หากในศตวรรษที่ 13 ไม่มีอาณาจักรใดจะยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจไปกว่าจักรวรรดิมองโกล ที่สามารถครอบครองพื้นที่ทางบกที่มีอาณาเขตต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ภายใต้การนำของจอมทัพอย่างเจงกีสข่าน
เดอะ ฮู (The HU) คงมีสถานะไม่ต่างจากกลุ่มนักรบเลือดใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ใช้ดนตรีแทนอาวุธในการแผ่แสนยานุภาพไปยังหลายทวีปทั่วโลก
อาวุธของพวกเขาคือ ดนตรีแนว ‘ฟอล์ค-เมทัล’ ที่กร้าวแกร่งแบบเดียวกับเฮฟวี่เมทัลต้นตำรับ ต่างก็ตรงพวกเขาเลือกจะเปล่งเสียงร้องให้ก้องกังวานผ่านลำคอ ด้วยเอกลักษณ์การใช้เสียงเลียนแบบธรรมชาติของชาวมองโกลที่เรียกว่า throat singing รวมถึงการเลือกใช้เครื่องสายท้องถิ่นมาดีดและสี แทนที่จะหยิบกีตาร์ไฟฟ้ามาโซโลให้ซ้ำใคร
ภาพของหนุ่มร็อคผมยาว 4 นายไว้หนวดเคราคมเข้ม สวมชุดหนังเข้ากับบูทดูดุดัน จึงแตกต่างในรายละเอียดของอาวุธทางดนตรีในมือ ที่โดดเด่นด้วยหัวม้าสีน้ำเงินและแดงแกะสลักประดับอยู่บนซอ กับพิณที่มีหน้าตาราวกับหอกดาบไม่มีผิด
ยิ่งเมื่อพวกเขายืนเปล่งเสียงร้อง โยกหัว โซโลพิณ และสีซออย่างเมามันอยู่บนขุนเขาอันยิ่งใหญ่ โดยมีทิวทัศน์อันไพศาลของทุ่งหญ้าสเต็ปป์และทะเลทรายแห่งมองโกเลียเป็นฉากหลังในมิวสิควิดีโอเพลงแรกอย่าง Yuve Yuve Yu ที่ปล่อยออกมาทาง YouTube เมื่อปลายปี 2018
ปรากฏการณ์ที่มียอดผู้เข้าชมมากเกิน 75 ล้านครั้ง จึงเป็นผลลัพธ์ที่ยืนยันความสำเร็จของส่วนผสมอันลงตัว
และเมื่อเพลงลำดับที่สองอย่าง Wolf Totem ถูกปล่อยตามมาในเวลาไม่นาน พวกเขาก็มีฐานแฟนเพลงเดนตายทั่วโลกคอยให้การต้อนรับเป็นที่เรียบร้อย
ปี 2020 เมื่ออัลบั้มแรก The Gereg ออกวางจำหน่าย The HU จึงเป็นวงดนตรีสัญชาติมองโกลวงแรกที่ติดอันดับ 1 บนชาร์ท Billboard’s Top New Artist ตามด้วยการติดอันดับในหลายชาร์ตเพลงของหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ พร้อมด้วยยอดผู้ติดตามบนเพจ The HU ที่ปัจจุบันมีมากถึง 554,000 followers
พวกเขาสร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมชนิดเหนือความคาดหมาย ถึงขั้นที่รัฐบาลมองโกเลียเลือกบางเพลงของ The HU เป็นเพลงประกอบแคมเปญท่องเที่ยวของประเทศ กระทั่งประธานาธิบดีแห่งมองโกเลียยังต้องขอมอบรางวัล Order of Genghis Khan ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดประจำชาติแด่พวกเขา
The HU ทำให้ทุกคนที่ – จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม – ได้ฟังเพลงและดูมิวสิควิดีโอของพวกเขา พร้อมจะเปล่งเสียง “Hu! Hu! Hu!” ด้วยหัวใจลำพอง โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจภาษามองโกลแม้แต่คำเดียว
“พวกเราฟอร์มวง The HU ขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เพียงเพราะอยากแนะนำวัฒนธรรมมองโกลและดนตรีอันแสนจะไพเราะประจำชาติให้ชาวโลกได้รู้จัก” กาลา (Gala) นักร้องนำและเล่นเครื่องดนตรี morin khuur (ซอหัวม้า) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของวงร็อคที่มีสมาชิก 4 คน โดยพวกเขาจงใจเลือกใช้คำว่า hu เป็นทั้งชื่อวง และบัญญัติเป็นศัพท์เฉพาะใช้เรียกแนวทางดนตรีเมทัลของพวกเขาว่า hunnu rock
เพราะคำว่า Hu มีความหมายว่า มนุษย์ ในภาษามองโกล และมนุษย์ก็คือหัวใจสำคัญในการเล่าขานบทเพลงของ The HU
“เพลงของพวกเราไม่ได้สื่อถึงชาวมองโกลอย่างเดียว แต่เรากำลังพูดแทนมนุษย์ทุกคน” เทมกา (Temka) มือกีตาร์ดีไซน์เฉพาะแบบมองโกลที่เรียกว่า tovshuur เสริมถึงความนัยที่แฝงไว้ในชื่อวง
