“เราคงพูดแทนคนหูหนวกไม่ได้ แต่สำหรับเราแล้ว เราคงรู้สึกดีใจนะที่มีคนมาสนใจภาษามือ และชื่นชมว่ามันเป็นสิ่งสวยงาม”
นี่คือคำตอบของ กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยปี 2566 ต่อคำถามที่ว่า การชื่นชมภาษามือว่าเป็นสิ่งสวยงาม ถือว่าเป็นการ Romanticized ความพิการของคนกลุ่มหนึ่งหรือไม่
แล้วทำไมเราต้องนำคำถามนี้มาถามเธอ นั่นก็เพราะกานต์เป็นหนึ่งในผู้ที่เรียนรู้ภาษามือมาตั้งแต่สมัยที่ตัวเองยังอยู่ในรั้วคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ ก่อนจะขยับขยายนำเอาภาษามือมาใช้กับการหาเสียงเลือกตั้งนายกสโมสรของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่า จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในวันนี้ที่เธอประกวดนางสาวไทย เธอก็ไม่ลืมที่จะใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารกับคนหูหนวกในระดับประเทศ ซึ่งในทุกวันนี้กานต์ก็ยังคงทำแคมเปญเพื่อคนหูหนวกแบบจริงๆ จังๆ เพื่อให้ทุกๆ คนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของคนหูหนวกในสังคมไทย
วันนี้เราเลยชวนเธอมาคุยเพื่อเป็นความรู้ประดับ becommon เกี่ยวกับคนหูหนวก การเรียนรู้และใช้ภาษามือ ที่สำคัญคือโอกาสและตัวเลือกอันน้อยนิดในการเสพสื่อบันเทิงของคนหูหนวก เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจเพื่อนร่วมสังคมอีกกลุ่มหนึ่งมากขึ้น
โปรดเรียกฉันว่า ‘คนหูหนวก’
เราควรเรียกพวกเขายังไงถึงจะถูกต้องที่สุด คนหูหนวก ผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ถ้าพูดถึงความถูกต้องก็ต้องเรียก ‘ผู้บกพร่องทางการได้ยิน’ ที่ยึดตามศัพท์วิชาการเป็นหลักค่ะ แต่ถ้าเรามัวแต่นึกถึงเหตุและผล จนลืมคิดถึงใจคน จากที่เราเคยถามมา การไปบอกว่าเขาบกพร่องทางการได้ยิน มันเหมือนบอกว่า พวกเขาผิดพลาดอะไรสักอย่างในชีวิต ทั้งที่จริงๆ เขาสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเรา เขาแค่ไม่ได้ยิน
เพราะฉะนั้นเรียกง่ายๆ ว่า ‘คนหูหนวก’ แค่นี้ก็โอเคแล้วค่ะ และเราเองก็เคยเอาคำถามนี้ไปถามคุณครูที่สอนคนหูหนวกเหมือนกัน ซึ่งคุณครูก็บอกว่า พวกเขาก็อยากให้เราใช้คำนี้ พร้อมๆ กับยกบทความของคนหูหนวกที่เขียนว่า โปรดเรียกฉันว่า ‘คนหูหนวก’ มาเป็นตัวอย่าง ส่วนคำที่เขาไม่โอเคมากๆ และเราไม่ควรใช้เลยคือ ไอ้ใบ้ ห้ามเด็ดขาด เขาจะรู้สึกแย่กันมากๆ เลยค่ะ
แล้วนักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์มาเรียนภาษามือได้ยังไง
จริงๆ เราสนใจตั้งแต่สมัย ม.ปลาย แล้วค่ะ ด้วยความเป็นเด็กกิจกรรม พอได้เจอกับผู้พิการในด้านต่างๆ เราเริ่มอยากรู้ว่า พวกเขาอยากได้ในสิ่งที่เราทำให้รึเปล่า เพราะบางทีการสักแต่จะทำความดี โดยที่ไม่รู้ว่า ผู้รับเขาโอเคไหม หรือมีประโยชน์ต่อเขารึเปล่า มันก็ไม่ต่างอะไรจากการสื่อสารทางเดียว เราอยากจะเข้าใจเขามากกว่านี้ อยากให้เป็นการสื่อสารสองทางที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันค่ะ
