pe©ple

มีหลายเรื่องในชีวิตที่เราจะไม่มีวันได้เห็นจุดสิ้นสุดของมัน อย่างน้อย ก็บทสรุปในแบบที่ผู้ริเริ่มสร้างเรื่องราวเหล่านั้นปรารถนาจะไปให้ถึง

Berserk มหากาพย์มังงะเรื่องเยี่ยม ที่กินระยะเวลาเขียนยาวนาน 32 ปี ดูเหมือนจะถูกตัดฉับสู่จุดจบไวเกินไป เมื่อ เคนทาโร่ มิอุระ (Kentaro Miura) นักวาดผู้รังสรรค์มันขึ้นมา ตั้งแต่ปี 1989 เสียชีวิตลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ด้วยวัย 54 ปี

ในระยะเวลา 32 ปีที่จำนวน 40 เล่ม ขายรวมกันทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านก็อปปี้ เหล่านักอ่านมังงะอาจได้อ่าน Berserk ครั้งแรกในวัยที่แตกต่างกันไป บางคนอาจได้อ่านเมื่อล่วงเลยวัยมัธยมมาแล้ว บางคนอาจได้อ่านเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรือสำหรับบางคน อาจเป็นแค่ในวัยประถม ที่เขาได้ทำความรู้จักกับเรื่องราวของ ‘นักดาบดำ’ นาม ‘กัทส์’ (Guts) ผู้มีตราประทับลึกลับที่จะมีเลือดหลั่งไหลเมื่อปิศาจปรากฏตัวอยู่ที่ต้นคอ และนั่นอาจเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เด็กน้อยวัยใสผู้ยังไม่เจนโลกได้เผชิญหน้ากับความมืดดำในจิตใจมนุษย์ผ่านการ์ตูนจนตกตะลึง เมื่อเรื่องราวเหล่านั้นทั้งช่างน่ากลัว และแสนเย้ายวนให้จ่อมจมอยู่กับมันได้เป็นวันๆ

photo: https://images.firstpost.com/wp-content/uploads/2021/05/Kentaro-Miura-640.jpg

เลือด ก้อนเนื้อ ปิศาจรูปร่างประหลาด การร่วมสังวาสอันโจ่งครึ่ม ประเด็นความเลื่อนไหลทางเพศที่ไปไกลกว่าการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ฉากการสู้รบที่ราวกับหลุดมาจากการแย่งชิงอำนาจของขุนศึกในยุโรปยุคกลาง แต่ภายใต้ความมืดหม่นและลายเส้นแสนวิจิตรบรรจงนั้น มันยังแฝงไปด้วยด้านละเอียดอ่อนอื่นๆ ของมนุษย์ ทั้งความฝัน ความหวัง มิตรภาพ ความรัก ความชิงชัง ความโกรธ ความโลภ ความไร้สมรรถภาพจากการเป็นมนุษย์ผู้เปราะบางและอ่อนแอ

มิอุระชาญฉลาดในการถักเรื่องราวของ Berserk ด้วยการจับตัวละครที่มีภาพของด้าน ‘สว่าง’ และ ‘มืด’ มาเทียบเคียงกัน นั่นคือ ‘กัทส์’ เด็กที่เกิดมาพร้อมความตายของแม่ในยุคที่ ‘สงครามร้อยปี’ ดำเนินมาอย่างยาวนาน ถูกทหารรับจ้างเก็บไปเลี้ยง เติบโตมาด้วยการถูกทารุณกรรม มีชีวิตอยู่มาได้ด้วยการฆ่า ชีวิตพลิกผันอีกหลายรอบนับตั้งแต่เขาเกิด เขาคือความมืด กระทั่งในวัย 15 ปี เขาก็ได้เจอกับกองทัพเหยี่ยว ซึ่งมีหัวหน้านาม ‘กริฟฟิธ’ (Griffith) เด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกัน ผู้ปรากฏตัวด้วยรูปลักษณ์แสนสง่างาม เขามีทักษะทางการต่อสู้ที่ดูจะเก่งกว่ากัทส์อยู่เล็กน้อย ชาญฉลาด ช่างเจรจา เพียบพร้อมไปหมดทุกเรื่อง เขาคือแสงสว่าง ทั้งคู่ร่วมมือกัน กัทส์รู้จักมิตรภาพในชีวิตครั้งแรกจากตรงนั้น รู้จักที่จะรักใครสักคนอย่างสุดจิตสุดใจเมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเหยี่ยว ความมืดและแสงสว่างอยู่ด้วยกัน กระทั่ง พวกเขาปิดฉากสงครามที่กินระยะเวลาร้อยปีได้สำเร็จ เรื่องราวน่าจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง ทว่า… นั่นไม่ใช่ความมืดและความสว่างที่แท้จริง เพราะเรื่องราวของ Berserk เพิ่งเริ่มต้น