แม้จะดูเป็นคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างอย่างแข็งแรง แต่การเลือกจะร้องเพลงด้วยเทคนิคเปล่งเสียงจากลำคอที่ราวกับกำลังพร่ำสวดมนต์คาถา และใช้เครื่องสายโบราณในการบรรเลงเพลงร็อคนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในการฝึกฝน
กว่าจะร้องและเล่นได้อย่างมืออาชีพ สมาชิกทั้ง 4 ของ The HU ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างยาวนาน อย่างตัวนักร้องทั้ง 3 คนในวง (มีเพียงเทมกาที่เล่นดนตรีอย่างเดียว) ล้วนต้องผ่านการฝึกเปล่งเสียงจากลำคอนานอย่างน้อย 20 ปี
“การร้องเพลงด้วยการเปล่งเสียงจากลำคอเป็นศิลปะการสื่อสารที่เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งบรรพบุรุษของเราปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อสื่อสารกับธรรมชาติรอบตัว ด้วยการพยายามเลียนเสียงน้ำตกและลม จนกลายเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักและจริงจังเป็นเวลานาน” กาลาอธิบายถึงทักษะประจำชนชาติมองโกล
ดังนั้น ความสำเร็จของหนุ่มมองโกลทั้งสี่นายนี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
สมาชิกทุกคนของ The HU เกิดในยุค 90 โดยกาลากับเทมกาเป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกันตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ซึ่งกาลาเองก็ฟอร์มวงเล่นดนตรีกับจายา (Jaya) และเองคุช (Enkush) อยู่แล้ว หลังจากนั้น ทั้งสี่จึงสมัครเข้าเรียนดนตรีที่ Mongolian State Music and Dance Conservatory ในเมืองอูลานบาตอร์ด้วยกัน สถาบันแห่งนี้เองที่สอนให้พวกเขาได้ฝึกฝนการร้องเพลงด้วยเทคนิค throat singing จนช่ำชอง
แต่ถึงจะหลงใหลในเสียงเพลงมากแค่ไหน ประเทศมองโกเลียในสมัยนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบสังคมนิยม บริหารงานโดยพรรคปฏิวัติประชาชนมองโกเลีย (Mongolian People’s Revolutionary Party – MPRP) ที่มีนโยบายสั่งห้ามทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับเพลงจากฝั่งตะวันตกอย่างเคร่งครัด จนถึงปี 1992 สถานการณ์จึงค่อยคลี่คลาย
แน่นอนว่าไม่มีกฎเกณฑ์ไหนจะบังคับวิญญาณขบถของเหล่าวัยรุ่นหัวใจร็อคได้ ชาว ‘เดอะฮู’ เองจึงขวนขวายไขว่คว้าเสาะหาเพลงจากอีกฟากหนึ่งของโลกมาฟัง พวกเขาจึงเติบโตมากับสุ้มเสียงของ Metallica, Rammstein, System of a Dawn, Queen ฯลฯ ไม่ต่างกับวัยรุ่นมองโกเลียส่วนใหญ่ที่เสพดนตรีคล้ายๆ กัน
The HU จึงไม่ใช่วงดนตรีเมทัลวงเดียวในมองโกเลีย ก่อนหน้านี้ มีวงร็อคมองโกลถือกำเนิดขึ้นมาแล้วมากมาย เช่น Haranga, Altan Urag, Tengger Cavalry หรือแม้แต่ Nine Treasures วงเมทัลที่ก่อตั้งมานานกว่าสิบปี มีผลงานมาแล้ว 3 อัลบั้ม ซึ่งก็บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตำนาน ประวัติศาสตร์ และดนตรีพื้นบ้านไม่ต่างจาก The HU
“ผมคิดว่าต่อไปชาวมองโกลคงคิดจะเริ่มเล่นดนตรีแนวนี้มากขึ้น เพราะความสำเร็จในระดับโลกของ The HU” อาชคาน อาวักชูด (Askhan Avagchuud) สมาชิกวง Nine Treasures ยอมรับในความสำเร็จของนักดนตรีรุ่นน้อง เพราะไม่มีวงมองโกลวงไหนสามารถก้าวออกไปโกอินเตอร์ได้อย่างโฉ่งฉ่างเหมือนที่ The HU สามารถทำได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“การที่ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงและชอบเพลงของ The HU ทำให้พวกเราประหลาดใจไม่น้อย ซึ่งเราคิดว่าความสำเร็จของวงเกิดจากจังหวะที่ลงตัว โลกของเพลงร็อคกำลังต้องการความแปลกใหม่ แล้ววงของเราก็สนองสิ่งนั้น ด้วยความที่ดนตรีเป็นภาษาสากลอยู่แล้ว ผู้คนจึงเข้าถึงบทเพลงของเราได้โดยง่าย คนฟังสามารถเลือกได้เลยว่าอยากจะฮัมเพลงท่อนไหนตาม” จายาพี่ใหญ่ประจำวง (ปีนี้เขามีอายุ 38 ปี) ผู้ควบหลายตำแหน่งในวง ทั้งเล่นพิณ, เป่าฟลุต รวมถึงการเป็น throat singer ไปในตัว ลองวิเคราะห์ความสำเร็จของวง
