life

ไม่เห็นกับตาก็คงไม่เชื่อ ไม่เจอกับตัวก็คงไม่รู้ว่าการก้าวออกมาจากความสัมพันธ์แย่ๆ นั้น ‘ไม่ใช่เรื่องง่าย’

ความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic relationship) นั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทำร้ายร่างกาย การนอกใจ การข่มเหง ต้องการจะควบคุมชีวิตของอีกฝ่าย ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นพิษรูปแบบไหน แน่นอนว่าความสัมพันธ์นั้นจะทำให้ทั้งกายและใจค่อยๆ บอบช้ำเป็นแน่

ความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เรารู้สึกเคารพตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองและได้รับการสนับสนุนในทุกๆ ด้าน แม้จะมีความขัดแย้งกันบ้างแต่ท้ายที่สุดแล้วนั่นจะนำไปสู่ความเข้าใจและความแน่นแฟ้น ตรงกันข้ามความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจะส่งผลทางลบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ รู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ยังดีไม่พอ ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะได้รับความรักและยิ่งนานวันไปยิ่งทำให้รู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลงเรื่อยๆ 

เคยสงสัยไหมว่า แม้จะโดนกระทำขนาดนี้แต่ทำไมบางคนถึงเลือกที่จะทนอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ ยอมถูกทำร้าย ทนฟังคำพูดบั่นทอนจิตใจอยู่ซ้ำๆ จนเจ็บปวดอยู่แบบนั้น โดยไม่ยอมก้าวออกมาสักที 

ในมุมมองของคนนอก เราอาจไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่อยู่ในภวังค์รักถึงไร้เหตุผลอย่างน่าประหลาด เป็นไปได้ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เจอคือความ Toxic และสำหรับบางคนแล้วไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รู้ตัว แต่ยังมี ‘เหตุผล’ ที่ทำให้ยังก้าวออกไม่ได้ อย่างน้อยก็ในตอนนี้ แล้วเหตุผลที่ว่าคือออะไร  ? เราลองไปสำรวจกัน…

 

กลัวการอยู่คนเดียว

อาจเพราะอยู่ด้วยกันมานาน การอยู่คนเดียวจึงเป็นเรื่องยากเมื่อต้องเลิกรา และทำให้หลายคนไม่ยอมเดินออกจากความสัมพันธ์เป็นพิษ เพราะรู้สึกสิ้นไร้หนทาง เมื่อปราศจากคนรัก หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร เพราะได้ทำตัวเองหล่นหายไปเสียแล้ว ลืมไปแล้วว่าแต่ก่อนตอนอยู่คนเดียวชอบไปไหน ทำอะไร จึงยากที่ต้องค่อยๆ เริ่มกลับมาทำความรู้จักตัวเอง และเริ่มต้นอยู่คนเดียวให้เป็นอีกครั้ง ซึ่งบางคนอาจรู้สึกว่ามันช่างยากลำบากกว่าการต้องทนอยู่กับคนที่เป็นพิษเสียอีก  

รักษาสถานะเพื่อ ‘คุณค่า’ ทางสังคม

หลายคู่เมื่อแต่งงานกันแล้วพบว่าชีวิตรักไม่ได้เป็นดั่งฝัน และรู้สึกเป็นทุกข์ แม้อยากจะเดินออกมาแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องตัดสินใจรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น สถานะทางการเงิน เพื่อความเป็นอยู่ลูก หรือพยายามคงสถานะการแต่งงานเอาไว้ ไม่ให้สังคมครหาว่ารักษาชีวิตแต่งงานเอาไว้ไม่ได้ ทั้งที่จริงแล้วการแต่งงานไม่ใช่ทุกอย่าง และการมีคู่รักก็ไม่ใช่เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของชีวิตมนุษย์ 

 

เชื่อว่าอีกฝ่ายจะปรับตัวได้

ความอดทนมีอยู่ 100 แม้เขาเอามันไปแล้ว 99 แต่มันก็ไม่เคยหมดสักที ราวกับว่า 1 เปอร์เซ็นที่เหลืออยู่นั้นเป็นจำนวนอนันต์ ความเห็นอกเห็นใจคนรักโดยไม่กลัวว่าจะต้องเจ็บปวดนั้น มี ‘ความรัก’ เป็นกลไกขับเคลื่อน เพราะรักถึงยอม เพราะรักถึงทน เพราะรักถึงให้อภัย อีกทั้งในมุมมองของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์นี้ พวกเขาไม่ได้มองเห็นแต่เรื่องแย่ๆ ของอีกฝ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นยังมีเรื่องดีๆ มากมาย ที่พวกเขาหวังว่ามันจะเกิดขึ้นได้อีกครั้งหากว่าให้อภัยอีกฝ่ายและเปิดโอกาสให้ปรับปรุงตัว 

แม้จะเจอคู่รักที่เป็นพิษ แต่หลายคนก็เชื่อว่าอีกฝ่ายจะปรับตัวให้ดีขึ้นได้ เมื่อขอโทษแล้วก็เริ่มกันใหม่ จึงให้โอกาสคนรักแก้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และท้ายที่สุด สำหรับบางคู่แล้วก็จะกลายเป็นวงจรของการทำผิด ขอโทษ ให้อภัย และกลับมาทำผิดใหม่ บั่นทอนจิตใจแบบนี้ไปเรื่อยๆ และเมื่อต้องทุ่มเทเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์นี้เอาไว้ หลายคนจึงเลือกที่จะไม่เดินออกมา เพราะการจบความสัมพันธ์อาจหมายถึงการยอมรับความ ‘พ่ายแพ้’

