life

คุณมีสมาธิจดจ่อ และรู้สึกสงบเยือกเย็นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? ถ้าช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นนานมาแล้ว เราอยากให้คุณรู้จัก ‘เซน’

เซน คืออะไร?

เมื่อพูดถึง เซน (Zen) หลายคนอาจนึกถึง ‘เอนโซ่’ รูปวาดวงกลมที่ไม่สมบูรณ์อันเกิดจากการตวัดปลายพู่กัน

บ้างนึกถึง ‘โกอาน’ ปริศนาธรรมชวนงุนงงที่ต้องอาศัยการตีความ

หรือนึกถึง ‘ซาเซน’ การนั่งสมาธิอันเป็นพื้นฐานของการเตรียมจิตเพื่อพิจารณาสภาวะและปริศนาธรรม

enso เอนโซ่
เอนโซ่

แต่ถ้าว่ากันตามนิยาม เซนคือนิกายหนึ่งในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน เชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากพระมหากัสสปะ บุคคลเพียงคนเดียวที่เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าแสดง หลังพระองค์ทรงยกดอกบัวขึ้นระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาโดยไม่ได้ตรัสสิ่งใด

ต่อมาธรรมะแบบ “เข้าใจได้ด้วยใจ โดยไม่ได้ต้องกล่าวอะไร” ก็เผยแพร่จากอาจารย์ถึงศิษย์จนกระทั่งมาถึงพระโพธิธรรม หรือที่คนจีนรู้จักในชื่อ ‘ตั๊กม้อ โจวซือ’

bōdhidharma พระโพธิธรรม
พระโพธิธรรม หรือ ตั๊กม้อ โจวซือ

วิถีแห่งเซน

นิกายเซนภายใต้การสอนของ ไดเซทสึ ไททาโร ซูซุกิ (鈴木 大拙) หรือที่รู้จักในชื่อ D.T. Suzuki ที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ The Zen Studies Society กล่าวไว้ว่า “หัวใจของการปฏิบัติเซน คือการทำ ซาเซน” หรือการนั่งสมาธิ

ไดเซทสึ ไททาโร ซูซุกิ D.T. Suzuki
ไดเซทสึ ไททาโร ซูซุกิ (鈴木 大拙)

โดยการทำซาเซนขั้นพื้นฐานที่ The Zen Studies Society อธิบายไว้ มีแค่ ‘ให้นั่ง และหายใจ…ด้วยความมีสติ’
กระทั่งปฏิบัติได้ชำนาญแล้ว ก็อาจใช้พื้นฐานดังกล่าวหลอมรวมเข้ากับอิริยาบถอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะเดิน ขณะกินข้าว หรือแม้แต่การทำงานทั่วไป ทั้งงานบ้านและงานประจำ

เมื่อทำซาเซนจนถึงจุดหนึ่ง ผู้ปฏิบัติก็จะ ‘เห็น’ ความจริง หรือที่เรียก ‘ซาโตริ’ ซึ่งเป็นการบรรลุธรรมในแบบของเซน เข้าสู่ภาวะไร้ตัวตน ว่างเปล่าบริสุทธิ์แบบ ‘ไร้กระจกให้ฝุ่นจับ’ เหมือนที่ท่านเว่ยหล่าง (หรือฮุ่ยเหนิง) ปรมาจารย์แห่งนิกายเซน ได้กล่าวไว้เป็นบทโศลกว่า

“เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์

ไม่มีกระจกเงาใส

เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น

ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร”

เซน ZEN
(Photo: pexels.com)

กระแสเซนที่เซนซ่าน

ตั้งแต่ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) บิดาแห่งแอปเปิล เปิดเผยว่า ใช้แนวคิดแบบเซนในการออกแบบไอโฟน และตัวเขาเองก็ยังปฏิบัติซาเซนอยู่เป็นนิจในชีวิตประจำวัน วิถีแห่งเซนก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก

steve jobs สตีฟ จ็อบส์
สตีฟ จ็อบส์ ขณะอยู่ในบ้าน ปี 1982
(photo: evalinux.wordpress.com)

จ็อบส์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ตามหลักของเซน การมีจิตของผู้เริ่มต้น (Beginner’s Mind) เป็นสิ่งมหัศจรรย์”