“สิ่งที่ทำให้วงของเราต่างไปจากวงมองโกลอื่นๆ คือ รากฐานทางดนตรีของพวกเขายึดตามแนวทางเพลงร็อคตะวันตกเป็นหลัก แล้วค่อยเสริมกลิ่นอายจากเครื่องดนตรีมองโกลเข้าไปผสมผสาน” กาลาแจกแจงถึงเอกลักษณ์ของ The HU
“ส่วนแก่นของวงเรา คือ การใช้เครื่องดนตรีประจำชาติมองโกลล้วนๆ แล้วค่อยใส่กลิ่นของร็อคตะวันตกเข้าไป น้ำเสียงของ The HU รวมถึงวิธีที่เราเล่นดนตรีจึงแตกต่างจากวงอื่นโดยสิ้นเชิง
“ดนตรีของพวกเราคือส่วนผสมของตะวันออกกับตะวันตก และโลกเก่ากับโลกใหม่ เรานำประวัติศาสตร์และสุ้มเสียงที่ขับขานอยู่รอบตัวชาวมองโกลมานานกว่าพันปีออกไปให้ชาวโลกได้ยิน” กาลากล่าวย้ำอย่างมั่นใจ
The HU ได้ปลุกวิญญาณของนักรบในตำนานอย่างเจงกีสข่านขึ้นอีกครั้ง ผ่านเพลง The Great Chinggis Khan แต่พวกเขาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาของแสนยานุภาพในการรบ กลับเลือกที่จะเล่าขานถึงสันติภาพเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับเพลงอื่นๆ ของ The HU ที่บอกเล่าถึงจิตวิญญาณของชาวมองโกลผ่านธรรมชาติ สรรพสัตว์ ความเชื่อ เทพเจ้า ฯลฯ
ชื่ออัลบั้ม The Gereg ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกหนังสือเดินทางทางการทูตที่ขุนนางมองโกเลียในยุคเจงกีสข่านต้องถือไปด้วย ขณะเดินทางไปยังแว่นแคว้นต่างๆ ในศตวรรษที่ 13 จึงเสมือนฟื้นตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ The HU รับหน้าที่ถือหนังสือเดินทางทูตที่ประกอบด้วย 9 บทเพลง ไปให้ผู้ฟังทั่วโลกได้ทำความรู้จักอาณาจักรมองโกลอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“เมื่อพวกเราตกลงใจใช้ The Gereg เป็นชื่ออัลบั้ม ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่าหนังสือเดินทางทางการทูต จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในการออกไปทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนได้ยินเพลงของชาวมองโกล” กาลาเสริมในใจความสำคัญของอัลบั้มแรก
The HU เริ่มเดินสายตระเวนคอนเสิร์ตระดับเวิลด์ทัวร์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ไล่มาตั้งแต่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี อาร์เจนตินา บราซิล อเมริกาเหนือ ก่อนที่การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 จะทำให้พวกเขาต้องติดค้างอยู่ทิ่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียนาน 45 วัน เพราะขณะนั้นมองโกเลียได้ทำการปิดประเทศเพื่อล็อคดาวน์ชั่วขณะ
แม้การเดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกจะต้องหยุดชะงักลงก็ไม่ใช่ปัญหา ดีเสียอีกที่พวกเขาจะได้ใส่พลังในการลงมือทำเพลงในอัลบั้มที่สองได้อย่างเต็มที่
และเมื่อพรมแดนของทุกประเทศเปิดขึ้นอีกครั้ง The HU ก็พร้อมที่จะออกไปขับขานเมทัลร็อคตำรับมองโกลให้ชาวโลกได้ระเบิดพลังต่อโดยทั่วกัน
ฟังเพลงของ The HU ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UCs6vRDdkZ8bP8Xt6WHbvrwA
อ้างอิง
- www.thehuofficial.com
- Paul Travers.How Mongolian metal became a cultural phenomenon. https://bit.ly/3ekZdHe
- Dannii Leivers.The Hu: the folk-metal warriors who conquered the world. https://bit.ly/3toXXXS
- Katya Cengel.Whatever Happened To…The Heavy MetalMongolian Band Called The Hu? https://n.pr/3h8DofZ