pe©ple

“ฉันรู้ดีว่าใครสักคนต้องกล้าริเริ่ม และฉันตัดสินใจที่จะไม่ลุกขึ้น”

มองในทศวรรษนี้ ภาพของหญิงผิวดำนั่งยิ้มแย้มอยู่บนรถบัสประจำทางอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ใช่ในช่วงทศวรรษ 1950 ในอเมริกา ที่การมีที่นั่งอย่างเท่าเทียมบนรถบัสของคนผิวดำเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

Photo: DON CRAVENS / TIME LIFE

 

ณ มอนต์โกเมอรี่, อลาบามา 1 ธันวาคม 1955 หญิงคนดำชาวอเมริกันนาม โรซ่า พาร์คส์ (Rosa Parks) ตัดสินใจปฏิเสธคำขอของคนขับรถบัส ที่ขอให้เธอสละที่นั่งของเธอให้แก่ผู้โดยสารคนขาว การนั่งลงเพื่อยืนหยัดต้านอยุติธรรมของเธอ กลายเป็นการจุดชนวนให้ความเคลื่อนไหวที่ชื่อ The Montgomery Bus Boycott ซึ่งเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนดำที่โดนกดขี่มาตลอดประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา และทำให้เธอกลายเป็นตัวละครสำคัญของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ของทศวรรษนั้น เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกภาพไว้ได้โดยช่างภาพนาม ดอน คราเวนส์ (Don Cravens) ผู้ทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้แก่นิตยสาร Life อยู่ทางตอนใต้ของอเมริกา และมันก็ได้กลายเป็นภาพที่ถูกจดจำมากที่สุดภาพหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

โรซ่า พาร์คส์ คือใคร?

โรซ่า พาร์คส์ เกิดในปี 1913 ในครอบครัวที่มีแม่เป็นครูและพ่อเป็นช่างไม้ของรัฐอลาบามา ซึ่งสามารถสืบย้อนกลับไปสู่บรรพบุรษที่เคยเป็นทาส ในวัยเด็กเธอต้องทุกข์ทรมานกับสุขภาพที่ย่ำแย่จากโรคต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังตลอดเวลา เธอเติบโตในไร่แห่งหนึ่งนอกเมืองมอนต์โกเมอรี่ จนกระทั่งได้เข้ามามีส่วนร่วมในขบวนการสิทธิพลเมือง โดยเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะทำงานขององค์กรสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของประชาชนผิวสี หรือ National Association for the Advancement of Colored People (NAACP) ในฐานะเลขานุการ

Photo: snl.no

ครั้งหนึ่งเธอเคยเล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่ทำให้เธอได้เห็นและตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างคนผิวดำและคนผิวขาวผู้มีอภิสิทธิ์ทุกอย่างเหนือล้ำกว่า โดยระลึกถึงครั้งที่เธออยู่ในวัยประถม ที่เด็กนักเรียนผิวขาวจะมีรถบัสมารับส่งไปโรงเรียน ส่วนเด็กนักเรียนผิวดำต้องเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองว่า 

“ฉันจะเห็นรถบัสผ่านไปทุกวัน แต่สำหรับฉัน นั่นคือวิถีของชีวิตที่เราไม่มีตัวเลือกอื่นใดนอกจากการจำใจยอมรับขนบดังกล่าว รถบัสคือสิ่งแรกที่ทำให้ฉันตระหนักว่ามันมีโลกที่แตกต่างกันระหว่างคนดำและคนขาว”

เธออธิบายไว้ในหนังสืออัตชีวะประวัติถึงเหตุการณ์ที่เธอยืนยันไม่ลุกให้คนขาวนั่งในรถบัสวันนั้นว่า “ฉันยังไม่แก่ ผู้คนมักมีภาพในหัวว่าฉันเป็นคนชราในตอนนั้น แต่ฉันแค่อายุ 42 ปี ไม่เลย ฉันไม่ได้เหนื่อย (ที่จะลุกให้คนขาวนั่ง) ความเหนื่อยหนึ่งเดียวของฉันคือ ความเหนื่อยหน่ายต่อการยอมแพ้”

พาร์คโดนจับจากเหตุการณ์ครั้งนั้น และการกระทำของเธอก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญต่อการเคลื่อนไหวของคนดำในอเมริกา

Photo: snl.no

อย่างไรก็ตามพาร์คส์ไม่ใช่คนแรกที่ปฏิเสธการแบ่งแยกเชื้อชาติในรถบัส… 9 เดือนก่อนที่พาร์คส์จะถูกจับ เคยมีเด็กสาวผิวดำวัย 15 ปีนาม คลอเดทท์ โคลวิน (Claudette Colvin) เคยปฏิเสธการมอบที่นั่งของเธอให้คนขาวและถูกจับมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ระหว่างการเตรียมตัวของนักเคลื่อนไหวเพื่อใช้ประเด็นนี้ในการประท้วง พวกเขาก็พบว่าโคลวินกำลังตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้การปฏิเสธไม่ลุกขึ้นให้คนขาวนั่งของเธอเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก

นั่นเองที่ทำให้ โรซ่า พาร์คส์ กลายเป็นตัวละครสำคัญในการเรียกร้องของความเคลื่อนไหวที่ชื่อ The Montgomery Bus Boycott ที่กินระยะเวลาเป็นปีๆ หลังจากนั้น

ประมาณหนึ่งปีให้หลังเหตุการณ์ความกล้าหาญของการนั่งลงเพื่อยืนหยัดต้านอยุติธรรมของโรซ่า พาร์คส์ ศาลสูงของอเมริกาก็สนับสนุนให้ยกเลิกการแบ่งแยกที่นั่งตามบทบัญญัติของรัฐธธรรมนูญ 

และทำให้ โรซ่า พาร์คส์ กลายมาเป็นมารดาของขบวนการสิทธิพลเมือง ทั้งที่เธอไม่ได้วางแผนใดๆ ไว้ล่วงหน้า แต่การกระทำนั้นล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความเหนื่อยหน่ายต่อการยอมแพ้ที่เธอถูกบังคับให้จำใจยอมรับเสมอมา

“ความเหนื่อยหนึ่งเดียวของฉันคือ ความเหนื่อยหน่ายต่อการยอมแพ้”

 

อ้างอิง