life

ในความรัก เรามักต้องการความชัดเจนเป็นธรรมดา

เมื่อใครก็ตามเริ่มต้นสานสัมพันธ์ แล้วความสัมพันธ์ครั้งนั้นแน่นแฟ้นมากขึ้นทุกวันจนกลายเป็นความรู้สึกพิเศษกับใครสักคน ถึงจุดหนึ่ง ใจของเราย่อมเรียกร้องหานิยามความสัมพันธ์ ด้วยคำสั้นๆ ว่า ‘แฟน’ เพราะความชัดเจนในสถานะความสัมพันธ์ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยยืนยันความจริงจังและจริงใจในความรัก คล้ายเป็นการปักหมุดหมายหรือตกลงร่วมกันว่า ต่อจากนี้ไป เราจะทุ่มเทให้ทั้งเวลาและแบ่งปันความรู้สึกระหว่างกัน ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่ขั้นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งได้ 

แต่บางครั้ง ความรู้สึกพิเศษกับใครบางคน หากเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อาจเป็นเพียงห้วงอารมณ์ที่เราอยากเก็บเงียบๆ ไว้ในใจคนเดียวเท่านั้น หมายความว่า ไม่ได้ต้องการหาคำอื่นใดมาอธิบายหรือจำกัดความเป็นสถานะ

มองดูอย่างผิวเผิน ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียกเช่นนี้ ไม่น่าจะทำให้เกิดปัญหาอะไรตามมา

ใช่ ทุกอย่างยังคงราบรื่นดี หากทั้งสองฝ่ายเต็มใจยอมรับสภาพความสัมพันธ์ที่ปราศจากการผูกมัดใดๆ ได้ตั้งแต่แรก รวมถึงตลอดเวลาที่ทั้งคู่ตกลงอยู่ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้

ตรงกันข้าม ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เริ่มไม่พอใจถึงขนาดตั้งคำถามขึ้นว่า ‘สรุปแล้วเราคบกันในฐานะอะไร?’ หรือ ‘เราเป็นอะไรกันแน่?’ เพราะต้องการพัฒนาความสัมพันธ์มากขึ้นไปอีกขั้น ทุกอย่างจะกลับตาลปัตรจนกลายเป็นปัญหาชวนวุ่นวายใจทันที

เป็นไปได้ว่า กำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบ situationship

พอลเล็ตต์ เชอร์แมน (Paulette Sherman) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ อธิบายความหมายของ situationship ไว้ว่า เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยไม่ได้กำหนดสถานะ ไม่สนใจอนาคต ไม่จำเป็นต้องรู้จักครอบครัวหรือเพื่อนของอีกฝ่าย และไม่ต้องการศึกษาดูใจมากไปกว่านี้ สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด คือ เวลาที่ทั้งคู่ได้ใช้ร่วมกัน

ขณะที่ โจนาธาน อัลเพิร์ท (Jonathan Alpert) นักจิตบำบัดชาวอเมริกัน ได้เปรียบเทียบ situationship กับความสัมพันธ์อื่นๆ ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะทำให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า เป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างความรักลึกซึ้งที่มีการผูกมัดทางอารมณ์ กับความรู้สึกดีที่เป็นมากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ friends with benefits หรือเพื่อนที่ร่วมหลับนอนด้วยกันได้

แล้ว situationship นั้น ดีต่อใจหรือเป็นภัยต่อความสัมพันธ์

คำตอบขึ้นอยู่กับมุมมองความรักของแต่ละคน สำหรับคนที่ไม่ชอบความสัมพันธ์แบบผูกมัด อาจมองเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้ได้รู้จักคนใหม่ๆ ที่มีทัศนคติและมีรูปแบบการใช้ชีวิตคล้ายๆ กัน อยู่ด้วยแล้วรู้สึกดี เพราะไม่ต้องพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร ส่วนคนที่จริงจังกับความสัมพันธ์ จะไม่ชอบ situationship นอกจากไม่มีสถานะที่ชัดเจนแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีอนาคตด้วย

ถึงตรงนี้ หากใครสงสัยว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ คือ situationship หรือเปล่า ลองสำรวจความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ตามข้อสังเกตต่อไปนี้

(1) เริ่มต้นด้วยการรู้จักกัน แบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจในชีวิต ทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันได้ เช่น ดูหนัง กินข้าว แม้กระทั่งไปเที่ยว แต่ไม่เคยพาไปแนะนำครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนให้รู้จัก และไม่ต้องการป่าวประกาศความสัมพันธ์ให้ใครรู้

(2) คลุมเครือเป็นที่หนึ่ง เพราะไม่มีชื่อเรียกสถานะ ไม่มีคำว่า ‘แฟน’ หลุดออกมาจากปาก และไม่สนใจคำนี้ด้วย แม้จะใช้เวลาร่วมกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเป็นประจำ แต่ไม่เคยระบุความสัมพันธ์นี้ว่าแฟนหรืออะไร

(3) ลืมเรื่องอนาคตไปได้เลย เพราะสนใจแต่ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นตรงหน้าเท่านั้น เหงาก็แค่นัดมาหา พรุ่งนี้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ หากต้องการวางแผนทำอะไรสักอย่าง จะไม่ไถ่ถามความคิดเห็นจากอีกฝ่าย และไม่รู้ว่าจะมีกันไปอีกนานแค่ไหน

(4) ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหลักสำหรับพูดคุยกัน แต่ไม่เคยเปิดตัวอีกฝ่าย ไม่เคยลงรูปคู่ ไม่พร่ำเพ้อถึงความสัมพันธ์ใดๆ

(5) แม้จะเคยนอนเตียงเดียวกัน หรือไปค้างที่บ้านของอีกฝ่าย แต่ไม่คิดมีเพศสัมพันธ์ และไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ หากใครพยายามปลุกเร้าทางเพศ เท่ากันกำลังสร้างการผูกมัดทางความรู้สึก ผลคืออาจทำให้ความสัมพันธ์สิ้นสุดลง

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคนมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างปี 1981-1996) รวมถึงคนที่เกิดหลังจากนี้ ถึงมีแนวโน้มพอใจกับความสัมพันธ์แบบ situationship

เหตุผลที่เป็นไปได้ คือ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มความท้าทายให้การใช้ชีวิต เพราะต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระ ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกดีมากกว่า หากได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการจริงๆ คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ใส่ใจว่าท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตจะต้องรีบตกลงปลงใจกับใครเสมอไป

บทสรุปของความสัมพันธ์แบบ situationship จึงอาจไม่แตกต่างจากเพลง ‘ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน’ ของ ดา เอ็นโดรฟิน และเพลง ‘ระหว่างเราคืออะไร’ ของ ลิเดีย เพราะไม่ว่าจะรู้สึกรักมากขึ้นขนาดไหน ก็หาคำตอบของสถานะในความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ดี 

และในความรัก ที่เรามักมองหาแต่ความชัดเจน ก็อาจทำให้เราหลงลืมไปว่า ความไม่ชัดเจน ก็เป็นความชัดเจนอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

 

อ้างอิง