pe©ple

จากที่ตั้งใจคุยกันเรื่องชา บทสนทนาพาเราไปไกลกว่าน้ำชาในถ้วย

ธี-ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ เจ้าของร้าน Peace Oriental Teahouse ยืนอยู่หลังเคาท์เตอร์ชงชาในสาขาสุขุมวิท 49

มองอย่างผิวเผิน เขาเป็นชายหนุ่มสวมแว่นตา ท่าทางสุภาพเรียบร้อย แต่พอคุยกันสักพัก ภายใต้บุคลิกภายนอกที่ดูราบเรียบ ธีบอกว่า “ผมเป็นคนใจร้อน”

ธีเลือกขัดเกลาความใจร้อนผ่านการชงชาและศึกษาภูมิปัญญาตะวันออก เขาบอกว่าชาที่แท้จะทำให้ละเอียดกับชีวิต แต่สิ่งนี้กำลังหายไปในโลกที่สนใจผลลัพธ์และกำไร

“ในความจริงแล้ว ทางลัดมันไม่มี ยิ่งลัดก็ยิ่งอ้อม”

ชาที่แต่เดิมมีคุณสมบัติเป็นยา ถูกแต่งกลิ่น พ่นน้ำหอม ใส่สารเคมี เพื่อเร่งกระบวนการไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ กำลังทำลายคุณค่าของสิ่งๆ นั้น

‘สิ่งๆ นั้น’ ที่เริ่มต้นหมายถึงชา แต่ต่อมาบทสนทนาพาเราไปยังหมายความอื่นๆ ของชีวิตที่กำลังสูญหาย

ทำไมถึงสนใจเรื่องชา

ผมชอบกิจกรรมที่มีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะอยู่ในตัวเดียวกัน เพราะ pure-art ผมจะไม่เก่ง ผมเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ผมก็จะไม่ใช่ประเภท “โห พรสวรรค์” หรือคนที่ทุกคนยกนิ้วให้ ผมจะทำได้ดีพอสมควร ไม่ได้สุดยอด หรือ pure-sci ผมก็จะไม่ใช่คนเก่งมาก แต่เรื่องที่เกี่ยวศิลปะกับวิทยาศาสตร์ผสมกัน จะทำได้ค่อนข้างดี ที่จริงผมไม่ได้ค้นคว้าแค่ชา ผมสนใจกาแฟ ทำกับข้าว กราฟิกดีไซน์ ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ มันเป็นศิลปะกับวิทยาศาสตร์

คุณมีความรู้เรื่องชาเยอะมาก ศึกษาด้วยวิธีไหน

ไปอยู่กับชาวเขาครับ ไปอยู่ไร่ชา ไปเหมือนไปเที่ยว ไปตั้งแต่ก่อนหน้าที่คิดจะเปิดร้านชา เราไปแบบไม่รู้จักใคร เดินดุ่ยๆ ไปเคาะประตู ไปทีก็ไปเป็นเดือน อย่างน้อยก็เจ็ดวันสิบวัน จนกลายเป็นเพื่อนกัน จริงๆ แล้วการศึกษาเรื่องชา ผมไม่ได้รู้สึกเหมือนศึกษานะ เหมือนเล่นไปเรื่อยๆ ผมว่าความรู้ที่ได้เยอะที่สุดและความเร็วในการเข้าใจสิ่งต่างๆ เร็วที่สุด คือการเรียนรู้เอาเอง โดยการเข้าหาคนเก่งๆ เข้าหาแหล่งความรู้ แล้วก็ลองผิดลองถูก

เริ่มเดินทางไปหาชาตามไร่มานานหรือยัง

เริ่มจริงจังก็เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ที่แบบไปอยู่กับชาวเขา ก่อนหน้านั้นก็จะแค่ไปเที่ยวเฉยๆ แต่คราวที่ไปแบบเอาจริง ผมไปเป็นเดือน ไปตั้งแต่ไม่รู้จักใครจนตอนนี้ผมมีเพื่อนอยู่ในแหล่งชาหลายแหล่งมาก

แสดงว่าก่อนหน้านั้น คุณไม่มีคนรู้จักหรือเพื่อนๆ ในวงการชา

ไม่มีเลยครับ บ้านผมทำโรงงานผลิตเบาะรถยนต์ ได้เข้าไปช่วยป๊าทำบ้าง แล้วป๊าก็ให้ทำตั้งแต่หุ้มเบาะยันสร้างระบบจัดการคุณภาพ ยันขาย ยันสร้างระบบขาย ไปเจอผู้ใหญ่ ไปปิดดีลใหญ่ๆ ก็เลยได้ฝึกการเจรจากับลูกค้า ผมเลยได้สัมผัสการทำธุรกิจพอสมควร พอจะเริ่มทำร้านชาก็เลยพอจะทำได้ ก็คิดว่าจะค่อยๆ ทำไป กะว่าถ้าไม่มีตังค์จ้างลูกน้องก็ทำเอง ชงเอง ล้างเอง เก็บเอง คิดเงินเอง เพราะชอบชงชา ชอบกินเองอยู่แล้ว

ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การเปิดร้านชาแบบนี้ไม่น่าจะเวิร์ค ทำไมถึงทำ

(หัวเราะ) จริงๆ ตอนเริ่มต้นผมไม่ได้คิดอะไร ถ้าให้ตอบตรงๆ ก็คือถ้าคิดคงไม่กล้าทำ แต่เป็นเพราะว่าไม่ได้คิด เราก็ทำไปทีละอย่าง เสร็จไปทีละอย่างไปเรื่อยๆ ถึงวันหนึ่งเราก็พบว่าเราไม่มีอะไรไม่พร้อม

เข้าใจว่าตอนจะเริ่มต้นทำธุรกิจ คุณน่าจะมีตัวเลือกในใจพอสมควร

ผมว่าเวลาเราจะหาเหตุผลให้กับอะไรหลายๆ อย่าง มันจะไปสรุปว่าเป็นเพราะเหตุผลนั้นเหตุผลนี้ก็พอจะได้อยู่ แต่มันจะจริงหรือเปล่า ผมว่าทั้งหมดเป็นเพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตมันสั่งสมมา เช่น ความเป็นคนชอบธรรมชาติ ชอบศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การได้บวชเป็นพระ (ธีเคยบวชเป็นพระอยู่ช่วงหนึ่ง) แล้วได้เล็งเห็นถึงภูมิปัญญาตะวันออกที่ล้ำลึก การที่ได้เกิดมาอยู่ในครอบครัวคนจีนแล้วป๊าชอบชงชา คือทั้งหมดทั้งมวลมันก็ชี้ไปได้หลายที่ แต่ว่าจุดที่ทั้งหลายทั้งปวงชี้มาตรงกัน คงจะเป็นจุดนี้ เพราะว่าชาเป็นหนึ่งในไม่กี่วัตถุดิบในโลกที่ยังคงแสดงออกถึงรากฐานของวัฒนธรรมตะวันออกที่ลึกซึ้ง ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทุนนิยม

ชาแสดงออกถึงวัฒนธรรมตะวันออกยังไง

อย่างชาตัวนี้ครับ เดี๋ยวผมจะชงให้ทาน เขาอยากได้รสอูมามิที่สว่างและใสกว่าปกติ เขาก็ไม่ได้โยนเกลือโยนน้ำตาลใส่ลงไป แต่เขาไปคลุมต้นชา กลับไปที่เหตุของการได้รสอูมามิที่สว่างจากแดด ความชัดเจนของวัฒนธรรมตะวันออกมันเกิดขึ้นตรงนี้ เราอยากจะได้ผล เราจะกลับไปหาเหตุ เพราะความจริงแล้วทางลัดมันไม่มี ยิ่งลัดก็ยิ่งอ้อม แต่พอเราพยายามจะหาทางลัดให้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันก็จะทำให้เสียความเป็นสิ่งนั้น และไม่ใช่สิ่งนั้นอีกต่อไป เช่น ชาถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นยา ถ้าไปทำอะไรก็ตามที่ทำให้ความหมายของชาเปลี่ยนไปจากยา เช่น การแต่งกลิ่นชา พ่นน้ำหอม พ่นสารเคมี ใส่ยาฆ่าแมลง แล้วมีระดับสารตกค้างที่ยอมรับได้ แปลว่ากินแล้วอาจจะตายช้า มันอาจจะไม่ส่งผลทันที เราจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นชาได้อย่างไร

แสดงว่าชาที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าชากำลังจะกลับมา?

ถ้ามองในมุมธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ ชากำลังจะกลับมาครับ ตามรีเสิร์จของฝรั่ง ความนิยมของคนดื่มกาแฟก็ไม่ได้วิ่งแซงชา คนที่ทำแบรนด์เกี่ยวกับชาก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าชาแท้จะค่อยๆ หายไป เพราะว่าสิ่งที่ขายได้มากขึ้นไม่ใช่ชา แม้กระทั่งเพื่อนผมที่ไต้หวันก็เริ่มพ่นกลิ่นใบชา เบลนด์ชา เอาชาดีๆ ไปใส่ขิง กลายเป็น ginger tea เพราะมันขายง่ายกว่า

ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่การเบลนด์ แต่อยู่ที่ในเมื่อเราสามารถหาทางลัดเข้าหาสิ่งที่ทำเงินได้ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำเงินน้อยกว่าก็จะถูกละเลยและมองข้ามไป ในระยะเวลานานเกิดอะไรขึ้น ภูมิปัญญาที่พัฒนาและสั่งสมกันมาของคนร้อยรุ่นที่ทำให้ชาเป็นชาก็ค่อยๆ หายไป เพราะมันไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

กลิ่นดอกไม้กลิ่นนี้ที่ต้องการในชาที่จะต้องทำด้วยวิธีนี้ เราสามารถสร้างกลิ่นสังเคราะห์ใส่ลงไปได้เลย แล้วไม่ใช่แค่กลิ่นที่หายไป แต่กระบวนการทำชาให้เป็นยา ทำชาให้มีประโยชน์ก็ตายไปด้วย กลายเป็นว่าคนไทยเชื่อว่ากินชาแล้วท้องผูกกันทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ชาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นยารักษาเรื่องการย่อยและระบบขับถ่าย เพราะว่ามีจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากการหมัก แล้วเมื่อกินเข้าไปจะเป็นกรดอ่อนๆ ที่ช่วยย่อย แต่ทุกวันนี้ความหมายเหล่านั้นค่อยๆ หายไป

อย่างชาที่ขายบรรจุขวด มีความเป็นชามากแค่ไหน?

ถ้าเรายึดภูมิปัญญาตะวันออกดั้งเดิม ชาจะเป็นชาได้มันต้องใหม่ ตัวใบก็ต้องใหม่ ชงเสร็จก็ต้องใหม่ แล้วถ้าอยู่ในธุรกิจอาหารจะรู้ว่าการที่ทำให้อาหารหนึ่งอย่างซึ่งมีน้ำตาลอยู่ในตัวอยู่ได้โดยแบคทีเรียไม่ทำร้าย มันผิดปกติมาก ถ้าขวดยังใสอยู่ แถมโดนแดดด้วย แล้วสีไม่เปลี่ยน คงต้องสงสัยอย่างรุนแรงว่าเกิดอะไรขึ้น โอเค ถ้าใส่อยู่ในกระป๋องอะลูมิเนียม แดดก็ไม่โดน อากาศในนั้นก็หมดแล้ว ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะรักษาสภาพไว้ได้ แต่จะมีประโยชน์หรือเปล่า อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

วัฒนธรรมชาดั้งเดิมกำลังถูกทำลายเพราะทุนนิยม?

โลกทุนนิยมสมัยใหม่ ต้องเรียกว่าคลั่งในความ consistency หรือความแน่นอนมากเกินไป ถ้าเรามองในธรรมชาติแล้วไม่มีอะไรแน่นอนเลย สิ่งเดียวที่แน่นอนก็คือความเปลี่ยนแปลง แล้วถ้าจุดมุ่งหมายของเราคือ consistency มันก็จะผิดทางมาก เพราะถ้ามุ่งเอาแต่จะให้เกิด consistency แต่ไม่สนใจวิธีการ สุดท้ายมันจะไปทำลายสิ่งที่เหลือทั้งหมด

คุณเคยไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่อเมริกา เคยอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมตะวันตก ทำไมถึงสนใจวัฒนธรรมตะวันออกอย่างลึกซึ้ง

มันเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจ ผมแปลกใจว่าทำไมคนถึงดูถูกวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งๆ ที่เอาจริงๆ ตัวผมเองไปอยู่ที่นู่นไม่ได้เคารพวัฒนธรรมตะวันตกเลย ผมรู้สึกว่ามันดูดีที่เปลือกนอกอยู่มาก แต่ว่าที่ตัวแก่นสาร ผมเฉยๆ

อย่างเช่นการศึกษา การแพทย์ การปกครอง วัฒนธรรม ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ผมว่าเขาเป็นผู้นำอย่างแท้จริง ถ้าการศึกษาตะวันตกพิสูจน์ว่าดีที่สุดจริง ตะวันตกต้องไม่ใช่ผู้นำสงครามมาสู่โลก ทำไมถึงเกิดอาชญากรรมมากมาย ถ้าบอกว่าการแพทย์ตะวันตกคือการแพทย์ที่สุดยอดของโลก ทำไมอัตราการตายเพราะโรคร้ายในอเมริกาถึงได้สูงที่สุดในโลก ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ แล้วการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เราสมมติกันว่า นำมาซึ่ง well being หรือความเป็นอยู่ที่ดีจริง ทำไมคำว่า well being ในอเมริกาถึงได้คำนวณได้ well being คำนวณได้ยังไง เขาใช้รายได้ของคนในพื้นที่นั้นหารด้วยค่าต่อตารางเมตรของพื้นที่นั้น ออกมาเป็นอัตรา well being ผมว่ามันเป็นการไม่ฉลาดในการเข้าใจโลกว่าความเป็นอยู่ที่ดีคืออะไร

