pe©ple

“ถ้าเราปล่อยคาร์บอนออกไปเรื่อยๆ ในชั้นบรรยากาศ ปล่อยให้อุณหภูมิโลกเพิ่มมากขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียส สภาพอากาศจะเสียหายถาวร ”

หนึ่งในแอดมินเพจ Too Young to Die เล่าถึงวิกฤติของโลกที่อ่านเจอจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ IPCC (Inter Government Panel of Climate Change)

ที่เกริ่นว่าหนึ่งในแอดมิน เพราะเพจนี้มีทีมงานสามคน ได้แก่ จอย – สนาธร รัตนภูมิภิญโญ, แป้ง -วีรยา มานามวีรสิทธิ์ แพทย์ประจำบ้านศัลยกรรม และ ซวง – ลดาทิพย์ ทองธเนศ แพทย์หูคอจมูก สามคุณหมอรวมตัวกันใช้เวลาว่าง (เท่าที่พอเหลืออยู่) บอกเล่าวิกฤติสิ่งแวดล้อมจากทุกมุมโลกผ่านเพจ Too Young to Die

แป้ง (ซ้าย) และ จอย (ขวา)

เพจที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 7 ปีก่อน หลังจาก ‘ซวง’ เพื่อนสนิทของจอยยื่นหนังสือ An Inconvenient Truth เขียนโดย Al Gore ที่พูดถึงภาวะโลกร้อนให้เธออ่าน นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้จอยเห็นว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤติใหญ่หลวง 

ถึงแม้ความหายนะที่จอยจินตนาการเอาไว้จะเกิดขึ้นในอีกสักสามร้อยปีข้างหน้า แต่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นธันวาคมที่ร้อนที่สุดของเธอ หายนะที่ว่ากลับยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ทุกสิ่งอาจเกิดเร็วกว่าที่คิด

จอยจึงชักชวนชวน ‘ซวง’ และ ‘แป้ง’ มาจับมือกันทำเพจเล็กๆ ที่มีภารกิจใหญ่ นั่นคือการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมและกอบกู้โลกใบนี้

หมายเหตุ : วันนี้คุณหมอซวงติดภารกิจเนื่องจากเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่หัวหิน จอยและแป้งจึงอาสาเล่าให้เราฟังแทน

 

Too Young to Die
เราเด็กเกินไปที่จะตายในวันพรุ่งนี้

ชื่อเพจ Too Young to Die มีที่มาจากชื่อเพลงของวงฟังก์สัญชาติอังกฤษ Jamiroquai ซึ่งพูดถึงการเมือง และแนะว่ารัฐบาลต้องทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเยาวชนในอนาคต ด้วยความหลงใหลในแนวดนตรีนี้และเนื้อหาที่กินใจ ทำให้จอยหยิบชื่อเพลงมาตั้งเป็นชื่อเพจที่มีจุดหมายเดียวกันคือ ‘บอกทุกคนให้เริ่มทำอะไรสักอย่างได้แล้ว’

“เราเรียนผ่าตัดแทบตาย แต่อนาคตพวกเราตายกันหมดก็ไม่ไหวนะ ช่วงเวลาชีวิตวัยรุ่นที่เราเสียสละไปหมด คิดว่าอนาคตเราจะได้พักกันไหม อาจจะไม่เพราะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น”
จอยเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ทำไมถึงทำเพจนี้

จอย : พูดไปแล้วจะโดนต่อยไหม (หัวเราะ) เราทำมาเพื่อส่ง messege กลับไปหารัฐบาล เราจะทำไม่สำเร็จเลยถ้ารัฐบาลไม่ช่วยอย่างจริงจัง เราพยายามโน้มน้าว (convince) ว่านอกจากทุกคนจะเปลี่ยนตัวเองแล้ว ทุกคนยังต้องช่วยกันบอกรัฐบาลด้วย กลัวจะโยงเรื่องการเมืองว่าเราชอบหรือไม่ชอบพรรคไหน ไม่มีเกี่ยวกับเรื่องนั้นเลยเพราะตอนนี้ทุกพรรคก็ ignore เรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น

