w©rld

หลังจากเปลวเพลิงที่ลุกไหม้ อาสนวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) ในช่วงเย็นของวันที่ 15 เมษายน 2019 สงบลง

คนจำนวนมากต่างกังวลใจอยู่กับความเสียหายที่ยากจะประเมินได้ของสถานที่สำคัญทางศาสนาคริสต์และประวัติศาสตร์ ซึ่งโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมรูปแบบกอทิกตอนต้นของฝรั่งเศส (Early Gothic) ที่มีอายุมากกว่า 858 ปี เพราะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ยุคกลาง ในปี 1163

Photo: Philippe Lopez / AFP

เพราะความร้อนของไฟได้เผาทำลายหลังคาไม้โอ๊กสมัยศตวรรษที่ 13 ทำให้ชิ้นส่วนของหลังคาและยอดแหลมพังถล่มลงมาสู่พื้นทางเดินเบื้องล่าง หน้าต่างกระจกสีโดยรอบและภาพเขียนสีประดับผนังโบสถ์จึงได้รับผลกระทบจากควันไฟเป็นบางจุด

Photo: Amaury Blin / AFP

ขณะที่ศาสนวัตถุศักดิ์สิทธิ์ภายในอาสนวิหารฯ อย่างมงกุฎหนาม ตะปูและส่วนของไม้กางเขนที่เคยใช้ตรึงร่างพระเยซู ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เพราะเจ้าหน้าที่และพลเมืองบริเวณใกล้เคียงช่วยกันขนย้ายออกมาทันท่วงที

Photo: Philippe Lopez / AFP
Photo: Thomas Samson / POOL / AFP

เช่นเดียวกับรูปปั้นนักบุญและสาวกทั้ง 16 รูป ถูกเคลื่อนย้ายออกมาบูรณะล่วงหน้า 4 วันก่อนเกิดเหตุ

Photo: Georges Gobet / AFP

ส่วนรูปปั้นพระแม่มารีประคองร่างพระเยซู รูปปั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และ 14 ในท่าคุกเข่า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้แท่นบูชา ยังคงปลอดภัยดี เนื่องจากนักผจญเพลิงควบคุมเพลิงได้ก่อน ที่สำคัญยังช่วยสกัดกั้นไม่ให้ไฟลุกลามไปถึงหอคอยคู่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ ซึ่งเป็นที่แขวนระฆังประจำอาสนวิหารฯ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 13 ตัน

Photo: Ludovic Marin / AFP

เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้น เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีของประเทศฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นว่าจะซ่อมแซมและบูรณะอาสนวิหารฯ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2024 รวมระยะเวลา 5 ปี

แต่ระหว่างทางกลับเกิดอุปสรรคหลายอย่าง เช่น นั่งร้านที่ล้อมรอบอาสนวิหารฯ มีน้ำหนักรวมมากเกินไป ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้โครงสร้างอาสนวิหารฯ เสียหายมากขึ้นได้ จนต้องรื้อ รวมถึงความรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้คณะทำงานต้องหยุดบูรณะชั่วคราวนานมากกว่า 1 เดือน

อาสนวิหารนอเทรอดามแห่งปารีสตั้งอยู่บน Île de la Cité หรือ เกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำแซน คำว่า Notre-Dame หมายถึง Our Lady หรือ พระนางมารีย์พรหมจารี (มารดาของพระเยซู)
Photo: Bertrand Guay / AFP

นี่คือชุดภาพถ่ายบรรยากาศการบูรณะอาสนวิหารฯ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องวางแผนทำงานให้รัดกุมภายใต้กรอบเวลาที่กระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อซ่อมแซมและแก้ไขทุกความเสียหายให้กลับมาสวยงามบริบูรณ์ พร้อมเปิดต้อนรับให้คนทั่วไปได้เข้าชมในปีเดียวกันที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส

Photo: Olivier Morin / AFP
Photo: Antoine Bouthier / AFP
Photo: Ian Langsdon / POOL / AFP
Photo: Benoit Tessier / POOL / AFP
Photo: Benoit Tessier / POOL / AFP

นอกเหนือจากหิน ปูน กระจก และตะกั่ว วัสดุหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องตระเวนหาทั่วประเทศฝรั่งเศสคือ ไม้จากต้นโอ๊กลำต้นตรงที่มีช่วงอายุ 150-200 ปี โดยยึดหลักการก่อสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ซึ่งใช้ไม้โอ๊กเคลือบตะกั่ว คาดว่าต้องตัดต้นโอ๊กโบราณไม่ต่ำกว่า 3,000 ต้น เพื่อนำมาตัดแต่งใหม่เป็นไม้จำนวน 13,000 ท่อน เพียงพอต่อการบูรณะโครงสร้างหลังคาและเพดานของอาสนวิหารฯ แต่ยังนำมาใช้ไม่ได้ในทันที เพราะเนื้อไม้ยังมีความชื้นอยู่ ต้องปล่อยให้ไม้แห้งเป็นเวลาประมาณ 12 เดือน

Photo: Ian Langsdon / POOL / AFP
Photo: Ian Langsdon / POOL / AFP

ก่อนหน้านี้ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกราว 12 ล้านคน แวะเวียนมาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอาสนวิหารฯ โดยเฉพาะผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ศาสนสถานแห่งนี้คือหนึ่งในศูนย์รวมศรัทธาต่อพระเยซูเจ้าของพวกเขา และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนามากกว่า 2,000 ครั้งต่อปี

Photo: Ian Langsdon / POOL / AFP
Photo: Stefano Rellandini / AFP
Photo: Thomas Samson / POOL / AFP
Photo: Mathieu Champeau / AFP
Photo: Benoit Tessier / POOL / AFP

การบูรณะอาสนวิหารฯ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังเฝ้าดูด้วยความหวังเดียวกันว่า จะได้เห็นความงดงามอย่างที่เคยเป็น กลับคืนมาอีกครั้ง

 

อ้างอิง