อินเดียเป็นประเทศที่มีเทพเจ้าให้เลือกนับถือหลายล้านองค์ มีนิทานปรัมปราให้เล่าขานหลายร้อยพันเรื่อง มีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นมาตั้งแต่โบราณกาล มีนักปราชญ์ นักปฏิวัติ นักประพันธ์ ฯลฯ ที่เก่งกาจระดับโลกมากมาย
เท่ากับว่าดินแดนชมพูทวีปแห่งนี้คือที่สุดแห่งจุดกำเนิดของเรื่องเล่าชั้นดี ที่เล่ากี่ปีก็ไม่มีวันหมด
แต่นั่นยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ อนันท์ ไป๋ (Anant Pai) อดีตกองบรรณาธิการประจำทีมทำหนังสือเล่มในสังกัด The Times of India แห่งมุมไบ ลุกขึ้นมาบุกเบิกสำนักพิมพ์การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่เวอร์ชั่นภารตะของตัวเอง เมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ความผิดหวังจากการได้ดูรายการตอบปัญหาในรายการทางโทรทัศน์ต่างหาก ที่ทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการศึกษาของอินเดียด้วยตัวเอง
“ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1967 ผมและภรรยาได้ไปยังเดลี เราหยุดอยู่ที่ร้านหนังสือ มหาราชา ลาล์ แอนด์ ซันส์ โทรทัศน์เปิดฉายในร้านหนังสือ – บอมเบย์ยังไม่มีโทรทัศน์ในช่วงนั้น มีเพียงเดลีเท่านั้น และเป็นโทรทัศน์ภาพสีขาวดำเท่านั้น – รายการที่ฉายอยู่นั้นเป็นการแข่งตอบปัญหาของนักศึกษา 5 คน จากวิทยาลัยเซนต์ สตีเวน
“เมื่อถูกตั้งคำถาม นักศึกษาไม่สามารถบอกชื่อมารดาของพระรามได้ ผมผิดหวัง แต่ก็เข้าใจได้ว่านั่นเป็นเพราะเป็นเรื่องราวอดีตยาวนาน แต่เมื่อถึงคำถามที่เกี่ยวกับเทพเจ้ากรีกที่เขาโอลิมปัส เด็กๆ สามารถตอบคำถามได้! นี่คือความน่ากลัวของระบบการศึกษาของเรา แสดงให้เห็นว่าเยาวชนห่างเหินจากวัฒนธรรมของพวกตน” อนันท์เล่าถึงเหตุการณ์ที่จุดประกายให้เขาอยากนำตำนานเก่ากลับมาเล่าใหม่ ในรูปแบบการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่
่
อนันท์มองเห็นภาพการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่เวอร์ชั่นอินเดียได้ไม่ยาก เพราะขณะนั้นเขาเองก็ทำงานอยู่ที่ Indrajal Comics สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนในสังกัดเดียวกับหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง The Times of India ที่ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนอเมริกันเรื่อง The Phantom มาตีพิมพ์ขาย
ลายเส้นฉวัดเฉวียนของฉากการต่อสู้ระหว่างพระกฤษณะ พระราม หนุมาน พระพิฆเณศวร ฯลฯ กับบรรดาเหล่าร้าย จึงแจ่มชัดอยู่ในหัวของกองบรรณาธิการหนุ่มไฟแรงในขณะนั้นทันที
“ผมเริ่มวาดโครงการนี้ขึ้นในหัวแบบไร้ความกังวลและไม่ได้คาดหวังสูง คิดแค่ว่าคงเหมือนงานที่ตัวเองทำในแต่ละวัน นั่นคือ สร้างสรรค์การ์ตูนสำหรับเด็ก เพื่อให้ผู้อ่านตัวน้อยได้เรียนรู้ตำนานของอินเดียในแบบที่สนุกขึ้น แต่พอเริ่มลงมือทำถึงได้รู้ว่า เจองานช้างเข้าให้แล้ว” อนันท์ ผู้ที่ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘อังเคิลไป๋’ หรือลุงไป๋ของเด็กๆ ชาวอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับ Reading Rainbow เมื่อปี 2004
ภารกิจแรกที่อนันท์ต้องทำ ก็คือ ตามหาสำนักพิมพ์ ซึ่งไม่มีใครยอมซื้อไอเดียของเขาเลย จนกระทั่งเขาได้มาเจอกับ เมียร์ชันดานี (Mr. Mirchandani) เจ้าของสำนักพิมพ์ India Book House ที่เข้าใจจุดประสงค์ของอนันท์ และเซ็นสัญญาร่วมกันในปี 1967 เมื่อที่ทางพร้อม อนันท์ ไป๋ ก็ลาออกจาก The Times of India แล้วเดินหน้าลุยงานนี้ทันที
เขาเรียกขานสำนักพิมพ์ของตนว่า อมาร์ จิตรา คธา (Amar Chitra Katha)
ความท้าทายประการถัดมาที่อนันท์ต้องรับมือ ก็คือ การรักษาสมดุลระหว่างงานค้นคว้าทางวิชาการ คุณค่าทางการศึกษา ความเป็นชนชาติอินเดีย และการเล่าเรื่องตามตำนานแบบดั้งเดิม ให้เหมาะสมกับการตลาดในสัดส่วนที่พอดี