Berserk เล่มแรก

ความเข้มข้นและการตีแผ่จิตใจอันซับซ้อนดำมืดของมนุษย์คือแก่นกลางสำคัญของ Berserk ที่มิอุระบอกเล่าออกมาอย่างจงใจ เมื่อกริฟฟิธถูกจับขังจากเหตุการณ์บางอย่างยาวนานถึงหนึ่งปี ในคุกเขาถูกทรมาน กว่าจะถูกช่วยเหลือออกมาได้ก็กลายเป็นคนพิการ แสงสว่างถูกกลืนกินจวนเจียนจะมอดดับ จนท้ายที่สุดด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าต่อความฝันบางประการ เขาก็ถึงขั้นยอมบูชายัญพวกพ้องของตน สังเวยชีวิตของคนที่เป็นที่รักให้แก่ปิศาจผู้ทรงอำนาจนาม ‘ก็อดแฮนด์’ กัทส์และทหารในกองทัพเหยี่ยวถูกประทับตรา ก่อนจะโดนเขมือบเข้าไปในความมืดมิด กริฟฟิธจุติใหม่กลายเป็นปิศาจตนที่ 5 นาม ‘เฟมโต้’ และกลับมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้งในฐานะ ‘เหยี่ยวแห่งแสง’ ในอีกสองปีให้หลัง เพื่อทำตามความฝันในการมีราชอาณาจักรเป็นของตนเอง เขากลายเป็นแสงสว่างที่จำแลงกายมาจากความมืด ส่วนกัทส์ก็เป็นความมืดอีกประเภท เป็นคนเดนตายไม่เต็มคนที่หนีพ้นการถูกสังเวยมาได้อย่างสะบักสะบอม การเดินทางที่แท้จริงเพื่อการแก้แค้นของกัทส์เริ่มต้นจากความเจ็บปวดแสนสาหัสเช่นนั้น

หลังการตายของเคนทาโร่ มิอุระ คาร์ล ฮอน (Carl Horn) บรรณาธิการจาก Dark Horse ผู้จัดพิมพ์ Berserk ในภาษาอังกฤษ เขียนบทความระลึกถึงเขาว่า “เขาสัมผัสหัวใจมนุษย์เป็นล้านๆ เขาให้แรงบันดาลใจต่อชีวิต ส่งต่อลมหายใจสู่ผู้คน และบางครั้ง ก็เป็นตอนที่เราต้องการมันที่สุด”

Photo: https://www.otaquest.com/wp-content/uploads/2019/09/Screenshot-from-2019-09-11-14-03-17.png

ในเดือนพฤษภาคม 2021 การตายของมิอุระทำให้โลกมังงะระงมไปด้วยเสียงอื้ออึงของความโศกเศร้า หลายคนหมดหวังเพราะรู้ดีว่าตัวเองจะไม่มีวันจะได้อ่านฉากจบของมังงะที่ติดตามมาค่อนชีวิตเรื่องนี้จากปลายปากกาของมิอุระอีกแล้ว 

ทว่าแม้จะไม่ชัดเจนว่าอนาคตของ Berserk จะเป็นอย่างไร แฟนๆ คงได้ทราบข่าวดีที่ประกาศไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการได้ทวีตว่า Berserk เล่มใหม่ซึ่งคือเล่ม 41 จะถูกพิมพ์ให้เราได้อ่านกันในเดือนธันวาคมปี 2021 นี้

ในโอกาสนี้ becommon จึงอยากพาไปรู้จักประวัติของนักวาดมังงะผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เคนทาโร่ มิอุระ พร้อมเกร็ดต่างๆ ในชีวิต และความคิดเบื้องลึกเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ อย่างย่นย่อ

Photo: https://i.redd.it/f2fd2qv0b7071.jpg

มิอุระเกิดในเดือนกรกฏาคม ปี 1966 ณ จังหวัดชิบะ ในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่เป็นศิลปิน เขาจึงวาดรูปได้มาตั้งแต่เด็ก เขามีบุคลิกเงียบขรึม ไม่เคยและไม่อยากทำอะไรนอกจากวาดการ์ตูน ประวัติส่วนตัวและรูปถ่ายของเขาจึงเป็นของหายาก นี่คือชายที่เกิดมาเพื่อเป็นนักวาดมังงะโดยแท้

