pe©ple

คิม คาร์เดเชียน (Kim Kardashian) ปรากฏตัวบนพรมแดงของงาน Met Gala 2021 ด้วยชุดดำตั้งแต่หัวจรดเท้า ผ้าสีดำปกคลุมแม้กระทั่งใบหน้าจนแทบมองไม่ออกว่าเธอคือใคร

ผู้คนในงานและคนที่เฝ้าติดตาม Met Gala ทั่วโลกต่างมึนงงสงสัย บ้างขบขัน แต่บ้างกำลังหัวร้อนถึงประเด็นเปราะบางอื่นๆ ที่อาจเชื่อมโยงถึงการแต่งตัวด้วยแฟชั่นอันแปลกประหลาดของเธอครั้งนี้ ทั้งที่บอกว่านี่คือการสร้างการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในอัฟกานิสถานหลังการยึดครองของตาลิบัน และบางคนก็คิดว่ามันเป็นมูฟแสนโง่เง่าที่สะท้อนภาพของโลกสองใบที่แตกต่าง—ขณะที่ผู้หญิงในมุมหนึ่งของโลกกำลังทุกข์ทรมานกับการถูกจำกัดเสรีภาพเหนือร่างกายของตัวเอง เซเลบริตี้บางคนกลับเฉิดฉายอยู่บนพรมแดงด้วยชุดที่คล้ายล้อเลียนภาวะยากลำบากของคนอีกฝั่งโลก

Photo: https://data.nssmag.com/images/galleries/29105/nss-mag-balenciaga-met-demna-cover.jpg

“ในฐานะผู้หญิงมุสลิม ฉันพบว่าชุดของคิม คาร์เดเชียนในงาน Met Gala ช่างบ้าบอคอแตกและไร้รสนิยมสิ้นดี” นักเขียนอย่าง ฮาฟซา โลดี (Hafsa Lodi) ถึงกับเขียนบทความวิพากวิจารณ์ตีพิมพ์ลงใน The Independent ว่านี่คือความหน้าซื่อใจคดของบรรดาคนดัง

ทว่าในงาน Met Gala 2021 ก็ไม่ได้มีแค่คิม คาร์เดเชียนเท่านั้นที่ใส่ชุดดำปกปิดร่างกายตั้งแต่หัวยันเท้า ชายชุดดำอีกคนปรากฏตัวขึ้นข้างๆ เธอ เขาสวมใส่เสื้อฮูดสีดำ ใบหน้าปกคลุมด้วยสีดำเช่นเดียวกัน นั่นยิ่งสร้างความสับสนให้ผู้คนเพิ่มขึ้นไปอีก ต่อมามีการเปิดเผยว่าชายคนนั้นคือ เด็มนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) ดีไซเนอร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกในยุคปัจจุบัน ผู้รังสรรค์ชุดอันแปลกประหลาดเหล่านี้

เด็มนา กวาซาเลีย / Photo: Christopher Anderson/Magnum for New York Magazine

“เขาเพิ่งจะเล่นตลกกับโลกแฟชั่นทั้งใบ และผู้คนก็จ่ายเงินเพื่อให้เขาทำสิ่งนั้น นี่โคตรจะอัจฉริยะเลย นอกไปจากนั้น สไตล์ของเขาน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากจอร์เจียในช่วงวิฤติหลังสงครามยุค 90 (ฉันแน่ใจว่าพวกคุณน่าจะจินตนาการภาพออก: เสื้อผ้าโคร่งๆ ขาดๆ หรือบางครั้งก็เลอะเทอะสกปรก)” นี่คือความคิดเห็นบางส่วนจากกรุ๊ปที่ชาวจอร์เจียและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจอร์เจียใช้พูดคุยกันบนเฟซบุ๊ก

ไม่ว่าจุดประสงค์จริงๆ จะเป็นเช่นไร แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่ผลงานของกวาซาเลียสร้างอิมแพ็คจนถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในทุกแพลตฟอร์ม กวาซาเลียยังเป็นกวาซาเลียผู้เฉียบคม เขาคือผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์ชั้นนำอย่าง Balenciaga และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์สตรีตแฟชั่นสุดล้ำอย่าง Vetements แต่มากไปกว่านั้น เขาเคยเป็นเด็กน้อยจากประเทศเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตอย่างจอร์เจีย ผู้ต้องหนีภัยสงครามจากบ้านเกิดด้วยวัยเพียง 12 ปี เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเจ็บปวด ทะยานตัวเองขึ้นมาจากความไร้หวัง กระทั่งสร้างสีสันให้โลกแฟชั่นได้อย่างน่าชื่นชม

Photo: https://media.guestofaguest.com/t_article_content/gofg-media/2017/10/1/49713/22069770_2046036295642037_7780106568330117120_n_(2).jpg