เพราะจิตของผู้เริ่มต้นจะมองเห็นตามจริง บริสุทธิ์ปราศจากอคติ ทำให้สามารถพิจารณาหรือตระหนักถึงแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ เป็นจิตที่พร้อมจะเรียนรู้และเปิดกว้าง ซึ่งส่งผลให้เขาสามารถคิดค้น ‘สิ่งใหม่’ ได้

หลังจากนั้น ‘เซน’ ก็กลายมาเป็นคีย์เวิร์ดการตลาดขายดี จนหนังสือมากมายหยิบยกเอาเซนมาหลอมรวมกับศาสตร์ต่างๆ เช่น

Zen เซน
เซนแห่งความสร้างสรรค์ (The Zen of Creativity: Cultivating Your Artistic Life)
Zen Archery เซน
เซนในศาสตร์แห่งการยิงธนู (Zen in the Art of Archery)
Zen Golf ตีกอล์ฟ เซน
ตีกอล์ฟอย่างเซน (Zen Golf: Mastering the Mental Game)

หรือแม้กระทั่งเซนสำหรับคนรักแมวก็มีให้เห็น

Zen เซน
วิถีเซนสำหรับคนรักแมว (Zen Cats: Meditations for the Wise Minds of Cat Lovers)

โดยเนื้อหาของ เซน ที่ห่มคลุมด้วยจุดประสงค์ทางการตลาด อาจจะไม่ได้คาดหวังที่จะบรรลุ ‘ซาโตริ’ แต่หวังผลในแง่ของความว่าง ความเปิดกว้าง และความสงบสุขระหว่างทางที่ได้จากเซน อันเป็นกิจกรรมที่พบได้ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่น เช่น การจัดสวนเซน การชงชา การจัดดอกไม้ (อิเคบานะ) ไปจนถึงวิถีดาบซามูไร

และไม่ว่าเซนจะถูกนำไปประยุกต์แบบไหน การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเข้าถึงภาวะความสงบเยือกเย็น ตื่นรู้ คือใจความสำคัญที่คงอยู่เสมอ

เข้าถึงเซน

การจะเข้าถึงเซนยังคงเป็นปริศนาสำหรับผู้ไม่รู้ แต่ผู้รู้จะกล่าวถึงเซนว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องแสวงหา เพราะอยู่ในทุกที่ทุกขณะเหมือนที่ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “ในการที่จะบรรลุความเป็นพุทธะนั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องใช้ความพยายามอย่างจงใจ มีวิธีเดียวเท่านั้นคือปฏิบัติภาระหน้าที่มีอยู่ไปตามปกติธรรมดา

“กล่าวคือ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ใส่เสื้อผ้า กินข้าว และเมื่อเหนื่อยก็ให้พัก ปุถุชนธรรมดาจะหัวเราะเยาะเธอ แต่ผู้มีปัญญาจะเข้าใจ”

zen garden
สวนเซนใน Portland Japanese Garden, สหรัฐอเมริกา
(photo: commons.wikimedia.org)

 

อ้างอิง:

 

FACT BOX

  • “เซน” เป็นภาษาญี่ปุ่น มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ฉาน” ซึ่งเป็นภาษาจีนที่ถอดมาจากคำว่า “ธยาน” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต มีความหมายเดียวกับคำว่า “ฌาน” หมายถึงจิตที่มีความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว
  • นิกายเซนแยกออกได้ 3 สายใหญ่ๆ ได้แก่ รินไซ  โซโต้ และโอบากุ ในญี่ปุ่นมีคำกล่าวว่า “รินไซสำหรับโชกุน โซโต้สำหรับชาวนา” ซึ่งสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างเซน 2 สาย โดยสาย รินไซ จะเน้นวิถีการฝึกดาบและศิลปะการป้องกันตัว ขณะที่สาย โซโต้ จะเน้นการนั่งทำซาเซนหรือขบคิดปัญหาโกอาน ซึ่งเป็นวิถีที่คนทั่วไป สามารถปฏิบัติได้ง่ายกว่า ส่วนเซนสาย โอบากุ จะเน้นเรื่องการสวดมนต์ ถือศีลกินเจ และฝึกฝนผ่านศิลปะการชงชา