“สมัยมัธยม ผมอยู่ในกลุ่มของคนที่เอาแต่พูดว่าฉันอยากเป็นนักวาดมังงะเต็มไปหมด ในขณะที่ความจริงพวกเขาก็เอาแต่วุ่นอยู่กับการจีบหญิง หรือไม่ก็ชกต่อยกัน …โดยพื้นฐานผมเป็นพวกเนิร์ดมังงะมากที่สุดในกลุ่ม สมมติถ้าในกลุ่มมีห้าคน (เหมือนยอดมนุษย์เรนเจอร์) ผมก็น่าจะเป็นเรนเจอร์เยลโล่ของกลุ่มนั้น ล้าหลังในแง่ของการเติบโตทางอารมณ์ แต่เหนือกว่าคนอื่นในเรื่องทักษะการวาดรูป” มิอุระให้สัมภาษณ์

ในวัย 10 ขวบ เขาวาดการ์ตูนเรื่องแรกในชื่อ Miuranger ซึ่งมีตำนานเล่าว่าเป็นการ์ตูนที่มีลายเส้นละเอียดยิบผิดกับงานของเด็กวัย 10 ขวบ แถมมันยังมีจำนวนมากถึง 40 เล่ม ก่อนจะมีอีกหนึ่งซีรีส์ชื่อ Ken e no Michi หรือ ‘หนทางของนักดาบ’ ตามมาอีกหนึ่งปีให้หลัง

ภาพจาก NOA มังงะเรื่องแรกๆ ของมิอุระ / Photo: https://i.redd.it/m8i3bfbc8pyy.jpg

มิอุระฉายแววอย่างชัดเจนมาตลอด ในปี 1982 ขณะเข้าเรียนหลักสูตรศิลปะในระดับชั้นมัธยมปลาย เขาตีพิมพ์ผลงานมากมายในวารสารโรงเรียน ในวัย 18 เขาได้ไปเป็นผู้ช่วยของ โจจิ โมริคาวะ (Joji Morikawa) เจ้าของผลงาน ‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ ผู้จะตระหนักถึงความสามารถของมิอุระได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งจำใจต้องไล่มิอุระออก ด้วยสาเหตุที่ว่า เขาไม่มีอะไรจะสอนมิอุระได้อีกแล้ว

ในปี 1985 มิอุระสอบเขาสาขาศิลปะของมหาวิทยาลัยนิฮอนได้ และที่นั่นเองที่ทุกอย่างเริ่มฉายให้เห็นเส้นทางข้างหน้าในชีวิตของเขาอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อคนที่เอาแต่หมกหมุ่นกับทักษะการวาดรูป และยอมรับตัวเองว่ายังอ่อนด้อยในเรื่องของการเล่าเรื่อง พลันค้นพบน้ำเสียงของตัวเองจากการสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนๆ และชีวิตที่ดำเนินไปรอบๆ ตน ซึ่งต่อมาเขาก็ได้พัฒนามาเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง กัทส์ และ กริฟฟิธ นั่นเอง

“ผมไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของเด็กผู้ชายทุกวันนี้เป็นยังไง แต่ย้อนกลับไปยุค 80 เด็กผู้ชายจะหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องที่ว่าเพื่อนๆ ของพวกเขาเก่งในเรื่องอะไร พวกเขาอยู่ในระดับไหนถ้าเทียบกับเพื่อน สำหรับเด็กผู้ชาย ความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องการโอ๋อีกฝ่าย บางครั้งคุณถึงขั้นพยายามดึงอีกฝ่ายลงมาด้วยการทำเป็นไม่ใส่ใจพวกเขาด้วยซ้ำ และบางคราวเช่นกัน ที่การจะแยกตัวออกจากลุ่มเพื่อนเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกยอมรับความพ่ายแพ้ คุณจะช่วยเหลือกันและกันก็ต่อเมื่อคุณมีเป้าหมายบางอย่างตรงกัน นั่นคือที่มาของ ‘กองทัพเหยี่ยว’”

https://i.ytimg.com/vi/3RA6SPNP8ps/maxresdefault.jpg

หนทางในอาชีพของมิอุระสดใสขึ้นเมื่อโปรเจกต์ที่เขาใช้เป็นพอร์ตโฟลิโอยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ตีพิมพ์ในนิตยสารมังงะที่โด่งดังที่สุดอย่าง โชเน็น จนเขาได้รับรางวัลนักวาดยอดเยี่ยม กระทั่งในปี 1988 เขาก็ได้ตีพิมพ์ร่างแรกของ Berserk ที่มีขนาด 48 หน้า หลังจากนั้น เรื่องราวที่ตามมาก็คือตำนาน เมื่อ Berserk ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอนๆ ในนิตยสารรายเดือน Animal House ของบริษัทฮาคุเซ็นฉะในปี 1989 ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Young Animal

