life

หลายคนน่าจะพอคุ้นเคยกับการทำ ‘To do list’ หรือ การเขียนสิ่งที่ ‘ต้องทำ’

เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเวลาและงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อดัม แกรนท์ (Adam Grant) อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักจิตวิทยาองค์กร ที่ทำงานกับมนุษย์เงินเดือนมาเกิน 10 ปี ค้นพบความจริงข้อหนึ่งว่า ‘To do list’ นั้นไม่ง่ายสำหรับทุกคน

หลายครั้งมันทำให้เราต้องกังวล ว่าเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วหรือยัง จนสุดท้ายกลายเป็นล้มเหลว

อ.อดัม ลองแนะนำวิธีใหม่ ที่ทำได้ง่ายกว่า โดยเขาลองใช้กับตัวเองแล้วได้ผล จึงอยากส่งต่อ

นั่นคือกำหนด ‘สิ่งที่จะไม่ทำ’ เปลี่ยน To do เป็น To don’t

ก่อนจะบีบบังคับตัวเองว่า ‘ต้องทำ’ อะไรบ้าง มาเริ่มจากการกำจัดบางอย่างที่ ‘ไม่ต้องทำ’ ดีกว่า

และนี่คือ To don’t list ง่ายๆ 4 ข้อ ที่เราอาจจะทำมาจนชิน เลยมองข้าม ว่าเรื่องเหล่านี้มันกลืนกินประสิทธิภาพในตัวเรา

1. “ไม่” ต้องช่วยเหลือทุกคนที่มาร้องขอ

“ไม่” ต้องช่วยเหลือทุกคนที่มาร้องขอ

“ผมเคยรับโทรศัพท์ทุกสาย เข้าประชุมทุกงาน ตอบอีเมลทุกฉบับ รู้ตัวอีกทีคือ ไม่มีงานไหนที่เรียกว่าทำได้สมบูรณ์เลย”

อ. อดัมยกตัวอย่างกรณีของตัวเอง เพราะงานของเขาคือให้คำปรึกษา นั่นย่อมดึงดูดคนมากมายให้เข้ามาขอความช่วยเหลือ

สิ่งที่ควรทำคือ ‘จัดลำดับไว้ในใจ ว่าการขอความช่วยเหลือแบบไหนที่ต้องให้’

เมื่อมีการร้องขอใดที่ไม่ได้อยู่ในลำดับของเขา เขาจะปฏิเสธ

เพราะทุกคนล้วนมีงานของตัวเอง หากเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการช่วยเหลือคนอื่น หรือให้ความร่วมมือกับงานของคนอื่นมากเกินไป อาจทำให้ลืมว่าจริงๆ แล้ว เราต้องทำอะไร อะไรคืองานของเราจริงๆ หรืออะไรที่ทำแล้วได้ประโยชน์สูงสุด

สุดท้าย นั่นย่อมส่งผลเสียกับเราในที่สุด

ฉะนั้น ครั้งต่อไปก่อนรับโทรศัพท์ ตอบรับการประชุม หรือยุ่งกับอีเมล

ลองหยุดนิ่งแล้วถามตัวเองสักนิดว่า “นั่นงานของเราหรือเปล่า?”

2. “ไม่” เปิดดูมือถือ หากคุณไม่รู้ว่าจะหยิบขึ้นมาทำอะไร

“ไม่” เปิดดูมือถือ หากคุณไม่รู้ว่าจะหยิบขึ้นมาทำอะไร

นั่งว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ก็หยิบมือถือขึ้นมาเปิดดู

ถ้าคุณมีพฤติกรรมแบบนี้ ลองหยุดทำ แล้วบอกตัวเองในใจว่า เราจะเปิดมือถือขึ้นมา เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะเปิดขึ้นมาทำอะไรเท่านั้น

เพราะการหยิบมาไถไปมาแบบไม่มีเป้าหมายนี่แหละ คือตัวการที่ทำให้คนติดมือถือ

ในยุคที่คนเคยติดทีวี อ.อดัม บอกว่าเขาก็ใช้วิธีนี้ในการกำหนดตัวเอง ว่าจะเปิดทีวีเฉพาะตอนที่เขารู้ว่าจะเปิดเพื่อดูรายการอะไร

เมื่อมาถึงยุคออนไลน์ก็เช่นกัน ถึงแม้ในหนึ่งวันเขาต้องโพสต์เนื้อหาทั้งใน Facebook, Twitter และ Instagram มากมาย แต่เขาจะเข้ามาเมื่อต้องโพสต์เนื้อหา หรือเช็คข้อความเป็นครั้งคราวเท่านั้น