คิดว่าทำไมเขาถึงไม่ใส่ใจเรื่องนี้

แป้ง : คงมีเรื่องอื่นที่เขาเห็นว่าสำคัญกว่า โลกร้อนมันค่อยๆ เพิ่มระดับความอันตรายขึ้นทีละนิด อย่างน้ำท่วม จริงๆ มันก็เกี่ยวกับ climate change ถ้าย้อนมองกลับไปมันคือเรื่องสภาพอากาศที่ปลี่ยนแปลง ทุกอย่างส่งผลต่อกัน เราต้องทำให้ทุกคนเริ่มตระหนัก และเสียงมันจะกลับไปที่รัฐบาลอีกทีหนึ่ง เนื้อหาในเพจก็จะเป็นข่าวโลกร้อน ไฟป่าแอมะซอน น้ำท่วม หรือน้ำแข็งละลาย เป็นผลกระทบจากโลกร้อนทำให้คนเห็นว่ามันเริ่มแรงขึ้นแล้ว

ในมุมมองของคุณ คิดว่าโลกหลังจากนี้จะเป็นยังไง

จอย : ตอนนี้จากรายงานของออสเตรเลีย บอกว่าปี 2050 บริเวณที่เราอาศัยอยู่และโซนตะวันออกกลาง ใน 1 ปี จะมีวันที่ร้อนมาก 100 วัน ร้อนจนอยู่ไม่ได้ มันไม่ได้เว่อร์เกินไปเพราะปีนี้มีฮีตเวฟที่ยุโรป ฝรั่งเศสไปถึง 45 องศาฯ เยอรมัน 40 องศาฯ เบลเยี่ยม อังกฤษก็ทำลายสถิติเดิมหมดเลย เราพยายามเขียนข่าวให้คนเห็นว่ามันเป็นเรื่องซีเรียส 

แป้ง : ปีที่แล้วเขาบอกว่าเป็นเดือนกรกฎาคมที่ร้อนที่สุด แต่พอมาสรุปใหม่ ปีนี้ร้อนกว่าปีที่แล้วอีก พอมันร้อนพวกอุตสาหกรรมเกษตรก็ทำไม่ได้ 

จอย : รายงานจาก BBC บอกว่าโตเกียวจะร้อนขึ้นอีก 1.9 องศาฯ เท่านี้ปะการังก็ตายหมดแล้ว แป้งร้องไห้แน่ๆ (เนื่องจากแป้งหลงรักการดำน้ำและโลกใต้ทะเลยิ่งกว่าสิ่งใด) บ้านเราก็ไม่น่ารอด แล้วเราจะไปอยู่กันที่ไหนกัน ปี 2100 เขาบอกว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นมากสุดคือ 2 เมตร กรุงเทพก็ไม่น่ารอด

พออ่านวิจัยเยอะๆ แล้ว เห็นวิกฤติอะไรที่ร้ายแรงบ้าง

แป้ง : มันจะร้อนจนอยู่ไม่ได้ น้ำแข็งละลายจนทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ภัยธรรมชาติเกิดง่ายขึ้น พายุมาไวไปไว แทนที่ฝนจะค่อยๆ ตกลงมาเหมือนหน้าฝนทั่วไป มันจะตกลงมาทีเดียวทำให้เราเก็บน้ำไม่ทัน น้ำก็จะท่วม อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำไว้มันก็เสียหาย พอน้ำมาไวไปไวก็จะแล้งนาน การกินอยู่ต้องอาศัยการเกษตร ในเมื่อการเกษตรไม่พอจะเลี้ยงพวกเรา ต่อไปก็จะเหมือนในหนัง ขาดแคลนจนแย่งอาหารกัน ต้องหาอะไรมาทดแทน มันไม่ปุบปับอย่างไฟป่า แต่จะค่อยๆ เกิดขึ้น