“ผมไม่คิดว่าความสูงส่งคือสิ่งที่เชื่อมโยงกับผู้คน” เด็มนา กวาซาเลียเคยประกาศกร้าวเช่นนั้น และด้วยแนวคิดนี้เองที่ทำให้ผลงานที่มุ่งเป้าทำลายความสูงส่งของแฟชั่นของเขาเขย่าโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำของที่อยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ มาขึ้นรันเวย์แฟชั่นอันสูงส่ง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้ายี่ห้อ Crocs ที่ดูจะเป็นรสนิยมสาธารณ์ (Kitsch) สำหรับคนคลั่งแฟชั่น แต่ด้วยการจับมันมาอยู่กับ Balenciaga กวาซาเลียก็พา Crocs เข้าสู่โลกแฟชั่นที่คนทั่วไปแตะต้องได้ยากอย่างเต็มภาคภูมิ หรือกระทั่งถุงที่มีลักษณะคล้ายถุง IKEA กวาซาเลียก็เคยนำมันไปตบหน้าคนแฟชั่นทั้งโลกมาแล้ว ส่วนผลงานที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยกันดีของเขา น่าจะเป็นถุงใบใหญ่สีสันสดใส ที่แอบคล้ายถุงใส่ของตามตลาดสำเพ็งนั่นเอง

“แฟชั่นสำหรับผมคือกระจกส่องสะท้อนสิ่งที่กำลังดำเนินไปรอบๆ ตัวเรา” กวาซาเลียกล่าว เขามองว่าตัวเองเป็น ‘นักปฏิบัติการทางแฟชั่น’ มากกว่าจะเป็นดีไซเนอร์ “ผมเป็นนักปฏิติบัติการ ไม่ใช่ดีไซเนอร์ ผมต้องการออกแบบและถ่ายทอดสารบางอย่างออกไป ผมไม่ได้ต้องการแค่ออกแบบเพื่อผลลัพธ์ทางด้านแฟชั่น ผมต้องการสร้างบทสนทนาที่ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร”

Photo: Melodie Jeng / Getty Images

เด็มนา กวาซาเลีย ถือกำเนิดในปี 1981 ในครอบครัวชาวจอร์เจียที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์อันเคร่งคัด ณ เมืองซูฮูมี ดินแดนติดชายฝั่งทะเลดำ ในปี 1989 การล่มสลายของม่านเหล็กของสหภาพโซเวียต นำพาสุนทรียศาสตร์รูปแบบอื่นๆ จากฝั่งตะวันตกมาสู่เด็กน้อยกวาซาเลียวัย 8 ขวบ การไหลบ่าของวัฒนธรรมป็อป ดนตรี โคคาโคล่า เสื้อผ้า และนิตยสาร Vogue ทำให้เขาเริ่มสนใจโลกของแฟชั่นขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

แต่แล้วไม่นานหลังจากนั้น เมื่อกวาซาเลียมีอายุได้ 10 ขวบ สงครามกลางเมืองก็พลันอุบัติ เขา น้องชาย แม่ และยายต้องหลบหนีผ่านเทือกเขาคอเคซัสอันสูงชันและซับซ้อนด้วยเท้า ต้องขายปืน AK-47 อาวุธชิ้นเดียวที่ใช้ป้องกันตัว เพื่อหาเงินมาซื้อม้าเป็นพาหนะให้ยายที่อยู่ในวัยชรา ก่อนจะเดินทางมาปักหลักอยู่ในเมืองหลวงของจอร์เจียอย่างทบิลิซีได้สำเร็จ

“การเสี่ยงคือสิ่งที่ผมคุ้นเคยมากตั้งแต่เด็ก และมันก็อยู่ในดีเอ็นเอของ Vetements” เด็มนา กวาซาเลียพูดถึงแบรนด์ของตนที่ร่วมสร้างมากับน้องชาย กูรัม กวาซาเลีย (Guram Gvasalia) “ในโลกแฟชั่นปัจจุบัน คุณต้องเสี่ยงเพื่อความอยู่รอด”

Photo: vogue.com

กวาซาเลียใช้ชีวิตอยู่ในทบิลีซีได้เพียง 2 ปี กระทั่งอายุ 12 ปี เขาก็ต้องหนีอีกครั้ง เมื่อสงครามกลางเมืองทวีความรุนแรงขึ้น ระหกระเหินข้ามประเทศ ไปปักหลังใช้ชีวิตในเมืองดืสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ในปี 2001 แม้หลังสงครามสงบลง เขาจะกลับมาเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่ทบิลิซี เมืองหลวงของจอร์เจีย ในมหาวิทยาลัย Tbilisi State University อยู่ 4 ปี ด้วยความตั้งใจอยากเป็นนายธนาคารตามที่ครอบครัวคาดหวัง แต่เมื่อมองเห็นเส้นทางอาชีพสายการเงินที่เขาอธิบายว่าคงทำให้เขาเป็น “คนที่ไร้ความสุขที่สุดในโลก” เขาก็ตัดสินใจหนีอีกครั้ง

