กล่องสีเหลืองใบใหญ่ที่ด้านในเต็มไปด้วยสมบัติของผู้ล่วงลับถูกส่งต่อให้กับของญาติของเขา ด้วยความเชื่อที่ว่า ในวันที่เขาจากไป แม้ผนังห้องเคยอยู่จะถูกปูทับด้วยวอลเปเปอร์ผืนใหม่ ข้าวของเพียงไม่กี่ชิ้นนั้นจะเป็นสิ่งเตือนใจให้คิดถึงใครคนนั้นอยู่เสมอ
นั่นเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำงานของ ฮันจองอู (Han Jeong woo) และ ฮันกือรู (Han Geu-ru) สองพ่อลูกจาซีรีส์เรื่อง Move to Heaven ที่เพิ่งเข้าฉายใน Netflix เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จองอูเปิดกิจการเล็กๆ ชื่อ Move to Heaven เป็นบริการทำความสะอาดบ้านคนตาย (Trauma cleaner) โดยมีลูกชายเป็นผู้ช่วย นี่เป็นอาชีพที่มีอยู่จริงในเกาหลีใต้ และดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในประเทศ
ทุกๆ เช้าแห่งการเริ่มใหม่ อาจมีใครบางคนที่ไม่มีโอกาสได้ตื่นขึ้นมาอีกแล้ว ในห้องมีร่างที่แน่นิ่ง ถ้วยชามยังคงแช่อยู่ในอ่าง ขยะของเมื่อวานยังไม่มีใครเอาทิ้ง เข็มนาฬิกาเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในตอนนี้ ใครบางคนจากโลกนี้ไปอย่างเดียวดาย และงานเก็บกวาดครั้งสุดท้ายจึงตกเป็นหน้าที่ของพนักงานทำความสะอาด
เมื่อได้รับโทรศัพท์ว่าจ้างให้ไปเก็บกวาดบ้านผู้เสียชีวิต สองพ่อลูกก็รีบขนอุปกรณ์ทำความสะอาดใส่ท้ายรถตู้แล้วมุ่งหน้าไปยังที่เกิดเหตุ หลังจากที่ศพถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ตำรวจเก็บหลักฐานจนครบถ้วน เวลาทำงานของพวกเขาก็เริ่มต้นขึ้น พ่อกับลูกชายจะเอ่ยคำรำลึกถึงผู้ตายสั้นๆ แล้วเริ่มทำการเก็บกวาด แยกขยะใส่ถุงดำ ทำความสะอาดทุกจุดอย่างพิถีพิถัน เก็บของสำคัญลงกล่องแล้วส่งคืนให้กับญาติ
งานทำความสะอาดของบางบริษัทอาจรวมไปถึงการความสะอาดจุดเกิดเหตุฆาตกรรม ทำความสะอาดบ้านหลังจัดปาร์ตี้ แต่ละอย่างล้วนเป็นงานหนักหนาเกินกว่าจะรับมือด้วยเครื่องดูดฝุ่นและไม้ถูบ้าน จะเห็นได้ว่าห้องเก็บอุปกรณ์ในบ้านของกือรูนั้น มีเครื่องมือทำความสะอาดที่หลากหลาย ตั้งเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อไปจนถึงตู้อบขนาดใหญ่ สำหรับอบแห้งธนบัตรเปื้อนเลือดจนสะอาดเหมือนใหม่ และนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
ในสังคมที่ผู้คนไม่มีเวลามาสนใจกันเท่าไหร่นัก งานทำความสะอาดบ้านคนตายจึงกลายเป็นงานหิน เพราะหลายๆ กรณีกว่าจะพบศพก็ล่วงเลยไปหลายวัน จนทำให้เลือดและน้ำหนองที่ไหลออกจากร่างกายแห้งเกรอะกรังเป็นคราบติดพื้น ซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคชั้นดี นักเก็บกวาดจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษแบบครบครัน สวมชุดป้องกันเชื้อโรคอย่างรัดกุม รู้วิธีรับมือกับหนอนที่อาจไต่ยั้วเยี้ยบนฟูกนอนผู้ตายเหรือวิธีกำจัดคราบเลือดที่ติดแน่นในอ่างอาบน้ำได้อย่างเชี่ยวชาญ
แม้ว่าจะไม่มีวิชาสอนในมหาวิทยาลัย แต่พนักงานทำความสะอาดจำเป็นต้องรู้วิธีเบื้องต้นในการเก็บกวาดห้องผู้ตาย เคอร์ติส เครกคลู (Curtis Kreklau) วัย 31 ปี เจ้าของบริษัททำความสะอาดแห่งหนึ่งในแคนาดา มักจะส่งพนักงานของเขาไปอบรมเพิ่มเติมกับ American Bio Recovery Association ทุกปี เพราะที่นั่นจะให้คำแนะนำวิธีรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองและรับมือกับขยะที่ปนเปื้อนได้อย่างดี
ยิ่งจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากเท่าไหร่ บริษัทลักษณะนี้ก็ยิ่งเติบโตตามไปเท่านั้น เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนใช้ชีวิตคนเดียวและตายจากไปเงียบๆ จนมีศัพท์เฉพาะภาษาเกาหลีใช้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า โกดกซา (Godoksa)