แม้จะมีผลงานเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกพอสมควร แถมยังจบปริญญาเอกมีดีกรีระดับด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยนิฮอนในปี 1989 แต่ดูเหมือน Berserk จะกลบทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเคนทาโร่ มิอุระจนหมดสิ้น เรื่องราวที่พัฒนามาจากมิตรภาพใสๆ วัยมัธยมและมหาวิทยาลัย สู่การสำรวจจิตใจด้านมืดของมนุษย์ทำให้มิอุระกลายเป็นนักวาดมังงะแบบที่เขาฝัน นั่นคือแค่วาด จ่อมจมกับเรื่องราว โดยผู้สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีตัวตนโดดเด่นใดๆ

ถ้าให้เทียบว่าตัวเองเป็นตัวละครไหนสักตัวในเรื่อง มิอุระบอกว่าในทางกายภาพแล้วเขาน่าจะคล้ายกับ ‘พิพพิน’ ทหารรับจ้างผู้เงียบขรึมใน ‘กองทัพเหยี่ยวดั้งเดิม’ เรียกง่ายๆ ก็คือเป็นตัวประกอบที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร และดูเหมือนเขาจะพอใจกับบทบาทเช่นนั้น — “เรนเจอร์เยลโล่” มิอุระย้ำถึงตัวละครในกลุ่มยอดมนุษย์ห้าสีที่มักถูกมองผ่านอยู่เสมอ “ผมค่อนข้างมั่นใจว่านั่นคือบทบาทที่ผมเลือกเล่น”

Photo: https://mangabrog.files.wordpress.com/2015/12/kentaro_miura.jpg

ในบทสัมภาษณ์ของ animate Times ที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายน หนึ่งเดือนก่อนมิอุระจะเสียชีวิต มิอุระได้พูดคุยกับเพื่อนสมัยมัธยมผู้เติบโตมาพร้อมความชอบมังงะเช่นเดียวกันกับตน นาม ชิซึยะ วาซาไร (Shizuya Wazarai) เจ้าของผลงาน ‘Cestus – จอมหมัดสนับเหล็ก’ โดยบอกว่าเขากำลังวางแผนจะเขียนถึงบทสรุปของ Berserk กระนั้น เขาก็บอกกับเพื่อนว่า เขาเห็นผู้คนมากมายที่ทำงานจนกระทั่งอายุ 90 ปี และตัวมิอุระเองก็อยากลองทำเช่นนั้นดูบ้าง

น่าเสียดายที่นักวาดมังงะผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้เสียชีวิตในวัยเพียง 54 ปี เหลือทิ้งไว้แค่ตำนาน อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ดูเหมือนคำอำลาของมิอุระจะแอบซ่อนอยู่ในคำพูดของตัวละครหลักอย่างกัทส์  ในฉากท้ายๆ ที่เขาวาดไว้ 

ลืมเรื่องการทำให้มันสิ้นสุดไปเถอะพวก บนเกาะงั่งๆ นี่น่ะ มันไม่มีอะไรให้ทำมากนักหรอก นอกจากงีบหลับ หรือไม่ก็กวัดแกว่งดาบไปมา”

และแม้สุดท้ายแล้ว Berserk จะมีตอนจบที่เขียนโดยมิอุระหรือไม่ บางทีมันอาจไม่สำคัญใดๆ เหมือนกับที่ คาร์ล ฮอนเขียนไว้ในคำอาลัยถึงมิอุระว่า “คุณซึ่งเป็นแฟนมังงะของเขาน่าจะรู้ดีอยู่แล้ว ว่าส่วนเสี้ยวของชีวิตมิอุระอยู่ในตัวคุณ พวกคุณกำลังพาเรื่องราวเหล่านั้นก้าวเดินไปข้างหน้า”

Berserk ฉบับที่ 40 เป็นฉบับสุดท้ายที่ถูกตีพิมพ์ขณะมิอุระยังมีชีวิต

อ้างอิง

  • Carl Horn. DARK HORSE COMICS MOURNS THE LOSS OF KENTARO MIURA. https://bit.ly/3Ed31VR
  • Will Heath. Kentaro Miura: All You Need to Know About the Beserk Manga. https://bit.ly/3nqrwce
  • Berserk Wiki. Pippin. https://bit.ly/3C0ReIq
  • Yukari Fujimoto. BERSERK ARTIST KENTARO MIURA INTERVIEW: “I ACTUALLY DON’T THINK I COULD LET SUCH A LONG GRIM STORY END WITH A GRIM ENDING”. https://bit.ly/3nod44F
  • animate Times. 『セスタス』技来静也先生×『ベルセルク』三浦建太郎先生 同級生対談|ロングラン作品を描く二人、両作品の気になるラストのイメージとは. https://bit.ly/3tA69X0