แล้วโอกาสในการเรียนภาษามือก็เข้ามาตอนเราอยู่ปี 2 ที่ได้ไปลงเรียนวิชาภาษามือ ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีของคณะศึกษาศาสตร์
พอเข้าไปเรียน สิ่งที่แตกต่างที่สุดระหว่างภาษามือกับภาษาพูดคืออะไร
มีการเรียงประโยคคนละแบบกัน
รูปประโยคของภาษาพูดของไทยจะเป็น ประธาน + กริยา + กรรม เช่น ‘ฉันจะไปตลาด’
แต่ภาษามือส่วนใหญ่จะเรียงประมาณว่า ‘ตลาดฉันไป’ เพราะเขามักจะพูดจากภาพกว้างหรือสิ่งที่ใหญ่ที่สุดก่อน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นกรรมก่อน เป็นกริยาก่อนก็ได้ หรือเป็นประธานก่อนก็ได้ ขอแค่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ต้องการสื่อสารมากที่สุดในประโยค ถ้าเป็นคนกับสถานที่ สถานที่จะใหญ่กว่า เขาก็จะพูดถึงสถานที่ก่อน หลักการประมาณนี้ แต่ในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกจริงๆ ไม่ได้จำเป็นต้องมีหลักการตายตัว ขอแค่ตั้งใจอยากจะสื่อสารกันก็โอเคแล้วค่ะ
แถมองค์ประกอบของภาษามือมีหลายอย่าง ท่าทางของมือเอย ทิศทางของมือเอย ซ้ายหรือขวา ตำแหน่งการวางมือ หรือกระทั่งการพลิกฝ่ามือ ส่วนสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ สีหน้าและท่าทาง จุดนี้สำคัญมากที่สุด เพราะภาษากายเปรียบเหมือนน้ำเสียงเลยค่ะ
สมมุติเราพูดว่า สบายดีด้วยท่าทีนิ่งเฉย กับสบายดีแบบมีชีวิตชีวา ความหมายมันแตกต่างกันมาก บางทีคำบางคำไม่ได้มีความหมายที่แย่ แต่ถ้ามาพร้อมสีหน้าที่ไม่ถูกต้อง หรือสีหน้าไม่พอใจ มันอาจกลายเป็นคำด่าไปเลยก็ได้
ส่วนไหนเรียนรู้ยากที่สุดสำหรับกานต์
การพยายามไม่พูดไปด้วยระหว่างทำภาษามือนี่แหละค่ะ (หัวเราะ)
ความยากของภาษามือคือการที่เราต้องคิด แล้วค่อยทำ ถ้าเราพูดไปด้วย มันอาจจะทำให้เราสับสน เพราะบางทีเป็นคนละคำกับที่เรากำลังทำท่าอยู่ก็ได้ เช่น อย่าลืมนะ พอเป็นภาษามือจะเป็น ‘ความจำ’ แล้วค่อยต่อด้วย ‘ลืม’ กับ ‘อย่า’
คนหูหนวกเขาเรียนภาษามือกันยังไง
แทบทุกคนจะเริ่มจากครอบครัวก่อนค่ะ ถ้าพ่อแม่เป็นคนหูหนวกด้วย เขาจะสอนด้วยการชี้ แล้วบอกว่านี่คืออะไร แต่บางบ้านก็อาจทำท่าไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นคำเดียวกัน เขาเลยต้องมาปรับให้เป็นท่าเดียวกันในตอนที่เข้าโรงเรียน เพื่อให้คนหูหนวกสื่อสารกันได้
แล้วพวกคำศัพท์ใหม่ๆ คนหูหนวกเขาคิดภาษามือขึ้นมายังไง
สมาคมคนหูหนวกจะมีการบัญญัติขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วจะถูกนำเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน แต่ถ้าเป็นคำศัพท์เฉพาะกลุ่มก็สามารถตั้งกันเองได้เลยค่ะ อย่าง ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ ก็จะเป็นท่าภาษามือ ‘มอม้า’ ก็คือมหาวิทยาลัย แล้วก็ท่าภาษามือที่เป็น ‘ช้าง’ คนต่างประเทศก็คงไม่รู้หรอกค่ะว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีช้างเป็นสัญลักษณ์
แล้วจากที่เรียนมา ภาษามือจัดว่ายากไหมสำหรับกานต์
ยากมากเลยค่ะ (ถอนหายใจ) ยิ่งมันเป็นภาษาที่เราไม่ได้ใช้บ่อยๆ ด้วย
