life

หลังจากที่ต้องทำงานที่บ้านนานติดต่อกันหลายเดือน หลายคนคงเกิดอาการนี้เหมือนกัน นั่นคือ การลุกมาจัดบ้านให้อะไรๆ เข้าที่เข้าทางยิ่งขึ้น 

ดังนั้น จึงต้องจัดมหกรรมโละเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ออกจากโต๊ะเครื่องแป้ง ไปจนถึงกำจัดขวดยา น้ำหอม เซรั่ม อาหารกระป๋อง ฯลฯ หรือใดๆ ก็ตามที่แช่ทิ้งไว้ในตู้เย็นนานข้ามปีออกไปให้หมดเสียที

แต่เก็บมาได้นานขนาดนั้น ย่อมเกิดอาการเสียดายจนทิ้งไม่ลงเป็นธรรมดา หนึ่งในวิธีที่หลายคนนำมาปฏิบัติเพื่อตัดสินใจขั้นเด็ดขาด คือ วัดจากวันหมดอายุเป็นหลัก กล่องไหน ขวดไหนระบุว่าเลยวันหมดอายุแล้ว – ทิ้งทันที! 

แต่บางครั้งการมองหาวันหมดอายุบนผลิตภัณฑ์ก็อาจสร้างความสับสนได้ เพราะนอกจากตัวย่อ Exp. แล้ว ยังมี MFG., MFD., BB., 12M ฯลฯ ให้สับสนต่อการคำนวณในใจ 

becommon จึงมีขั้นตอนในการเช็ควันหมดอายุตามลำดับตัวย่อ มาช่วยในการพิจารณาว่าจะทิ้งหรือเก็บข้าวของชิ้นไหน ถึงจะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด 

1.

มองหาวันหมดอายุ

เบื้องต้นให้มองหาวันหมดอายุเป็นอันดับแรก เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนมากมักระบุวันหมดอายุ (Expiration Date ตัวย่อ EXP หรือ Exp. date) ไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์อย่างชัดเจน 

แต่ก็มีดอกจันเล็กๆ อยู่ว่า ‘วันหมดอายุเป็นวันที่ซึ่งกำหนดแน่นอนสำหรับชุดผลิตภัณฑ์แต่ละชุด ที่เก็บรักษาอย่างดีในสภาวะที่กำหนดบนฉลากอาหาร และ ยังไม่เปิดใช้ 

Expiry Date

ดังนั้น ถ้าเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ไม่ถูกวิธี เช่น วางตากแดด หรือถูกความชื้นเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุได้ 

ทั้งนี้ เมื่อพ้นไปจากวันหมดอายุที่กำกับไว้บนฉลาก ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะมีคุณภาพของสี กลิ่น รส เนื้อสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการ ปริมาณจุลินทรีย์ ฯลฯ ที่ด้อยลงกว่าข้อกำหนดมาตรฐาน เช่น เริ่มบูด หรือเน่าเสีย จึงไม่ควรนำมาบริโภคโดยเด็ดขาด 

2.

เช็คว่าควรบริโภคก่อนวันไหน 

ของกินบางอย่างไม่ระบุวันหมดอายุ แต่กลับประทับตรา BB แทน ตัวอย่างที่พบบ่อยคือ บนเปลือกไข่ 

BB ย่อมาจาก Best Before หมายถึง วันที่ควรบริโภคก่อน ซึ่งมักกำกับอยู่บนบรรจุภัณฑ์หรือพื้นผิวของอาหารโดยตรง นอกจากเปลือกไข่ เรามักเจอ BB บนฉลากอาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง (Dried Food) ฯลฯ

Expiry Date

BB เป็นการระบุวันที่อาหารยังมีสภาพสดและคุณภาพดีเยี่ยม ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมคุณภาพลงหลังจากวันที่ระบุไว้ แต่ยังสามารถบริโภคได้อยู่ โดยควรสังเกตสี กลิ่น รส เนื้อสัมผัส หรือความหนืดของอาหารก่อนนำมากินหรือปรุงอาหาร 

3.

เมื่อเปิดฝาแล้ว ต้องใช้ภายในกี่เดือน 

บนเครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวมักปรากฏสัญลักษณ์เป็นรูปกระปุกเปิดฝา กำกับด้วยตัวเลขและอักษร M 

สัญลักษณ์นี้มีชื่อเรียกว่า Period After Opening (PAO) หมายความถึง ช่วงที่สามารถใช้งานได้หลังจากเปิดฝาใช้งาน 

Expiry Date

ตัวอย่างจากภาพนี้ 18M หมายถึง เครื่องสำอางชิ้นนี้จะหมดอายุหลังเปิดใช้งานแล้ว 18 เดือน 

ในกรณีที่บนผลิตภัณฑ์มีทั้งเลข EXP. และ 18M กำกับทั้งคู่ ให้พิจารณา PAO ก่อน (ว่าเปิดใช้มาแล้วกี่เดือน) 

เว้นเสียแต่ว่าคุณยังไม่เคยเปิดใช้งานผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นเลย จึงค่อยสังเกตวันหมดอายุก่อนใช้ 

ปัญหาคือ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเปิดใช้งานผลิตภัณฑ์เมื่อไร? 