แล้วชีวิตที่ดีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันทั้งหมดคือใช้ตัวเลขเป็นที่ตั้ง แล้วสิ่งที่คำนวณไม่ได้ด้วยตัวเลขวัดยังไง สุดท้ายก็พยายามจะวัดด้วยตัวเลขอยู่ดี ผมว่าเอาจริงๆ แล้วสิ่งที่มีค่ากับมนุษย์มากที่สุด โดยส่วนใหญ่หรืออาจจะเรียกว่าทั้งหมดเลยก็ได้ เป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขไม่ได้ แล้วถ้าพื้นฐานของทุนนิยมจะทำให้สิ่งเหล่านั้นตายจากไป แค่เพราะมันวัดด้วยตัวเลขไม่ได้ ผมว่าอันตรายมาก เพราะมันไม่จริงเสมอไปว่าสิ่งไหนที่วัดเป็นตัวเลขไม่ได้ไม่มีค่า

ถ้าไม่ได้มองความก้าวหน้าเชิงตัวเลข แล้วคุณมองในมิติไหน?

ถ้ามองให้ใกล้ตัว เริ่มต้นจากตัวเราเอง ผมว่าสุดท้ายแล้วเราต้องการอะไร เรียนไปเพื่อสอบ สอบไปเพื่อได้คะแนนดี ได้คะแนนดีไปเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจบ สอบอีกเพื่อได้ให้ประกาศนียบัตร เพื่อทำงาน เพื่อให้ได้เงิน เพื่อมีลูก เพื่อ… แล้วสุดท้ายมันก็วนมาที่ความสุขอยู่ดี สิ่งที่คนทุกคนในโลกต้องการก็คือความสุข แล้วสิ่งที่คนทุกคนในโลกไม่ต้องการเหมือนกันก็คือความทุกข์

อย่างที่คุณบอกความหมายของชากำลังเปลี่ยนไปเพราะเน้นการเข้าหาทางลัด เพื่อขายและทำกำไร แสดงว่าคนทำชาสมัยก่อนไม่ใช่แบบนั้น?

คนสมัยก่อนไม่ได้สำคัญมั่นหมายในผล แต่สำคัญมั่นหมายในเหตุ เพื่อให้เกิดผลเสมอ จากทุกกระบวนการ ตั้งแต่ปลูกยันก่อนเก็บเกี่ยว ยันเก็บเกี่ยว ยันกระบวนการ ยันชง ยันดื่ม มันมีความไม่ขี้รำคาญ ไม่เร่งร้อน เต็มไปด้วยความสวยงามของความสมบูรณ์ของกิจกรรมนั้น ไม่ใช่ว่าแพงเท่าไหร่ก็ได้ขอให้อร่อย อันนี้มันเป็นความหยาบ ทีนี้ปัญหาก็คือกระบวนการไม่ดี กินเข้าไปไม่ใช่แค่ไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นโทษ ทีนี้คนสมัยก่อนเขาไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง แต่เอาองค์รวมคือได้อย่างหนึ่งต้องไม่เสียอีกอย่างหนึ่ง

อย่างช้อนมัทฉะ ถ้าถามคนสมัยใหม่ รู้สึกว่าถ้าเอาให้ใช้จริงๆ ไม่มีใครใช้หรอกครับ โยนทิ้ง มันเป็นดีไซน์ที่ต้องเรียกว่า “โง่มาก” เพราะว่าตักไปก็หก ตวงได้ไม่เท่ากัน ตักทีก็ได้น้อย อยากจะได้เยอะต้องตักหลายรอบ ถ้ามองในมุมของจิตใจของคนสมัยใหม่ ก็จะมองว่าเป็นดีไซน์ที่สวยดี อาร์ท แต่ว่าไม่ฟังก์ชั่น เสียเวลา ไม่ฉลาด ไม่มีประสิทธิภาพ แต่จะประสิทธิภาพเพื่ออะไร ถ้าประสิทธิภาพนั้นหมายถึงปริมาณ แล้วปริมาณเพื่ออะไร เราไม่สามารถถามคำถามต่อจากข้อแรกไปได้ จริงๆ แล้วมัทฉะไม่ได้ถูกทำมาเพื่อให้กินเยอะ ดังนั้นช้อนจึงออกแบบมาให้ตักหนึ่งครั้งได้ 0.7 กรัม อย่างคนญี่ปุ่นกินมัทฉะตักอย่างมากก็ 3-4 ครั้ง ซึ่งไม่มีทางเกิน 3-4 กรัม แต่ว่าคนสมัยใหม่ตักมัทฉะจากช้อน แล้วเค้กก้อนหนึ่งใช้มัทฉะ 7-8 กรัม มันจะได้ประโยชน์จากมัทฉะได้ยังไง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นมัทฉะแท้

