โลกกำลังทำสงครามกับพลาสติก!
เห็นได้ชัดจาก มาตรการกำราบพลาสติกในทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยใชักฎหมายบังคับทั้งจับและปรับ
หนักข้อถึงขั้นบางประเทศห้ามพกและผลิตถุงพลาสติก!
ประเทศในแถบทวีปละตินอเมริกาอย่างเม็กซิโก หลังจากคิดค้นวิธีผลิตไบโอพลาสติก หรือพลาสติกแบบย่อยสลายได้จากอะโวคาโด เมื่อปี 2013
ล่าสุด ปีนี้ (2019) ซานดรา ปาสโกเอ ออร์ติซ (Sandra Pascoe Ortiz) นักวิจัยชาวเม็กซิโกค้นพบว่า ‘กระบองเพชร’ ก็นำมาทำพลาสติกแบบย่อยสลายได้เช่นกัน
“เราพยายามสร้างวัสดุที่มีอายุสั้น”
รายงานระบุว่า พลาสติกชนิดนี้เมื่อฝังดิน จะย่อยสลายใน 1 เดือน หากอยู่ในน้ำ จะย่อยสลายภายในไม่กี่วัน
ที่สำคัญ “มันปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิง” สัตว์หรือมนุษย์สามารถกลืนได้โดยไม่เป็นอันตรายใดๆ
คำถามคือ ซานดราทำพลาสติกนี้อย่างไร?
เธอเล่าว่า ปอกเปลือกผลต้นกระบองเพชร นำไปคั้นน้ำ แล้วแช่ไว้ในตู้เย็น จากนั้นเติมสารตามสูตร ทำให้เป็นแผ่นบางๆ แล้วทิ้งไว้จนแห้ง
โดยกระบวนการทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 10 วัน อาจดูช้าเมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตพลาสติกปกติ แต่ซานดราคิดว่า ตอนนี้เป็นเพียงการทดลองในห้องแล็บ ทันทีที่เข้าสู่กระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม บริษัทกับทีมนักวิจัยและเธอน่าจะช่วยกันหาวิธีการผลิตที่รวดเร็วขึ้นได้
ดูเหมือนว่าเวลาของพลาสติก (ที่ไม่เป็นมิตร) ในเม็กซิโก กำลังเหลือน้อยลงทุกที เพราะนอกจากนักวิจัยอย่างซานดราที่มุ่งมั่นสร้างวัสดุที่ทดแทนพลาสติกแบบเดิมๆ แล้ว ทางการเม็กซิโกก็เอาจริงเอาจังทีเดียว
ข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐเม็กซิโกเริ่มเรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้ซื้อ และแบนสิ่งของที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
ในปีหน้า (2020) จะจัดการไม่ให้มีถุงพลาสติกในร้านค้า และตั้งแต่ปี 2021 พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อนส้อม มีด หลอด แก้วน้ำ จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ภาครัฐเม็กซิโกกล่าวว่า ตั้งใจขยับกฎหมายเกี่ยวกับพลาสติกไปทีละขั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ ซึ่งรวมถึงคนขายสตรีทฟู้ดได้มีเวลาหาวิธีอื่นเป็นทางเลือกแทนการใช้พลาสติก
“เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ด้วยการให้ความรู้เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนนิสัยการบริโภค” Gabriela Evia สมาชิกกลุ่มต่อต้านพลาสติกในเม็กซิโก (Mexico Without Plastic Alliance) ให้ความเห็น เพราะปัญหาจากพลาสติกกำลังรุนแรงขึ้นทุกวัน
ข่าวการเสียชีวิตของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยในประเทศไทย ที่มีสาเหตุเบื้องต้นจากเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด คือหนึ่งในตัวอย่างโศกนาฏกรรมที่มีพลาสติกเป็นต้นเหตุ
“ฉันเชื่อว่าไม่มีอะไรสายเกินไปที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง” ซานดรา นักวิจัยพลาสติกจากกระบองเพชรยังมีความหวังเต็มเปี่ยม ว่าโลกจะต้องหาทางออกจากปัญหาพลาสติกล้นโลกได้
“ทุกวันคือโอกาสที่เราจะทำสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นถ้าเราแต่ละคนทำในสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือโอกาสที่จะเยียวยาโลกใบนี้”
ว่าแต่…วันนี้เวลาไปซื้อของ คุณยังรับถุงพลาสติกอยู่หรือเปล่า?
Fact Box:
- วิธีเลี่ยงการใช้พลาสติกง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ คือ เลิกใช้ถุงพลาสติก หลอด และบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยหันมาพกถุงผ้า แก้ว หรือขวดน้ำประจำตัว และซื้อสินค้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดเติมแทนการซื้อใหม่
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตรวจสอบข้อมูลปริมาณขยะในทะเลไทย ปี 2561 พบว่า ขยะถุงพลาสติก (ที่ไม่ใช่ถุงก๊อบแก๊บ) มีมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 41,005 ชิ้น (16.35%) ขณะที่ถุงก๊อบแก๊บมากเป็นอันดับ 4 จำนวน 29,935 ชิ้น (11.94%)
อ้างอิง:
- CNA. Could Mexico cactus solve world’s plastics problem?. https://www.channelnewsasia.com/news/world/could-mexico-cactus-solve-world-s-plastics-problem–11787956
- Douglas Broom. Mexico City is banning single-use plastics. https://www.weforum.org/agenda/2019/05/mexico-city-is-banning-single-use-plastics/
- Scott Snowden. Scientist In Mexico Creates Biodegradable Plastic From Prickly Pear Cactus. https://www.forbes.com/sites/scottsnowden/2019/07/14/scientist-in-mexico-creates-biodegradable-plastic-from-prickly-pear-cactus/#eee754e6c49f
- สำนักข่าวไทย. เปิดสถิติการตายพะยูน-ข้อมูลขยะทะเลไทย. https://tna.mcot.net/view/qb1PihT