วิธีการ คือ ต้องจดวัน เดือน ปี ที่เปิดใช้ผลิตภัณฑ์คร้ังแรกเสมอ จึงจะมั่นใจได้มากที่สุด 

4.

ใช้งานได้อีกนานแค่ไหนนับจากวันผลิต 

สินค้าเพื่อการบริโภคส่วนใหญ่มักระบุเลข MFG หรือ MFD ไว้อย่างชัดเจน เพื่อเป็นการระบุวันที่ผลิต (Manufacturing Date) ตามกฎหมาย 

บางครั้ง MFD. ก็มักจะมาคู่กับ Exp. หรือ BB. แล้วแต่ประเภทของผลิตภัณฑ์ 

แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้ผลิตระบุแค่วันที่ผลิตสินค้า แต่ไม่ได้บอกวันหมดอายุ วันที่ควรบริโภคก่อน หรือระยะเวลาที่หมดอายุหลังเปิดใช้งานครั้งแรกมาด้วย 

จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ควรรู้อายุขัยของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่มีอายุการใช้งานละเอียดอ่อนแตกต่างกันไป 

โดยหากยังไม่เปิดใช้งาน

  • มาสคาร่า และดินสอเขียนขอบตาแบบน้ำ จะหมดอายุภายใน 3 เดือน 
  • ลิปกลอสครีมและโลชั่นบำรุงผิวรองพื้น และยาทาเล็บ หมดอายุภายใน 1 ปี 
  • ลิปสติกดินสอเขียนคิ้วดินสอเขียนขอบตาอายแชโดว์บลัชออน และแป้งฝุ่น เครื่องสำอางที่หมดอายุภายใน 2 ปี 

แต่ถ้าเปิดใช้งานแล้ว อายุการใช้งานก็จะสั้นลง ดังต่อไปนี้ 

  • มาสคาร่า มีอายุ 1 เดือน หลังเปิดใช้งาน 
  • อายไลน์เนอร์ชนิดน้ำ มีอายุ 6 เดือน หลังเปิดใช้งาน 
  • รองพื้น มีอายุ 6 เดือน – 1 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • คอนซีลเลอร์ มีอายุ 1 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • ลิปกลอสส์ มีอายุ 1-2 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • ลิปสติก มีอายุ 2-4 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • แป้งฝุ่น หรือเครื่องสำอางประเภทฝุ่น มีอายุ 2 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • ดินสอเขียนขอบตาและดินสอเขียวคิ้ว มีอายุ 2 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • อายแชโดว์ มีอายุ 2-3 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • บลัชออน มีอายุ 2-3 ปี หลังเปิดใช้งาน 
  • ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิว มีอายุ 1 ปี หลังเปิดใช้งาน 

5. 

เช็คผ่าน checkcosmetic.net 

หากเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็นและแห้ง เครื่องสำอางที่ยังไม่เปิดใช้งานจะมีอายุการใช้งานราว 2-3 ปี โดยสามารถเช็ควันหมดอายุและวันผลิต (MFG) ได้บริเวณข้างกล่องผลิตภัณฑ์ 

Expiry Date
Photo: http://ww.kr.ua/bloknot/kak-proverit-batch-kod-parfyuma-onlajn/index.html

แต่ถ้าคุณทิ้งกล่องไปแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจ สามารถเช็คอายุการใช้งานของเครื่องสำอางได้อีกวิธี โดยเข้าไปที่ checkcosmetic.net แล้วเลือกแบรนด์ที่ต้องการ กรอกเลขโค้ดที่ปั๊มบนตัวผลิตภัณฑ์ลงไป เท่านี้ก็สามารถเช็ควันหมดอายุได้อย่างแม่นยำ และเป็นการตรวจสอบได้อีกว่าสินค้าในมือคือของแท้หรือของปลอม 

อ้างอิง 

  • ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจรExpiry Date/ วันที่หมดอายุ. https://bit.ly/3hH33uP 
  • ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจรBest before date/ วันที่ควรบริโภคก่อน. https://bit.ly/3qVbOph 
  • Grace Gallagher. When Does Makeup Expire? https://bit.ly/3yy6lqW