จอย : สิ่งที่น่ากลัวคือมันจะแย่ขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆ แต่พวกเราไม่ค่อยรู้สึก

เคยคิดว่าโลกมันจะถึงจุดจบจริงๆ ไหม

แป้ง : คิดว่ามันก็คงต้องมีสักวันแหละ อาจจะไม่ใช่ในช่วงอายุของเรา มันต้องมีมนุษย์ไปอยู่ดาวอื่นเพราะโลกมันอยู่ไม่ได้ 

จอย : ตอนแรกมันก็มาเนิบๆ แต่พอเร็วแล้วก็เร็วเลย เลยจุด tipping point เป็นจุดที่กู่ไม่กลับแล้ว ตอนนี้เราเข้ากราฟส่วนที่ชันที่สุดแล้ว ช่วงปี 2000 ต้นๆ โลกมันก็ยังดีอยู่ แต่ช่วง 4-5 ปีมานี้ มันเปลี่ยนไปมาก ตอนนี้มีภัยพิบัติเยอะมาก เห็นชัดสุดเลยคือภัยแล้ง เป็น 10 ปีที่แม่น้ำโขงแห้งที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

Carbon Footprint
‘ทุกการกระทำของมนุษย์ ย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ’

“การจะได้ทุกอย่างมามันต้องแลกมาด้วยพลังงานที่มาจากฟอสซิล ฟอสซิลทำให้เกิดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ก็เกิดโลกร้อน พลาสติกมันเป็นแค่ส่วนเดียวของทั้งหมด ที่เราขับรถ ที่นั่งเปิดแอร์นั่งเล่นคอมพ์เสียบปลั๊กทิ้งไว้นานๆ เราลืมตรงนั้นไปด้วย” จอยเล่าให้เราฟัง

ทุกการกระทำของมนุษย์เรา ย่อมทิ้งร่องรอยไว้เสมอ คาร์บอนไดออกไซด์ก็เช่นกัน หลายกิจวัตรของเราอาศัยแหล่งพลังงานที่ต้องแลกมาด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นั่นเป็นประเด็นหลักที่ Too Young to Die อยากให้ทุกคนเข้าใจ 

ตอนนี้ประเทศเรากำลังลดคาร์บอนด้วยวิธี ‘ลดจากเส้นคาดการณ์ (Baseline Scenatio Target) ซึ่งเป็นการวัดเปอร์เซ็นต์ของก๊าซที่ลดได้กับระดับก๊าซที่ปล่อยปกติ (Business as Usual : BAU) ตัวเลขที่บอกว่าเราลดคาร์บอนได้มากมายนั้น คงไม่ทำให้เราชื่นใจสักเท่าไหร่หากในอนาคตเราปล่อยคาร์บอนมากขึ้น 

ปริมาณคาร์บอนในไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

จอย : พลังงานของไทย 80 เปอร์เซ็นต์มาจากฟอสซิล มีพลังงานหมุนเวียนแค่นิดเดียว UN บอกว่าปีนี้ไทยลดคาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เราไปอ่านรายงานมาและรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ใช่ absolute reduction เป้าหมายของประเทศอื่นๆ คือลดให้ได้ประมาณ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030 แต่ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ 

คาร์บอนมาจากภาคพลังงานเยอะที่สุด คนที่เอาพลังงานมาให้เราใช้ก็คือรัฐบาล วิธีที่จะช่วยได้เร็วที่สุดคือการลดการใช้ฟอสซิล ในภาคประชาชนเราทำอะไรไม่ได้มาก บอกเลยว่าถือถุงผ้าไปโลกก็ไม่หายร้อน ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยน เพราะเขาเป็นคนจัดสรรทรัพยากรให้เราใช้