อนันท์และทีมงานเริ่มต้นจากการค้นคว้าตำราและตำนานภาษาฮินดีฉบับต้นตำรับ ที่ตีพิมพ์โดย Gita Press และ Gorakhpur ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เกี่ยวกับศาสนาชั้นนำ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1923 จากนั้นเสริมด้วยการอ่านคัมภีร์พระเวท รามายณะฉบับดั้งเดิม ที่เขียนโดย ตุลสีทาส รามายณะฉบับภาษาเบงกาลี และภาษาทมิฬ เพื่อเปรียบเทียบให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้มากที่สุด
กว่าจะออกมาเป็นการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อินเดียแต่ละเล่ม ต้องใช้เวลาศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่งนานหลายเดือน โดยเฉพาะในยุคนั้น อินเดียยังไม่มีนักเขียนเรื่องสำหรับเด็กโดยเฉพาะ อนันท์จึงต้องลงมือเขียนสคริปท์เองในช่วงแรก ก่อนจะได้ กมลา จันทราขันธ์ (Kamla Chandrakant) มาเป็นมือเขียนสคริปท์คนแรกประจำสำนักพิมพ์ หลังจากนั้น อนันท์ก็เริ่มจ้างนักเขียนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเครือข่ายนักเขียนที่รับจ้างเขียนเรื่องตามใบสั่งของอนันท์
เขียนสคริปท์ว่ายากแล้ว การตามหานักวาดการ์ตูนยากกว่าหลายเท่า เพราะในเวลานั้นอินเดียยังไม่มีนักวาดภาพประกอบและนักเขียนการ์ตูนแบบช่อง อนันท์ลองไปเสาะหาตามเอเจนซี่โฆษณา โดยคาดว่าต้องเจอมือเขียนสตอรี่บอร์ดเจ๋งๆ สักคน แต่ก็ยังหาคนที่เชี่ยวชาญการวาดการ์ตูนกราฟิกด้วยลายเส้นแบบการ์ตูนอเมริกันไม่เจอ
และแล้วในที่สุด เขาก็ได้พบกับ ราม (Ram Waeerkar) นักวาดการ์ตูนหนุ่มไฟแรง ที่ร่วมงานกันอย่างยาวนานตราบจนสิ้นอายุขัยของรามในปี 2003
อนันท์ตั้งใจผลิตหนังสือการ์ตูนชุดแรกขึ้น โดยใช้ชื่อชุดว่า เส้นทางสู่รากเหง้า (The Route to Your Roots) โดยตั้งใจให้แต่ละเล่มมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของวีรบุรุษและวีรสตรีของประเทศอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้า ศาสดาผู้มีคุณูปการต่อประเทศตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน ไปจนถึงสัตว์ต่างๆ ที่มีความสำคัญทางวรรณกรรม ต่างก็ถูกหยิบมาเล่าเรื่องราวผ่านเส้นสายสไตล์อเมริกัน ที่เตะตาผู้อ่านรุ่นเยาว์ให้อยากเรียนรู้รากเหง้าแห่งชนชาติของตน
กฤษณะ (Krishna) เป็นหนังสือการ์ตูนฉบับปฐมฤกษ์ ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1969 ตามมาด้วย ศกุนตลา (Shakuntala) เป็นลำดับที่สอง
แต่ผลลัพธ์ในแง่ยอดขายกลับไม่เป็นไปตามที่อนันท์หวังไว้ เมื่อผ่านไปนานถึง 3 ปีแล้ว แต่ ‘กฤษณะ’ ยังขายได้ไม่ถึง 20,000 เล่ม แม้จะท้อแท้ แต่เขาและทีมงานไม่เคยท้อถอย ท้ายที่สุด เมื่ออดทนทำธุรกิจมาจนถึงปลายยุค 1970 หรือกว่าสิบปีให้หลัง กฤษณะก็ถูกพิมพ์ซ้ำไปมากกว่า 75 ครั้งในหลายภาษา และทำยอดขายไปได้หลายล้านเล่มตราบจนปัจจุบัน
และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครเรียกเขาว่าอนันท์อีกต่อไป มีแต่ ‘อังเคิลไป๋’ ขวัญใจเด็กอินเดียเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการ์ตูนอินเดีย
ในบรรดาหนังสือกว่า 450 เล่มที่สำนักพิมพ์ อมาร์ จิตรา คธา ตีพิมพ์มานานว่า 50 ปี แบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่ มหากาพย์และปรัมปรา นิทานและความหรรษา นิทานร่วมสมัย นิทานอินเดียโบราณ หมวดผู้กล้าหาญ และหมวดผู้มีวิสัยทัศน์
ชื่อหนังสือแต่ละเล่มยังถือเป็นต้นกำเนิดการตั้งสเตตัสที่ได้ใจความล้ำสมัยมานานกว่า 50 ปีก็ว่าได้ เพราะแค่อ่านชื่อเรื่อง เด็กๆ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ฮีโร่ประจำเล่มนั้นเก่งกาจและล้ำเลิศในด้านใด เช่น พิมพิสาร: กษัตริย์แบบอย่างแห่งมคธ, ชาห์ จาฮัน: จักรพรรดินักรบผู้ยิ่งใหญ่ในการสถาปัตย์, สมุดรา กุปตา: นักพิณผู้พิชิต เป็นต้น