ความสนใจในงานศิลปะที่มีอยู่เดิม ผลักดันให้กวาซาเลียขวนขวายไปเรียนรู้ด้านแฟชั่นที่สถาบันศิลปะชื่อดังอย่าง The Royal Academy of Fine Arts ในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม จบออกมาด้วดีกรีปริญญาโท จนกระทั่งมีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น Maison Margiela,  Louis Vuitton เป็นต้น 

ในปี 2014 เขาสร้างแบรนด์ของตัวเองชื่อ Vetements ขึ้นมา และด้วยแนวคิดที่แสนขบถ หัวรุนแรง มีผลงานที่ให้รูปลักษณ์สะท้อนความเป็นอาวองการ์ด (Avant-Garde) ต่างจากแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ที่เน้นไปในทางโอต์กูตูร์ (Haute couture) อันหรูหรา แถมยังพาแฟชั่นโชว์ในคอลเลกชั่นต่างๆ ไปอวดโฉมในสถานที่แปลกๆ เช่น คลับบริการทางเพศใต้ดิน หรือร้านอาหารจีน เขาก็ได้เขย่าวงการแฟชั่นครั้งแล้วครั้งเล่า กลายเป็นนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลของโลก จนกระทั่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์ชั้นนำอย่าง Balenciaga ในปี 2015 และปรากฏตัวแบบเฟียสๆ เดินพรมแดงเรียกเสียงฮือฮาพร้อมกับคิม คาร์เดเชียน ในงาน Met Gala ประจำปี 2021

Photo: vogue.fr

เขาคือแฟชั่นดีไซเนอร์คนหนึ่งทึ่เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี กวาซาเลียนำแฟชั่นเข้าสู่บทสนทนาของโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น meme มากมาย ซึ่งชาวเน็ตได้รับแรงบันดาลใจมาคอลเลกชั่นต่างๆ ของกวาซาเลีย ชัดๆ ก็เช่น ถุง IKEA ที่ถูกนำมาตัดต่อ ทำใหม่ และโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมกันจนเป็นเทรนด์อยู่ช่วงหนึ่ง

ไม่ว่างานของกวาซาเลียจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปในแง่บวกหรือลบ ก็ยังนับได้กวาซาเลียได้ทำสิ่งที่เขายึดมั่นตลอดมาได้สำเร็จอย่างงดงาม นั่นคือการพยายามทำลายความสูงส่งของแฟชั่น และลากมันลงมาสู่ถนนบนโลกของความเป็นจริง

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าของเขามีราคาแพง แต่เขาก็ทำให้หัวใจของใครหลายคนที่แม้จะไม่มีเงินซื้อสินค้าเหล่านั้นเต้นแรงได้ด้วยการขับเคลื่อนของแรงบันดาลใจ กวาซาเลียแปลงความคิดของตัวเองให้กลายตัวแทนของมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ผ่านการส่องสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงบนโลกอันสามัญให้แฟชั่นอันสูงส่งซึ่งอยู่ในโลกแห่งความฝันได้เห็น เหมือนที่ครั้งหนึ่งเด็กน้อยกวาซาเลียจากเมืองเล็กๆ อันห่างไกลในเทือกเขาคอเคซัสได้ตื่นเต้นกับ ดนตรีป็อป โคคาโคล่า และนิตยสาร Vogue

“โลกของแฟชั่นไม่ใช่โลกที่แท้จริง สุนทรียศาสตร์ของผมค่อนข้างจะเป็นแบบไฮเปอร์เรียลลิซึ่ม (Hyperrealism — แนวทางศิลปะที่เน้นความสมจริง) ผมไม่สนใจในการพยายามจะมีชีวิตอยู่ในความฝัน ถ้าเป็นแบบนั้นผมคงเบื่อเจียนตาย”

 

อ้างอิง

  • Jess Cartner-Morley. ‘I don’t think elegance is relevant’: Vetements’ Demna Gvasalia, the world’s hottest designer. https://bit.ly/3CN2ad8
  • Eugenie Trochu. Everything you want to know about Demna Gvasalia, Balenciaga and Vetements. https://bit.ly/3obZbae
  • Hafsa Lodi. As a Muslim woman, I found Kim Kardashian’s Met Gala outfit bizarre and distasteful. https://bit.ly/3kGAu3k
  • Highsnobiety. Here’s Everything You Need to Know About Demna Gvasalia”. https://bit.ly/3AK9t4x