ต่อมาฝรั่งเอามัทฉะไปเป็นเหมือนซุปเปอร์ฟู้ด กลายเป็นว่ามัทฉะยิ่งกินยิ่งดี ยิ่งกินเยอะยิ่งประเสริฐ ช่วยต่อต้านมะเร็งได้ แล้วมีไหมในโลกนี้ ที่ยิ่งกินเยอะยิ่งดี ไม่มีเลย มีแต่ต้องพอดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องย้อนกลับไปถึงกระบวนการผลิตชา เอาแค่กระบวนการใช้ของธรรมชาติอย่างมีประโยชน์ มันก็หายไปจากโลกทุนนิยม เพราะว่าเมื่อเขาขายได้มาก แปลว่าได้บรรลุเป้าหมายมาก แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อเราบริโภคไปมาก มันจะดีกับเรา แล้วอย่างนี้จะเรียกบรรลุเป้าหมายได้ยังไง

ย้อนกลับในแง่ส่วนตัว การดื่มชามีความหมายกับคุณอย่างไร

(ครุ่นคิด) ผมดื่มชาเพราะหลายเหตุผลมาก แล้วชามันไม่ได้มีแค่แบบเดียว ไม่ได้ตอบสนองอารมณ์เราแค่อารมณ์เดียว เช่น กินข้าวเสร็จ เราจะไม่กินน้ำเย็น ถ้ามีชาที่ช่วยย่อย เราจะกินชาที่ช่วยย่อย หรือขึ้นไปบนภูเขา มีหมอก อยู่คนเดียวเงียบๆ ก็อาจจะอยากกินชาแบบหนึ่ง แต่ถ้าในมุมที่ลึกซึ้งกว่านั้น เราเห็นชาเป็นยาจริงๆ เพราะเราใช้มันรักษากาย อย่างมีหลายอาการที่เราเป็น เช่นเมื่อวานนี้ผมจะมีสัมภาษณ์ตอนเย็น แต่สมองผมไม่ค่อยแล่น เราก็รู้ว่ามีชากลุ่มหนึ่งที่จะฟื้นฟูตัว ‘ชี่’ (พลังชีวิต) ทำให้รู้สึกมีแรง ก็ชงกิน ก็หาย รู้สึกดี

สำหรับคุณ ชาดีต้องเป็นชาแบบไหน

ชาที่ดีก็คือชาที่เราชอบ สำหรับผมคือชาตะวันออก ชาที่ไม่ใช่ชาธรรมชาติ ชาที่ไม่ใช่ชาเต็มใบ ไม่ใช่ชา ส่วนชาตะวันตก ผมมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีสีสัน ส่วนสีสันนั้นเราจะชอบหรือเปล่าก็แล้วแต่คน ดังนั้นชาในความหมายชาของผมคือชาที่เป็นธรรมชาติ ชาที่มีความหมายเป็นยา ชาที่มีประโยชน์ แต่ถ้าคุณถามถึงชาดี ชาดีต้องเหนือกว่านั้น คือวัฒนธรรมชาตะวันออกเราจะต้องดู 5 อย่าง เริ่มต้นจากง่ายไปหายาก

ง่ายสุดคือ ‘รส’ ยากขึ้นไปอีกคือ ‘กลิ่น’ บางคนอาจเจอแค่หนึ่งหรือสองกลิ่น จริงๆ อาจมีถึงสิบก็มี สามคือ ‘body หรือ texture ของน้ำ’ อันนี้ก็จะยากขึ้นมาหน่อย บางคนกินน้ำแร่กับน้ำธรรมดา ไม่รู้ว่าต่างกันยังไง แต่ความจริงคือมันต่างกันมาก โดยเฉพาะที่ texture กับ body ซึ่งสามเรื่องนี้วัฒนธรรมตะวันตกมองอยู่แล้ว

ส่วนสองเรื่องสุดท้ายยังไม่มีในตะวันตก คือ ‘หุยกาน’* คนไทยแปลว่าชุ่มคอ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่นั้น แต่คือความฉ่ำหวานในคอ เวลาจิบชา แม้จะจิบถ้วยเล็กๆ ไม่ต้องจิบเยอะ ก็ชุ่มคอ แต่ถ้าจิบแล้วต้องจิบอีก หรือจิบหมดแล้วกินน้ำตาม อันนั้นเป็นชาที่หุยกานแย่ ชาจะหวานก็ตาม หอมก็ตาม ถ้าหุยกานแย่ถือว่าเป็นชาห่วย

