pe©ple

‘ความเปลี่ยวเหงายามค่ำคืนในเมืองใหญ่’ และ ‘การเพรียกหาความสัมพันธ์ครั้งก่อนจากคนรักเก่าที่เพิ่งเลิกรากัน’ คือส่วนผสมของความรู้สึกที่รวมกันเป็นทั้งกลิ่นอายและภาพจำเด่นชัด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นขณะฟังเพลงแนว City pop

เว้นเสียแต่ว่า หากเพลงนั้นถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของ อันริ (Anri) ภาพและความรู้สึกในความคิดของผู้ฟังอาจแตกต่างไปจากบรรดาเพลง City pop ของศิลปินคนอื่นๆ

Photo: Courtesy of For Life Records

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเพลงดังติดหูของอันริส่วนใหญ่ ใช้วิธีเรียบเรียงจังหวะดนตรีเข้ากับน้ำเสียงสดใสได้อย่างลงตัวและมีเอกลักษณ์ ผลลัพธ์ที่สำเร็จออกมาจึงเป็นเพลงป็อปฟังง่าย ไม่เนิบช้าเกินไปและไม่ได้เร่งเร้าเอามันแบบเพลงเร็ว

อีกสิ่งที่สำคัญคือ ถ้าสังเกตจะเห็นว่า เพลงของอันริมักใช้คำสื่อถึงความทรงจำหรือความรู้สึกบางอย่างซึ่งอ้างอิงอยู่กับฤดูกาลมาตั้งเป็นชื่อเพลงเสมอ โดยเฉพาะหน้าร้อน เช่น Windy Summer, Remember Summer Days, Surprise of Summer และ Last Summer Whisper

ใครก็ตาม เมื่อได้ฟังเพลง City pop ของอันริแล้ว จะรู้สึกได้ว่า ชวนให้เพลิดเพลินและผ่อนคลายในคราวเดียวกันราวกับกำลังนั่งพักผ่อนหย่อนใจอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ในวันแดดแรง หรือไม่ก็กำลังเดินทอดอารมณ์อยู่บนผืนทรายริมชายทะเลเพื่อซึมซับบรรยากาศและช่วงเวลาสุดท้ายก่อนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

Photo: 杏里イン・コンサート (1984)

ถึงอย่างนั้นเนื้อเพลงของอันริที่เธอต้องการสื่อสารกับผู้ฟัง ก็ยังวนเวียนอยู่กับความรักจืดจางปนเศร้า แม้ผ่านมานานหลายฤดูกาลกลับไม่เคยลบออกไปจากใจได้ เพราะหวังอยู่ลึกๆ ว่า คงจะดีถ้าคนรักเก่าหวนคืนมาอีกครั้ง หรือไม่ก็หวังให้ตัวเองเริ่มต้นรักครั้งใหม่ได้ในเร็ววัน

ทั้งหมดนี้พานให้คิดถึงความรักของอันริด้วยว่าเป็นแบบไหน? ใช่รักในแบบเดียวกันกับเพลง City pop ที่เธอร้องหรือเปล่า?

 

ดนตรีในหัวใจ

อันริ เป็นชื่อเล่นและชื่อที่ใช้ในวงการ ส่วนชื่อจริงที่ครอบครัวตั้งให้คือ เอโกะ คะวะชิมะ (Eiko Kawashima) เธอเกิดและเติบโตในเมืองยะมะโตะ ของจังหวัดคะนะงะวะ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมืองหลวงอย่างโตเกียว

ครอบครัวของอันริค่อนข้างเข้มงวดเรื่องวินัย ตั้งแต่จำความได้เธอต้องประพฤติตัวอยู่ในกรอบที่พ่อและแม่วางไว้เสมอ ยกเว้นตอนเล่นเปียโน เพราะอันริเลือกปล่อยอารมณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับทุกเสียงของตัวโน้ตที่เธอใช้นิ้วน้อยๆ กดลงไปในแต่ละคีย์เพื่อบรรเลงเพลง นั่นคือช่วงเวลาเดียวที่อันริรู้สึกว่าได้เป็นตัวเองเต็มที่ เมื่อดนตรีคือสิ่งที่อันริรัก ความรักต่อดนตรีจึงเปลี่ยนแปลงเธอให้กลายเป็นเด็กหญิงผู้มีดนตรีในหัวใจ

Photo: Courtesy of For Life Records

ตอนแรกพ่อและแม่เห็นตรงกันว่า ต้องการวางเส้นทางให้อันริเรียบจบสูงๆ จะได้มีหน้าที่การงานที่ดีๆ และมีอนาคตที่มั่นคง แต่อันริไม่คิดอย่างนั้น เธอรู้แค่ว่าเสียงดนตรีทั้งจากวงดุริยางค์ โดยเฉพาะเพลงที่ควบคุมการบรรเลงโดย พอล โมริอาต์ (Paul Mauriat) วาทยากรชาวฝรั่งเศส และเพลงป็อป ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจใหม่ๆ มาให้เธอเสมอ

หลังจากอันริเล่นเปียโนได้คล่องแคล่วแล้ว เธอจึงเริ่มฝึกร้องเพลงของศิลปินหญิงตะวันตกที่เธอสนใจด้วยตัวเอง เช่น เพลงของ มินนี่ ริเปอตัน (Minnie Riperton) โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) แคเรน คาร์เพนเทอร์ (Karen Carpenter) และ โอลิเวีย นิวตัน-จอห์น (Olivia Newton-John)

ในตอนนั้นอันริยังเด็กเกินกว่าจะคิดถึงความเป็นไปได้บนเส้นทางดนตรี เธอแค่ตั้งใจร้องเพลงและเล่นเปียโนตามความชอบ กระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนของพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นผู้กำกับและผู้ควบคุมการผลิตรายการโทรทัศน์ได้มาเห็นความสามารถด้านดนตรีของอันริเข้า จึงถามเธอว่า โตขึ้นอยากเป็นศิลปินอาชีพไหม? นั่นคือคำถามสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของอันริไปตลอดกาล

 

โอกาสแรกในวงการ

คำถามธรรมดาๆ ทำให้อันริในวัย 16 ปี เริ่มต้นวางแผนอนาคตของตัวเอง แม้ว่าเธอจะเล่นเปียโนเก่งและร้องเพลงเพราะ แต่ความเป็นเด็กขี้อายและไม่เคยคิดโอ้อวดความสามารถของตน กลับทำให้เธอกลายเป็นคนขาดความมั่นใจและไม่เคยใฝ่ฝันหรือจินตนาการว่าสักวันเธอจะได้ไปยืนอยู่บนเส้นทางดนตรีจริงๆ

Photo: Courtesy of For Life Records

เมื่อคิดทบทวนดีแล้ว อันริจึงตัดสินใจคว้าโอกาสไว้ เธอคิดเพียงว่า ก็แค่ทำทุกอย่างให้เต็มที่ ลองดูกันสักตั้ง เธอหมายมั่นกับตัวเองว่าจะทำด้วยความรู้สึกสนุกโดยไม่คาดหวังถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดอย่างผลตอบรับ เพราะคงไม่มีอะไรน่าเสียดายและเสียใจเท่าการไม่พยายามทุ่มเทแบบสุดตัวตั้งแต่เริ่ม

เพื่อนของพ่อเป็นคนแนะนำค่ายเพลงให้รู้จักอันริ ทางค่ายเองก็แสดงท่าทีสนใจพรสวรรค์ด้านดนตรีของเธอ จึงให้เพลงใหม่ที่แต่งไว้เสร็จแล้วแต่ยังหานักร้องไม่ได้มาจำนวนหนึ่ง ซึ่งอันริต้องอ่านและทำความเข้าใจเนื้อหาแต่ละเพลง เพื่อเลือกเพลงที่ชอบมากที่สุดมาลงเสียงร้อง

อันริเลือกเพลงช้าที่มีชื่อว่า オリビアを聴きながら (While listening to Olivia) เนื้อหาของเพลงนี้ บอกเล่าความคิดถึงและความทรงจำที่เคยมีร่วมกันกับคนรักเก่า แต่กว่าจะได้อัดเสียงร้องเป็นเรื่องเป็นราวก็ย่างเข้าขวบปีที่ 17

อันริไม่ได้บันทึกเสียงที่ญี่ปุ่น แต่มีโอกาสบินลัดฟ้าไปไกลถึงลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมฤดูร้อนปี 1978 พอดี ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจาก For Life Records ค่ายเพลงที่รับเธอเป็นศิลปินฝึกหัด เพราะพวกเขามองเห็นศักยภาพและความมุ่งมั่นในตัวอันริที่มีอยู่เปี่ยมล้น จึงหมายมั่นปั้นให้เธอเป็นดาวเด่นดวงใหม่ในวงการดนตรีของประเทศญี่ปุ่น

ต้นสังกัดลงทุนติดต่อกับค่ายเพลงดังสัญชาติอเมริกันอย่าง A&M Records หนึ่งในสตูดิโอระดับแนวหน้าที่บรรดานักร้องขณะนั้นต้องการเข้าไปผลิตผลงานเพลงของตัวเองสักครั้ง ช่วยให้อันริได้รับประสบการณ์ที่มีความหมายกับเธอมาก เพราะกลายเป็นใบเบิกทางให้เธอโลดแล่นอยู่บนเส้นทางดนตรีในเวลาต่อมา

 

หนทางยังยาวไกล

อันริไม่เคยลืมความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างเข้าห้องอัดเสียงครั้งแรก เพราะทำให้ได้เห็นการทำงานของศิลปินชื่อดัง ทั้ง แคเรน คาร์เพนเทอร์ ที่กำลังร้องเพลงอยู่อีกห้องหนึ่ง รวมถึง มินนี่ ริเปอตัน ที่กำลังคุยงานอยู่โถงทางเดิน หัวใจของอันริสั่นไม่เป็นจังหวะ เธอตื่นเต้นและความภูมิใจที่ได้ผลิตผลงานในค่ายเพลงเดียวกันกับศิลปินต้นแบบ ซึ่งเธอเคยหัดร้องเพลงตามและชื่นชมพวกเขาในฐานะผู้ฟังมาตลอด

หลังจากบันทึกเสียงร้องเสร็จ ต้นสังกัดรีบเปิดตัวอันริเป็นศิลปินหน้าใหม่ทันที อัลบั้มแรกของเธอใช้ชื่อว่า Apricot Jam (1978) มีทั้งหมด 10 เพลง แต่ผลตอบรับกลับไม่เปรี้ยงปร้างมากพอ เมื่อผลลัพธ์การแจ้งเกิดในวงการของอันริออกมาเป็นเพียงดาวดวงใหม่ที่ยังไม่ประกายแสงเด่น ต้นสังกัดจึงปรับแผนใหม่ทั้งหมด ทำให้เธอต้องทำงานหลากหลายแนว หวังสะสมชื่อเสียงไปเรื่อยๆ

Photo: Courtesy of For Life Records

การไม่จำกัดหรือตีกรอบให้อันริร้องแต่เพลงของตัวเอง ทำให้เธอได้ร่วมงานกับศิลปินชาวอเมริกันมากมายอย่าง ฟิลิป เบลีย์ (Philip Bailey) หนึ่งในนักร้องนำของวง Earth, Wind & Fire จอห์นนี กิลล์ (Johnny Gill) สมาชิกบอยแบรนด์ New Edition และ พีโบ ไบรสัน (Peabo Bryson) ควบคู่กับการออกอัลบั้มใหม่อีก 2 ชุด คือ Feelin’ (1979) และ 哀しみの孔雀 (Sorrowful Peacock) (1981) ถึงอย่างนั้นอันริก็ยังไม่ดังสักที จนต้นสังกัดเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้

เหตุผลสำคัญที่ดูจะเป็นคำตอบได้คือ อันริขาดลายเซ็นเฉพาะตัว แม้เธอเป็นนักร้องมากความสามารถ และมีผลงานออกมาต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัว แต่เพลงของเธอกลับไม่โดดเด่นถึงขนาดดึงดูดความสนใจจากคนฟังเพลงได้อยู่หมัด ในปี 1982 ต้นสังกัดจึงตัดสินใจปล่อยไม้ตาย ให้อันริได้ทำอัลบั้มร่วมกับ โทะชิกิ คะโดะมัตสึ (Toshiki Kadomatsu) เขาคือโปรดิวเซอร์คนเก่งผู้ปลุกปั้นศิลปินเพลงป็อปหลายคนให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว

 

เกิดใหม่ในฤดูร้อน

ในสายตาของคะโดะมัตสึ มองเห็นอันริเป็นนักร้องคุณภาพ แต่เธอขาดส่วนผสมลับของการเป็นศิลปิน นั่นคือตัวตนที่จะช่วยสร้างภาพจำให้เธอแตกต่างจากนักร้องเพลงป็อปคนอื่นๆ คะโดะมัตสึจึงรับหน้าที่หัวเรือใหญ่ ช่วยดูแลการผลิตเนื้อร้องและดนตรีให้อันริทั้งหมด จนสำเร็จเป็นอัลบั้ม Heaven Beach (1982) และ Bi・Ki・Ni (1983)

Photo: Courtesy of For Life Records
Photo: Courtesy of For Life Records

เพลงใหม่ทำให้ตัวตนของอันริที่เคยสะเปะสะปะเริ่มชัดขึ้นเป็นภาพสาวผิวแทนผู้ฉายความสดใสและมีชีวิตชีวาอยู่ท่ามกลางแสงแดดและเสียงคลื่นทะเลซัดสาดกับหาดทรายในฤดูร้อน จากที่ไม่เคยมีเพลงฮิตติดชาร์ต ไม่มีแม้แต่เพลงที่โดนใจคนญี่ปุ่น ปรากฏว่ากลุ่มผู้ฟังรุ่นราวคราวเดียวกับอันริรวมถึงวัยรุ่นเริ่มพูดถึงเพลงของเธอมากขึ้น โดยเฉพาะเพลง Fly By Day และ Lady Sunshine

แต่ผลงานที่ทำให้อันริเป็นดาวเด่นในวงการดนตรีป็อปเต็มตัว ราวกับได้เกิดใหม่อีกครั้ง คือ Timely!! (1983) เพราะเพลงแรกของอัลบั้มที่ 5 นี้ เป็นเพลงเดียวกันกับที่ใช้ประกอบอนิเมะเรื่องดังอย่าง Cat’s Eye (1983) กลายเป็นว่าทั้งเพลงและอนิเมะต่างส่งเสริมความนิยมและความดังให้กันและกัน จนในที่สุดก็ขึ้นอันดับหนึ่งของ Oricon Charts และ Countdown Japan ได้ การันตีทั้งชื่อเสียงของอันริและกระแสนิยมล้นหลามจากผู้ฟังที่มีต่อเพลงของเธอ

Photo: Courtesy of For Life Records

เมื่ออันริก้าวขึ้นแท่นเป็นศิลปินแนวป็อปที่ประสบความสำเร็จ เธอและคะโดะมัตสึยังร่วมกันผลิตผลงานอีกอัลบั้มในปีต่อมา คือ Coool (1984) หลังจากนั้น ไม่ว่าอันริจะออกเพลงใหม่ หรือทำงานด้านดนตรีรูปแบบใดก็ตาม เธอยังเลือกคงภาพจำที่คะโดะมัตสึสร้างไว้ให้ตลอด ไม่ใช่เพราะการตลาดหรือการเสแสร้งแกล้งทำ แต่อันริรู้สึกว่าได้เป็นตัวของตัวเองจริงๆ ยิ่งทำให้เธอมีความสุขทุกครั้งที่ร้องเพลง

Photo: Courtesy of For Life Records

 

รักที่เราต่างเพรียกหา

นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัวจนถึงวันนี้ อันริเป็นศิลปินที่คงความเสมอต้นเสมอปลายในเรื่องผลงานเพลง ทุกปีเธอจะออกอัลบั้มใหม่และทัวร์คอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เธอไม่เคยห่างหายไปจากวงการ หรือคิดพักไปนานจนปล่อยให้แฟนเพลงบ่นคิดถึง

แต่ด้วยวัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ พักหลังอันริมักจะเปลี่ยนแนวเพลงจากป็อปเป็นบัลลาด ซึ่งเน้นเพลงช้าฟังสบายที่มีเนื้อหาบอกเล่าความสัมพันธ์และห้วงอารมณ์ความรู้สึกบางขณะของชีวิต ทำให้เพลงรักกินใจอย่าง Summer Candles และ Dolphin Ring กลายมาเป็นเพลงเอกที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลือกเปิดในงานเลี้ยงวันแต่งงาน ส่วนเพลงป็อป อันริก็ถึงกับทิ้งไปเลย เพราะเธอยังคงนำเพลงจากอัลบั้มเก่ามาร้องใหม่เป็นประจำ

ทันทีที่แนวเพลง City pop ของศิลปินญี่ปุ่นกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ผู้ฟังหน้าใหม่ทั่วโลก ซึ่งเป็นความชมชอบที่คงอยู่ยาวนานเกินกว่าจะจำกัดความด้วยคำแคบๆ ว่า กระแส หรือ เทรนด์ ทำให้เพลงเก่าของอันริอย่าง Last Summer Whisper จากอัลบั้ม Heaven Beach (1982) ได้รับการพูดถึงตามไปด้วย โดยที่ตัวเธอเองก็ไม่เคยคาดคิด เพราะในอดีตเป็นเพลงไม่ดังมาก่อน

夏の雨上りの街に そっと灯りまたたきだす
หลังจากฝนในฤดูร้อนได้โปรยปรายลงมา แสงแดดก็ประกายไปทั่วทั้งเมือง

別れの後で電話をしたことをゆるして欲しいけど ねえ
ที่โทรหา แม้ว่าเราเลิกกันแล้ว ยกโทษให้ฉันนะ

もう一度だけあの店で会いたいそれで終りにする
อยากเจอกันที่ร้านนั้นอีกสักครั้ง แค่เพียงครั้งเดียว แล้วฉันจะหยุดทุกอย่าง

Baby, love again 二人の愛はもどりはしないけど
รักฉันอีกครั้งได้ไหม แม้ว่ารักของเราจะไม่มีทางหวนกลับมาอีกแล้ว

ต่อให้ไม่เข้าใจความหมายของเพลงในตอนแรก ก็ไม่ถือเป็นอุปสรรค เพราะผู้ฟังจะจับจังหวะและทำนองของเพลงแทน พอช่วยให้รู้สึกได้ว่า สิ่งที่เพลงนี้ต้องการสื่อถึง คือ เรื่องความรัก ความเหงา และความเศร้าที่ก่อตัวขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลาสดใสที่สุดของชีวิตมากกว่า ความขัดแย้งระหว่างดนตรีฟังสบายกับเนื้อหาที่ชวนตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง กลับเป็นเสน่ห์ของแนวเพลง City pop ที่โดนใจใครหลายคนอย่างช่วยไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าแสนเศร้า แต่เราก็ยังเต็มใจฟัง

好きな香りつけてきたの 夏の黄昏によく似合うわ
ชอบกลิ่นนี้นะ เข้ากับเวลาพลบค่ำของฤดูร้อนแบบนี้

あの日のままで 話をして欲しい 海の好きなあなた ねえ
แค่อยากกลับไปคุยกับเธอเหมือนวันนั้น นี่ ทะเลที่เธอชอบน่ะ

私はずっと頬づえつきながら 聞いてるだけでいい
แล้วฉันก็นั่งทำแก้มป่อง ตั้งใจฟังเธอฝ่ายเดียว

Baby love again やさしさだけが重すぎただけなの
รักฉันอีกครั้งได้ไหม อ่อนโยนให้กัน คงไม่หนักหนาเกินไป

นิสัยของคนญี่ปุ่นคือรักษาความเป็นส่วนตัวเสมอ ด้วยเหตุนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อันริจึงไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวความรักหรือการออกเดตของตนต่อสาธารณะ แฟนเพลงรู้แต่ว่า เธอครองความโสดมาจนถึงตอนนี้ และมีความสุขกับการทำงานในวงการตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามา

อันริไม่ได้ปฏิเสธความเหงาที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบในใจผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนรายล้อม เธอโอบกอดความรู้สึกโดดเดี่ยวเหล่านั้นไว้ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นเพลง City pop ที่เธอรัก ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่รุ่น หากความเหงายังเข้าปกคลุ่มคนเมืองไม่เปลี่ยนแปลง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เพลง Last Summer Whisper จะมีคนมากมายเต็มใจเปิดฟังและกลับมาดังได้ เพราะเพลงบอกเล่าสิ่งพวกเขากำลังเผชิญอยู่ เป็นความรู้สึกร่วมผ่านภาษาสากลที่เรียกว่าดนตรี

明日から二人 別々の日々でも この街のどこかでね
ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป แม้ว่าวันคืนของเราสองจะต่างกันไป แต่สักที่ใดที่หนึ่งในเมืองนี้

生きてるかぎり 会える気がするのよ
ตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ ก็ยังรู้สึกว่ายังจะได้เจอกัน

その時は笑顔で
ถึงตอนนั้น หวังว่าคงยิ้มให้กันนะ

ความนิยมของเพลง Last Summer Whisper ยังทำให้ เจเนวีฟ (Jenevieve) ศิลปินชาวอเมริกันวัย 22 ปี นำทำนองมาใช้แล้วแต่งเนื้อร้องภาษาอังกฤษเข้าไปใหม่ กลายเป็นเพลง Baby Powder ที่มีกลิ่นอาย นีโอโซล (Neo-Soul) หรือแนวเพลงที่แยกออกมาจากอาร์แอนด์บี เป็นดนตรีร่วมสมัยซึ่งผสมผสานระหว่างดนตรีโซลและแจ๊สจากยุค 70 กับฮิปฮอป

ถึงอย่างนั้น เพลง Baby Powder ของเจเนวีฟก็ยังพูดถึงเรื่องรักและความเหงาเหมือนกับเพลง Last Summer Whisper ของอันริไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันแค่วัยและวาระของนักร้องเท่านั้น

วันเวลาผ่านพ้น ผู้คนเปลี่ยนแปลง แต่ความรู้สึก โดยเฉพาะความรักและความเหงาของเรา หากเคยเกิดขึ้นหรือประสบเข้าแล้ว ย่อมเก็บจำฝังใจไม่มีวันลืม ต่อให้ฤดูกาลข้ามผ่าน วนเวียนกลับมาบรรจบครบรอบ เรื่องราวในวันวานย่อมชวนให้เราคิดถึงใครบางคนที่เดินจากไปในความสัมพันธ์

ช่วยไม่ได้ เมื่อความรู้สึกนั้นมาถึง อยู่ที่ตัวเราจะนิยามมวลความหลังที่เกิดขึ้นมาให้หวนระลึกว่าอย่างไร หวังว่าคงไม่ใจร้ายกับตัวเองเกินไป อย่างที่อันริบอกไว้ในเพลง “อ่อนโยนให้กัน คงไม่หนักหนาเกินไป”

 

อ้างอิง