แต่มันก็จุดที่ทำให้เราคิดว่า ต้องสื่อสารให้ได้แล้วนะ คือตอนที่เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรค่ะ ได้เจอกับน้องๆ คนหูหนวก มันเป็นเหมือนไฟล์ทบังคับของคนชั่วโมงบินน้อยแบบเราว่า ถ้าเราไม่ทำตอนนี้ เราจะสื่อสารกับทุกคนตรงนั้นไม่ได้เลย
รู้สึกยังไงบ้างในวันที่เราสามารถทำลายกำแพงการสื่อสารได้
แฮปปี้มาก! พอได้ไปใช้จริง เจ้าของภาษาเขารู้สึกดีใจมาก ภาษากายเขาก็จะใหญ่ตามไปด้วย มันเลยทำให้เรายิ่งรับรู้ถึงความดีใจของเขาเลยล่ะค่ะ
จนเรารู้สึกเหมือนถูกเติมเต็ม จากตลอดที่ผ่านมาที่เราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง มันทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน และเราไม่อยากให้ทุกคนคิดว่า พอเป็นภาษากายจะถูกจัดเป็นคนละระดับกับภาษาพูดเลยค่ะ
มีประสบการณ์เกี่ยวกับภาษามืออะไรไหมที่จำไม่ลืม
คิดว่าน่าจะเป็นตอนที่ลงสมัครเลือกตั้งนายกสโมสรนักศึกษาค่ะ ตอนนั้นเราทำนโยบายชื่อ CMU For All ไม่ว่าใครก็สามารถทำกิจกรรมได้ และเราหาเสียงเป็นภาษามือด้วย เพื่อให้นโยบายของเราเห็นภาพชัดเจนว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต่อให้คุณจะมีความบกพร่องด้านไหนก็ตาม คุณก็คือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนกัน
แล้วมาย้ำสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารอีกทีตอนประกวดนางสาวไทย ครั้งนี้เราสื่อสารออกไปถึงคนหูหนวกทั่วประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงการมีอยู่ของพวกเขาในสังคม และเพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง
ตอนปี 2 เราทำเพลงภาษามือ แล้วการทำเพลงภาษามือเหมือนเราต้องเต้นไปด้วย มันเป็นการโยกเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้อารมณ์ของเพลงผ่านภาษากาย เราทำเพื่อเป็นสื่อบันเทิงให้กับคนหูหนวก เพราะพูดตามตรง สื่อบันเทิงของคนหูหนวกมีน้อยมากเลยค่ะ
สื่อบันเทิงเพื่อ ‘ทุกคน’
อยากรู้ว่าคนหูหนวกมีวิธีเสพสื่ออย่างไร
วิธีการเสพสื่อส่วนใหญ่ของพวกเขาจะมาจากการมองสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ หรือถ้าอยู่ในโรงเรียน สื่อไหนที่เขาดูไม่ทันก็อาจจะมีอาจารย์ช่วยเล่าเป็นภาษามืออยู่ข้างๆ
อีกวิธีหนึ่งคือ การสัมผัสเพื่อรับรู้จังหวะผ่านการสั่นของลำโพงค่ะ
คิดว่าปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาษามือในสื่อบันเทิงมากน้อยแค่ไหน
เราว่าเราเข้าใจทั้งตัวผู้รับและตัวผู้ทำนะคะว่า มันมีต้นทุนที่สูงในการจ้างล่าม คนหูหนวกมีเป็นล้าน แต่ว่าล่ามภาษามือในไทยมีแค่ประมาณ 400 คน สมมุติรายการประมาณ 3 ชั่วโมง ล่ามคนเดียวไม่ไหวแน่นอน มันจะเหนื่อยมากที่ต้องแปลทันที เพราะใช้สมองเยอะมาก จึงต้องมีการต้องเปลี่ยนล่ามทุกๆ ชั่วโมงเลยค่ะ
แต่อย่างที่บอกไป สื่อบันเทิงสำหรับคนหูหนวกมีน้อยมาก เราจะเห็นพวกข่าวหรือสารคดีที่จะมีล่ามอยู่ตรงมุมจอ นั่นคือโอกาสในการรับสื่อบันเทิงที่คนหูหนวกจะได้รับ เพราะว่าหนังไม่มีเลย เพลงก็ไม่ใช่ว่าจะมีทุกเพลง
