chesters, R. K., Huntington, E., Burchell, C. K., & Stephen, K. W. (1992). Effect of oral care habits on caries in adolescents. Caries research, 26(4), 299–304. https://doi.org/10.1159/000261456
- Machiulskiene, V., Richards, A., Nyvad, B., & Baelum, V. (2002). Prospective study of the effect of post-brushing rinsing behaviour on dental caries. Caries research, 36(5), 301–307. https://doi.org/10.1159/000065955
- Krisdapong, S. (2017). Spit Don’t Rinse. Journal of Health Science, 26(2), S348–S359. https://thaidj.org/index.php/JHS/article/view/208