w©rld

“เรากำลังจะกลายเป็นเครื่องจักร เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในมือของตัวเอง”

ข้อความที่ ดั๊กลาส รุชคอฟฟ์ (Douglas Rushkoff) นักทฤษฎีสื่อจากควีนส์ คอลเลจ นิวยอร์ก ผู้ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ยกย่องว่าเขาคือ 1 ใน 10 นักคิดที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก กล่าวไว้ ให้ทุกคนได้ฉุกคิด

ดั๊กลาส รุชคอฟฟ์ (Douglas Rushkoff)
ดั๊กลาส รุชคอฟฟ์ (Douglas Rushkoff)

ในยุคดิจิทัลที่เราคิดว่าตัวเองมีอิสรภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรก็ได้ ตามที่เราต้องการ แท้จริงแล้วเป็นแค่ภาพลวงตา เรากำลังอยู่ในหลุมพรางของระบอบบริโภคนิยม ที่กำลังผลักดันมนุษย์ให้กลายเป็นแค่เครื่องจักรชิ้นหนึ่ง

คุณค่าทางจิตใจ หรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของมนุษย์ กำลังถูกลดทอนคุณค่าลงเรื่อยๆ โดยระบบอัลกอริทึมและ การใช้ดาต้าเพื่อคาดเดาพฤติกรรม

และมันกำลังตัดความเป็นมนุษย์ของเราออกไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

ถูกตัดออกไปอย่างไร?

 

ตัวตนที่มาจากข้อมูลและตัวเลขเชิงสถิติ

นึกภาพง่ายๆ เวลาเราพูดลงในเครื่องแปลงเสียงเป็นข้อความแบบอัตโนมัติ เครื่องจักรไม่เคยสนใจ ‘น้ำเสียง’

หมายความว่า ความซับซ้อนทางอารมณ์ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของมนุษย์ ถูกตัดออกทันที

หากข้อความนี้ถูกส่งไปหาใครสักคน เขาไม่มีทางรู้เลย ว่าคุณกำลังคิดอะไร

มองให้ชัดขึ้นอีก

เวลาเราอยู่บนแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียอย่าง Facebook

Facebook กำหนดตัวตนของเราจากสถิติของ ‘ดาต้า’ ที่ผ่านๆ มา

จากนั้นแพลตฟอร์มโซเชียล จะพาเราวิ่งวนอยู่กับตัวตนที่เขาคิดว่า ‘นั่นคือเรา’

แล้วเสิร์ฟด้วยข่าวสาร วิดีโอ รูปภาพ และสินค้า ที่เขามั่นใจว่า ‘ใช่’

ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกนึกคิด หรืออารมณ์ของมนุษย์ คือสิ่งรุงรัง ที่ยากต่อการคาดเดาพฤติกรรม

ดิจิทัลจึงไม่ให้ค่า  

สมมุติว่า ข้อมูลเชิงสถิติ 80% บอกว่าคุณกำลังจะไดเอ็ท คุณจะถูกเสิร์ฟด้วยข้อมูลที่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพ พิษภัยของความอ้วน คอร์สฟิตเนส เครื่องออกกำลังกาย

ยิ่งเราไปยุ่งกับเนื้อหาเหล่านั้น ก็ยิ่งทำให้ตัวตนสมมุติในโซเชียลมีเดียแข็งแรง

บางคนอาจกำลังคิดว่า ก็ดีนะ ที่มีคนคัดเลือกเนื้อหาให้

คำถามคือ ถ้าเราไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้นจริงๆล่ะ

เราจะรู้ตัวไหม

หรือถูกหลอกล่อจนมีใจ ว่าเราคงต้องการสิ่งนี้จริงๆ

สำหรับผม นั่นคือการหลอกล่อ ที่เกิดจากกลไกของจักรกล ทุนนิยม และความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม

โซเชียลมีเดีย ไม่ได้เชื่อมต่อเรากับคนใหม่ๆ หรือข้อมูลข่าวสารอะไรใหม่ๆ ทั้งนั้น

เขาแค่ใช้ ‘ดาต้า’ ของเรา เพื่อ ‘ทำนาย’ และ ‘กำหนด’ พฤติกรรมของเราในอนาคต  

(Photo:grandrapidshealthnotes.com)

ผู้ใช้ที่ถูกเทคโนโลยีใช้งาน

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักไว้ให้มั่นคือ เทคโนโลยีที่คิดค้นมาเพื่อช่วยมนุษย์

ลึกๆ แล้วก็เป็นสิ่งต่อต้านมนุษย์ หรือ anti-human อยู่ในตัว

เพราะอะไรที่เป็นสิ่งคาดเดาไม่ได้ และยากที่จะกำหนดเป็น ‘ดาต้า’ ต้องถูกกำจัดออก

แต่โลกนี้เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไปเรียบร้อยแล้ว

จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียง ว่าเทคโนโลยีดีหรือไม่ดี เอาหรือไม่เอา

เพราะอย่างไร เราก็ต้องใช้

แต่จะใช้อย่างไร ให้รู้สึกว่า “เราคือผู้ใช้” ไม่ใช่ “ผู้ถูกใช้”

อย่างแรก มนุษย์ต้องตระหนักว่าตัวเองคือมนุษย์

อย่างที่สอง ความเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่ปัญหา

แล้วเราจะไม่มีความคิดที่จะผลิตเทคโนโลยีเพื่อจำกัดความเป็นมนุษย์ แต่จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นในอนาคต

รุชคอฟฟ์ ยอมรับว่ายาก หากจะปรับเปลี่ยนทิศทางของโลกในวันนี้

เพราะขนาดในสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก ยังพร้อมใจกันนำเสนอว่าหุ่นยนต์ดีกว่าคนอย่างไร

 

สัตว์สังคมไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยอัลกอริทึม

ทุกครั้งที่เราอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย นั่นไม่ใช้เซนส์ของโซเชียลหรือสังคมในแบบของมนุษย์จริงๆ เพราะลองคิดให้ดี เราเชื่อมต่อกับคนที่เราต้องการจริงๆ เนื้อหาที่เราอยากรู้จริงๆ หรือแค่สิ่งที่อัลกอรึทึมเลือกมาให้

(Photo : cbsnews.com)

เทคโนโลยีดิจิทัล หรือสิ่งล้ำสมัยใดก็ตามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

ไม่ใช่เพราะมนุษย์เชื่อมต่อและสื่อสารกันหรอกหรือ จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นในโลก

แล้วทำไมเราถึงจะทำลายวิถีเหล่านั้น

ด้วยสิ่งที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง

ถึงแม้ว่าใครจะเถียง ว่ายุคนี้คนเราก็เชื่อมต่อ เราติดต่อกันทั้งข้อความ อีเมล หรือแม้แต่วิดีโอคอล

แต่เชื่อเถอะว่า สายสัมพันธ์บางอย่างที่มนุษย์มีต่อกันโดยตรงขณะสนทนานั้นได้หายไปแล้ว

คุณสามารถส่งเอโมจิ ‘หัวเราะ’ ให้คู่สนทนาได้ ทั้งที่ในใจกำลังเบื่อหน่าย และหน้าบึ้งเต็มทน

อย่างที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “บนโลกออนไลน์ หาความจริงใจนั้นไม่มี”

แต่ผมเชื่อว่าเรายังมีหวัง มองอีกมุม เรากำลังอยู่ในยุคเริ่มต้นของการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพียงแค่เราต้องเริ่มมองหาคนจริงๆ พูดคุยกันแบบจริงๆ มองหน้า อ่านสายตา รับรู้อารมณ์ แบบที่มนุษย์เคยทำต่อกัน

การเป็นมนุษย์เหมือนทีมกีฬา

ถ้าเราอยู่คนเดียวบนโลก นั่นไม่เรียกว่าวิถีของมนุษย์

 

อ้างอิง :