ลีโฮซุน (Lee Ho-Sun) หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้สูงอายุเกาหลีกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผู้คนปรับตัวได้อย่างยากลำบาก ชาวเกาหลีใต้มักจะเกษียณอายุก่อนกำหนด หย่าร้าง มีสุขภาพที่ย่ำแย่ลง ส่วนอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวก็สูงขึ้นเรื่อยๆ สภาพสังคมที่ตึงเครียดกำลังผลักให้คนออกมาใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในเมืองใหญ่
หลังจากที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับค่อยๆ แย่ลง มีผู้สูงอายุราวๆ 1.2 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง พวกเขาเหล่านั้นเสียชีวิตคนเดียวในห้องเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในหมู่คนหนุ่มสาวก็เช่นเดียวกัน จำนวนของวัยรุ่นและและวัยกลางคนที่อาศัยตามลำพังกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถิติระบุว่าในแต่ละปีมีคนหนุ่มที่อายุระหว่าง 20 – 39 ปี จบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวถึง 14 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรเกาหลีใต้ที่มีอยู่ 50 ล้านคน
ปรากฎการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน และมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า โคโดคุชิ (Kodokuchi)
มาซากิ อิชิโนเสะ (Masaki Ichinose) สมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ Center for Life and Death แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเล่าว่า สังคมญี่ปุ่นกำลังแตกสลายไม่ต่างอะไรกับเกาหลี โครงสร้างของครอบครัวกำลังเปลี่ยนไป หนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่อยากมีลูก จึงทำให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาเหล่านั้นมักใช้ชีวิตบั้นปลายตัวคนเดียวในอพาร์ตเมนต์แคบๆ ที่รายล้อมด้วยขยะกองโต สถาบันวิจัย NLI ในโตเกียวประเมินว่าในแต่ละปีมีชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากถึง 30,000 คน
พวกเขาห่างเหินกับเพื่อนและญาติ กว่าจะมีคนรู้ว่าจากโลกนี้ไปแล้วคงเป็นตอนที่กลิ่นเหม็นเริ่มเล็ดลอดออกมาจากห้อง ภาระหนักอึ้งต่อมาตกเป็นของเจ้าของอพาร์ตเมนต์ ที่จะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบริษัทมาทำความสะอาด ประเทศญี่ปุ่นมีการตายในลักษณะนี้มากเสียจนบริษัทประกันภัยบางแห่งต้องรวมบริการทำความสะอาดห้องพักคนตายไว้ในแพ็คเกจคุ้มครองด้วย เมื่อมีลูกบ้านเสียชีวิตในห้อง เจ้าของตึกจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มเอง
คราบต่างๆ ถูกชำระล้างหมดจด กลิ่นน้ำยาปรับผ้านุ่มในตู้เสื้อผ้าถูกแทนที่ด้วยกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ หากเป็นไปได้วอลเปเปอร์และกระเบื้องยางปูพื้นที่เปื้อนเลือดก็จะถูกลอกออกไปทิ้งด้วยเช่นกัน เมื่อห้องหับกลับมาเปลือยเปล่าจนมองไม่เห็นร่องรอยของการใช้ชีวิตก่อนหน้านี้ งานของนักทำความสะอาดก็เป็นอันว่าเสร็จสมบูรณ์
ชีวิตหลายขวบปีของใครบางคนจบลงไปง่ายๆ แบบนั้น ทุกตารางเมตรของบ้านถูกจับจองโดยผู้อยู่อาศัยคนใหม่คนแล้วคนเล่า จนเหมือนว่าไม่เคยมีเขาอยู่ที่นั่น หลักฐานเดียวที่บ่งบอกว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้คงเป็นเพียงในห้วงความทรงจำของคนที่ยังหวนคิดถึงใครคนนั้นอยู่เสมอ
อ้างอิง
- Maryse Zeidler. Odd jobs: Trauma scene cleaner. https://bit.ly/3fUJiit
- Anna Fifield. Japan’s lonely deaths: A growing industry is now devoted to cleaning up after Japanese people dying alone. https://bit.ly/3uE8JtY
- Christine Kim. South Koreans face lonely deaths as Confucian traditions fade. https://reut.rs/3uBWtdm
- Yonhap. Lonely deaths of middle-aged, youth brackets stand out amid single-person households. https://bit.ly/3uBs2V1