เพราะความ Toxic เป็น ‘ของหวาน’

สืบเนื่องจากเหตุผลด้านบน บางครั้ง ‘ช่วงเวลาดี’ ที่มาพร้อมกับความสัมพันธ์เป็นพิษก็เปรียบเหมือน ‘ของหวาน’ ที่ชวนให้ลิ้มลอง สำหรับบางคนแล้วเหตุผลที่พวกเขาไม่สามารถก้าวออกจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้นั้น เป็นเพราะพวกเขากำลังรอพบกับช่วงหวานชื่น รอที่จะลิ้มรสน้ำหวานแสนอร่อยอีกครั้งโดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะป้อนให้อีกเมื่อไหร่ก็ตาม 

เกรกอรี เบิร์นส์ (Gregory Berns) เป็นจิตแพทย์ที่ทำการวิเคราะห์การหลั่งสารโดพามีนในสมอง เขาระบุว่ามันสัมพันธ์กับ ‘รางวัลที่คาดเดาได้’ และ ‘รางวัลที่คาดเดาไม่ได้’ ซึ่งในบริบทนี้รางวัลที่คาดเดาไม่ได้เปรียบได้กับการที่ฝ่ายที่เป็นพิษมักจะสำนึกผิด ขอโทษและปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น จนทำให้รักหวานชื่นในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับอีกฝ่าย ราวกับได้ลิ้มลองของหวานที่ชื่นใจและทำให้โดพามีนหลั่งออกมา ผลวิจัยพบว่าสมองของมนุษย์เรามักจะตกหลุมพรางของรางวัลที่คาดเดาไม่ได้ จึงทำให้เรามักจะเฝ้ารอการกระทำดีๆ จากอีกฝ่ายอยู่เสมอ และแม้จะเดินออกจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้ แต่เมื่อสมองเสพติดการปฏิบัติแบบเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย คาดเดาไม่ได้เช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะกลับไปสู่วังวนความสัมพันธ์เป็นพิษแบบเดิมได้อีกครั้ง   

เติบโตอย่างไม่มั่นคง และเคยชินกับการ ‘อดทน’

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนถึงเจอแต่คู่รักที่เป็นพิษ ? บางครั้งมันเป็นสิ่งที่โชคชะตากำหนด และบางครั้งก็เป็นผลพวงของ ‘การเติบโต’ 

หากคนคนหนึ่งโตมาในครอบครัวที่มอบความรักให้อย่างเต็มเปี่ยม คนคนนั้นก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองโดยอัตโนมัติและเรียนรู้ได้ว่าฉันมีสิทธิ์ที่จะได้รับความรักดีๆ จากคนรอบข้าง เป็นธรรมดาที่จะดึงดูดแต่คนรักดีๆ เข้ามาในชีวิต ในขณะเดียวกันหากเติบโตมาในครอบครัวที่มีความขัดแย้งและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งทำให้คนคนหนึ่งต้องพยายามเพื่อที่จะได้รับความรักจากพ่อและแม่ หรือพยายามแก้ไขความขัดแย้งในครอบครัวตลอดเวลา สิ่งที่ได้พบเจอมาอาจสอนให้คนคนนั้นเข้าใจว่าต้องพยายาม ต้องทำตัวเองให้ดีพอเพื่อให้ได้รับความรัก และกลายเป็นคนที่เห็นแก่คนอื่นเสมอ สามารถอภัยให้กับความรุนแรงต่างๆ ได้ และรู้สึกว่าตนเองรับมือกับความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงได้ เฉกเช่นเดียวกับที่เคยรับมือกับความสัมพันธ์ครอบครัว ทำให้มักจะดึงดูดคู่รักที่คู่รักเป็นพิษเข้ามาอย่างไม่ทันได้รู้ตัว ไม่ทันได้ปฏิเสธเพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะรับมือกับคนแบบนี้  

 

รู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องก้าวออกจาก ‘ความสัมพันธ์เป็นพิษ’ 

ในมุมมองของคนที่อยู่นอกความสัมพันธ์เราคงไม่มีสิทธิ์บังคับให้ใครก้าวออกมาจากความสัมพันธ์เป็นพิษได้เดี๋ยวนั้น เพราะแต่ละคนล้วนมีเหตุผลของตัวเอง ยกเว้นว่าความสัมพันธ์นั้นรุนแรงถึงขั้นเข้าข่ายล่วงละเมิดและผิดกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าความสัมพันธ์นั้นจำเป็นต้องยุติลงทันที 

เราคงจะชี้ให้เห็นได้เพียงว่าหากอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษซึ่งเป็นเสมือนหนามทิ่มแทงให้ร่างกายค่อยๆ เป็นแผลเหวอะหวะทุกวัน นานไปจะค่อยๆ  ส่งผลด้านลบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เชื่อว่าสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นเป็นเลิศอยู่แล้ว เมื่อคนเราเริ่มรู้สึกว่าความสัมพันธ์นี้ทำให้ตัวเราเองสะบักสะบอม รู้สึกแย่จนทนไม่ไหว นั่นแหละคือเวลาที่ต้องตัดสินใจก้าวออกมา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ก่อนที่เราจะไม่เหลือแม้กระทั่งตัวของเราเอง  

ไม่ว่าวันนี้จะรู้สึกว่าความสัมพันธ์จะมีค่าแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ต้องพึงระลึกไว้ว่า ‘ตัวของเรา’ คือคนที่สำคัญที่สุดและเป็นคนที่เราสามารถมอบความรักให้ได้อย่างเต็มเปี่ยมโดยไม่ต้องกลัวว่าจะเสียใจ 

 

อ้างอิง