ด้วยความหลากหลายของเนื้อหานี้เอง ที่ทำให้ไม่เฉพาะเด็กก็อ่านได้ แต่ผู้ใหญ่ก็อ่านดี ที่สำคัญคือ ต่อให้ไม่ใช่คนอินเดียก็สามารถสนุกไปกับลีลาการเล่าเรื่องในสไตล์การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ได้ไม่ยาก เพราะนอกจากจะเต็มไปด้วยคาแร็กเตอร์ตัวละครที่หลากหลาย เรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในตอนจบของทุกเรื่องยังแฝงด้วยข้อคิดสมความตั้งใจของอังเคิลไป๋ เจ้าสำนักที่ยังเหลืออีกหนึ่งฝันที่ต้องสานต่อให้สำเร็จ
“อย่าหยุดอ่านหนังสือ ไม่มีอะไรสร้างคุณให้เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้เท่ากับการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพไปกับการอ่านหนังสือดีๆ”
ก่อนหน้าที่เขาจะทำงานเป็นกองบรรณาธิการประจำ The Times of India อังเคิลไป๋เคยพยายามปลุกปั้นนิตยสารสำหรับเด็กมาก่อน แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น เมื่อ อมาร์ จิตรา คธา เริ่มไปได้สวย เขาจึงผลิตนิตยสารสำหรับเด็กขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1980 โดยใช้ชื่อว่า Tinkle
จุดกำเนิดของนิตยสารทิงเคิลดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญอีกเช่นกัน เมื่ออังเคิลไป๋เคยได้ยิน ดร.ประทีป จันเดอร์ (Dr. Pradip Chunder) ผู้ที่ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ อ้างว่า กว่า 65% ของเด็กๆ ชาวอินเดียต้องออกจากโรงเรียนก่อนจบ ป.4 ซึ่งเขามองว่าไม่ใช่แค่เกิดจากปัญหาของผู้ปกครองที่ไม่มีรายได้มากพอจะส่งเสียบุตรหลานเท่านั้น แต่เป็นเพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับเด็ก
เขาเลยอยากทำให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนมากขึ้น ด้วยการผลิตนิตยสารที่นำเสนอสาระทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ธรรมชาติผ่านการ์ตูน ที่ชวนให้เด็กๆ อยากมีส่วนร่วมได้ไม่ยาก
เพราะ Tinkle ไม่ใช่ตำราที่ระบุเนื้อหาเชิงสั่งสอนเด็กๆ แต่ Tinkle เป็นเหมือนเพื่อนที่พาเด็กๆ ไปทำความรู้จักโลกของธรรมชาติและวิทยาศาสตร์โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้นิตยสาร Tinkle ครองตำแหน่งขวัญใจเด็กอินเดียรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
อังเคิลไป๋ยังคงทำหน้าที่ผู้กุมบังเหียนการเล่าเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่อินเดีย และผลิตตำราวิชาการที่อ่านสนุกที่สุดแก่เด็กๆ ชาวอินเดียอย่างต่อเนื่องนานกว่าห้าทศวรรษ จากหนังสือการ์ตูนในรูปแบบกระดาษ สู่โลกของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ที่ทีมงานของอังเคิลไป๋ก็รับช่วงต่อในการเล่าขานตำนานอินเดียผ่านสารพัดสื่อไปสู่รับสารจากรุ่นสู่รุ่น
“ผมให้ความสำคัญกับการนับถือตัวเองมากเป็นอันดับต้นๆ เด็กที่มีความนับถือตัวเองมักเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ เป็นผู้คอยช่วยเหลือ และมอบความรักแก่ผู้อื่น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะนับถือตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น
“ที่สำคัญคือ อย่าหยุดอ่านหนังสือ ไม่มีอะไรสร้างคุณให้เป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้เท่ากับการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพไปกับการอ่านหนังสือดีๆ”
อนันท์ ไป๋ ได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ในงาน Comic Con India (CCI) เทศกาลการ์ตูนระดับโลกที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี
หลังจากนั้น 6 วัน อังเคิลไป๋ของเด็กๆ ชาวอินเดียก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย 81 ปี ทิ้งไว้ก็แต่เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ฮินดู ให้โลดแล่นอยู่ในใจเด็กๆ รุ่นสู่รุ่นตลอดไป
อ้างอิง
- Atula Ahuja.Audience with Anant Pai. https://bit.ly/2YWOvy6
- Wikipedia.Anant Pai. https://en.wikipedia.org/wiki/Anant_Pai
- ขนบพร วงศ์กาฬสินธุ์.มองโลกทัศน์อุดมคติอินเดียจากคำสอนในหนังสือการ์ตูน.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.2563.