pe©ple

“ความสัมพันธ์ที่ให้และรับเป็นโดยไม่เสียความเป็นตัวเอง คือความสงบสุขหรือชีวิตที่ดี”

ส้ม – สีตลา ชาญวิเศษ
นักสื่อสารและที่ปรึกษาด้านการตลาด

“หลายปีที่ผ่านมา เราเติบโตในแง่การทำงาน แต่ปีนี้ สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ กลับเป็นเรื่องภายในตัวเอง”

“เราเพิ่งรู้ว่า เรามีเซลฟ์ (self) มากกว่าหนึ่งตัวตน ตัวตนแรกเป็นเด็ก คือ ‘ส้มน้อย’ ที่ขี้กลัว เอาแต่ใจ และต้องการความรัก เราเคยเข้าใจว่าส้มน้อยคือนิสัยที่ไม่ดี เป็นนิสัยงี่เง่า แต่เปล่าเลย ส้มน้อยเป็นตัวตนเด็กที่ไม่เคยหายไปไหน เป็นตัวตนที่พกพาปมต่างๆ ในวัยเด็ก ความกลัว ความต้องการ แฝงมาในวัยชีวิตผู้ใหญ่ของเราต่างหาก”

“ส่วนอีกตัวตนคือ ‘ส้มโต’ ที่มีเหตุมีผล มีความคิดความอ่าน รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แต่เพราะรู้อะไรมากและต้องการเป็นผู้ใหญ่ ก็เลยกดทับเสียงส้มน้อย ทำให้หลายๆ ครั้ง เราไม่ได้ยินเสียงส้มน้อยที่ดังในใจ และกลายเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ความรู้สึกถูกกัดกิน เพราะลึกๆ ตัวตนส้มน้อยไม่ได้รับการดูแลและจัดการ”

“ตอนนี้ เวลาเราไม่สบายใจ เรารู้แล้วว่า เราต้องนั่งคุยกับส้มน้อยก่อน และให้ส้มโตช่วยคิดหาวิธีปลอบใจ หรือหาทางออกให้ส้มน้อย อารมณ์เหมือนเลี้ยงลูกเลย คอยถาม คอยปลอบ คอยช่วยเหลือ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเราเอง เพราะเราเจอวิธีที่จะใจดีและเป็นพ่อแม่ให้ตัวเองได้ เหมือนเรากำลังจูงมือส้มน้อยค่อยๆ โตไปด้วยกัน”

“แล้วการรู้จักตัวเองนี่แหละ ทำให้เรารู้จักสิ่งถัดมาคือ การสร้าง boundary หรือเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างตัวเรากับคนอื่น คือเราเลือกได้ว่า จะทำหรือไม่ทำสิ่งไหน ไม่ให้ใครล้ำเส้นหรือมาบังคับว่า ต้องทำตามหรือคอยตามใจคนอื่นอย่างเดียว หรือต่อให้เราเลือกจะตามใจ เราก็ไม่ได้ตามใจเพราะเลือกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะตามใจเอง สิ่งนี้ยิ่งใหญ่กับเรามาก เพราะมันคือ อิสรภาพ แล้วก็ไม่ใช่การเอาแต่ใจด้วย เราแค่กำลังฟังเสียงในหัว และตัดสินใจเองว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร”

“การรู้จักเซล์ฟและสร้างระยะห่างหรือเส้นแบ่งที่เราสบายใจ ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างดีขึ้นด้วย เพราะหลายครั้งเรามีนิสัยตามใจคนอื่น จนลืมความสุขและความสบายใจของตัวเองไป”

“ไม่ต้องยกตัวอย่างไกล แม่เรานี่แหละ เราเป็นคนที่เชื่อมาตลอดว่า ลูกกตัญญูจะต้องไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่เราเพิ่งเข้าใจว่า ความเชื่อนี้มันขัดแย้งกับความเป็นจริง มีเหรอในโลกนี้ที่คนเราจะได้ดั่งใจหมดทุกอย่าง บางครั้งสิ่งที่ทำให้แม่พอใจ อาจต้องแลกเปลี่ยนกับการสละความสุขของตัวเอง เราค้นพบว่า กระทั่งครอบครัว เราก็ต้องรู้จักที่จะบาลานซ์ความสุขกับพวกเขา โดยไม่กัดกินความสุขของเรา แม้บางครั้งอาจทำให้พวกเขาเสียใจบ้าง นั่นไม่ใช่อกตัญญูแบบที่สังคมบอก แต่เป็นการรู้จักบาลานซ์ขอบเขตตัวเอง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้จักที่จะให้ความรัก โดยไม่คิดแต่ตัวเองมากไป ว่าง่ายๆ เรารู้จักรักพวกเขา แบบที่เราเองก็มีความสุขได้ด้วย”

“พอเราบาลานซ์ตัวเองกับคนอื่นได้ เราก็แฮปปี้ขึ้น สบายใจขึ้น คนรอบข้างก็สัมผัสพลังงานนี้ได้ เราว่าพวกเขาดูจะชอบนะ เพราะเราแฮปปี้ เขาก็อยากคุย อยากเข้าหา ไม่ท็อกซิก ดูชิวๆ ผิดกับแต่ก่อนที่เรามักจะจริงจัง ดุดัน เครียดง่ายไปหน่อย ทำให้คนรอบข้างเกร็งๆ แต่เดี๋ยวนี้เบาลงไปเยอะ”

“ตลอดปี 2022 ถ้าเปรียบตัวเองเป็นต้นไม้ เราอาจไม่มีดอกผลอะไรมากมายเหมือนปีก่อนๆ แต่เรารู้สึกได้มากเหลือเกินว่า รากต้นไม้ชีวิตเรามันปลอดโปร่ง แข็งแรงกว่าก่อนเยอะมาก แค่เรารู้จักตัวตนตัวเอง รู้จักขอบเขต รู้จักรักคนอื่นและรักตัวเองเป็นในเวลาเดียวกัน มันทำให้ภายในของเราโล่ง เคลียร์มาก เรารู้สึกว่าตัวเองอารมณ์ดี สบายใจ หัวเราะง่าย ปมอะไรที่มีมาก็เห็นมันชัดขึ้น เห็นวิธีแก้ปัญหา มันช่วยให้เรานิสัยดีขึ้นนะ เพราะเราเข้าใจมัน นี่คือความสงบสุขที่เราชอบที่สุดในปีนี้เลย เพราะเรามีความสุขจริงๆ”

“ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ ยิ่งรู้จักตัวเอง รู้จักขอบเขตตัวเอง เลยค่อยๆ สร้างสมดุลในความสัมพันธ์ได้ดีมากขึ้น และเพิ่งรู้นี่แหละว่า ความสัมพันธ์ที่ให้และรับเป็น โดยไม่เสียความเป็นตัวเอง คือความสงบสุขหรือชีวิตที่ดี”

‘2022 Life Lessons ปีนี้สอนให้รู้ว่า…’ เป็นซีรีส์สัมภาษณ์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยความตั้งใจของ becommon ที่อยากส่งต่อ 16 บทเรียนชีวิตตลอดปีของ 16 บุคคลน่าสนใจจากหลากหลายวัยและวงการ ติดตามอ่านได้ ที่นี่