อันสุดท้ายถือว่าสำคัญที่สุดคือ ‘ฉาชี่’ หรือพลังชี่ที่ได้จากชา ถ้าพูดแบบวิทยาศาสตร์ก็คือผลของชาที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ คุณสมบัติของชาบางอย่างจะทำให้เราโฟกัส กินเข้าไปแล้วรู้สึกว่านิ่ง เพราะว่ามีความหนักอยู่ในชา เช่น ชาญี่ปุ่น ไม่ใช่หนักแค่กลิ่น แต่ตัวฤทธิ์ของชามันแรง เหมือนเอาหินถ่วงไว้ ถ้าถ่วงเยอะเกินไป มันจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ปกติ เช่นชาญี่ปุ่นทั่วไปอย่างมัทฉะ กินเยอะมากไม่ได้ กินเยอะแล้วผิดปกติเลย มันหน่วง มันหนัก นอกจากนั้นมันลดน้ำตาลในเลือดด้วย ตัวจะรู้สึกหวิวๆ สมองจะหวิวๆ แปลกๆ ทีนี้ชาบางตัวทำให้เบาก็มี พอกินเข้าไป แขนเบา ไหล่เบา หนังตาหย่อน ไม่ได้ง่วงนะครับ ตื่น แต่เบา รู้สึกผ่อนคลาย ชาบางตัวกินเข้าไปแล้วอยากพูดเยอะๆ ก็มี คุยสนุก หรือกินเข้าไปแล้ว ทั้งที่นั่งอยู่ในก๊วนชา เงียบเลยก็มี หรือบางทีมันเป็นเรื่องกลิ่นที่เชื่อมโยงกับการรับรู้บางอย่างที่ทำให้รู้สึกสงบขึ้นก็มี ทำไมผมถึงพูดแบบนั้น เพราะว่ายังไม่ทันกลืนเลย แค่กำลังจะกลืนผ่านคอ ไปแตะที่หลังจมูก มันก็ทำปฏิกิริยาบางอย่างแล้ว

การที่จะสัมผัสความรู้สึกแบบนี้ได้ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินของแต่ละคน?

ใช่ บางคนใช้เวลาน้อยกับการทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ เพราะว่าพื้นฐานเรื่องประสาทสัมผัสในร่างกายดี อย่างเช่นคนที่ใช้ร่างกายบ่อยๆ เช่น นักเต้น นักดนตรี คนที่ชอบดื่มไวน์ ดูดซิการ์ ก็จะเป็นคนที่เอาสติมารู้กายจนเคยชิน แล้วความรู้สึกในกายจะรู้สึกได้ง่าย แต่ว่าบางคนก็จะช้า เช่นคนที่นั่งอยู่หน้าคอมฯ อย่างเดียว แต่ว่าทุกอย่างอยู่ที่ประสบการณ์

คิดว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรจากการดื่มชาบ้าง?

ผมคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากชามากกว่าตัวชาเอง ไม่ว่าวัฒนธรรมที่โอบล้อมชา คนที่ผมได้เจอ คนที่ดูเหมือนจะไม่มีการศึกษาอะไรเลยอย่างชาวดอย แต่สอนผมเรื่องคุณธรรมจากการกระทำของเขา บนเส้นทางการหาชาเหล่านั้น ผมได้เจอคนดีๆ เยอะเลย ผมได้เจอคนเหลือเชื่อที่ไม่เชื่อว่าจะถูกดูถูกโดยคนเมือง ผมว่าเพราะคนเมืองไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าแบบนั้นมากกว่า

คนที่คุณได้เจอระหว่างเดินทางหาชา สอนอะไร?

คุณธรรมที่สำคัญมากก็คือ “ความสุขคืออะไร” คำว่าเขาและเรา สำหรับคนเหล่านี้ มันมีความหมายต่างกันน้อยจริงๆ ในบางโอกาสรู้สึกเหมือนว่าไม่มีความต่างกันเลย เราจะกลับ เขามายืนส่งเราอย่างดี ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้อะไรจากเรา ผมได้เห็นว่าความสุขของเขาเกิดขึ้นจากการให้ความเป็นเพื่อน แล้วได้รับความเป็นเพื่อนกลับ มันสวยงามน่ะครับ แล้วพอเราซึมซับความสวยงามแบบนั้นมาเรื่อยๆ ใจเราจะเปลี่ยนไป คุณค่าที่เราให้มันจะเปลี่ยนไป มันทำให้เราเป็นคนที่ทุกข์ยากขึ้น สุขง่ายขึ้น เราก็พอกับสิ่งที่เป็นมากขึ้น ทุกๆ ครั้งที่ผมกลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ดีขึ้นแล้วมันจะดีเลย ก็มีเสื่อมลง แล้วเราก็ต้องกลับไปรีเฟรซตัวเองใหม่ ให้จิตใจได้สัมผัสกับสิ่งที่ต่างออกไป ใจก็ปรับมาพองขึ้น สุขง่ายขึ้น ทุกข์ยากขึ้น กลับมาอยู่ในกรุงเทพฯ นานๆ แล้วมันจะทุกข์ง่ายขึ้น สุขยากขึ้น (หัวเราะ)

