life

นิสัยผัดวันประกันพรุ่งมักมีต้นตอจาก สาเหตุคลาสสิกใหญ่ๆ คือ 

กลัวความเจ็บปวด – เมื่อมีประสบการณ์ไม่ดีกับการทำสิ่งหนึ่งแล้วรู้สึกว่ายากเย็น จึงเลือกที่จะไม่ทำ แล้วผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามหนีความรู้สึกเจ็บปวด ความยากเย็นที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทำสิ่งนั้น จนเป็นที่มาของเหตุผลต่อไป นั่นคือ 

คิดว่าทำได้ไม่ดีพอ – ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็จะไม่ล้มเหลว และเมื่อประสบการณ์สอนให้กลัวความล้มเหลว การไม่ทำอะไรเลยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เหตุผลนี้อาจมีรากฐานจากการนับถือตนเองต่ำและติดภาพความสมบูรณ์แบบ หรือ ‘เพอร์เฟ็คชันนิสต์’ ที่อาจทำให้ประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง

เช่น เวลาที่ห้องรก แล้วขี้เกียจจัดห้อง เพราะเคยทำแล้วเหนื่อยมาก แถมกว่าที่ห้องจะเนี้ยบได้เหมือนในพินเทอเรสต์คงเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาทำทั้งวันแน่ๆ ท้ายที่สุดแล้วสำหรับบางคน็จึงเลือกที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น ไปเล่นเกม ไปดูซีรีย์ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ และไม่ต้องจัดห้อง

คงไม่เป็นไรหากสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่งานสำคัญอะไร และเราได้ปล่อยให้ตัวเองได้พักบ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่การผัดวันประกันพรุ่งเริ่มกระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่ เราคงต้องกลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้ง

นักจิตวิทยามองว่าการผัดวันประกันพรุ่งคือ ‘แรงเสริม’ ชนิดหนึ่ง แต่เป็นแรงเสริมเชิงลบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่อาจส่งผลให้เป็นนิสัยในระยะยาวได้ หากใครที่ได้อ่านบทความนี้แล้วพบว่ากำลังหนีจากบางสิ่งที่ต้องทำ เราขอชวนมาลองทำวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยสลัดนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่งทิ้งไปให้ได้ 

 

1.

ทำ to do list

พอเห็นงานกองโตตรงหน้า ก็หมดใจที่จะทำ แต่แทนที่จะลงมือทำมันทั้งหมด ให้เขียนลำดับความสำคัญและย่อยออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน เหมือนหั่นเนื้อชิ้นใหญ่ให้ทานง่ายๆ จะช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จมากขึ้น และจะยิ่งดีขึ้นถ้าเขียนแล้วแชร์กับใครสักคน เพราะการที่มีคนรับรู้แผนงานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราเร่งทำให้สำเร็จ 

 2.

กัดฟัน ลงมือทำทันที

 ไม่มีอะไรได้ผลมากไปกว่าลงมือทำเลย หลายครั้งเรามักรอโอกาสที่เหมาะสมที่สุดถึงจะเริ่ม บางครั้งมักจะรอให้มีสิ่งที่ดีที่สุดก่อนถึงจะทำ แต่การลงมือทำไปก่อนอาจทำให้เกิดผลสำเร็จมากกว่า ไอเดียดีๆ อาจจะโผล่มาขณะทำก็ได้ การลงมือทำไปแล้วหมายความว่างานนั้นมีโอกาสสำเร็จมากกว่าไม่ได้ลงมือทำอย่างแน่นอน แต่ถ้ากลัวตัวเองจะเถลไถลไม่ยอมเริ่มทำสักที ตั้งนาฬิกาปลุกบอกเวลาเริ่มไว้ก็ช่วยได้อีกแรง 

3.

ให้รางวัลตัวเอง

 กระตุ้นให้ตัวเองลงมือทำด้วยการให้รางวัล อาจจะเป็นอาหารมื้อดีๆ หลังทำงาน ออกไปพบปะเพื่อนฝูง หรือเสพสิ่งบันเทิง อย่างไรก็ตามความบันเทิงมีหลายรูปแบบ หากจะให้รางวัลตัวเองต้องระมัดระวังความบันเทิงที่เพลินเกินห้ามใจ เช่น เกม หรือโซเชียลมีเดีย เพราะอาจทำให้ยิ่งเสียสมาธิและเสียเวลายิ่งกว่าเดิมได้ 

4.

พาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

สถานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำบางสิ่งให้สำเร็จ ลองสำรวจดูว่าสถานที่แบบไหนที่ทำให้มีสมาธิ จากนั้นพาตัวเองไปอยู่ที่นั่น อาจเริ่มจากเลือกโต๊ะทำงานดีๆ เลือกเก้าอี้ที่นั่งสบาย สถานที่ควรอำนวยความสะดวกให้เราได้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การทำงานยุ่งยาก และอยากผัดวันประกันพรุ่งกว่าเดิมก็ได้  

5.

เผชิญหน้ากับความจริง

เป็นข้อที่ยากที่สุด แต่ยั่งยืนที่สุดถ้าอยากเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เผชิญหน้ากับสิ่งที่ต้องทำอาจยากลำบาก แต่เมื่อมองเห็นและยอมรับความจริง และประเมินสถานการณ์ได้แล้ว ความน่ากลัวของมันอาจลดลง ไม่เหมือนกับตอนที่จินตนาการไปใหญ่โตในตอนแรก แล้วท้ายที่สุดก็จะพบว่า ไม่มีอะไรจะแก้ไขความจริงข้อนี้ได้นอกจากลงมือทำสิ่งนั้นให้เสร็จ

 

อ้างอิง