พูดถึงสื่อบันเทิง การมีล่ามภาษามืออยู่มุมจอในสื่อบันเทิงอื่นๆ เช่น หนัง หรือซีรีส์ มันมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลยไหม
เราเชื่อว่า อะไรที่ปรากฏขึ้นมาเป็นอย่างแรก มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การทำตามค่ะ
เราเคยไปถามครูเกี่ยวกับคำบรรยายภาษาไทยในหนัง คนหูหนวกไม่ค่อยเข้าใจนะ ยกเว้นคนที่เก่งภาษาที่ 2 หรือก็คือภาษาไทย เหมือนอย่างพวกเรา ถ้าเป็นคำบรรยายภาษาอังกฤษมา ไม่ใช่คนไทยทุกคนจะเข้าใจทั้งหมด คนหูหนวกที่ไม่สันทัดภาษาที่ 2 ก็จะไม่เข้าใจคำบรรยายภาษาไทย เพราะมันเรียงประโยคไม่เหมือนกัน ไหนจะศัพท์แสลงอีก
แต่ถ้ามีการจัดทำคำบรรยายภาษามืออย่างจริงจัง มันก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากเลยค่ะ ที่คนทำสื่อบันเทิงเริ่มมองเห็นถึงการมีอยู่ของคนหูหนวกในสังคม และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับสื่อบันเทิงมากขึ้น
และเราว่ามันต่อยอดไปได้อีกนะคะ คนหูหนวกก็จะไปดูหนังเรื่องอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีคำบรรยายภาษามือ เพื่อพยายามทำความเข้าใจภาษาไทย เหมือนกับเราที่ได้ฝึกภาษาจากการดูหนัง
‘ความพยายาม’ ที่มากกว่าและเท่ากัน
คิดว่าสภาพสังคมไทยมีส่วนทำให้ผู้พิการไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่หรือไม่
เรามองว่ามันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นค่ะ แต่คงไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้เขาไม่มีจุดยืน หรือหางานทำยากกว่าคนทั่วไป
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่า เมื่อพวกเขาเข้าไปทำงานในสังคมที่มีวิธีการสื่อสารคนละแบบ จึงทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้นในการสื่อสารครั้งหนึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ภาษามือ ซึ่งบางงานมันมีเวลาจำกัด
แต่บางคนก็สามารถอ่านปากได้ พยายามออกเสียงตาม เพราะฉะนั้นการมีจุดยืนของคนหูหนวกในสังคม มันก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาเองด้วยส่วนหนึ่ง
เราเองก็เคยเจอคนหูหนวกที่ประสบความสำเร็จมาหลายคนนะ เหมือนน้องคนหนึ่งที่สอบติดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่มีแต่คนพูดได้เป็นส่วนใหญ่ และเขาจะเริ่มใช้ชีวิต เรียนรู้โลกใบนั้น ไม่ได้อยู่แค่กับสังคมคนหูหนวกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
เราคิดว่า โอกาสในชีวิตไม่มีทางเท่ากันหรอก จริงๆ บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ เราไม่ได้อยากฝากถึงแค่คนหูดีนะคะ แต่อยากฝากถึงคนหูหนวกเหมือนกันว่า คนที่พยายามจะได้อะไรสักอย่างกลับมาเสมอค่ะ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พอเป็นคนพิการในสังคม เขาต้องพยายามมากกว่าคนทั่วไป
