pe©ple

“เมื่อใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกเบื่อการทำงานประจำ เราอายุมากขึ้นควรอยู่ในจุดที่มีความสุขมากกว่านี้”

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

ความคิดนี้ทำให้ โดม-สัมพันธ์ เณรรอด โปรดิวเซอร์หนุ่มรายการทีวีที่มีชั่วโมงบินกว่า 15 ปี ผู้เคยรับรายได้หลักแสน ยอมมาเริ่มต้นอาชีพใหม่เมื่อเมษายน ปี 2561 โดยมีรายได้เริ่มต้นเพียงหลักร้อย จากธุรกิจจัดการขยะในจังหวัดเชียงใหม่ที่เขาใช้ชื่อว่า ‘เอี่ยมดี รีไซเคิล’

หลายคนอาจมองว่าเขาบ้า แต่ถ้าได้รู้จัก ก็จะพบว่าเบื้องหลังความคิดบ้าๆ นี้ ล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ

ต้นทุนคือความหลงใหลสิ่งแวดล้อม

        การออกจากงานประจำของโดมไม่ใช่แค่การตัดสินใจยื่นซองขาว เพราะไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทอง ไม่มีเงินสำรองให้ชีวิต รวมทั้งอายุในวัยเกือบสี่สิบปีที่เพื่อนๆ คนอื่นมีฐานะมั่นคง มีครอบครัว และไม่รู้ว่าการลาออกไปจะทำงานอะไร รายได้จะมั่นคงพอเลี้ยงชีพตัวเองได้หรือเปล่า โดมจึงสำรวจตัวเองว่ามีต้นทุนอะไร

คำตอบที่เขาได้ก็คือความหลงใหลใน ‘สิ่งแวดล้อม’

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

“ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน (โปรดิวเซอร์รายการทีวี) ได้ทำงานเกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งในและต่างประเทศ เห็นต้นแบบดีๆ มาเยอะจนวันหนึ่งมีความตั้งใจว่าอยากจัดการปัญหาแบบนี้บ้าง”

การแบ่งปันสำคัญกว่าเงิน

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับการลาออกจากงานที่ทำมากว่า 15 ปี แต่โดมมองว่าอาชีพจัดการขยะคืออาชีพที่เขาทำแล้วมีความสุข อีกทั้งยังสร้างรายได้ที่สามารถดูแลตัวเอง ดูแลแม่ แถมยังได้ดูแลสังคมไปพร้อมๆ กัน

ทุกครั้งที่โดมออกไปรับซื้อขยะ โดมจะให้ความรู้กับคนที่เจอเสมอว่า ขยะที่เรามองว่าเป็นปัญหาและพยายามผลักออกไปให้พ้นตัว จริงๆ แล้วสามารถนำไปรีไซเคิลสร้างประโยชน์ได้หลายอย่าง เพียงแค่มีความรู้เรื่องจัดการขยะ

เช่น ขวดน้ำพลาสติก 1 กิโลกรัม สามารถนำไปขายแล้วนำเงินที่ได้มาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์การเรียนให้เด็ก

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

เมื่อคนมีความเข้าใจ มุมมองที่มีต่อขยะก็เปลี่ยนไป และเกิดแรงบันดาลใจว่า เราสามารถเป็นผู้ให้คนอื่นได้จากขยะที่มี

จากจุดนี้ หลายคนจึงเปลี่ยนจากการขายขยะเป็นการบริจาค ขวดน้ำ ขวดพลาสติก เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว ฯลฯ ก็หลั่งไหลมาหาเอี่ยมดี จนเกิดคำพูดติดปากในคนบางกลุ่มว่า

‘มีอะไรเหลือใช้ ให้บอกเอี่ยมดี’

ไม่ใช่แค่จัดการขยะ แต่คือการจัดสรรสิ่งของเหลือใช้

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

เอี่ยมดีในวันนี้ไม่ใช่แค่จัดการขยะ แต่ยังจัดสรรสิ่งของเหลือใช้ให้ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่

ทุกวันจันทร์ โดมจะนำสิ่งของเหลือใช้ที่เล็งเห็นว่ายังมีประโยชน์ไปบริจาค โดยการนำของสิ่งนั้นไปอยู่ให้ถูกที่ถูกคน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งโรงเรียน มูลนิธิ หรือคนทั่วไป

โดมเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้ เขาเพิ่งไปรับเปียโนมาตัวหนึ่ง เปียโนตัวนั้นราคาเป็นแสน เขาก็เอาไปให้โรงเรียนสอนเด็กตาบอด

กระเบื้องที่ได้จากหมู่บ้านจัดสรร เขาเอาไปมอบให้โรงเรียน เพื่อทำเป็นฐานเสาธง

หรือฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม แทนที่จะเอาไปขาย เขาเอาไปให้ลุงขายถั่วต้ม เพื่อที่ลุงจะได้ไม่ต้องไปหาฟืนเอง

จากวันแรกที่โดดเดี่ยวสู่วันนี้ที่มีเพื่อนร่วมทาง

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

ตอนนี้โดมทำ เอี่ยมดี รีไซเคิล มาแล้ว 9 เดือน จากช่วงแรกที่คนสงสัยว่าธุรกิจจัดการขยะของโดมคืออะไร และมีงานเข้ามาให้จัดการขยะเพียง 1-2 บ้านต่อวัน

ปัจจุบัน เมื่อคนเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการจัดการขยะมากขึ้น งานก็เพิ่มขึ้นเป็น 4-5 บ้านต่อวัน หรืออย่างน้อยเดือนละ 150 หลังคาเรือน จนถึงขั้นต้องมีการจองคิว

โดมบอกว่า ตอนนี้เขาไม่ได้ทำเพียงคนเดียวอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป แต่มีเพื่อนร่วมทางที่เป็นเครือข่ายที่เห็นความสำคัญของการจัดการขยะ ที่เข้ามาช่วยรับขยะในแต่ละโซน

โดยโดมจะจัดเวิร์กชอปให้ความรู้กับเครือข่ายที่เข้าร่วม ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเรื่องการจัดการขยะ ไปจนถึงการตั้งราคาและให้บริการ พร้อมกับชวนคนที่เข้าร่วมเครือข่ายแบ่งปันรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์เข้าส่วนกลาง เพื่อคืนกำไรสู่สังคม

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

ตอนนี้โดมแบ่งปันกำไรที่ได้มาให้กับคน 3 กลุ่ม คือ

  1. เด็กกำพร้า ที่ตอนนี้โดมรับดูแลอยู่ที่จังหวัดเชียงราย
  2. ผู้พิการและคนไร้บ้าน เพื่อให้ผู้พิการมีรายได้ และคนไร้บ้านมีปัจจัยสี่
  3. ผู้เก็บขยะรายย่อย ที่โดมได้ช่วยอุดหนุนในเรื่องสวัสดิการ เพราะคนส่วนมากมักมองว่าคนเก็บขยะเป็นอาชีพต่ำต้อยในสังคม ทั้งที่ความจริงแล้ว นี่คืออาชีพที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าอาชีพอื่น

ความสุขของคนจัดการขยะ

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่

“ขยะเป็นเครื่องมือที่ได้พาไปเจอคนด้อยโอกาส” โดมพูดถึงความสุขของการทำอาชีพนี้

สำหรับเขานี่คงเป็นอาชีพที่น่าอิจฉาที่สุดในโลกอาชีพหนึ่ง เพราะคงจะไม่มีอาชีพไหนที่จะได้รับคำขอบคุณมากเท่านี้

“คนให้ขยะก็ขอบคุณเรา คนรับขยะก็ขอบคุณเรา”

โดมบอกว่า เขาได้เจอสิ่งนี้ในทุกๆ วันที่ทำงาน แถมงานนี้ก็ยังช่วยให้เขาเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว และดูแลสังคมได้ในเวลาเดียวกัน

หากไม่เรียกสิ่งนี้ว่า “ความสุข” แล้วจะเรียกว่าอะไร.

โดม เอี่ยมดีรีไซเคิล เชียงใหม่
ขั้นตอนการจัดการขยะของ ‘เอี่ยมดี รีไซเคิล’

*สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชียบินตรงสู่เชียงใหม่ทุกวัน ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com