ฟังดูสิ้นหวัง คนที่มีอำนาจยังไม่จริงจังกับปัญหานี้

จอย : นั่นน่ะสิ (หัวเราะ) เคยดูหนังซอมบี้ไหม เวลาเราวิ่งหนีแล้วซอมบี้จะมาไล่กินเรา เราแอบอยู่ในห้อง แต่เพื่อนเราส่งเสียงดัง แล้วซอมบี้ก็มากินทุกคนตาย (หัวเราะ) แล้วตอนแก่เราก็อยากจะใช้ชีวิตที่สุขสบายที่บ้านพักตากอากาศในภูเก็ต แต่ว่าไม่รู้ว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีภูเก็ตไหมเพราะน้ำมันจะท่วม คือบอกเลยว่าใครที่อายุเกิน 50 น่าจะรอด เพราะว่าเขาจะตายก่อน 

แป้ง : แต่ถ้าให้เราอยู่เฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเราก็ทนไม่ได้เหมือนกัน เรารู้สึกผิดนะ ขอสักนิดสักหน่อยก็ยังดี ให้รู้สึกว่าเราได้ลงมือทำอะไรบ้างแล้วดีกว่ารอว่าเมื่อไหร่น้ำจะท่วม รอว่าเมื่อไหร่อากาศจะร้อน 

บางคนบอกว่าเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาเพื่อต่อต้านทุนนิยม

จอย : ความเห็นจอยอาจจะฟังดูเพี้ยนๆ นะ แต่ทุนนิยมทำให้เราตายแน่ๆ คนจะลงทุนค้าขายอย่างอิสระเสรีตามใจชอบไม่ได้อีกแล้ว จริงๆ ประชาธิปไตยก็ทำให้เราตายได้ ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมประเทศอื่นเขามี carbon trading แต่ก็ยังไม่เข้มงวดเท่าไหร่ ถ้าอยากควบคุมจริงๆ คุณต้องออกกฎหมายมาแล้วให้ทุกบริษัทแจกแจงมาเลยว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ ให้จ่ายค่าปล่อยมาแบบละเอียด เหมือนทำภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ทุกวันนี้ใช้ความสมัครใจ บริษัทไหนอยากดูดี เป็นบริษัทอีโคก็ไปจดทะเบียนคาร์บอน ลูกค้าที่กังวล (concern) เรื่องนี้ก็จะเลือกซื้อของบริษัทที่มีฉลาก แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ concern แล้วบริษัทไทยจะเสียเวลาไปติดฉลากทำไม สุดท้ายก็แล้วแต่ทุนนิยมจะพาไป

การลดคาร์บอนมันเหมือนเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเลย จะเป็นไปได้จริงเหรอ

จอย : จะเปลี่ยนหรือจะตายต้องเลือกเอา (หัวเราะ) เราต้องขับรถให้น้อยลง แต่บอกตรงๆ เลยว่าเราไม่เหมือนญี่ปุ่นที่พออยากจะไปทำงานก็กระโดดขึ้นรถไฟใต้ดินแล้วถึงเลย ไปด้วยกัน เกิดคาร์บอนทีเดียว ที่ไทยต้องมาต่อรถกว่าจะไปถึง ถ้านั่งรถเมล์ไม่น่าถึงที่ทำงานทัน 7 โมงเช้าและรถเมล์บ้านเราก็ไม่ใช่ระบบไฟฟ้าเสียด้วยสิ 

แป้ง : แป้งคิดว่าอะไรที่มันลดได้ก็ต้องลด แต่บางอย่างมันต้องดำเนินต่อไป สมมุติเป็นหมอต้องทำแผล แกะซองผ้าก๊อซออกมาแล้วโลกร้อน แต่บางอย่างมันก็ต้องทำ เรามาลดในด้านที่มันทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่มันสุดโต่งไป

 

เปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนตัวเอง
เรื่องเล่าร่องรอยคาร์บอนในห้องผ่าตัด

หลังจากทำเพจชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม

จอย : เปลี่ยนเพราะพวกเราก็ไม่ค่อยมีเวลาอยู่แล้ว ต้องไปถึงโรงพยาบาล 7 โมงเช้าทุกวัน วันไหนตรวจคนไข้ OPD ตอนกลางวัน ก็ต้องมาเดินดูคนไข้รอบเย็นอีก ถ้าเข้าห้องผ่าตัดอาจจะเลิกประมาณ 6 โมงกว่าๆ หรือ 2-3 ทุ่ม ทำสไลด์พรีเซนท์ด้วย ถ้าจะเข้าเคสผ่าตัดต้องอ่านหนังสือเตรียมไปด้วย ภาระทั้งหมดนี้กว่าจะกลับบ้านก็ดึกแล้ว พอมาทำเพจต้องระวังไม่ให้เสียการเรียนมากๆ 

วงการแพทย์มันมีจุดไหนที่ทำให้โลกร้อนบ้างไหม

จอย : โอ้โห มีเยอะเลย เราเป็นหมอศัลย์ฯ งานทำแผลเป็นอาชีพหลักของเรา ผ้าก๊อซจะอยู่ในซองพลาสติก มีหลายแบบทั้ง 10 แผ่น 5 แผ่น หรือ 3 แผ่น เดิมทีเราใช้แบบซองละ 10 แผ่น แต่ไม่รู้เดี๋ยวนี้ใครเป็นคนจัดซื้อ ซื้อแบบทีละ 5 แผ่นมา  ขยะพลาสติกเยอะมาก เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงขยะพลาสติกในโรงพยาบาลได้ง่ายเท่าภาคอื่นเลย เพราะความปลอดเชื้อ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคนไข้ เวลาทำแผลอยู่ในวอร์ดก็สั่งน้องให้แยกขยะ มันจะมีขยะติดเชื้อ อันนี้ก็ต้องแยก เราต้องกำชับว่าทิ้งให้ถูก 

แป้ง : เราจะบอกให้เขาแกะเท่าที่จำเป็นพอ เพราะถ้าแกะแล้วมันจะต้องทิ้งเลย พลาสติกมันก็เยอะ ที่ทำได้คือแกะออกมาเท่าที่จะใช้ หรือพยายามใช้ให้คุ้มที่สุด 

จอย : สมมติว่าเราทำแผลกำลังจะเสร็จ และมีน้องแกะผ้าก๊อซห่อใหญ่ เราก็จะดุ เพราะที่แกะมาต้องทิ้งทั้งหมด ถือว่าปนเปื้อนไปแล้ว ใช้ต่อไม่ได้

ในแง่ชีวิตส่วนตัวเปลี่ยนไหม

จอย : เดี๋ยวนี้ถือกระติกน้ำและไม่เอาถุงพลาสติก ก็ไม่ต้องเกิดขยะ ไม่ต้องเกิดคาร์บอน ช่วยลดอีกทางหนึ่ง พยายามขับรถให้น้อยลง แต่ว่าทำได้ยากมากเพราะต้องรีบไปทำงานตอนเช้า แต่ถ้าจะไปไหน ก็นั่งรถไฟฟ้าแทน ช่วงหลังๆ ก็เดินบ้าง อยู่บ้านก็ตามดึงปลั๊กออก ปลั๊กก็ต้องถอดนะเพราะมันมีไฟฟ้าเข้าไปวิ่งตลอด แอบปิดไฟให้หมดบ้าง จนพ่อด่าว่ากูมองไม่เห็นกูจะตกบันไดอยู่แล้ว (หัวเราะ) 

แป้ง : เราต้องพกช้อน พกแก้ว ไม่เอาหลอด มีถุงผ้า 

ท่ามกลางข่าวสารที่ล้นทะลัก คิดว่าข้อความที่คุณปล่อยออกไป จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้จริงๆ เหรอ