คนเมืองกับคนชนบทต่างกัน?

คนเมืองเหมือนกำอะไรบางอย่างแน่นอยู่ในมือ แล้วอะไรก็เรา อะไรก็เขา คนที่อยู่บ้านนอกเขาเหมือนปล่อยเบาๆ แต่มันก็อยู่ในมือเหมือนกัน แค่ไม่ได้พยายามไปบีบบังคับ เมื่อเราได้มีความสุข กับเขาได้มีความสุข มันเหมือนมีค่าต่อกัน เขาไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยอะไร ไปถึงไม่รู้จักกัน ก็เชิญมากินชากัน เขาไม่ต้องสนใจว่าเราเป็นใคร หรือจะเอาอะไรจากเรา เขารู้สึกพออยู่ข้างใน แล้วก็พร้อมที่จะให้ ทั้งๆ ที่ในสายตาเรา เขาไม่ได้มีเยอะเลย

คุณก็ดูต่างจากคนเมืองทั่วไป ดูใจเย็น

จริงๆ ผมเป็นคนใจร้อน…

ก่อนหน้านี้?

ตอนนี้ผมก็ยังใจร้อนอยู่ แต่การชาชงเนื่องจากมันไม่มีทางลัด มันทำให้อดทน แล้วเพิ่มความต้านทานต่อความขี้รำคาญ และสร้างขันติได้ดี ผมบอกหลายคนถ้าเราลองผันตัวไปเป็นคนดื่มชา แล้วชงชาเอง จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าเราจะเป็นคนที่ละเอียดขึ้น ไม่ฉาบฉวย แล้วก็ไม่ใจร้อน คือความใจร้อนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหมือนเราถูกฝึกโดยอัตโนมัติให้รู้จักรอ

หน้าที่ในร้านชาทุกวันนี้ คุณทำอะไรบ้าง?

(ครุ่นคิด) ผมมองว่าหน้าที่หลักของผมก็คือทำให้ทุกคนมีพี่ชายที่ดี แล้วทุกคนก็จะทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายอย่างดี อาจจะฟังดูเป็นปรัชญาแต่ว่ามันก็จริง ที่ผมพยายามทำอยู่ทุกวันคือทำแบบนั้น เราเป็นสตาร์ทอัพที่ทำงานแบบไว้ใจกันมาก เราไม่มีเข้าสายหักเงินเดือน ไม่มาทำงานหักเงินเดือน มีวันหยุดเท่านี้วัน ลากิจเท่านี้วัน ไม่มี ใครอยากไปเที่ยวสี่ห้าวัน ก็ไป น้องจะไปลอยกระทงกับแฟน ขอกลับก่อน ก็ไป ไม่การหักเงิน ไม่มีการลงบันทึกอะไรทั้งนั้น แต่ผมก็จะบอกน้องเสมอว่า ขอตัวเองให้ได้ก่อน ให้ตัวเองอนุญาตก่อน แล้วตัวเองอนุญาตแล้วไม่ละอายแก่ใจ แล้วค่อยขอรุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้าโดยตรง ไม่ต้องขอผม เมื่อตัวเองไม่ละอายแก่ใจแล้ว พี่ไม่ละอายแก่ใจด้วยในการทำสิ่งนั้น ก็ถือว่าสิ่งนั้นสมควรที่จะทำ ก็ทำ

ได้ทำร้านชา ทำในสิ่งที่ชอบ คนทั่วไปคงคิดว่าคุณน่าจะมีความสุขไม่น้อย ความสุขในวันนี้ของคุณคืออะไร

ผมว่าความสุขมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความเห็นชอบของเรา คือถ้าเราหมกหมุ่นอยู่กับสิ่งที่ทำมากๆ เราไม่ระวังในความอยากได้อยากมีอยากเป็นของเรา คุณค่าในชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไป ความเห็นในเรื่องความสุขความทุกข์จะเปลี่ยนไป เราจะเริ่มมองว่าความสุขคือการได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เราต้องการ แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจเจริญขึ้นจากความเสื่อม ความหมายของความสุขในชีวิตผมก็จะเปลี่ยนไป บางวันความสุขของผมคือเงินก็มี ไม่ใช่ว่าผมเป็นผู้บรรลุธรรมอะไรนะ แต่ว่าผมก็ต้องระวังไม่ให้มันมีวันเหล่านั้นติดกันหลายวันเกินไป เพราะถ้ามาติดกันหลายวัน เราก็รู้ได้ว่าเรากำลังเสื่อมลงๆ

ผมคิดว่าความฉลาด ความสุข แล้วก็ความดี มันเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นสิ่งเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าเราทำดีจริงแล้ว เราจะทุกข์ได้ยังไง ถ้าเรามีความสุขอยู่จริง จะหมายความว่าเราใช้ชีวิตอย่างโง่ๆ ได้ยังไง มันพูดเป็นตรรกะที่ย้อนกลับไปกลับมากี่รอบก็เป็นจริง

ทุกวันนี้ถ้าไม่ได้มาร้านชา เวลาว่างทำอะไร?

ถ้าให้มองภาพกว้างจริงๆ ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย กลายเป็นว่าทุกเวลาที่ใช้ชีวิตเป็นเวลาทำงาน แล้วทุกเวลาที่ทำงานก็เหมือนใช้ชีวิตไปพร้อมกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องมี work-life บาลานซ์ จริงๆ มันต้องบาลานซ์กายใจมากกว่า บางทีใจไม่มีกำลัง ก็เอากายนำ บางทีกายคึกเกินไป ใจมันอ่อนไม่มีกำลัง วุ่นเกินไป ต้องไปนั่งสมาธิ นั่งจิบชาบ้าง เป็นเรื่องการบาลานซ์กายใจมากกว่า จริงๆ เวลาว่างก็มีบ้าง ส่วนใหญ่ผมก็จะนอน

จากจุดเริ่มต้นที่ศึกษาเรื่องชาเอง แล้วเปิดร้านเล็กๆ วันนี้ร้านของคุณกลายเป็นที่รู้จัก มีหลายสาขา คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เดินทางมาไกลถึงจุดนี้

ต้องบอกก่อนว่าจริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดจะเปิดร้านแบบนี้นะครับ แต่จะทำชาขายออนไลน์ไปก่อน แบบนำเข้าใบชา หรือชงเป็นขวดแล้วส่งสด เพราะเราเชื่อว่าชาชงสดมันจะดี แต่ความจริงชีวิตไม่ได้วางแผนได้มากขนาดนั้น ถ้าเรามองกลับไปในอดีตว่าเราเคยวางแผนไว้ยังไง จะพบว่ามันไม่ตรง มันก็จับพลัดจับผลูมา ตอนที่ไปไร่ชาจริงจัง ไปอยู่กับชาวไร่ตามภูเขา ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเปิดร้านอย่างนี้ คิดว่าอยากทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับใบชา แต่พอเราทำไปทีละอย่าง เสร็จไปทีละอย่าง เราไม่ได้คิดเยอะ เราก็ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันก็ค่อยๆ ก้าวไปทีละก้าวจนถึงวันหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรไม่พร้อมเลย ก็ทำเลยแล้วกัน เป็นยังไงก็เป็นกัน ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยครับ

ไม่ได้คิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือมีเป้าหมายเป็นนักธุรกิจนำเข้าชาเยอะที่สุดในประเทศ ก็ทำไปเรื่อยๆ

แต่มีข้อแม้คือ ทำให้มันถูกต้อง ทำอย่างตั้งใจ ทำอย่างขยันหมั่นเพียร เพื่อให้งานเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ เพราะตัวการกระทำที่สมบูรณ์นั่นแหละ…คือผลที่เราต้องการอย่างแท้จริง

Peace Oriental Teahouse

open: 08:00 – 22:00

address: สุขุมวิท 49 กรุงเทพมหานคร | tel: 098 159 5957

budget: 150 – 500 บาท

 

อ้างอิง

 

FACT BOX

  • หุยกาน (回甘) คือ รสหวานที่เกิดขึ้นตามมาหลังรสขมฝาดในน้ำชาละลายหายไป และเป็นคำที่ใช้แสดงถึงใบชาที่มีคุณภาพดีเลิศ ไม่ขมไม่ฝาด สดชื่น ให้ผู้ดื่มชารู้สึกรื่นรมย์ยินดี นอกจากนี้ยังมีการเปรียบความ ‘ขมสิ้นหวานตาม’ หรือหุยกานของชานั้นก็เฉกเช่นชีวิตคน