ใช่ค่ะ ปฏิเสธไม่ได้เลย และเราก็มองว่าทุกคนมีข้อจำกัดในมุมมองของตัวเอง แค่เราเป็นคนต่างจังหวัด โอกาสเราก็ไม่เท่ากับคนที่อยู่ในเมืองแล้ว ซึ่งนั่นรวมถึงคนทั่วไปเหมือนกัน แต่เราก็เชื่อในการไม่ยอมแพ้กับโชคชะตาของตัวเองนะ ทุกคนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ และเป็นน้องๆ คนหูหนวกด้วยซ้ำที่สอนสิ่งนี้ให้กับเรา เพราะขนาดพวกเขายังไม่ยอมแพ้เลยค่ะ
กานต์คิดว่าประเทศไทยตอนนี้เป็นมิตรกับคนหูหนวกมากน้อยแค่ไหน
ถ้าในภาพใหญ่ระดับประเทศ (ครุ่นคิด) พูดยากเลยค่ะเพราะเราไม่ใช่นายกฯ (หัวเราะ) แต่เราก็คิดว่ายังมีอีกหลายคนที่ถูกสังคมลืมไว้ข้างหลัง แค่คนหูหนวกที่อยู่ในเมือง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดรับพวกเขา ก็อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนหูหนวกที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้เปิดรับเขาแล้วค่ะ
เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะที่ไหนในโลก แต่เราอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า อย่างน้อบขอให้ทุกคนในสังคมได้รับสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้อย่างเท่าเทียมกัน
กานต์อยากผลักดันอะไรมากที่สุด
เรื่องล่ามเลยค่ะ รู้ไหมว่าสถาบันศึกษาที่ผลิตล่ามออกมามีแค่ 2 ที่ในประเทศไทย คือมหิดลกับสวนดุสิต ซึ่งมันน้อยมากเลยค่ะ น้อยเกินไป แล้วคนหูปกติกับคนหูหนวกจะมาเข้าใจกันได้ยังไง ในเมื่อล่ามที่เป็นสื่อกลางมีน้อยขนาดนี้
เราอยากผลักดันด้วยการเริ่มง่ายๆ เลยค่ะ คือ อยากให้ทุกคนลองเปิดใจกับภาษามือเพื่อให้การสื่อสารมันทั่วถึงมากขึ้น ในที่นี้รวมไปถึงการมีป้ายเตือนเพื่อกันคนหูหนวกจากพื้นที่ที่พวกเขาอาจได้รับอันตราย เพราะสำหรับคนหูหนวกบางคน การออกมาจากสังคม หรือพื้นที่ของเขา แล้วมาเจอเข้ากับโลกภายนอก มันเหมือนเป็นโลกอีกใบของเขาไปเลยค่ะ มันยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ในโลกของพวกเขา
คำถามสุดท้าย ‘ทำไมเราถึงควรเรียนภาษามือ’
โห มันเป็นภาษาที่เจ๋งมากนะคะ ต้องใช้เอเนอร์จี้เยอะมาก เปิดโสตประสาทเยอะกว่าภาษาทั่วไปด้วยซ้ำ ต้องจำทั้งท่าทางของมือ ทิศทางมือ ตำแหน่งมือ การพลิกมือ ที่สำคัญคือ สีหน้าและท่าทาง เรียนครั้งหนึ่งเหมือนได้ออกกำลังกายเลยค่ะ (หัวเราะ)
ถ้ามองเป็นการพัฒนาตัวเอง เราว่ามันคือการพัฒนาตัวเองแบบก้าวกระโดดที่จะช่วยให้เรามีการจัดระเบียบร่างกายที่ดีขึ้นค่ะ เช่น เวลาเราไปเป็นวิทยากร ภาษากายของเราจะดูมีน้ำหนักมากขึ้น และจะรู้ว่าควรเอามือไปไว้ตรงไหนขณะพูด
ภาษามือเป็นภาษาที่น่ารักมากๆ เลยนะคะ ขอแค่เราเปิดใจ คุณจะได้เห็นอีกโลกหนึ่งที่เป็นโลกไร้เสียงที่ทุกคนพยายามและอยากที่จะเข้าใจกัน เพราะฉะนั้นคนทั่วไปไม่ต้องกลัวนะ ไม่ต้องคิดว่ามันจะยากเกินไป บางคนอยากคุยกับคนหูหนวก แต่ไม่รู้จะทำท่าอะไร หรือจะสื่อสารกันอย่างไร จริงๆ แล้วแค่เดินเข้าไปสะกิด พูดช้าๆ แล้วใช้สีหน้าในการช่วยสื่อสารก็พอแล้ว หรือไม่ก็พิมพ์คุยกับเขา ขอแค่เข้าไปอย่างเป็นมิตร เพราะพวกเขาก็เป็นคนปกติคนหนึ่งในสังคมค่ะ