“มันทำไม่ได้ทันทีหรอกครับ ช่วงแรกๆ ผมก็มีเผลอหยิบขึ้นมา 2-3 ครั้ง แต่ฝึกไม่ทำให้เป็นนิสัย แล้วคุณจะพบว่าเรามีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นเยอะเลย”

เพราะตอนที่เราจมอยู่กับการไถมือถือ เราไม่ทันได้คิดหรอกว่ามันนานแค่ไหน

3. “ไม่” ทำงานในเวลาของครอบครัว

“ไม่” ทำงานในเวลาของครอบครัว

ถ้าคุณเป็นคนบ้างาน ข้อนี้จะยากที่สุด

ถึงได้มีคนคิด ‘To do list’ ขึ้นมา เพื่อช่วยบริหารเวลาใน 1 วัน แต่ยอมรับเถอะว่ามีไม่กี่คนที่ทำได้

อ.อดัม จึงเสนอ ‘To don’t list’ ที่ง่ายกว่าคือ กำหนดเวลาที่แน่นอนสำหรับครอบครัวไปเลย วันละ 3-4 ชั่วโมง เช่น

‘6โมง – 4ทุ่ม ต้องไม่ทำงาน’ แต่จะใช้ไปกับการเล่นกับลูก ทานอาหารเย็น และพูดคุยกับภรรยาหรือพ่อแม่

หลังจากนั้นเราจะทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำก็ได้ ขอแค่ช่วงเดียวที่ ‘ต้องไม่ทำงาน’

หากคุณทำได้ จะพบว่า นั่นคือช่วงเวลาที่คุณจะรอคอย แล้วคุณจะสามารถจัดการทุกอย่างให้เสร็จ เพื่อช่วงเวลานั้น

4. “ไม่” เล่นเกมออนไลน์ ถ้าจะเล่นต้องกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน

“ไม่” เล่นเกมออนไลน์ ถ้าจะเล่นต้องกำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน

“อย่าเข้าใจผิดว่าผมต่อต้านการเล่นเกม จริงๆแล้วผมติดเกมมาก และน้องสาวผมก็เล่นเกมเก่งมากขนาดเป็นแชมป์ระดับประเทศ”

แต่เราต้องนิ่งและถามตัวเองหน่อยว่า เราเล่นเพื่อเป้าหมายนั้นหรือเปล่า

อ.อดัมพบว่า ตัวเขาเล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น ไม่สามารถไปถึงระดับแข่งขันได้

แต่ความเพลิดเพลินมักพาเขาไปไกลเกินพอดี

เคยมั้ยที่บอกตัวเองว่า ‘เล่นแป๊บเดียว เพื่อคลายเครียด’ รู้ตัวอีกทีผ่านไปแล้ว 2-3 ชม.

ลองพิจารณาถึงสิ่งที่ต้องทำใน 1 วันดู เพื่อหาคำตอบว่าเกมคือสิ่งที่กินเวลาหรือไม่

“ถ้าคุณไม่หลอกตัวเอง ผมเชื่อว่าคำตอบคือใช่แน่นอน”

แต่สำหรับคนติดเกมอย่างอ.อดัม เขาทำให้เกมเป็น ‘To don’t list’ ได้อย่างไร

“ผมลบ app ออกเลย แต่ในช่วงแรก ก็ดาวน์โหลดกลับมาใหม่ เพราะทำใจไม่ได้

ลบ และ ดาวน์โหลดใหม่ เป็นวงจรแบบนั้น แต่เราจะทำได้ไม่นานหรอกครับ แล้วจะขี้เกียจโหลดไปเอง อยู่ๆ วันหนึ่ง ผมก็เลิกเล่นไปเลย”

ซึ่งหลังจากไม่ต้องใช้เวลากับเกม เขาเลยเหลือเวลาค้นคว้า เพื่อเขียนหนังสือเล่มใหม่

แต่ทั้งนี้ อ.อดัมไม่ได้เลิกเล่นแบบถาวร เขากำหนดเวลาไว้ว่าต้องเล่นเกมปีละครั้ง ในวันเกิดน้องสาว

ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมของครอบครัว

 

นี่ไม่ใช่ ‘To don’t list’ มาตรฐานสำหรับทุกคน

สิ่งสำคัญคือ ให้เราคิดว่าใน 1 วัน เรามีกิจกรรมอะไรที่ทำอย่างเกินพอดี หรือทำแล้วเสียเวลาไปอย่างไม่เกิดประโยชน์มั้ย ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพงานและส่วนตัว

จากนั้นลองตั้งเป็น ‘To don’t list’ สิ่งที่จะไม่ทำ ของตัวองดู

เพราะโดยธรรมชาติแล้ว การบอกตัวเองว่า ‘อย่าทำ’ ใช้พลังน้อยกว่า ‘จงทำ’ เสมอ

 

อ้างอิง: