pe©ple

ในโลกนี้มีภาพทางคริสต์ศาสนามากมายที่ใช้ชื่อว่า Ecce Homo หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘นี่คือชายคนนั้น’ 

ประโยคข้างต้นเกิดจากเหตุการณ์หนึ่งในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อ ป็อนติอุส ปีลาตุส (Pontius Pilate) ข้าหลวงชาวโรมันผู้ว่าการมณฑลจูดีอา ซึ่งจะเป็นคนสั่งประหารพระเยซูบนไม้กางเขนในเวลาต่อมา นำตัวพระเยซูมาให้ชาวยิวดู และพูดประโยคดังกล่าวว่า “นี่คือชายคนนั้น” 

แต่รูปวาดเทคนิคเฟรสโกจากทศวรรษ 1930 ที่ชื่อ Ecce Homo หรือ ‘นี่คือชายคนนั้น’ ในโบสถ์แห่งหนึ่งของเมืองเล็กๆ ชื่อ บอร์จา ในประเทศสเปน ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น Ecce Mono หรือ ‘นี่คือลิงตัวนั้น’ ได้อย่างไร?

Ecce Mono ฉบับเกือบสมบูรณ์

ย้อนกลับไปปี 2012 หญิงชรานาม ซาซิเลีย กิมาเนส (Cecilia Giménez) ตัดสินใจอาสาบูรณะภาพวาดชื่อ Ecce Homo โดยจิตรกรจากทศวรรษที่ 19 นาม เอเลียส การ์เซีย มาติเนซ (Elías García Martínez) หลังจากที่ภาพวาดภาพนี้ผุกร่อนลอกล่อนไปตามกาลเวลามาช้านาน แต่ด้วยฝีมือระดับสมัครเล่นของเธอ รูปวาดใบหน้างดงามตามอุดมคติของเยซูคริสต์ ก็กลับกลายเป็นใบหน้าของลิงไปเสียได้

ว่ากันว่า ซาซิเลีย กิมาเนส แอบบูรณะภาพนี้อย่างลับๆ โดยไม่ได้รับการยิมยอมจากใคร แต่เมื่อสำนักข่าวอย่าง BBC ไปสัมภาษณ์เธอและถามจี้ถึงประเด็นดังกล่าว กิมาเนสกลับปฏิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่” โดยเผยความนัยผ่านท่าทางลุกลี้ลุกลนที่อาจจับใจความได้ว่า เธอน่าจะแอบทำมันจริงๆ

ซาซิเลีย กิมาเนส (Cecilia Giménez)

งานบูรณะของกิมาเนสกลายเป็นไวรัลที่ถูกนำมาล้อเลียนอยู่บนโลกออนไลน์พักใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งความพังพินาศนี้ก็กลับดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมหาศาลปักหมุดให้เมืองเล็กๆ จากยุคกลางที่มีประชากรเพียงราวห้าพันคนนามบอร์จาแห่งนี้ เป็นจุดหมายที่พวกเขาอยากไปเยือนสักครั้ง แถมมันยังช่วยฟื้นคืนภาวะเศรษฐกิจอันตกต่ำของเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้ซาซิเลีย กิมาเนส จะกลายเป็นคนดังจากความพังของการบูรณะครั้งนั้น แต่เรื่องราวนี้มันก็ซ่อนไว้ซึ่งความเจ็บปวดจากการโดนบุลลี่ในทีแรก ศรัทธาเข้มข้นและความไร้เดียงสาไม่อาจหนีจากการถูกทำให้กลายเป็นตัวตลกโดยผู้คนที่ไม่ยั้งคิดได้

Ecce Mono ก่อนจะได้รับการบูรณะ

“ตอนนี้เมื่อฉันมองที่ภาพ Ecce Homo ฉันเห็นบางอย่างในแง่บวก” ครั้งหนึ่งกิมาเนสให้สัมภาษณ์กับทาง The Guardian “แต่ฉันต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ฉันเจ็บปวดสาหัสในทีแรก ฉันร้องไห้ทุกวัน มีคนมากมายรอฉันที่ประตูบ้าน พยายามไล่ตามฉันด้วยกล้องและการยิงคำถาม นั่นมันมากเกินไปสำหรับหญิงม้ายวัย 84 ปีอย่างฉัน ฉันไม่ใช่จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี้ แต่ฉันรักการวาดภาพมาตลอดชีวิต แม้ฉันจะได้แสดงงานแค่ไม่กี่ครั้ง” 

“วันที่ฉันสังเกตว่าภาพวาดนั้นลอกล่อนอย่างหนัก ฉันทำให้มันเปียก ลากเส้นหยาบๆ ลงบนภาพ และเมื่อต้องรอให้มันแห้ง ฉันก็เลยไปพักร้อนอยู่สองสัปดาห์ ในหัวคิดว่าฉันจะกลับมาบูรณะภาพนี้ให้เสร็จเมื่อกลับมาถึง

“แต่เมื่อฉันกลับมา ทุกคนในโลกกลับได้ยินชื่อ Ecce Homo กันหมดแล้ว ปฏิกริยาโต้ตอบของผู้คนยังทำให้ฉันเจ็บปวดกระทั่งตอนนี้ เพราะฉันยังบูรณะภาพนั้นไม่เสร็จ ฉันยังคิดเสมอว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้าฉันไม่ตัดสินใจไปพักร้อน เรื่องราวทั้งหมดนี้คงไม่เกิดขึ้น” 

“นักข่าวบอกโลกเกี่ยวกับเรื่องราวของหญิงชราผู้ไร้ความสามารถในการวาดรูปและทำลายภาพวาดโบราณ มันไม่จริงเลย มันอาจจะจริงที่ฉันวาดรูปพอร์ตเทรตหลายรูปไม่เสร็จ แต่ถ้าฉันไม่เริ่มบูรณะภาพเหล่านี้ ภาพวาดนี้คงหายสาบสูญไปนานแล้ว”

Ecce Homo ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น Ecce Mono หลังได้รับการบูรณะ / Photo: CESAR MANSO / AFP

ภายใต้เสียงหัวเราะมีความเจ็บปวด แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบอร์จาหลายคนมองว่า นี่คือ ‘เรื่องมหัศจรรย์’

แอนดรูว์ ฟลักค์ (Andrew Flack) นักประพันธ์เพลงโอเปรา ผู้เดินทางสู่บอร์จาเพื่อทำงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานเพลง สรุปไว้อย่างน่าฟัง และเป็นบทสรุปถึงเรื่องราวของซาซิเลีย กิมาเนส ผู้มีความศรัทธาต่อศาสนาและศิลปะได้อย่างดีว่า “สำหรับผมมันคือเรื่องราวแห่งความศรัทธา ทำไมผู้คนมากมายต้องมาดูภาพวาดนี้ถ้ามันเป็นศิลปะที่เลวร้าย ผมคิดว่ามันคือการจาริกแสวงบุญอย่างหนึ่งที่ถูกทำให้เป็นปรากฏการณ์โดยสื่อ พระเจ้าทำงานในวิถีทางอันน่าพิศวง ความหายนะของคุณสามารถกลายเป็นเรื่องอัศจรรย์ได้”