จอย : สร้างแน่นอน คนใกล้ตัวเราก็เริ่มดีเพรสจากข่าวที่เราโพสต์แล้ว เราหวังว่าเขาจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่เพจเราพยายามจะไม่เหมือนเพจอื่น เราอยากเขียนเรื่องคาร์บอนทีเป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน เราอยากบอกเขาว่าให้ช่วยพวกเราหน่อย อยากจะส่งข้อความนี้ไปทีรัฐบาลในทางขอร้องนะ คือคนไทย aware เรื่องพลาสติกก็ดีแล้วแต่ช่วย aware เรื่องคาร์บอนด้วย ก่อนจะบริโภคอะไรก็คิดก่อน 

 

Fridays for Future

นอกจากการสื่อสารผ่านหน้าเพจ Too Young to Die แล้ว จอยกับแป้งยังยกระดับการขับเคลื่อนปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปอีกขั้น ด้วยการจัดงาน Friday for Future ร่วมกับเพจ Environman กิจกรรมที่ชวนคนจากภาครัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ และประชาชนมาเสวนาปัญหาและทางออกเกี่ยวกับโลกร้อนกันอย่างจริงจัง เพื่อจุดประกายให้ทุกคนลงมือกอบกู้โลกไปด้วยกัน

ความตั้งใจของงาน Fridays for Future คืออะไร

จอย : เราอยากให้ทุกฝ่ายมาคุยกันดีๆ หรือมีอะไรที่ประชาชนพอจะช่วยได้ไหม รัฐบาลอาจกำลังมีโครงการดีๆ รออยู่ก็ได้ แต่เราไม่รู้ เขากำลังจะมี พรบ.โลกร้อนในปี พ.ศ.2563 ด้วยนะ เวทีนี้อาจจะเป็นที่ที่ทำให้เขาออกมาพูดก็ได้ เราเชิญคนหลายๆ คนมาคุยกัน 

สมมติหลังจากอีเวนท์จบ ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิม คุณจะยังทำเพจต่อไหม

แป้ง : ตอนนี้ก็ทำเพจไปเรื่อยๆ สนุกดีได้ทำอะไรนอกจากการเรียนและเป็นเรื่องที่สนใจอยู่ เหมือนมีพื้นที่ให้หายใจบ้าง อยากให้ผู้คนรับรู้ว่าเราจริงจัง ทุกวันนี้คนยังไม่ concern มาก การนำเสนอข่าวก็ยังน้อย เรายังเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง งานครั้งนี้น่าจะทำให้คนได้รู้จักเรามากขึ้น 

จอย : เราทำเพจต่อไปแน่นอน เราอยากจัดงานอีกรอบด้วยนะ จริงๆ การจัดงานแบบนี้มันเหนื่อย เพราะเรามีงานที่โรงพยาบาลด้วย แต่ถ้าจัดอีกรอบได้ก็จะดี เหมือนเป็นการติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือยัง เมื่อเราเอาตัวเราไปนั่งในสภาไม่ได้ เราก็เชิญเขาเข้ามาคุย

Facebook : Too Young to Die

อ้างอิง

Fact Box

  • An Inconvenient Truth โดย Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นหนังสือที่พูดถึงความจริงหลายข้อเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน นอกจากหนังสือแล้วเนื้อหาในเล่มยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีด้วย
  • Asia -Pacific Ckimate Week งานประชุมหารือเรื่องโลกร้อนที่จอยและแป้งได้เข้าร่วม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 - 6 กันยายน 2562 โดย United Nations Climate Change และ United Nations Economic and Social Commission for Adia and the Pacific ( ESCAP ) เปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมเพียงลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์
  • ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) คือระบบที่จูงใจให้ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ลดการปล่อยก๊าซลง เจ้าของระบบ (ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐ) จะเป็นคนกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซ องค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วมจะต้องไม่ปล่อยก๊าซเกินมาตรฐานที่กำหนด และต้องรายงานผลทุกปี ถ้าต้องการจะปล่อยเกินก็ต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก